ภาษาไทยน่ารู้ : การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว ให้ถูกต้อง หลักเกณฑ์และวิธีการอ่านร้อยแก้ว


1,542 ผู้ชม

การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว หมายถึง การอ่านถ้อยคำที่มีผู้เรียบเรียงหรือประพันธ์ไว้ โดยการเปล่งเสียง และวางจังหวะเสียงให้เป็นไปตามความนิยม และเหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ไปสู่ผู้ฟัง


การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว

การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว
การอ่านออกเสียงร้อยแก้ว หมายถึง การอ่านถ้อยคำที่มีผู้เรียบเรียงหรือประพันธ์ไว้ โดยการเปล่งเสียง และวางจังหวะเสียงให้เป็นไปตามความนิยม และเหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ไปสู่ผู้ฟัง ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมคล้อยตามไปกับเรื่องราว หรือรสประพันธ์ที่อ่าน

หลักเกณฑ์ในการอ่านออกเสียงร้อยแก้ว
๑.  ก่อนอ่านควรศึกษาเรื่องที่อ่านให้เข้าใจ เพื่อเเบ่งวรรคตอน
๒.  อ่านให้คล่อง และเสียงดังพอเหมาะกับสถานที่และจำนวนผู้ฟัง
๓.  อ่านให้คล่องและถูกต้องตามอักขรวิธี โดยเฉพาะ ร ล คำควบกล้ำต้องออกเสียงให้ชัดเจน
๔.  เน้นเสียงและถ้อยคำ ตามน้ำหนักความสำคัญของใจความ ใช้เสียงและจังหวะให้เป็นไปตามเนื้อเรื่อง เช่น ดุ อ้อนวอน จริงจัง ฯลฯ
๕.  อ่านออกเสียงให้เหมาะสมกับประเภทของเรื่อง เช่น ถ้าอ่านเรื่องที่ให้ข้อเท็จจริงทั่วไป จะอ่านออกเสียงธรรมดาให้ชัดเจน
๖.  ในระหว่างที่อ่าน ควรกวาดสายตามองตัวอักษร สลับกับการเงยหน้าขึ้นมาสบตาผู้ฟัง ในลักษณะที่เหมาะสม และดูเป็นธรรมชาติ
๗.  ถ้าอ่านในที่ประชุม ต้องยืนทรงตัวในท่าทางที่สง่า มือที่จับกระดาษอยู่ในท่าทางทีเหมาะ ไม่เกร็ง ไม่ยกกระดาษ หรือเอกสารบังหน้า หรือไม่ถือไว้ต่ำเกินไปจนต้องก้มลงอ่านจนตัวงอ

วิธีการอ่านออกเสียงข้อความที่เป็นร้อยแก้ว

สร้างวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ให้เป็นนักอ่าน

                  ในปัจจุบันกล่าวกันว่า/ เรากำลังอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ หรือเรียกอีกอย่างว่าโลกไร้พรมแดน// แต่จะเรียกอย่างไรก็ตามเถิด/ การอ่าน/ ก็เป็นกระบวนการสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคนในทศวรรษนี้/ เพราะโลกของการศึกษา/ มิได้จำกัดอยู่ภายในห้องเรียน/ ที่มีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมเเคบๆ เท่านั้น/ เเต่ข้อมูลข้าวสารสารสนเทศต่างๆ /ได้ย่อโลกให้เล็กลงเท่าที่เราอยากรู้ได้รวดเร็ว/ ในชั่วลัดนิ้วมือเดียวอย่างที่คนโบราณกล่าวไว้/ จะมีสื่อให้อ่านอย่างหลากหลายให้เลือก/ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ที่เราคุ้นเคย/ ไปจนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า "อินเทอร์เน็ต" เพราะการต่อสู้รุกรานกันของมนุษย์ยุคใหม่/ จะใช้ข้อมูล/ สติ/ ปัญญา/ และคุณภาพของคนในชาติ/ มากกว่าการใช้กำลังอาวุธเข้าประหัตประหารกัน// หากคนในชาติด้อยคุณภาพ/ ขาดการเรียนรู้/ จะถูกครอบงำทางปัญญาได้ง่ายๆ / จากสื่อต่างๆ จากชาติที่พัฒนาเเล้ว
                   หากคนไม่อ่านหนังสือ/ ก็ยากที่จะพัฒนาสติปัญญา และความรู้ได้/ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา/ จะต้องทุ่มเทให้คนมีนิสัยรักการอ่าน/ มีทักษะในการอ่าน/ และพัฒนาวิธีการอ่านให้เป็นนักอ่านที่ดี// นักอ่านที่ดีจะมีภูมิคุ้มกันการครอบงำทางปัญญาได้เป็นอย่าง/ รู้เท่ากันคน และสามารถแก้ปัญหาได้ดี
                                                                                                                           ชาติก้าวไกลด้วยคนไทยรักการอ่าน : มานพ ศรีเทียม

*เครื่องหมาย / หมายถึง การหยุดเว้นช่วงจังหวะสั้นๆ
  เครื่องหมาย // หมายถึง การหยุดเว้นช่วงจังหวะที่ยาวกว่าเครื่องหมาย /
  เครื่องหมาย ____ หมายถึง การเน้น การเพิ่มน้ำหนักของเสียง

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ. ภาษาไทย ป.๖. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.

อัพเดทล่าสุด