ภาษาไทยน่ารู้ : การย่อความ คำอธิบายความหมาย เทคนิคการย่อความ


1,029 ผู้ชม

การย่อความเป็นการเก็บสาระสำคัญของเนื้อเรื่องให้ครบถ้วนแล้วจึงนำข้อความ ดังกล่าวมาเรียบเรียงใหม่ด้วยสำนวนภาษาของตนเองให้กะทัดรัด  มีใจความสำคัญครบถ้วน


การย่อความ

การย่อความ
          การย่อความเป็นการเก็บสาระสำคัญของเนื้อเรื่องให้ครบถ้วนแล้วจึงนำข้อความ ดังกล่าวมาเรียบเรียงใหม่ด้วยสำนวนภาษาของตนเองให้กะทัดรัด  มีใจความสำคัญครบถ้วน 
    1.  องค์ประกอบของย่อความ  มีดังนี้
                    1.  ใจความ  คือ  ข้อความสำคัญที่สุดของย่อหน้าของเรื่องที่อ่าน  ถ้าตัดข้อความส่วนนี้ออกไป  จะทำให้ไม่เข้าใจเรื่อง
                    2.  พลความ  คือ  ข้อความที่สำคัญน้อยกว่า  มีหน้าที่ขยายใจความให้ชัดเจนขึ้น  ถ้าตัดออกเรื่องนั้นก็จะยังคงมีใจความตรงจุดประสงค์ของผู้เขียน
                    เนื้อหาในบทเขียน  จะแบ่งเป็น 3 ประเภท  คือ
                    ข้อเท็จจริง  เป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่มีที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่ตามจริง  โดยมีช่วงเวลาเป็นเงื่อนไขสำคัญ  เรื่องราวอาจคลาดเคลื่อนถ้าเวลาเปลี่ยน
                    ข้อคิดเห็น  ข้อความที่แสดงความเชื่อ  หรือแนวคิด  ที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ผู้เขียนแสดงความคิดของตนจากความรู้ความเข้าใจ  และความเชื่อ
                    ข้อความแสดงอารมณ์และความรู้สึก  คือ  ข้อความที่ทำให้ผู้อ่านรู้ได้ว่าผู้เขียนมีอารมณ์หรือความรู้สึกอย่างไร  ขณะที่กำลังเขียน  เช่น  ชื่นชม  ไม่พอใจ  โศกเศร้า

          2.  กระบวนการคิดในการย่อความ  การย่อความเป็นกระบวนการส่งสารที่มีใจความสำคัญครบถ้วน  สั้น  กระชับ  มีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ  ดังนี้
                    1.  พิจารณาประเภทงานเขียน  ว่าเรื่องที่จะย่อความเป็นงานเขียนประเภทใด  เช่น  บทความ  เรื่องสั้น  นิทาน  นวนิยาย  ต้องอ่านสาระของเรื่องที่จะย่ออย่างละเอียด  เก็บใจความสำคัญให้ครบถ้วน วิธีการหนึ่งคือสังเกตประโยคใจความของแต่ละ ย่อหน้า
                    2.  พิจารณาเนื้อหา  ว่าข้อความหรือเรื่องที่อ่านนั้นมีเนื้อหาประเภทใด  เป็นข้อเท็จจริง  ข้อคิดเห็น  หรือข้อความแสดงอารมณ์
                    3.  พิจารณาจุดมุ่งหมาย  ว่าผู้เขียนมุ่งที่จะสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องใด  มีจุดมุ่งหมายอย่างไร  เช่น  เขียนเพื่อยกย่อง  เพื่อโน้มน้าวจิตใจ  หรือเพื่อให้ความรู้
                    4.  พิจารณาความสำคัญและพลความ  โดยต้องคิดตามสาระของเรื่องที่จะย่ออย่างละเอียด  และเก็บใจความสำคัญอย่างครบถ้วน

          การย่อความเป็นการจับใจความสำคัญหรือประเด็นของเรื่อง  โดยเรียบเรียงให้ได้ใจความครบถ้วน  กระชับด้วยสำนวนภาษาของตนเอง  การย่อความมีความสำคัญมากเพราะช่วยให้สามารถบันทึกเรื่องราว  ความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว  ตรงประเด็น  และมีประโยชน์ในการทบทวนเรื่องนั้น ๆ  โดยใช้ระยะเวลาอันสั้น


ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์  เอี่ยมสำอางค์  เกื้อกมล  พฤกษประมูล และโสภิต  พิทักษ์. ภาษาไทย  หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

อัพเดทล่าสุด