คำซ้ำ หมายถึง คำที่ออกเสียงซ้ำคำให้ต่อเนื่องกัน โดยใช้เครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) เติมหลังคำ
คำซ้ำ
คำซ้ำ
คำซ้ำ หมายถึง คำที่ออกเสียงซ้ำคำให้ต่อเนื่องกัน โดยใช้เครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) เติมหลังคำ คำที่ซ้ำเสียงอาจจะมีความหมายคงเดิมหรือแตกต่างกันไปจากเดิมขึ้นอยู่กับความ หมายของคำและบริบทที่ประกอบ
1. วิธีสร้างคำซ้ำ สามารถสร้างได้หลายวิธี ได้แก่
1.1 นำคำในภาษาไทยทุกชนิด ทั้งนาม สรรพนาม กริยา วิเศษณ์ บุพบท สันธาน อุทาน มาซ้ำเสียงได้ทั้งหมด เช่น เด็ก ๆ เธอ ๆ หลับ ๆ ต่ำ ๆ ใกล้ ๆ ราว ๆ โฮ ๆ เป็นต้น
1.2 นำคำซ้ำมาออกเสียงซ้ำ เช่น สวย ๆ งาม ๆ งก ๆ เงิ่น ๆ เตาะ ๆ แตะ ๆ เลียบ ๆ เคียง ๆ เป็นต้น
2. ความหมายของคำซ้ำ คำซ้ำแต่ละคำมีความหมายเฉพาะคำแตกต่างกันไปมากมาย
2.1 ความหมายแสดงพหูพจน์ เช่น
เด็ก ๆ กำลังเล่นฟุตบอล
พี่ ๆ ให้ของขวัญแก่น้อง
2.2 ความหมายแสดงการแยกเป็นส่วน ๆ มักเป็นลักษณนาม เช่น
คุณแม่หั่นหมูเป็นชิ้น ๆ
วิชุดาล้างจานให้สะอาดเป็นใบ ๆ สิ
2.3 ความหมายเน้นหรือเพิ่มน้ำหนักความหมายให้ชัดเจนขึ้น อาจเปลี่ยนเสียงส่วนหน้าเป็นเสียงวรรณยุกต์เพื่อเน้นความหมายให้เด่นชัดหรือ มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
เดินดี ๆ ระวังรถด้วยนะ
สุชาติลาพักร้อน 1 สัปดาห์เต็ม ๆ
นางแบบคนนี้หุ่นดี๊ดี
ฉันเกลี๊ยดเกลียดคนโกหก
2.4 ความหมายเบาลงหรือลดน้ำหนักตามความหมายลง เช่น
เขายังเคือง ๆ เธออยู่นะ
ฝีมือวาดรูปของเขาคล้าย ๆ พ่อ
เราสองคำกำลังคบ ๆ กันอยู่
2.5 ความหมายไม่เจาะจงหรือไม่กำหนดแน่นอน
อะไร ๆ ฉันก็กินได้
บ้านฉันอยู่แถว ๆ เอกมัย
ผ้าดี ๆ อย่างนี้หาซื้อยากนะ
2.6 ความหมายเปลี่ยนไปเป็นสำนวนที่มีความหมายเฉพาะ เช่น
ปุณยวีร์ล้างผักแบบลวก ๆ (หยาบ, ไม่สะอาด)
ไป ๆ มา ๆ เขาก็ต้องไปเป็นเพื่อนเธอ (ในที่สุด)
3. ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำซ้ำ การสร้างคำซ้ำและการใช้คำซ้ำให้ถูกต้องนั้น ผู้ใช้ควรคำนึงถึงลักษณะของคำซ้ำ ซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้
3.1 คำบางคำสามารถใช้ได้ทั้งรูปคำโดด และคำซ้ำ แต่ถ้าเป็นคำซ้ำที่ใช้ในบริบทเดียวกันจะให้ภาพพจน์ได้ดีกว่า เช่น
เขาเปียกฝนนั่งสั่นงั่ก
เขาเปียกฝนนั่งสั่นงั่ก ๆ
ประโยค 1 และ 2 แม้จะมีความหมายเหมือนกัน แต่ประโยค 2 ให้ภาพพจน์ทำให้กระทบใจผู้รับสารได้ดีกว่า
3.2 คำซ้ำคำเดียว อยู่ในบริบทต่างกัน ความหมายอาจต่างกัน เช่น
ขณะที่ฟุตบอลกำลังสนุก สถานีโทรทัศน์กลับตัดเข้าโฆษณาเฉย ๆ (ตัดภาพเป็นโฆษณาทันที)
เขาปล่อยที่ไว้เฉย ๆ ไม่ปลูกอะไรเลย (ทิ้งไว้อย่างนั้น)
3.3 คำซ้ำที่เป็นคำสรรพนามและวิเศษณ์ เช่น ใคร อะไร ไหน เป็นต้น จะมีใจความที่ไม่เจาะจง และจะใช้ ก็ ประกอบข้อความด้วยเสมอ เช่น
ใคร ๆ ก็ชอบฟังเพลง
ที่ไหน ๆ ก็ไม่สุขใจเท่าบ้านของเรา
ไม่ว่าดอกไม้อะไร ๆ ที่สวนแห่งนี้ก็สวยมาก
3.4 การอ่านคำซ้ำหรือข้อความที่มีเครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) ประกอบ ต้องพิจารณาว่าจะอ่านซ้ำคำหรือกลุ่มคำ เช่น
วันไหน ๆ เราก็มีความสุขได้ (อ่านว่า วัน-ไหน-ไหน)
ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์ เอี่ยมสำอางค์ เกื้อกมล พฤกษประมูล และโสภิต พิทักษ์. ภาษาไทย หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.