ภาษาน่ารู้ : ภาษามลายู ภาษาและวรรณกรรม มลายู คืออะไร และวรรณกรรมมลายูมีประเภทอะไรบ้าง


3,531 ผู้ชม

คำว่า “วรรณกรรม” หรือ “วรรณคดี” เป็นคำที่มีความหมายเดียวกันในภาษามลายู เรียกว่า “Sastera” (อ่านว่า “ซัสเตอรา”)


วรรณกรรมมลายู 

(Sastera Melayu)[1] 

                                                                                                                                                                                                                     

 อ. กามารุดดีน  อิสายะ

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยทักษิณ

                คำว่า “วรรณกรรม” หรือ “วรรณคดี” เป็นคำที่มีความหมายเดียวกันในภาษามลายู เรียกว่า “Sastera” (อ่านว่า “ซัสเตอรา”) เพราะฉะนั้น คำว่า “วรรณกรรมมลายู”  หรือ “วรรณคดีมลายู” ในภาษามลายูจึงเรียกว่า “Sasreta Melayu

                อารีนา วาตี (Arena Wati) ได้นิยาม “Sastera Melayu” ว่าเป็นศิลปะทางภาษาประเภทหนึ่งที่เกิดจากการเขียนหรือการกล่าวออกมาเป็นเสียงในภาษามลายู

                จากนิยามดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า “sastera” มีความหมายรวมถึงทุกภาษาที่มีการเขียนบันทึก หรือกล่าวออกมาเป็นคำพูดที่มีความหมายเฉพาะเจาะจง  ในที่นี้ก็อาจรวมไปถึงภาษาเขียนที่อยู่ในรูปของหนังสือ  จดหมาย  หนังสือสัญญา  ข่าว  ใบประกาศ หรือใบสำคัญต่างๆ เป็นต้น ส่วนวรรณกรรมที่อยู่ในรูปของเสียงอาจเป็น การสนทนา  การบรรยาย  นิทาน บทคาถา การร่ายมนต์ หรือบทสวดต่าง ๆ เป็นต้น  

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วความหมายของ sastera ข้างต้นนี้ยังไม่ได้มองในแง่ของคุณค่าและความสุนทรียะทางวรรณกรรมและวรรณคดี  และหากมองว่า sastera นั้นประกอบด้วยคุณค่าทางสุนทรียะแล้วก็มักจะใช้คำที่มีความหมายในอีกลักษณะหนึ่ง คือ “Susastera” (อ่านว่า “ซูซัสเตอรา”)

คำว่า  “Susastera Melayu”  ในที่นี้ประกอบด้วยหน่วยเติมหน้าศัพท์ “su” ซึ่งยืมมาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง ดี สวย งาม ละเอียดอ่อน ไพเราะ บริสุทธิ์  ดังนั้น คำว่า “susastera”  จึงหมายถึง sastera ที่มีการสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความงามและความสุนทรียะทางภาษานั่นเอง  susastera ตามคำจำกัดความดังกล่าว เป็นคำแปลงรูปจากคำนาม sastera กลายเป็นคำคุณศัพท์  นั่นก็คือ sastera ที่ ไม่ใช่เป็นเพียงภาษาเขียนและภาษาพูดธรรมดาเท่านั้น แต่เป็นภาษาที่สร้างสรรค์ขึ้นมาแล้วต้องมีเงื่อนไขประกอบ คือความงามและความสุนทรียะที่อยู่ในตัวของ sastera

ความงามและความสุนทรียะที่เป็นเงื่อนไขประกอบแวดล้อม sastera ให้กลายเป็น susastera อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีองค์ประกอบสี่ประการดังนี้

1.   จังหวะและลีลา ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกเร้าใจและชวนติดตาม

2.    การวางคำในวลีหรือประโยคถูกต้องตามตำแหน่งและหน้าที่

3.    คำหรือถ้อยคำที่แสดงออกมาสื่อความหมายได้ชัดเจน ตรงประเด็น และเข้าใจง่าย

4.   ภาพ ลักษณ์โดยรวมของภาษาที่เขียนหรือกล่าวออกมานั้น ต้องประกอบด้วยแนวคิดหลัก หรือเป้าหมายหลักของเรื่อง ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องจินตนาการก็ตาม

คำว่า susastera  สามารถเปลี่ยนเป็นคำใหม่อีกคำหนึ่งได้ นั่นคือ คำว่า “Kesusasteraan”  (อ่านว่า “เกอซูซัสเตอราอัน”) ซึ่งเป็นรูปพหูพจน์ของคำ sastera หมายถึงวรรณกรรม หรือวรรณคดีต่าง ๆ  ซึ่งมีคุณลักษณะความงามและความสุนทรียะทางวรรณศิลป์

Kesusasteraan Melayu (ผู้เขียนเรียกโดยรวมว่า “วรรณกรรมมลายู”) มีหลายประเภท ตัวอย่างประเภทของวรรณกรรม มีดังนี้

  1. Peribahasa  (สำนวน หรือ สุภาษิต)
  2. Pantun (กลอน)
  3. Mantera (คาถา หรือมนต์)
  4. Teromba (นิทาน อีสป หรือชาดกประเภทต่างๆ)
  5. Gurindam (จัดอยู่ในประเภทร้อยกรอง หรือร้อยแก้ว)
  6. Seroka (จัดอยู่ในประเภทร้อยกรอง หรือร้อยแก้ว)
  7. Teka-teki (ปัญหาเชาว์)
  8. Novel (นวนิยายและเรื่องสั้นต่าง ๆ)
  9. Cerpen (ร้อยแก้ว)
  10. Drama (ละคร)
  11. Sajak (ร้อยแก้ว)


[1]สรุปและเรียบเรียงใหม่จาก Arena Wati. Bentuk Saatera. Kuala Lumpur: Pustaka Antara. 1965.

ที่มา Bahasa Research อ.กามารุดดีน อิสายะ
Lecturer
Department of Thai Language and Eastern Languages

researchers.in.th

อัพเดทล่าสุด