ภาษาน่ารู้ : มารู้จักกับ ภาษาไทยถิ่นใต้ หรือ ภาษาใต้ ตัวอย่างคำศัพท์และสำนวน


7,632 ผู้ชม

ภาษาไทยถิ่นใต้ เป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคใต้ของประเทศไทย นับแต่จังหวัดชุมพรลงไปถึงชายแดนประเทศมาเลเซียรวม 14 จังหวัดและบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์


ภาษาไทยถิ่นใต้ 

ภาษาไทยถิ่นใต้ 

ภาษาไทยถิ่นใต้ เป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคใต้ของประเทศไทย นับแต่จังหวัดชุมพรลงไปถึงชายแดนประเทศมาเลเซียรวม 14 จังหวัดและบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกทั้งบางหมู่บ้านในรัฐกลันตัน รัฐปะลิสและรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ภาษาไทยถิ่นใต้มีเพียงภาษาพูดเท่านั้น ไม่มีตัวอักษรเขียนเฉพาะ

พูดใน:                     ภาคใต้ ของประเทศไทย

จำนวนผู้พูด:           5,000,000 คน

ตระกูลภาษา:           ไท-กะได, คำ-ไท, บี-ไท, ไท-แสก, ไท, ไทตะวันตกเฉียงใต้, ไทใต้, ภาษาไทยถิ่นใต้ 

อักษรเขียน:            ไม่มีอักษรเขียน

สำเนียงย่อย

ภาษาไทยถิ่นใต้แยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก (สำเนียงนครศรีธรรมราช)

ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก ได้แก่ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดกันมากทางฝั่งตะวันออกของปักษ์ใต้ บริเวณจังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี (อำเภอโคกโพธิ์, อำเภอแม่ลาน, อำเภอหนองจิก และ อำเภอเมือง) ตรัง สตูล (และในรัฐปะลิส-หมู่บ้านควนขนุน บ้านตาน้ำ ,ในรัฐเคดาห์-บ้านทางควาย บ้านบาลิ่ง ) ภาษาไทยถิ่นใต้ที่ใช้ในกลุ่มนี้ จะมีลักษณะของภาษาที่คล้ายคลึงกัน (ตรัง และสตูล แม้จะตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันตก แต่สำเนียงภาษา ถือเป็นกลุ่มเดียวกับพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช คือ ออกเสียงตัวสะกด ก.ไก่ ได้ชัดเจน)

ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันตก

ภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันตก ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี และชุมพร ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดเหล่านี้ จะมีลักษณะเด่นที่คล้ายคลึงกัน เช่นออกเสียงคำว่า แตก เป็น แตะ ดอกไม้ เป็น เดาะไม้ สามแยก เป็น สามแยะ ฯลฯ (สำเนียงนครศรีธรรมราช กลุ่มฉวาง พิปูน ทุ่งใหญ่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาหลวง ก็อยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนจังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้จะตั้งอยู่ฝั่งทะเลตะวันออก แต่สำเนียงภาษาถือเป็นกลุ่มเดียวกับจังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต คือ ออกเสียงตัวสะกด ก.ไก่ ไม่ได้)

ภาษาถิ่นใต้สำเนียงสงขลา

ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงสงขลา ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดสงขลา

ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงเจ๊ะเห

ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงเจ๊ะเห ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นใต้ที่พูดอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี (เฉพาะ อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ และอำเภอสายบุรี) รวมทั้งในเขตรัฐกลันตันของมาเลเซีย ในหมู่บ้านที่พูดภาษาไทย จะใช้ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงเจ๊ะเห

ในเขตจังหวัดนราธิวาส เนื่องมีคนในจังหวัดอื่นๆ มาอาศัยหรือทำงานในจังหวัดนราธิวาส จึงนำภาษาไทยถิ่นใต้ของแต่ละจังหวัดมาพูดกันในจังหวัดนราธิวาส ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยถิ่นใต้จากจังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช คนนราธิวาส จึงมีภาษาไทย 2 สำเนียง คือ ภาษาไทยถิ่นใต้ สำเนียง เจ๊ะเห และสำเนียงภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียง เจะเห มักพูดกันในกลุ่มเครือญาติ หรือตามชนบทของนราธิวาส แต่ในเมืองมักจะพูดสำเนียงภาษาไทยถิ่นใต้ตะวันออก

ตัวอย่างคำศัพท์

พืช ผัก ผลไม้

มะม่วงหิมพานต์     = กาหยู (เทียบอังกฤษ cashew) , กาหยี (ใช้มากในแถบ ภูเก็ต พังงา คำนี้เข้าใจว่าคนใต้ฝั่งตะวันตกจะรับมาจากฝรั่งโดยตรง ) , ยาร่วง, ย่าโห้ย, ย่าหวัน, หัวครก (ใช้มากแถบพัทลุง สงขลา) , ม่วงเล็ดล่อ, ท้ายล่อ

ชมพู่                        = ชมโพ่แก้ว, น้ำดอกไม้, ชมโพ่น้ำดอกไม้

ฝรั่ง                          = ชมโพ่ ยาหมู่ หย้ามู้ (คำนี้มาจาก jambu ในภาษามลายู )

ฟักทอง                    = น้ำเต้า

ฟัก                           = ขี้พร้า

ขมิ้น                        = ขี้หมิ้น

ตะไคร้                     = ไคร

พริก                         = ดีปลี โลกแผ็ด ลูกเผ็ด

ข้าวโพด                  = คง (คำนี้มาจาก jagong ในภาษามลายู )

มะละกอ                  = ลอกอ

สับปะรด                 = หย่านัด (คำนี้ ใช้ทั่วไปทั้งภาคใต้ บางครั้งจะออกเสียงเป็นหย่าน-หัด; คำ นี้เข้าใจว่าคนใต้รับมาจากฝรั่งโดยตรง โดยฝรั่ง รับมาจากภาษาอินเดียนแดงแถบบราซิล ซึ่งเรียกพันธุ์ไม้ชนิดนี้ว่า อนานัส เมื่อถ่ายทอดเสียงมาถึงปักษ์ใต้ จึงกลายเป็น หย่านัด) มะ-หลิ (คำนี้ใช้มากในเขตจังหวัดพัทลุง อำเภอรัตภูมิ อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด ของจังหวัดสงขลา)

ดอกมะลิ                  = ดอกมะเละ (เสียง อิ แปลงเป็นเสียง เอะ)

แตงโม                     = แตงจีน

ตำลึง                        = ผักหมึง

รสสุคนธ์                 = เถากะปด (ประจวบคีรีขันธ์), ย่านปด, ปดคาย

หม้อข้าวหม้อแกงลิง = หม้อลิง

ละมุด                      = ซ่าว้า (คำนี้ใช้เฉพาะในเขตสงขลา สตูล พัทลุง มาจาก sawa ในภาษามลายู) หม่าซี้กู๊ (ใช้เฉพาะเขต พังงา ตะกั่วป่า)

ผลไม้ที่มีคำว่า "มะ" นำหน้า (บางคำ) จะเปลี่ยนเป็น "ลูก" เช่น มะม่วง-ลูกม่วง, มะนาว-ลูกนาว, มะขาม-ลูกขาม, มะเขือ-ลูกเขือ เป็นต้น

ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวมักมีคำว่า "ส้ม" นำหน้า เช่น มะขาม-ส้มขาม, มะนาว-ส้มนาว เป็นต้น

คำทั่วไป

เป็นไงบ้าง/อย่างไรบ้าง = พรือมัง, พันพรือม, พันพรือมัง (สงขลา จะออกเสียงว่า ผรื่อ เช่น ว่าผรื่อ = ว่าอย่างไร)

ตอนนี้ ปัจจุบัน       = หวางนี่ (คำนี้ใช้ ในภาษาถิ่นใต้ทั่วไป) , แหละนี่ (คำนี้จะใช้เฉพาะในเขตอำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย ของจังหวัดสงขลา และอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี)

โง่                            = โม่, โบ่

วัว                            = ฮัว (มาจากคำว่า งัว ในภาษาเก่า เนื่องจากในสำเนียงใต้จะไม่มีเสียง ง. งู แต่จะใช้เสียง ฮ. นกฮูก แทน)

เจ้าชู้                        = อ้อร้อ (จะใช้เฉพาะ กับผู้หญิง เช่น สาวคนนี้ อ้อร้อ จัง คำ ๆ นี้มีความหมายในแง่ลบ ใกล้เคียงกับคำว่า แรด ในภาษากรุงเทพ)

ทุกข์ ลำบาก             = เสดสา มาจากภาษามลายู siksa (เช่น ปีนี้เสดสาจัง = ปีนี้ลำบากมาก)

กลับบ้าน                 = หลบบ้าน, หลบเริน

เยอะๆ หลายๆ        = ลุย, จังหู, จังเสีย, กองเอ, คาเอ, จังแจ็ก, จังเสีย, จ้าน, กองลุย

ไปไหน มาไหนคนเดียว = มาแต่สวน

แฟน                        = แควน (ฟ จะเปลี่ยนเป็น คว เกือบทุกคำ) ,โม่เด็ก

ตะหลิว                    = เจียนฉี (ภายหลังมีการเพื้ยนในแถบจังหวัดพัทลุงกลายเป็น ฉ่อนฉี (ช้อนฉี))

ชะมด                      = มูสัง มาจากภาษามลายู musang

อร่อย                       = หรอย

อร่อยมาก                = หรอยจังหู, หรอยพึด, หรอยอีตาย

ไม่ทราบ                  = ม่ารู่ม้าย (คำนี้ใช้ในเขต นครศรีธรรมราช และใกล้เคียง) ไม่โร่ (สำเนียงสงขลา เสียง อู จะแปลงเป็น เสียง โอ เช่น รู้ คนสงขลาจะพูดเป็น โร่, คู่ คนสงขลาจะพูดเป็น โค่, ต้นประดู่ = ต้นโด ฯลฯ )

ขี้เหร่, ไม่สวยไม่งาม = โมระ หรือ โบระ (ออกเสียงควบกล้ำ มากจาก buruk เทียบมลายูปัตตานี ฆอระ)

กังวล, เป็นห่วง       = หวังเหวิด (คำนี้มักใช้ในภาษาไทยถิ่นใต้ตอนบน แต่โดยทั่วไปก็เข้าใจในความหมาย) มิมัง (ภาษาไทยถิ่นใต้ ในเขต จะนะ เทพา สะบ้าย้อย)

ศาลา                        = หลา

ภาชนะสำหรับตักน้ำในบ่อ = ถุ้ง, หมาตักน้ำ บางถิ่นเรียก ตีหมา หรือ ตีมา มาจาก timba ในภาษามลายู

รีบเร่ง ลนลาน         = ลกลัก หรือ ลกลก

อาการบ้าจี้               = ลาต้า

ขว้างออกไป            = ลิว, ซัด

ซอมซ่อ                   = ม่อร็อง, ร้าย หรือร้ายๆ , หม็องแหม็ง

โลภมาก                  = ตาล่อ, หาจก, ตาอยาก

โกรธ                       = หวิบ, หวี่

โกรธมาก                 = หวิบอย่างแรง , หวิบหูจี้

บ๊อง                         = เบร่อ, เหมฺร่อ ,เร่อ

ทำไม                       = ไซ (หรืออาจออกเสียงว่า ใส)

อย่างไร                   = พันพรือ, พรือ

โกหก                      = ขี้หก, ขี้เท็จ

กระท่อม                  = หนำ, ขนำ, ก๋องซี (บ้านพักชั่วคราวซึ่งปลูกขึ้นอย่างง่ายๆ)มาจาก 公司 ในภาษาจีน

อีกแล้ว                     = หล่าว

กะละมัง                  = โคม, พุ้น

เลอะเทอะ               = หลูหละ, ซอกปร็อก (มาจากคำว่า สกปรก แต่ออกเสียงสั้นๆ ห้วนๆ กลายเป็น สก-ปรก)

หกนองพื้น             = เพรื่อ

ประจำ                     = อาโหญฺะ, โหญฺะ (เสียงนาสิก)

ทิ้ง                           = ทุ่ม

อาการขว้างสิ่งของลงบนพื้น = ฟัด (อาจออกเสียงว่า ขวัด)

กัด                           = ขบ, ค็อบ, คล็อด

กลิ่นที่รุนแรง          = ฉ็อง (ตัวอย่าง "เหม็นฉ็องเยี่ยว" = เหม็นกลิ่นฉี่)

ดื้อรั้น                      = ช็องด็อง

กินไม่หมด              = แหญะ (ข้าวที่เหลือจากการกิน เรียกว่า ข้าวแหญะ)

เอาเงินไปแลก        = แตกเบี้ย (แลกเงินเป็นแบงค์ย่อยสัก 100 บาท เรียกว่า แตกเบี้ยซักร้อยบาท)

สะใจดี                    = ได้แรงอก

เขียง                        = ดานเฉียง

นิ่งเสีย, นิ่งเดี๋ยวนี้   = แหน่งกึ๊บ (คำนี้ใช้ขู่เด็กขี้แยให้หยุดร้องไห้)

ผงชูรส                     = แป้งหวาน

บริเวณที่ลุ่ม มีน้ำแฉะ = โพระ หรือ พรุ (มาจาก baroh ในภาษามลายู)

กาแฟ                       = กาแคว, โกปี้ (มาจาก kopi ในภาษามลายู)

การแสดงความเคารพของทหาร ตำรวจ = ตะเบะ (มาจาก tabik ในภาษามลายู)

ก็เพราะว่า                = เบ่อ และใช้แทนคำลงท้าย หรือเป็นคำจบประโยค (เป็นคำที่ใช้กันในอำเภอหาดใหญ่ และใกล้เคียง เป็นคำติดปากที่ใช้เกือบทุดประโยคที่พูด)

คาดว่า, น่าจะ, คงเป็นเช่นนั้น = ส่าหวา, สาว่า

เศษเหรียญ              = ลูกกัก, ลูกเหรียญ, ลูกตาง

จะ                           = อี (เช่น จะใช้แล้วเร็วๆหน่อย เป็น อีใช้แล้วแขบๆอิ้ด)

รีบ                           = แขบ

ทำไม                       = ไซ

กระทุ้ง                     = แท่ง

แอบ                         = หยบ

กลับบ้าน                 = หลบเริน

รู้ความ                     = รู้สา

รู้สึก(รังเกียจ)          = สา

กะปิ                         = เคย

น้ำพริก                    = น้ำชุบ

เอาอีกแล้ว               = เอาแหล่วหลาว

สำนวน

ลอกอชายไฟ           = ใช้พูดเพื่อตัดพ้อผู้ที่มองไม่เห็นคุณค่าของตน แต่พอผิดหวังกับคนที่หวังเอาไว้ จึงค่อยหันกลับมาเห็นความสำคัญทีหลัง

ช้างแล่นอย่ายุงหาง = อย่าขัดขวางผู้มีอำนาจ ("แล่น" หมายถึง วิ่ง, "ยุง" หมายถึง พยุง จับหรือดึง)

คุ้ยขอนหาแข็บ       = มีความหมายเดียวกับ "ฟื้นฝอยหาตะเข็บ" ในภาษาไทยกลาง ซึ่งตามพจนานุกรม หมายถึง คุ้ยเขี่ยหาความที่สงบแล้วให้กลับเป็นเรื่องขึ้นมาอีก

อยู่ไม่รู้หวัน            = ใช้ว่าคนที่เฉิ่ม ๆ หรือไม่ค่อยรู้เรื่อวรู้ราว มาจากอยู่ไม่รู้วันไม่รู้คืน ( ส่วนใหญ่จะพูดย่อๆ ว่า อยู่ไม่หวัน )

เหลี่ยมลอกอลิด      = ใช้กับคนที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวกคล้ายๆกับมะละกอ ("ลอกอ" หมายถึงมะละกอ) ที่ถูกปอกเปลือก ("ลิด" หมายถึงปอกเปลือก) ซึ่งเมื่อปอกไปมากๆ จะเกิดเหลี่ยมมุมมากขึ้นเรื่อยๆจนนับไม่ถ้วน

ควัดด็องเปล่า           = การกระทำอะไรซึ่งทำแล้วไม่เกิดผลอะไรต่อตนเองเลยแม้แต่น้อยเป็นการเสียแรง เปล่าๆ (เหมือนการฝัดข้าวด้วยกระด้งที่ไม่มีข้าวอยู่เลย "ด็อง" คือกระด้ง)

ทั้งกินทั้งขอ ทั้งคดห่อหลบเริน = การตักตวงผลประโยชน์เข้าตัว ("คดห่อ"หมายถึงการนำข้าวใส่ภาชนะแล้วพาไปไหนมาไหน) เปรียบกับเมื่อบ้านไหนมี งานแล้วจะมีคนที่ทั้งกินส่วนที่เขาให้กิน แล้วยังไปขอเพิ่มและห่อกลับบ้านไปอีก

ที่มา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อัพเดทล่าสุด