ภาษามลายูหรือภาษายาวี เป็นภาษาของชาติพันธุ์มลายูซึ่งมีประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายร้อยล้านคน มีนิวาสถานอยู่ในแหลมมลายู, หมู่เกาะของอินโดนีเซีย และหมู่เกาะทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์
ภาษาน่ารู้ : ภาษามลายู เรียนรู้กฎไวยากรณ์ภาษามลายูเบื้องต้น
ภาษามลายูหรือภาษายาวี เป็นภาษาของชาติพันธุ์มลายูซึ่งมีประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายร้อยล้านคน มีนิวาสถานอยู่ในแหลมมลายู, หมู่เกาะของอินโดนีเซีย และหมู่เกาะทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ภาษามลายูหรือยาวีมีพัฒนาการมาจากภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์มาเลย์ - ชวาเป็นหลัก และผสมผสานกับภาษาต่างถิ่นของชนชาติที่นำเอาอารยธรรมของตนเข้ามาเผยแผ่ยัง ภูมิภาคนี้นับแต่โบราณกาล ซึ่งมีทั้งชาวอินเดียใต้ เช่น พวกทมิฬ, ชาวเปอร์เซีย และชาวอาหรับ
ในส่วนของชาวอินเดียนั้นมีอิทธิพลทางภาษามากที่สุด เพราะอาณาจักรโบราณในแหลมมลายูและมาลัยทวีป (อินโดนีเซีย) ได้รับเอาอารยธรรม ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีจากอินเดียเข้ามาเป็นแบบแผนและวิถีชีวิต มีทั้งอารยธรรมอินเดียอย่างพราหมณ์ - ฮินดูในยุคมัชฌาปาหิต และศรีวิชัย พุทธศาสนาแบบมหายานในยุคลังกาสุกะ เป็นต้น
ดังนั้นร่องรอยและอิทธิพลของภาษาบาลี - สันสกฤต และอินเดียใต้ เช่ะน ภาษาทมิฬจึงปรากฏอยู่อย่างชัดเจนและดาษดื่น ในภาษามลายู - ชวา ในยุคก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม ซึ่งมีชาวอาหรับและชาวเปอร์เซีย เป็นผู้นำมาพร้อมกับการพาณิชย์นาวีในภูมิภาคนี้
เมื่อชนชาติมลายู - ชวาได้รับเอาศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของชาติพันธุ์แล้ว การสังเคราะห์จารีตทางภาษาและอักขระก็เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญ มีการเขียนอักษรมลายู - ชวาด้วยตัวอักษรและพยัญชนะอย่างชาวอาหรับและเปอร์เซียกันอย่างแพร่หลาย เรียกรวมว่า “ตัวอักขระแบบอาหรับ-มลายู” ซึ่งเคยใช้กันเป็นเวลาหลายร้อยปีในอาเจะห์, ชวา, สุมาตรา ,ฟิลิปปินส์ตอนใต้ และแหลมมลายูก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรแบบละตินที่เรียกกันว่า “ภาษารูมียฺ” อันเป็นผลมาจากการล่าอาณานิคมของพวกดัชท์ สเปน และอังกฤษในภูมิภาคนี้
ราวศตวรรษที่ ๑๓ แห่งฮิจญเราะฮฺ ศักราช ท่านชัยคฺ อะหฺมัด อัล-ฟาฏอนี (ร.ฮ.) นักปราชญ์ชาวปัตตานีผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง ได้ริเริ่มความพยายามเกี่ยวกับการวางกฎเกณฑ์ของตัวอักษรมลายูแบบอาหรับให้มี มาตรฐาน สำหรับใช้ในการแต่งตำราทางวิชาการ
อย่างไรก็ตามการพัฒนาการทางภาษาของภาษามลายูที่เขียนด้วยตัวอักษรอาหรับ ดูเหมือนว่ายังไม่ทันสุกงอม และบรรลุถึงขั้นมาตรฐานที่เป็นสากลตามกฎการเขียน ( قَوَاعِدُ الإِمْلاَءِ ) เยี่ยงภาษาอาหรับ เพราะในตำราทางวิชาการที่เขียนด้วยตัวภาษามลายู (ยาวีย์) แบบตัวอักษรอาหรับนั้นยังปรากฏความแตกต่างอยู่พอสมควร
ถึงแม้จะไม่มากแต่ก็มีปรากฏให้เห็นสำหรับผู้ที่สังเกต และชำนาญเกี่ยวกับตำราทางวิชาการที่เขียนเป็นภาษามลายู-อาหรับ ยิ่งผู้เขียนตำรามลายู (ยาวีย์) นำเอาสำเนียงท้องถิ่นเข้ามาใช้ปะปนกับภาษามลายูแบบ “اللُّغَةُ الْفُصْحٰي” ด้วยแล้ว ก็จะพบข้อแตกต่างในการเขียนอักขระวิธีค่อนข้างมากอยู่
ผู้รวบรวมได้นำเอาตำรา “ตัฟซีร นูรุลอิหฺสาน” มาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ โดยเปรียบเทียบระหว่างฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ “ดารฺ อิหฺยาอฺ อัล-กุตุบ อัล-อะรอบียะฮฺ” (อีซา อัล-บายฺ อัล-หะลาบียฺ) พิมพ์ครั้งแรกในปี ฮ.ศ. 1349 กับฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ มุฮัมมัด อัน-นะฮฺดียฺ ซึ่งพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี ฮ.ศ. 1391 ตำรา “ตัฟซีร นูรุลอิหฺสาน” นี้แต่งโดยท่านอาจารย์ อัล-ฮัจยีมุฮัมมัด สะอีด อิบนุ อุมัร เป็นภาษาเคดะฮฺ (คือภาษามลายูแบบเคดาห์-ไทรบุรี) มีการเขียนอักขระวิธีที่แตกต่างกันทั้งสองฉบับดังนี้
ฉบับปี ฮ.ศ. 1349 | ฉบับปี ฮ.ศ. 1391 |
فوج | فوجى |
بك | باﮔﻰ |
فڠهول | فڠهولو |
مغيكوت | مغيكوة |
مريكئت | مريكئيت |
فنت | فنتأ |
أوله | اوليه |
بهسا | بهاس |
سورهنڽ | سوروهنڽ |
فركانن | فركنن |
سكليفون | سكاليفون |
كارن | كران |
مننتوت | مننتوة |
مپوكا | مپوك |
فرفگڠن | فرفگاڠن |
دان لاينڽ | دانلاءينڽ |
ฯลฯ
จากตัวอย่างข้างต้น (ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ถูกระบุไว้ในคำนำของผู้เขียนตัฟซีร นูรุลอิหฺสาน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑ เพียงแค่นั้น) จะพบได้ว่ามีการเขียนถ้อยคำตามอักขระวิธีที่แตกต่างกันถึงแม้จะออกเสียง เหมือนกันก็ตาม ผู้อ่านที่สันทัดกรณีในด้านภาษามลายู (กิตาบยาวี) บางท่านอาจจะให้เหตุผลถึงความแตกต่างข้างต้นว่า เป็นเพราะสถานที่ตีพิมพ์ เป็นคนละที่กัน หรือเป็นคนละแท่นพิมพ์ (طَبْعَة) กัน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่อักขระวิธีในการพิมพ์ตำราย่อมผิดแผกจากกันบ้าง เป็นธรรมดา
เหตุผลดังกล่าวก็น่ารับฟังอยู่ แต่ผู้รวบรวมกลับมองว่า ภาษามลายูในฐานะภาษาแบบที่ใช้เขียนตำราทางวิชาการนั้น จะต้องมีกฎเกณฑ์ในการเขียนตามอักขระ (قَوَاعِدُالإِمْلاَءِ) ที่เป็นมาตรฐานมีความเป็นสากล และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน โดยเฉพาะคำศัพท์สากลที่ใช้กันเป็นมาตรฐาน เรียกว่าเป็นคำกลางๆ นั้นน่าจะเขียนตามเป็นคำกลางๆ ชาวมลายูไม่ว่าจะเป็นในแหลมมลายู เช่น ปัตตานี เคดะฮ์ กลันตัน หรือในอินโดนีเซีย (ชวา) ก็ใช้คำเหล่านั้นเหมือนกัน
จริงอยู่การออกเสียงคำมลายูนั้น อาจจะแตกต่างกันตามสำเนียงของแต่ละถิ่น แต่การเขียนตามอักขระวิธีนั้นน่าจะเป็นเอกภาพมากกว่าที่ควรจะเป็น ผู้รวบรวมได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากการพัฒนาการทางภาษาที่เกือบจะถึงขีดสุด หรือความเป็นมาตรฐานสากลของภาษามลายูที่เขียนด้วยตัวพยัญชนะภาษาอาหรับ ซึ่งต้องใช้เวลาเนิ่นนานนับศตวรรษ หรือหลายศตวรรษในการสังเคราะห์และตกผลึก
แต่ด้วยเหตุผลของการล่าอาณานิคม และกระแสตะวันตกที่เข้ามาครอบครองภูมิภาคนี้ ทำให้อักขระวิธีในการเขียนภาษามลายูจากตัวพยัญชนะภาษาอาหรับ ซึ่งเกือบจะตกผลึกอยู่รอมร่อแล้วนั้น กลับเปลี่ยนไปเขียนด้วยตัวอักษรละติน ที่เรียกกันว่าภาษารูมีย์นั่นเอง จึงเป็นการเสียโอกาสและเป็นความน่าเสียดายต่อความพยายามที่บรรดานักวิชาการ และเหล่านักปราชญ์ในอารยธรรมมลายู-อิสลาม ได้เคยทุ่มเทมาตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา
กอรปกับกลุ่มประเทศมลายูที่สำคัญอันได้แก่ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนิเซียได้ใช้ภาษามาเลย์-อินโด ตัวอักขระละตินเป็นภาษาทางราชการ และแวดวงการศึกษาของรัฐ ทำให้มลายู (ยาวี) ที่เขียนด้วยพยัญชนะภาษาอาหรับถูกจำกัดวงอยู่เฉพาะในสถาบันทางวิชาการศาสนา และตำราอันเป็นมรดกทางวิชาการเท่านั้น อีกทั้งยังถอยหลังกลับสู่ความเป็นภาษาท้องถิ่นอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากภาษามลายูในเขต 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ความเป็นมาตรฐานและความเป็นสากลจึงเป็นสิ่งที่ถูกบั่นทอนและตัดตอนไป ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะเยาวชนรุ่นใหม่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมพูดภาษามลายูท้องถิ่นในชีวิตประจำวัน ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็ใช้ภาษามลายูกลาง ที่เขียนด้วยตัวอักษรละติน (รูมีย์) ในขณะที่เยาวชนหรือผู้คนที่ไม่ได้เรียนในสถาบันปอเนาะแบบเก่าก็จะไม่สามารถ อ่านตำรามรดกทางวิชาการที่ทรงคุณค่าได้อย่างที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่ภาษามลายูในตำรามรดกทางวิชาการที่เขียนด้วยตัวอักษรภาษาอาหรับนั้น มีความไพเราะ มีลีลาเฉพาะ และมีความคลาสสิคอย่างน่าสนใจ
ในฐานะที่ผู้รวบรวมหนังสือเล่มนี้เป็นลูกหลานของมลายูชน และเป็นครูสอนในโรงเรียนปอเนาะใจกลางบางกอก ที่ยังคงอนุรักษ์การเรียนและการสอนจากตำราภาษามลายู (กิตาบยาวี) อยู่ โดยยังคงถือเป็นรายวิชาหนึ่งของหลักสูตรสายศาสนาที่โรงเรียนพยายามสืบสาน เจตนารมณ์ของบรรพบุรุษให้ตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง จึงเห็นว่าสมควรที่จะทำการรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับกฎไวยากรณ์ภาษามลายูขึ้นมา สักเล่มหนึ่ง
ซึ่งถือเป็นความอาจหาญยิ่งนัก เพราะผู้รวบรวมมีความรู้เกี่ยวกับภาษามลายูน้อยมาก พูดภาษามลายูท้องถิ่นก็ไม่ได้ และตลอดช่วงอายุของการเรียนที่ผ่านมาก็เน้นหนักในด้านภาษาอาหรับเป็นหลัก ผู้รวบรวมเริ่มมีโอกาสได้เรียนตำราภาษามลายูอย่างจริงจังไม่กี่เดือน ก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่ก็เป็นการเรียนกับครูบาอาจารย์ผู้มีความชำนาญและเจนจัดทั้งภาษามลายูและ อาหรับ จึงได้รับการชี้แนะบอกกล่าวอย่างเข้าใจว่า หากมีพื้นฐานของภาษาอาหรับดีแล้ว ภาษามลายูในตำราทางวิชาการก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากต่อการเรียนรู้และทำความ เข้าใจ
ทั้งนี้ตำราที่ผู้รวบรวมได้ศึกษาโดยตรงจากครูนั้นเป็นตำราภาษามลายูที่แปล และอรรถาธิบายมาจากตำราต้นฉบับที่เป็นภาษาอาหรับ ผู้รวบรวมจึงพอที่จะคลำทางและต่อยอดได้บ้าง ด้วยการเอื้ออำนวยของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ สำคัญที่สุดก็คือ ความห่วงใยที่ระคนกับความปริวิตกว่า ภาษามลายูในตำราทางวิชาการศาสนานั้น อาจจะสูญหายไปในเวลาอันใกล้สำหรับชาวมลายูมุสลิมบางกอก ถ้าหากคนรุ่นนี้ไม่ได้คิดที่จะสืบสานและต่อยอดผ่องถ่ายสู่อนุชนรุ่นต่อไป
มิหนำซ้ำ ความคิดในเชิงอคติที่ว่า ตำรามลายูนั้นเป็นต้นตอของความเบี่ยงเบนและอุตริกรรมทางศาสนา ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งเรื่องคณะใหม่-คณะเก่า ที่ยังคงรุมเร้าสังคมมุสลิมอยู่แม้ทุกวันนี้ เป็นเหตุให้ผู้รู้บางท่านถึงกับกล่าวอย่างมุทะลุด้วยโมหะจริตว่า ตำรามลายูนั้นต้องเผาทิ้ง เพราะเต็มไปด้วยอุตริกรรมและหะดีษที่อุปโลกน์ขึ้น
การมีความคิดและทัศนะเช่นนี้ ถือเป็นการเหมารวมที่ขาดวิจารณญาณและความสมเหตุสมผล ทั้งนี้เพราะภาษาก็คือภาษา ถือเป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อและการทำความเข้าใจเท่านั้น และตำราก็คือตำรา หาใช่คัมภีร์อัล-กุรอานไม่ เมื่อเป็นตำราที่เขียนด้วยมือมนุษย์ ไม่ใช่อัล-กุรอานที่เป็นดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ความผิด ความถูก ความคลุมเครือ ความชัดเจน ความเที่ยงตรง และความเบี่ยงเบนก็ย่อมมีปรากฏในตำราได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นตำราในภาษาใด ไม่เว้นแม้กระทั่งภาษาอาหรับ
ซึ่งถ้าเอาเพียงแค่เหตุผลที่ผู้รู้กล่าวอ้าง ตำราภาษาอาหรับที่เขียนขึ้นอย่างขาดความรับผิดชอบทางวิชาการของผู้เขียน มีสิ่งที่ค้านกับหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง มีหลักฐานที่เจือสมและอุตริกรรมที่ปั้นแต่งขึ้นในตำราภาษาอาหรับก็มีให้เห็น อย่างมากมายดาษดื่น อย่างนี้ไม่ต้องเผาตำราภาษาอาหรับไปด้วยกระนั้นหรือ ? ในฐานะที่เราเป็นผู้สืบทอดพระศาสนาและหลักคำสอนจากพระมหาคัมภีร์ อัล-กุรอานและสุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ.ล.)
การศึกษาเรียนรู้จากตำราที่เป็นมรดกทางวิชาการของเหล่านักปราชญ์ ซึ่งเป็นบรรพชนมุสลิมของเรานั้น แน่นอนต้องมีวิจารณญาณ การตรึกตรอง และการใช้หลักการเป็นแบบแผนในการสังเคราะห์ข้อมูล สิ่งใดที่เป็นความถูกต้องและถูกบรรจุไว้ในตำราเหล่านั้น นั่นถือเป็นคุณงามความดีที่เราและผู้ประพันธ์ตำราจะได้รับจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ส่วนความผิดพลาด ความคลาดเคลื่อนที่ปรากฏในตำราเหล่านั้น
เราในฐานะผู้คนต่างยุคต่างสมัยกับผู้ประพันธ์มิอาจจะทราบได้ถึงเจตนารมย์ของ ผู้ประพันธ์ และเราก็มิอาจพิพากษาในสิ่งที่เราไม่รู้ไม่ทราบได้เลย หน้าที่ของเราก็คือวิงวอนขอดุอาอฺจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้พระองค์ทรง อภัยโทษแก่พวกเขา
ผู้รวบรวมหวังเพียงพระกรุณาจากพระองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ.)ที่จะทรงประทานความ แตกฉานและปัญญาให้เกิดแก่ตน และหวังให้หนังสือ “กฎไวยากรณ์ภาษามลายูเบื้องต้น” นี้ เป็นการสืบสานมรดกอันทรงคุณค่าจากตำราภาษามลายู สู่ผู้คนร่วมสมัยและอนุชนมุสลิมในภายภาคหน้าด้วยความบริสุทธิ์ใจ
หากมีความดีอันใดที่ผู้อ่านได้รับจากหนังสือเล่มนี้ ผู้รวบรวมขอมอบแด่เหล่าบรมครูผู้ล่วงลับทุกท่าน นับแต่บรรพชนมลายูมุสลิมท่านแรก หากมีความผิดพลาดอันใดเกิดขึ้นในการรวบรวมหนังสือเล่มนี้ นั่นถือเป็นความผิดพลาดและความรู้อันน้อยนิดของผู้รวบรวมเอง และใคร่วิงวอนจากบรรดาผู้รู้และเหล่าผู้สันทัดกรณีที่ได้พบความผิดพลาดใน หนังสือเล่มนี้ โปรดช่วยชี้แนะและบอกกล่าวแก่ผู้รวบรวมโดยตรง เพื่อทำการแก้ไขปรับปรุงในโอกาสต่อไป และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ โดยเฉพาะท่านอาจารย์อับดุลมาลิก เลาะมะ ที่ช่วยพิมพ์ต้นฉบับให้
วัลลอฮุ วะลียุตเตาฟีก
อบุลม๊าสฺ อะลี อะหฺมัด อบูบักรฺ มุฮัมมัด อามีน
(อาลี เสือสมิง)
ที่มา www.alisuasaming.com