คำที่มีอักษรนำส่วนมากมักจะออกเสียงได้ถูกต้อง แต่มีเพียงบางคำเท่านั้นที่มีปัญหาในการออกเสียง เพราะไม่รู้หลักในการอ่านออกเสียงในคำที่มีอักษรนำ
การออกเสียงคำที่มีอักษรนำ
การออกเสียงคำที่มีอักษรนำ
คำที่มีอักษรนำส่วนมากมักจะออกเสียงได้ถูกต้อง แต่มีเพียงบางคำเท่านั้นที่มีปัญหาในการออกเสียง เพราะไม่รู้หลักในการอ่านออกเสียงในคำที่มีอักษรนำ หลักในการอ่านคำที่มีอักษรนำ มีดังนี้
คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต บางคำไทยรับมาใช้แล้วอ่านแบบอักษรนำ เช่น กักขฬะ (กัก-ขะ-หฺละ), จริต (จะ-หฺริด), เทศนา (เทด-สะ-หฺนา), สมุจเฉท (สะ-หฺมุด-เฉด), สวาหะ (สะ-หฺวา-หะ), ลักษณะ (ลัก-สะ-หนะ)
คำที่พยางค์หน้ามีรูปสระกำกับตามหลักไม่ต้องอ่านอย่างอักษรนำ แต่ยังนิยมอ่านแบบอักษรนำ เช่น ประโยชน์ (ปฺระ-โหยด), ประวัติ (ปฺระ-หวัด), ดิลก (ดิ-หฺลก), ดิเรก (ดิ-เหรก), บุรุษ (บุ-หฺรุด), บัญญัติ (บัน-หยัด)
คำแผลงจาภาษาเขมร ซึ่งพยัญชนะต้นเป็นอักษรควบ พยางค์หลังจะออกเสียงวรรณยุกต์ตามเสียงวรรณยุกต์ของคำเดิม เช่น
ตรวจ แผลงเป็น ตำรวจ (ตำ-หฺรวด)
ปราบ แผลงเป็น บำราบ (บำ-หฺราบ)
ตริ แผลงเป็น ดำริ (ดำ-หฺริ)
ตรัส แผลงเป็น ดำรัส (ดำ-หฺรัด)
คำบางคำที่ไม่ได้มาจากภาษาบาลีสันสกฤตและภาษาเขมรก็มักจะมีการออกเสียงแบบอักษรนำ เช่น
ยุโรป ออกเสียงเป็น ยุ-โหรบ
เขม็ง ออกเสียงเป็น ขะ-เหม็ง
ข้อสังเกต
1. คำแผลงที่ไม่ใช่อักษรควบ เมื่อแผลงเป็น 2 พยางค์ พยางค์หลังจะไม่ออกเสียงวรรณยุกต์ตามคำเดิม เช่น
ปราศ แผลงเป็น บำราศ (บำ-ราด)
2. คำเดิมไม่ใช่อักษรควบ เมื่อแผลงเป็น 2 พยางค์ พยางค์หลังจะไม่ออกเสียงวรรณยุกต์ตามคำเดิม เช่น
แจก เสียงวรรณยุกต์ เอก แผลงเป็น จำแนก
อ่านว่า จำ-แนก เสียงวรรณยุกต์โท
อาจ เสียงวรรณยุกต์ เอก แผลงเป็น อำนาจ
อ่านว่า อำ-นาด เสียงวรรณยุกต์โท
ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์ เอี่ยมสำอางค์ เกื้อกมล พฤกษประมูล และโสภิต พิทักษ์. ภาษาไทย หลักการใช้ภาษาและการใช้ภาษา ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.