ภาษาไทยน่ารู้ : การเขียนเรียงความ เทคนิคและวิธีการเขียนเรียงความ


2,800 ผู้ชม

เรียงความ  เป็นรูปแบบการเขียนที่ต้องใช้กระบวนการคิดที่สัมพันธ์กับหัวข้อเรื่องและมี ทักษะในการเขียนเพื่อที่จะสื่อสารแนวคิดสู่ผู้อ่านด้วยการเลือกสรรคำที่ เหมาะสมและสร้างสรรค์


การเขียนเรียงความ

การเขียนเรียงความ
          เรียงความ  เป็นรูปแบบการเขียนที่ต้องใช้กระบวนการคิดที่สัมพันธ์กับหัวข้อเรื่องและมี ทักษะในการเขียนเพื่อที่จะสื่อสารแนวคิดสู่ผู้อ่านด้วยการเลือกสรรคำที่ เหมาะสมและสร้างสรรค์

          1.  ส่วนประกอบของเรียงความ  ประกอบด้วย
                    1.1  คำนำ  เป็นการบอกให้ผู้อ่านทราบว่า  ผู้เขียนจะเขียนเรื่องอะไร  เป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจอ่านเนื้อเรื่องต่อไป  การเขียนคำนำมีหลายวิธี  เช่น  ยกคำพูด  คำคม  สุภาษิต  ร้อยกรอง  คำถาม 

ข่าวที่กำลังสนใจกันทั่วไป  ฯลฯ
                    1.2  เนื้อเรื่อง  เป็นส่วนสำคัญที่สุดของการเขียนเรียงความ  ผู้เขียนจะต้องคิดก่อนเป็นขั้นแรกว่า  จะเลือกเขียนเรื่องอะไรและมีวัตถุประสงค์ใดในการเขียนเรื่องนั้น ๆ
                              1.  จุดประสงค์ในการเขียนเรียงความ  มี 4 ประการ  คือ
                                        -  เพื่อให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน
                                        -  เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่าน
                                        -  เพื่อให้ความบันเทิง
                                        -  เพื่อส่งเสริมการใช้ความคิดของผู้อ่านให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
                              การกำหนดจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน  จะทำให้เนื้อหาของงานเขียนต่างกันด้วย  เช่น  จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับวัยรุ่นไทยเที่ยวกลางคืน  และเสพสิ่งเสพติด  เนื้อหาจะต่างกันตามจุดมุ่งหมาย
                              2.  กำหนดโครงเรื่อง  การกำหนดโครงเรื่อง  ทำให้มีขอบเขตในการเขียน  ไม่เขียนนอกประเด็น  เป็นการจัดลำดับความคิดให้เป็นระเบียบต่อเนื่องเป็นเรื่องราว  เช่น  เขียนเรื่องเกี่ยวกับอิทธิพลของการ์ตูนญี่ปุ่น
                                        (1)  ลักษณะของการ์ตูนญี่ปุ่น
                                                  -  เนื้อหา
                                                  -  ภาพประกอบ
                                                  -  ราคา
                                        (2)  แหล่งเผยแพร่การ์ตูนญี่ปุ่น
                                                  -  ร้านขายหนังสือ
                                                  -  ร้านเช่าหนังสือ
                                                  -  อินเทอร์เน็ต
                                        (3)  อิทธิพลที่มีต่อวัยรุ่น
                                                  -  ไม่สนใจหนังสือเรียน
                                                  -  มีพฤติกรรมเลียนแบบ
                                                  -  ยั่วยุกามารมณ์
                                        (4)  แนวทางให้วัยรุ่นเลิกอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นหรืออ่านน้อยลง
                                                  -  กวดขันแหล่งเผยแพร่
                                                  -  ส่งเสริมการ์ตูนไทยให้มากขึ้น
                                                  -  ให้คำแนะนำกับพ่อแม่ผู้ปกครอง
                    1.3  บทสรุป  ควรเขียนบทสรุปให้น่าประทับใจ  ที่สำคัญคือต้องทำให้ผู้อ่านเข้าใจจุดประสงค์ของผู้เขียนอย่างแจ่มชัด  อาจทำได้หลายวิธี  เช่น
                              1.  เน้นสาระสำคัญของเรื่อง
                              2.  ตั้งคำถามให้ผู้อ่านไปคิดต่อ
                              3.  ยกคำกล่าว  คำคม  สุภาษิต
                              4.  ฝากข้อคิด
                              5.  ยกส่วนของเนื้อเรื่องที่สำคัญที่สุดมากล่าวซ้ำ

          2.  วิธีการเขียนเรียงความ  ประกอบด้วย
                    2.1  วางโครงเรื่อง  การวางโครงเรื่องเป็นการกำหนดประเด็นนำเสนอตามลำดับเรื่อง  โดยให้สอดคล้องกับชื่อเรื่องและส่วนอื่น ๆ การลำดับความและวางโครงเรื่องที่ดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้เขียนและผู้อ่าน ที่จะช่วยให้เข้าใจได้ตลอดเรื่อง
                    2.2  สาระความรู้  สามารถบรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องที่เขียนให้ผู้อ่านเข้าใจ เกิดความศรัทธาและเชื่อมั่นว่า  ได้อ่านเรื่องอันเป็นสาระความรู้ไว้ประดับสติปัญญา
                    2.3  การเลือกใช้ถ้อยคำ  จะต้องรู้ถึงธรรมชาติ  ความหมายและการวางเรียงถ้อยคำที่เหมาะสม  สร้างสรรค์  ไม่ควรใช้คำที่มีความหมายหลายนัย  การใช้ถ้อยคำ  สำนวน  ที่เหมาะสมกับกาลเทศะ  จะช่วยให้ผู้อ่านมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในผลงาน
                    2.4  ความมีเหตุผล  การเขียนเรียงความ  เหตุผลย่อมเป็นเหมือนแสงสว่างที่จะส่องให้พบความเป็นจริง  ทำให้เรียงความมีเสน่ห์  อ่านได้อย่างราบรื่น  และเกิดความคิดเห็นคล้อยตาม
                    2.5  การเสริมความ  เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การเขียนเรียงความมีความดีเด่นขึ้น  เช่น  เสริมสำนวนสุภาษิตหรือคำคมเพื่อความสละสลวยไพเราะมากขึ้น  หรือมีคำถามเพื่อใช้ในการเสริมสาระเติมให้มีเนื้อหามากขึ้น

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์  เอี่ยมสำอางค์  เกื้อกมล  พฤกษประมูล และโสภิต  พิทักษ์. ภาษาไทย  หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

อัพเดทล่าสุด