ปัญหาในการอ่านและเขียนคำที่มีประวิสรรชนีย์และไม่ประวิสรรชนีย์ยังพบอยู่ มาก เพราะผู้ใช้เองไม่มีหลักในการใช้หรือหลักในการสังเกตที่ถูกต้อง
การใช้ประและไม่ประวิสรรชนีย์
การใช้ประและไม่ประวิสรรชนีย์
ปัญหาในการอ่านและเขียนคำที่มีประวิสรรชนีย์และไม่ประวิสรรชนีย์ยังพบอยู่ มาก เพราะผู้ใช้เองไม่มีหลักในการใช้หรือหลักในการสังเกตที่ถูกต้อง การใช้ประและไม่ประวิสรรชนีย์มีหลักในการสังเกต ดังนี้
1. คำที่ประวิสรรชนีย์ ข้อสังเกตในการใช้มีดังนี้
1.1 คำพยางค์เดียวที่ออกเสียง อะ จะประวิสรรชนีย์เสมอ เช่น กะ จะ ปะ ละ นะ
1.2 คำไทยแท้ที่ออกเสียง อะ ทั้งพยางค์ที่ลงน้ำหนักและไม่ลงน้ำหนัก เมื่อเขียนต้องประวิสรรชนีย์ เช่น
มะม่วง มะดัน มะนาว มะขาม มะยม
ละมั่ง ละอง ตะกวด ตะขาบ กระจง
ตะกร้า ตะโพน กระดาน กะดัง ชะลอม
1.3 คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต คำพยางค์ท้ายของคำที่ออกเสียง อะ จะประวิสรรชนีย์ เช่น ศิลปะ ศีรษะ ลักษณะ สาธารณะ สุขะ
1.4 คำที่มาจากภาษาสันสกฤต ที่พยางค์หน้าออกเสียง กระ ตระ ประ จะต้องประวิสรรชนีย์ แม้ว่าพยางค์ที่ตามมาจะออกเสียงอย่างอักษรนำ เช่น
กระ กระษัย กระษิร กระษาปณ์
ตระ ตระกูล ตระการ
ประ ประวัติ ประโยชน์ ประมาท ประกาศ
1.5 คำที่ไทยรับมาจากภาษาชวาและอ่านออกเสียง อะ ที่พยางค์หน้า เช่น
มะเดหวี ประไหมสุหรี มะงุมมะงาหรา
1.6 คำซ้ำประเภทคำอัพภาสที่ใช้ในบทร้อยกรอง เช่น
จะเจื้อย - เจื้อยเจื้อย
วะวาว - วาววาว
คะคล้าย - คล้ายคล้าย
2. คำที่ไม่ประวิสรรชนีย์ ข้อสังเกตในการใช้มีดังนี้
1. คำไทยที่ยกเว้นไม่ประวิสรรชนีย์ เช่น ธ ณ ธชี ทแกล้ว ทนาย อนึ่ง ฯพณฯ
2. พยางค์กลางของคำสมาส แม้จะออกเสียง อะ ก็ไม่ประวิสรรชนีย์ เช่น ศิลปกรรม ธนบัตร จุลสาร รัฐศาสตร์ พุทธพจน์
3. พยางค์หน้าของคำสองพยางค์ที่ออกเสียงแบบอักษรนำ แม้จะออกเสียง อะ ก็ไม่ประวิสรรชนีย์ เช่น กนก ขนาน จรัส ฉลาด ตลับ เสมอ สลวย สวิง เฉลย
4. คำที่มาจากภาษาเขมรที่มีพยัญชนะต้นสองตัวซ้อนกัน จะต้องอ่านคำหน้าเป็น อะ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ เช่น ขมา ขโมย ผจญ ผทม สบง เผดียง สลา จรูญ ถนน
ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์ เอี่ยมสำอางค์ เกื้อกมล พฤกษประมูล และโสภิต พิทักษ์. ภาษาไทย หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.