คุณเคยมีปัญหาปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย หรือปวดท้องเวลาปัสสาวะ และออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้งหรือไม่ ? ถ้าตอบว่า เคย นั่นแสดงว่า กระเพาะปัสสาวะของคุณกำลังอักเสบ โรคนี้เป็นกันบ่อยมากในผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นและอยู่ใกล้ทวารหนัก ซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก พบมากในผู้หญิงตั้งครรภ์หรือชอบกลั้นปัสสาวะนานๆ กรณีที่เป็นบ่อยๆ อาจมีความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะร่วมด้วย อาการของโรคมีหลายระดับ แต่ที่สังเกตได้ชัดคือ * ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย * ปวดท้องเวลาปัสสาวะ พอปวดปุ๊บจะต้องรีบเข้าห้องน้ำเลย เพราะอาจกลั้นไม่อยู่ * ปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด ออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง รู้สึกปัสสาวะไม่สุด * รู้สึกเจ็บมากตอนปัสสาวะสุด * ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น บางรายอาจมีเลือดปนหรือสีขุ่นเหมือนน้ำล้างเนื้อ อย่าเข้าใจว่าอาการปัสสาวะบ่อย( มากกว่า 8 ครั้งต่อวัน) จะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเสมอไป เพราะอาจมีสาเหตุอื่นๆ ดังนี้ 1. ไตขับปัสสาวะมากกว่าปกติจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ดื่มน้ำมาก กินยาขับปัสสาวะเนื่องจากเป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ส่งผลให้ปัสสาวะที่มากักเก็บในกระเพาะปัสสาวะเต็มเร็ว จึงปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ (มากกว่า 8 ครั้ง ต่อวัน) และอาจต้องตื่นมาปัสสาวะหลังเข้านอนแล้ว ที่สำคัญผู้ป่วยจะมีปริมาณปัสสาวะแต่ละครั้งเท่าคนปกติ (ประมาณ 350 - 500 ซีซี) เมื่อตรวจปัสสาวะจะไม่พบการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุข้างต้น 2. มีความผิดปกติที่กระเพาะปัสสาวะ คือไม่สามารถกักเก็บปัสสาวะได้นาน ปวดปัสสาวะเร็ว บางคนอาจปัสสาวะทุก 1 หรือ 2 ชั่วโมง ที่สำคัญคือปวดปัสสาวะหลังนอนหลับแล้วตอนดึกก่อนถึงเช้าทุกคืน ๆ มากกว่า 2 ครั้ง ครั้งละน้อยกว่าปกติ (ไม่ถึง 300 ซี.ซี.) ทั้งนี้เกิดจาก 2.1 กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบมากในผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว (อายุ 30-40 ปี) เนื่องจากมีการอักเสบในช่องคลอดบ่อย ๆ มีตกขาวมากกว่าปกติ ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้ากระเพาะปัสสาวะง่าย เพราะหลอดปัสสาวะผู้หญิงสั้นกว่าผู้ชาย อาจพบมีรูเปิดหลอดปัสสาวะตีบแคบด้วยในบางคน ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งมีอาการปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อย ๆ อาจเจ็บเสียวบริเวณปลายหลอดปัสสาวะ/บริเวณท้องน้อย หรือมีอาการปัสสาวะไม่สุด ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะพร้อมรักษาอาการตกขาวในช่องคลอด หรือขยายรูเปิดหลอดปัสสาวะด้วยจึงจะทำให้อาการดีขึ้นมาก 2.2 กระเพาะปัสสาวะเล็ก ขยายตัวไม่ได้ เนื่องจากถูกฉายแสงรักษามะเร็งของปากมดลูก หรือเป็นวัณโรคทำให้พังผืดที่ผนังกระเพาะปัสสาวะขยายตัวไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถเก็บปัสสาวะมากได้ หรือมีเนื้องอกขนาดใหญ่ในมดลูก หรือหญิงตั้งครรภ์มากกว่า 6 เดือน มดลูกจะกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เก็บปัสสาวะได้ไม่มาก จึงทำให้ปัสสาวะบ่อย 2.3 มีสิ่งแปลกปลอมในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ก้อนนิ่ว เนื้องอกของกระเพาะปัสสาวะขนาดใหญ่ อาจทำให้ปัสสาวะบ่อย แต่พบน้อยมากในผู้หญิง 3. มีความผิดปกติทางจิตใจ เช่น ภาวะเครียดจากงาน กลัวโรคภัยไข้เจ็บ มีปัญหาครอบครัว ผู้ป่วยส่วน มากมักจะปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางวันหรือหัวค่ำ เมื่อหลับแล้วจะไม่ตื่นมาปัสสาวะอีก เนื่องจากไม่มีความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ 4. ประสาทควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะมีความผิดปกติ ทำให้ผนังกล้ามเนื้อทำงาน บีบตัวบ่อย จำเป็นต้องตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะด้วยเครื่องตรวจพิเศษ เพื่อตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ดูแลสุขภาพอย่างไรห่างไกลโรค 1. พยายามอย่ากลั้นปัสสาวะนานเกิน โดยไม่จำเป็น 2. ดื่มน้ำประมาณ 6 - 8 แก้ว (1,000-1,500 มิลลิลิตรต่อวัน) 3. ควรรักษาอาการตกขาวให้หายขาด 4. ถ้าหากมีอาการปัสสาวะบ่อย ครั้งละน้อย ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องไปพบศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม โดยเฉพาะคุณผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โอกาสที่จะเป็นโรคนี้ค่อนข้างสูง และหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ---------------- |
ที่มา www.pantown.com/ |