ภาษาน่ารู้ : ภาษาไทย คำว่า สวัสดี มาจากไหน มีความหมายและที่มาอย่างไร


1,354 ผู้ชม

คำพูดที่คนไทยมักจะพูดกันเสมอเวลาเจอกันคือ "สวัสดี" เราพูดกันตั้งแต่จำความได้นั่นแหละ แต่จะมีใครรู้บ้างมั๊ยเอ่ยว่า คำว่า "สวัสดี" มาจากไหน ใครเป็นคนคิดให้เราพูดคำว่า "สวัสดี" เมื่อเวลาเจอกัน


คำว่า "สวัสดี" มาจากไหน

คำว่า "สวัสดี" มาจากไหน  

 

สายที่ 1 มาจากพระยาอุปกิตศิลปสาร

คำพูดที่คนไทยมักจะพูดกันเสมอเวลาเจอกันคือ "สวัสดี" เราพูดกันตั้งแต่จำความได้นั่นแหละ แต่จะมีใครรู้บ้างมั๊ยเอ่ยว่า คำว่า "สวัสดี" มาจากไหน ใครเป็นคนคิดให้เราพูดคำว่า "สวัสดี" เมื่อเวลาเจอกัน

"สวัสดี" ความหมาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525 สวัสดี หมายถึงความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง คำทักทาย หรือพูดขึ้นเมื่อพบหรือจากกัน

สวัสดี ในส่วนที่นำมาใช้เป็นคำทักทายนั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าถึงต้นเหตุเดิมไว้ว่า เจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงได้ใช้คำ "ราตรีสวัสดิ์" ลงท้ายคำพูดเมื่อจบการกระจายเสียงตอนกลางคืน โดยอนุโลมตามคำว่า "กู๊ดไนต์" (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีผู้ไม่เห็นด้วย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง จึงขอให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น ช่วยคิดหาคำให้ ตกลงได้คำว่า "สวัสดี" ไปใช้ และเมื่อ พ.ศ. 2476 พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้นำไปเผยแพร่ให้นิสิต ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นคำทักทายเมื่อพบกัน จึงได้แพร่หลายใช้กันต่อมา

ครั้นต่อมาในยุคบำรุงวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ รัฐบาลในสมัยนั้น ก็เห็นชอบกับการใช้คำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่ได้พบกัน ได้มอบให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ออกข่าวประกาศเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 ดังต่อไปนี้ (ตัวสะกดและการันต์ในสมัยนั้น)

"ด้วยพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ได้พิจารนาเห็นว่า เพื่อเปนการส่งเสริมเกียรติแก่ตนและแก่ชาติ ให้สมกับที่เราได้รับความยกย่องว่า คนไทยเปนอารยะชน คำพูดจึงเปนสิ่งหนึ่งที่แสดงภูมิของจิตใจว่าสูงต่ำเพียงใด ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้กำชับ บันดาข้าราชการทุกคนกล่าวคำ "สวัสดี" ต่อกันไนโอกาสที่พบกันครั้งแรกของวัน เพื่อเป็นการผูกไมตรีต่อกัน และฝึกนิสัยไห้กล่าวแต่คำที่เปนมงคล ว่าอะไรว่าตามกัน กับขอไห้ข้าราชการช่วยแนะนำ แก่ผู้ที่อยู่ไนครอบครัวของตนไห้รู้จักกล่าวคำ "สวัสดี" เช่นเดียวกันด้วย" นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ทางราชการในสมัยนั้น ได้กำหนดให้ใช้คำว่า สวัสดี ไว้แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2486

แต่ ปัจจุบันนี้เยาวชนไทย เมื่อพบกันแทนที่จะใช้คำว่า "สวัสดี" กลับนำเอาคำผรุสวาทมาใช้แทน ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นมงคลแก่ตนเองทั้งสิ้น นับเป็นความเสื่อมทางวัฒนธรรมด้านภาษา และจิตใจอย่างมากที่สุด ใน ปัจจุบันนี้มีชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก ได้พยายามยกมือไหว้และกล่าวคำว่า "สวัสดี-Sawasdee" เพราะเข้าใจวัฒนธรรมของไทยดีขึ้น นับเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยได้ประการหนึ่ง

คำว่า สวัสดี ได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นคำของ "ชาตินิยม" เป็นวัฒนธรรม อันหยั่งรากฝังลึกลงในจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ อากัปกิริยาของการ "สวัสดี" ผนวกกับ ความมีน้ำใจไมตรีของคนไทย และรอยยิ้มแห่งมิตรภาพ ทำให้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำที่มีความหมายมากมายนัก
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

 

สายที่ 2 เป็นคำใช้โดยทั่วไปในราชสำนักแห่งกรุงตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช)

 

อีกด้านหนึ่ง คำว่า สวัสดี นั้นมีการใช้มาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลพระเจ้าศรีธรรมโศกราชมหาราช และพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราชมหาราช  ราวพุทธศตวรรษที่ 17 หรือก่อนหน้านั้น

ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ (สฎ.๔) วัดหัวเวียง เมืองไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แปลโดย ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์แห่งตามพรลิงค์ไว้ว่า

สวัสดี พระผู้เป็นใหญ่ในตามพรลิงค์ ทรงประทานความดีงามอันเลิศเสมือนพระอินทร์ ทรงพระราชสมภพเพื่อยังประชาชนที่ถูกชนชาติต่ำปกครองมาแล้ว ให้สว่างรุ่งเรือง จริงอยู่พระองค์เป็นธรรมราชาเสมือนพระจันทร์ พระอาทิตย์ และกามเทพ อย่างพร้อมบูรณ์ ทรงพระปรีชาฉลาดในราชนิติเทียบเท่าพระเจ้าธรรมาโศก ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือราชวงศ์ทั้งหมด

สวัสดี พระองค์เข้มแข็ง เป็นใหญ่ในตามพรลิงค์ ทรงปกครองปัทมวงศ์จนถึงกับถูกขนานพระนามว่า ภีมเสน ได้ทรงเสด็จอุบัติมาเพราะอานุภาพแห่งบุญกุศลของมนุษย์ทั้งหลาย ( เป็นบุญของมนุษย์ที่ได้มีพระราชาองค์นี้ )

พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศแผ่ไพศาลไปทั่วโลก เพียงดั่งอานุภาพของพระจันทร์และพระอาทิตย์ จึงทรง พระนามาภิไธยราชฐานันดรว่า จันทรภาณุ เป็นพระธรรมราชาผู้ทรงศิริ

ขออำนวยพร อันเป็นอมตะด้วยความภักดี ซึ่งเสมือนดังสลักไว้ในแผ่นหิน เมื่อปีกลียุคล่วงแล้วได้ ๔๓๓๒ (พ.ศ.๑๗๗๓)"

                ข้าพเจ้าคิดว่า ที่มาของคำว่า สวัสดี จึงน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับ ศิลาจารึกหลักนี้ เนื่องจากศิลาจารึกหลักนี้เป็นหลักที่สำคัญ ทำให้นักประวัติศาสตร์ทั่วโลกรู้ว่า อาณาจักรตามพรลิงค์ จั้งอยู่ในบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน และมีพระมหากษัตริย์ปกครองมาหลายยุคหลายสมัย และค่อยๆ คลี่คลายเป็นนครศรีธรรมราช หลังแคว้นนี้ได้เข้าร่วมพงษ์ไพบูลย์กับราชอาณาจักรไทย (อยุธยา) ด้วยความเกี่ยวพันธ์ทางเครือญาติ (ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

เขียนโดย TAMBRALINGA

ที่มา blog.eduzones.com

อัพเดทล่าสุด