ภาษาไทยน่ารู้ : การส่งสารด้วยการพูด ความหมาย ลักษณะต่างๆ องค์ประกอบ มีอะไรบ้าง


1,287 ผู้ชม

การพูด  หมายถึง  การถ่ายทอดความรู้  ความคิด  อารมณ์  และความรู้สึกของผู้พูดโดยใช้ถ้อยคำ  น้ำเสียง  สีหน้า  แววตา  รวมทั้งกิริยาท่าทางต่าง ๆ


การส่งสารด้วยการพูด

การส่งสารด้วยการพูด
          การพูด  หมายถึง  การถ่ายทอดความรู้  ความคิด  อารมณ์  และความรู้สึกของผู้พูดโดยใช้ถ้อยคำ  น้ำเสียง  สีหน้า  แววตา  รวมทั้งกิริยาท่าทางต่าง ๆ  เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายและตอบสนองตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

          การพูดเป็นการสื่อสารสองทางซึ่งมีองค์ประกอบ  ดังนี้
          ผู้ส่งสาร  (ผู้พูด)
          ผู้รับสาร  (ผู้ฟัง)
          สาร       (เนื้อหาสาระที่พูด)
          สื่อ        (เครื่องมือหรือช่องทางที่ใช้พูด)

          หากต้องการให้การพูดมีประสิทธิภาพ  ควรปฏิบัติดังนี้
          1.  ผู้พูดต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะพูด
          2.  ผู้พูดมีจุดประสงค์ในการพูด
          3.  พูดให้ได้เนื้อหาสาระตรงตามจุดประสงค์  ตรงประเด็น
          4.  วิเคราะห์ผู้ฟังตลอดจนโอกาสที่พูด
          5.  ออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้องชัดเจน
          6.  ผู้พูดต้องมีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ
          7.  สร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง

          โดยทั่วไปการพูดในชีวิตประจำวัน  จำแนกได้เป็น 2 ลักษณะ  คือ  การพูดระหว่างบุคคลและการพูดในกลุ่ม  เป็นการพูดที่มีบรรยากาศเป็นกันเองหรือไม่เป็นทางการมากนัก  เช่น  การทักทายปราศรัย  การแนะนำตนเอง  เป็นต้น

          1.  การทักทายปราศรัย  มีหลักในการปฏิบัติ  เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน  ดังนี้
                    1.  ยิ้มแย้มแจ่มใส
                    2.  กล่าวทักทายอย่างสุภาพ
                    3.  แสดงกิริยาอาการประกอบการทักทายให้เหมาะสมกับฐานะของบุคคล
                    4.  หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่ทำให้ผู้อื่นไม่สบายใจ

          2.  การแนะนำตนเอง  การแนะนำตนเองต่อบุคคลเป็นการพูดแนะนำอย่างกว้าง ๆ เมื่อได้พบกับบุคคลที่ได้เคยรู้จักกันมาก่อน  มักจะมีการสนทนาหรือพูดจาเล็กน้อยนำมาก่อน  แล้วจึงมีการแนะนำตนเองขึ้น
                    1.  การแนะนำตนเองในงานเลี้ยง  มักจะเริ่มด้วยสีหน้าท่าทางแสดงความเป็นมิตร  การให้ความช่วยเหลือ  การให้บริการซึ่งกันและกันก่อน  แล้วจังแนะนำตนเอง  ควรบอกเพียงชื่อ  นามสกุล  และความเกี่ยวข้องกับเจ้าของงาน
                    2.  การแนะนำตนเองในที่สาธารณะ  เริ่มด้วยการสนทนาสั้น ๆ เมื่อมีการพูดคุยโต้ตอบแล้วจึงค่อยแนะนำตัว
                    3.  การแนะนำตนเองในการทำธุระ  ควรมีการนัดหมายล่วงหน้า  และไปให้ตรงเวลา  แต่งกายให้เรียบร้อย  เมื่อพบผู้ที่นัดควรบอกชื่อ  นามสกุล  ให้ชัดเจนด้วยน้ำเสียงและกิริยาที่สุภาพ  หรืออาจบอกตำแหน่งการงาน  หน่วยงานที่สังกัด  แล้วจึงแจ้งกิจธุระนั้น ๆ
                    4.  การแนะนำตนเองในกลุ่ม  บอกชื่อ  นามสกุล  สถาบันที่ตนสังกัด  ด้วยเสียงชัดเจน

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์  เอี่ยมสำอางค์  เกื้อกมล  พฤกษประมูล และโสภิต  พิทักษ์. ภาษาไทย  หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

อัพเดทล่าสุด