ภาษาไทยน่ารู้ : การอ่านในใจ วิธีการ แนวทางการปฏิบัติ การพัฒนา การฝึกฝน


848 ผู้ชม

การอ่านในใจเป็นบทบาทเฉพาะตัวของบุคคล ที่มีจุดมุ่งหมายจะจับใจความอย่างรวดเร็ว


การอ่านในใจ

การอ่านในใจ
การอ่านในใจเป็นบทบาทเฉพาะตัวของบุคคล ที่มีจุดมุ่งหมายจะจับใจความอย่างรวดเร็ว คือ รู้เรื่องเร็วและถูกต้องโดยไม่ใช้อวัยวะที่ช่วยในการออกเสียงเคลื่อนไหวเลย การอ่านในใจจะช่วยให้เข้าใจเนื้อความได้เร็วกว่าการอ่านออกเสียง และผู้อ่านจะรับรู้เรื่องราวเเต่เพียงผู้เดียว
วิธีการอ่านในใจ
๑.  การอ่านอย่างละเอียด เป็นการอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้ ผู้อ่านจะต้องมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องที่อ่านพอสมควร ควรอ่านรายละเอียดของเรื่องตั้งเเต่ต้นจนจบ จะทำให้มองเห็นการเชื่อมโยงระหว่างใความสำคัญได้
๒.  ผู้อ่านต้องมีจุดมุ่งหมายในการอ่าน และต้องมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องที่จะอ่าน ในการอ่านผู้อ่านจะต้องจับใจความส่วนรวมให้ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร เมื่ออ่านจบควรเรียบเรียงใจความสำคัญเป็นภาษาของตนเอง
๓.  อ่านอย่างรวดเร็ว เป็นการอ่านที่ไม่ต้องเก็บรายละเอียด แต่อ่านเพื่อให้ทราบเรื่องราวเท่านั้น นิยมใช้อ่านหนังสือประเภทบันเทิงคดีเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ เช่น อ่านนวนิยาย เรื่องสั้น นิตยสาร หนังสือพิมพ์
๔.  อ่านอย่างคร่าวๆ เป็นการอ่านอย่างรวดเร็ว เพื่อต้องการค้นหาคำตอบจากข้อความบางตอน การอ่านวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีพิ้นฐานการอ่านที่ดีพอ
๕.  อ่านเพื่อวิจารณ์ ผู้อ่านต้องใช้ประสบการณ์เดิมของตนให้เป็นประโยชน์ เพื่อทำความเข้าใจจุดมุ่งหมายของผู้เขียน การเสนอข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็น หรือการใช้ความหมายตรง และโดยนัย
แนวปฏิบัติในการอ่านในใจ
การอ่านในใจต้องอาศัยความเเม่นยำในการจับตามองดูตัวหนังสือ การเคลื่อนไหวสายตา การเเบ่งช่วงวรรคตอน ซึ่งต้องฝึกให้เกิดความเเม่นยำและรวดเร็วจึงจะสามารถเก็บได้ครบทุกคำ
การอ่านในใจมีเเนวปฏิบัติ ดังนี้
๑.  กวาดสายตามองตัวอักษณให้ได้ช่วงประมาณ ๕-๖ คำ เป็นอย่างน้อย
๒.  ไม่ควรทำปากขมุบขมิบในขณะอ่าน ต้องฝึกเรื่องอัตราความเร็วของตาและสมอง
๓.  ไม่ควรอ่านย้อนหลังจากอ่านจบ อ่านจากซ้ายไปขวาโดยตลอด
๔.  ทดสอบความเข้าใจหลังจากอ่านจบ โดยใช้วิธีตั้งคำถามสรุปเรื่องราวที่อ่าน

การพัฒนาการอ่านในใจ
การอ่านในใจเป็นทักษะที่สามารถพัฒนาได้เช่นเดียวกับการอ่านออกเสียง ซึ่งนักเรียนทุกคนควรฝึกฝนให้ชำนาญ เพราะการอ่านหนังสือได้มาก เป็นวิธีการฝึกฝนตนเองให้อ่านได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
วิธีฝึกการอ่านในใจ มีดังนี้
๑.  อ่านข้อความง่ายๆ ไม่มีคำศัพท์มาก ไม่ซับซ้อน ยาวประมาณ ๑ หน้า
๒.  จับเวลาที่ใช้ในการอ่านข้อความนั้น
๓.  ตั้งคำถามเพื่อถามตนเองเกี่ยวกับเรื่องราวหรือข้อความที่อ่าน
๔.  สำรวจตนเองว่าตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่อ่านได้มากเพียงใด
๕.  อ่านข้อความนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง พยายามทำเวลาในการอ่านให้น้อยลง
๖.  ตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่อ่านอีกครั้งว่าตอบได้ดีกว่าครั้งเเรกหรือไม่

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ. ภาษาไทย ป.๖. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.

อัพเดทล่าสุด