ภาษาไทยน่ารู้ : คำประสม คืออะไร วิธีการประสมคำ และตัวอย่างคำประสม


27,462 ผู้ชม

การประสมคำเป็นการสร้างคำโดยนำคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาเรียงต่อกัน  ทำให้เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่


ภาษาไทยน่ารู้ : คำประสม คืออะไร วิธีการประสมคำ และตัวอย่างคำประสม ภาษาไทยน่ารู้ : คำประสม คืออะไร วิธีการประสมคำ และตัวอย่างคำประสม ภาษาไทยน่ารู้ : คำประสม คืออะไร วิธีการประสมคำ และตัวอย่างคำประสม

คำประสม

คำประสม

          การประสมคำเป็นการสร้างคำโดยนำคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาเรียงต่อกัน  ทำให้เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่  โดยอาจมีเค้าความหมายเดิมหรือความหมายเปลี่ยนไปก็ได้

          1.  วิธีการประสมคำ  สามารถนำคำชนิดใดก็ได้ทั้ง 7 ชนิดมาประสมกัน  เมื่อประสมแล้วจะเกิดเป็นคำชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับความหมายและการใช้คำ  หรือขึ้นอยู่กับหน้าที่ของคำ  เช่น
                              คน (นาม) + ใช้ (กริยา)                    คนใช้ (นาม)
                              ตา (นาม) + ขวาง (กริยา)                 ตาขวาง (กริยา)
                              ห่อ (กริยา) + หมก (กริยา)                ห่อหมก (นาม)
                              ตก (กริยา) + ลง (กริยา)                   ตกลง (กริยา)
                              กัน (กริยา) + สาด (กริยา)                 กันสาด (นาม)
                              น้ำ (นาม) + แข็ง (วิเศษณ์)                น้ำแข็ง (นาม)
                    1.1  คำประสมที่เกิดจากคำไทยประสมคำไทย  เช่น
                              กล้วยไม้          ยางลบ          ลูกสูบ          ข้าวแช่
                              พ่อตา              แม่ยาย           ที่ราบ          อมยิ้ม
                              ของสูง            หมอความ      หมดตัว         ขายหน้า
                              กินที่                ต้มยำ             แกงส้ม         เบี้ยล่าง
                    1.2  คำประสมที่เกิดจากคำไทยประสมกับคำยืมจากต่างประเทศ  เช่น
                              ไทย + เขมร                    =  ของขลัง  นายตรวจ  ของโปรด  ป้อมตำรวจ
                              ไทย + จีน                       =  กินโต๊ะ  นายห้าง  ตีตั๋ว  หงายเก๋ง  บะหมี่แห้ง
                              ไทย + อังกฤษ                =  เรียงเบอร์  แทงก์น้ำ  น้ำก๊อก  แผ่นดิสก์  เตาไมโครเวฟ
                              ไทย + บาลีสันสกฤต       =  ผลไม้  ตักบาตร  พระพุทธเจ้า
                    1.3  คำประสมที่เกิดจากคำยืมภาษาต่างประเทศมาประสมกัน  เช่น
                              คำประสมที่เกิดจากภาษา  บาลี + อังกฤษ           รถเมล์  รถทัวร์  รถบัส
                              คำประสมที่เกิดจากภาษา  อังกฤษ + อังกฤษ      แท็กซี่มิเตอร์  เครดิตการ์ด  การ์ดโฟน
                              คำประสมที่เกิดจากภาษา  บาลี + บาลี                ผลผลิต  กลยุทธ์  วัตถุโบราณ

          2.  ความหมายของคำประสม  มีความหมาย 2 ลักษณะ  คือ
                    2.1  ความหมายใหม่  แต่ยังคงมีเค้าความหมายเดิม  เช่น
                              เตา + แก๊ส          =  เตาแก๊ส  หมายถึง  เตาหุงต้มที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง
                              เตา + ผิง             =  เตาที่ทำด้วยอิฐสำหรับก่อไฟผิงในหน้าหนาว
                              รถ + ไฟ              =  รถที่ใช้ไฟเป็นพลังงานขับเคลื่อน
                              น้ำ + แข็ง            =  น้ำที่แข็งเป็นก้อนด้วยกรรมวิธีอย่างหนึ่ง
                    2.2  ความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม  เช่น
                              ขาย + หน้า          =  ขายหน้า  หมายถึง  รู้สึกอับอาย
                              แข็ง + ข้อ            =  แข็งข้อ  หมายถึง  คิดและกระทำการต่อต้าน
                              นาย + ท่า            =  นายท่า  หมายถึง  ผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการที่ท่าเรือ  ท่ารถ
                              ปาก + มาก          =  ปากมาก  หมายถึง  ชอบว่าคนอื่นซ้ำ ๆ ซาก ๆ หรือพูดมาก

          3.  ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำประสม
                    3.1  คำประสมมักจะทำหน้าที่เป็นคำนาม  คำกริยา  และคำวิเศษณ์  เช่น
                              คำนาม
                                        แม่          แม่ครัว  แม่มด  แม่น้ำ  แม่สื่อ  แม่นม  แม่พระ  แม่เหล็ก
                                        ลูก          ลูกน้ำ  ลูกเสือ  ลูกเล่น  ลูกไม้  ลูกน้อง  ลูกไล่  ลูกหิน
                                        น้ำ          น้ำหวาน  น้ำตา  น้ำพุ  น้ำตาล  น้ำเน่า  น้ำตก  น้ำครำ
                              คำกริยา
                                        ติด          ติดดิน  ติดตัว  ติดตา  ติดใจ  ติดลม  ติดปาก
                                        วาง          วางเฉย  วางท่า  วางตัว  วางใจ  วางยา  วางหน้า
                                        กิน           กินแรง  กินใจ  กินที่  กินโต๊ะ  กินเปล่า  กินดอง
                              คำวิเศษณ์
                                        ใจ           ใจจืด  ใจหาย  ใจดำ  ใจลอย  ใจดี  ใจร้าย  ใจแข็ง
                                        คอ           คออ่อน  คอแข็ง  คอตก
                                        ปาก         ปากหวาน  ปากตลาด  ปากปลาร้า  ปากร้าย
                    3.2  คำประสมที่เป็นคำนาม  คำกริยา  คำวิเศษณ์ไม่จำเป็นว่าคำแรกจะต้องเป็นคำนาม  คำกริยา  และวิเศษณ์เสมอไป  เช่น
                              คำนาม               
                                        คำแรกเป็นคำกริยา  คำตามเป็นคำนาม                    รอเท้า  บังตา  ยกทรง
                                        คำแรกเป็นคำกริยา  คำตามเป็นคำกริยา                   ต้มยำ  กันสาด  ห่อหมก
                    3.3  คำประสมจำนวนมากมีคำแรกซ้ำกันถือเป็นคำสั่ง  คำตั้งเหล่านี้มีคำต่าง ๆ มาช่วยเสริมความหมาย  เช่น
                              อาหาร        
                                        ขนม          ขนมหวาน  ขนมถ้วยฟู  ขนมครก  ขนมไข่
                                        แกง          แกงส้ม  แกงเผ็ด  แกงเขียวหวาน
                                        ไข่           ไข่เค็ม  ไข่ดาว  ไข่ยัดไส้  ไข่กระทะ
                              กิจกรรม
                                        ทำ            ทำครัว  ทำบุญ  ทำการบ้าน  ทำเวร  ทำงาน
                                        วิ่ง             วิ่งเปรี้ยว  วิ่งผลัด  วิ่งเร็ว  วิ่งทน  วิ่งวิบาก
                                        จัด            จัดซื้อ  จัดการ  จัดสรร  จัดจ้าง  จัดทำ
                              อุปนิสัยหรือลักษณะ
                                        หัว            หัวหมอ  หัวขี้เลื่อย  หัวขโมย  หัวก้าวหน้า
                                        ขี้               ขี้กลัว  ขี้ขลาด  ขี้คุย  ขี้ขโมย  ขี้โมโห
                                        ใจ             ใจแคบ  ใจใหญ่  ใจร้อน  ใจซื่อ  ใจร้าย
                    3.4  คำประสมจำนวนมากมักมีความหมายในเชิงอุปมา  เช่น
                                        หัวอ่อน          หมายถึง  ว่าง่าย  สอนง่าย
                                        ปากมาก         หมายถึง  ชอบว่าคนอื่นซ้ำ ๆ ซาก ๆ
                                        หักหนเา         หมายถึง  ทำหรือพูดโดยเจตนาให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความอับอาย
                                        ไก่อ่อน           หมายถึง  คนที่มีประสบการณ์น้อย  ยังรู้ไม่เท่าทันเลห์เหลี่ยมของคนอื่น
                                        ตีนแมว           หมายถึง  ผู้ร้าย  ขโมยที่ย่องได้เบาราวกับแมว
                                        หัวเรือใหญ่     หมายถึง  ผู้จัดการทุกอย่างให้ผู้อื่นด้วยตนเอง
                                        หน้าบาง         หมายถึง  มีความรู้สึกไวต่อสิ่งที่น่าละอาย
                                        ตาขาว            หมายถึง  แสดงอาการขลาดกลัว
                                        ปากตลาด       หมายถึง  ถ้วยคำที่โจษ  หรือเล่าลือกัน
                                        หน้าม้า           หมายถึง  ผู้ที่ทำเลห์เหลี่ยมเป็นเหมือนคนซื่อเพื่อจูงใจให้คนอื่นหลงเชื่อ
                    3.5  คำประสมบางคำเป็นได้ทั้งคำและกลุ่มคำ  ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อม
                              กลุ่มคำ          แสงอาทิตย์ส่องสว่างในตอนเช้า
                              คำประสม       แสงอาทิตย์เป็นชื่อของงูที่มีอันตรายมาก
                              กลุ่มคำ          ลูกเสือที่ตัวเล็กที่สุดในฝูงมักจะถูกรังแกมากที่สุด
                              คำประสม       ลูกเสือทุกตัวจะต้องร่วมกิจกรรมรอบกองไฟ
         
                             


ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์  เอี่ยมสำอางค์  เกื้อกมล  พฤกษประมูล และโสภิต  พิทักษ์. ภาษาไทย  หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

อัพเดทล่าสุด