ภาษาน่ารู้ : คำศัพท์น่ารู้ในคำพยากรณ์อากาศ


1,236 ผู้ชม

คำศัพท์น่ารู้ในคำพยากรณ์อากาศ


คำศัพท์น่ารู้ในคำพยากรณ์อากาศ

เกณฑ์ในคำพยากรณ์และรายงานอากาศ

เกณฑ์อากาศร้อน ใช้อุณหภูมิสูงสุดประจำวันและใช้ในเฉพาะในฤดูร้อน
อากาศร้อน (Hot) อุณหภูมิสูงสุดประจำวันและใช้เฉพาะในฤดูร้อน
อากาศร้อนจัด (Very Hot) อุณหภูมิตั้งแต่ 40.0 องศาเซลเซียสขึ้นไป

เกณฑ์อากาศหนาว ใช้อุณหภูมิต่ำที่สุดประจำวันและใช้เฉพาะฤดูหนาว

อากาศเย็น (Cool) อุณหภูมิตั้งแต่ 18.0 – 22.9 องศาเซลเซียส
อากาศค่อนข้างหนาว (Moderately Cold) อุณหภูมิตั้งแต่ 16.0 – 17.9 องศาเซลเซียส
อากาศหนาว (Cold) อุณหภูมิตั้งแต่ 8.0 – 15.9 องศาเซลเซียส
อากาศหนาวจัด (Very Cold) อุณหภูมิตั้งแต่ 7.9 องศาเซลเซียส

เกณฑ์การกระจายของฝน

  1. ฝนบางพื้นที่ (Isolated) หมายถึง มีฝนตกน้อยกว่า 20 % ของพื้นที่

  2. ฝนกระจายเป็นแห่ง (Widely Scattered) หมายถึง มีฝนตกตั้งแต่ 20 % ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 40 % ของพื้นที่

  3. ฝนกระจาย (Scattered) หมายถึง มีฝนตกตั้งแต่ 40 % ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 % ของพื้นที่

  4. ฝนเกือบทั่วไป (Almost Widespread) หมายถึง มีฝนตกตั้งแต่ 60 % ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80% ของพื้นที่

  5. ฝนทั่วไป (Widespread) หมายถึง มีฝนตกตั้งแต่ 80 % ของพื้นที่ขึ้นไป

เกณฑ์ปริมาณน้ำฝน

  1. ฝนเล็กน้อย (Light Rain) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 0.1 มิลลิเมตร ถึง 10.0 มิลลิเมตร

  2. ฝนปานกลาง (Moderate Rain) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 10.1 มิลลิเมตร ถึง 35.0 มิลลิเมตร

  3. ฝนหนัก (Heavy Rain ) ฝนตกมีปริมาณตั้งแต่ 35.1 มิลลิเมตร ถึง 90.0 มิลลิเมตร

  4. ฝนตกหนักมาก (Very Heavy Rian) ฝนตกมีปริมารตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตร ขึ้นไป

เกณฑ์จำนวนเมฆในท้องฟ้า โดยแบ่งท้องฟ้าเป็น 10 ส่วน

  1. ท้องฟ้าแจ่มใส (Fine) ท้องฟ้าไม่มีเมฆหรือมีแต่น้อยกว่า 1 ส่วนของท้องฟ้า

  2. ท้องฟ้าโปร่ง (Fair) ท้องฟ้ามีเมฆตั้งแต่ 1 ส่วน ถึง 3 ส่วนของท้องฟ้า

  3. ท้องฟ้ามีเมฆบางส่วน (Partly Cloudy Sky ) ท้องฟ้ามีเมฆเกินกว่า 3 ส่วนถึง 5 ส่วนของท้องฟ้า

  4. ท้องฟ้ามีเมฆเป็นส่วนมาก (Cloudy Sky) ท้องฟ้ามีเมฆเกินกว่า 5 ส่วนถึง 8 ส่วนของท้องฟ้า

  5. ท้องฟ้ามีเมฆมาก (Very Cloudy Sky) ท้องฟ้ามีเมฆเกินกว่า 8 ส่วนถึง 9 ส่วนของท้องฟ้า

  6. ท้องฟ้ามีเมฆเต็มท้องฟ้า (Overcast Sky) ท้องฟ้ามีเมฆเกินกว่า 9 ส่วน ถึง 10 ส่วนของท้องฟ้า

เกณฑ์ความเร็วลมผิวพื้น ความเร็วลมที่ระดับสูงมาตรฐาน 10 เมตรเหนือพื้นดินในบริเวณที่โล่งแจ้ง

ขนาดของลม

สัญลักษณ์ที่แสดงบนบก

Knots

Km./hr

ลมสงบ CALM ลมเงียบ ควันลอยขึ้นตรงๆ

น้อยกว่า 1

น้อยกว่า 1

ลมเบา LIGHT AIR ควันลอยตามลม แต่ศรลมไม่ทันไปตามทิศลม

1-3

1-5

ลมอ่อน LIGHT BREEZE รู้สึกลมพัดที่ใบหน้า ใบไม้แกว่งไกว ศรลมหันไปตามทิศลม

4-6

6-11

ลมโชย GENTLE BREEZE ใบไม้และกิ่งไม้เล็ก ๆ กระดิก ธงปลิว

7-10

12-19

ลมปานกลาง MODERATE BREEZE มีฝุ่นตลบ กระดาษปลิว กิ่งไม้เล็กขยับเขยื้อน

11-16

20-28

ลมแรง FRESH BREEZE ต้นไม้เล็กแกว่งไกวไปมา มีระลอกน้ำ

17-21

29-38

ลมจัด STRONG BREEZE กิ่งไม้ใหญ่ขยับเขยื้อน ได้ยินเสียงหวีดหวิว ใช้ร่มลำบาก

22-27

39-49

พายุเกล อ่อน GALE ต้นไม้ใหญ่ทั้งต้นแกว่งไกว เดินทวนลมไม่สะดวก

28-33

50-61

พายุเกล แรง STRONG GALE อาคารที่ไม่มั่นคงหักพัง หลังคาปลิว

41-47

75-88

พายุ STORM ต้นไม้ถอนรากล้ม เกิดความเสียหายมาก (ไม่ปรากฏบ่อยนัก)

48-55

89-102

พายุใหญ่ VIOLENT STORM

เกิดความเสียหายทั่วไป (ไม่ค่อยปรากฏ)

56-63

103-117

พายุไต้ฝุ่นรือ เฮอร์ริเคน TYPHOON or
HURRICANE

มากกว่า

63

มากกว่า

117

เกณฑ์สถานะของทะเล

    1. ทะเลสงบ (Calm) ความสูงของคลื่น 0.0 เมตร ถึง 0.10 เมตร

    2. ทะเลเรียบ (Smooth) ความสูงของคลื่น 0.10 เมตร ถึง 0.50 เมตร

    3. ทะเลมีคลื่นเล็กน้อย (Slight) ความสูงของคลื่น 0.50 เมตร ถึง 1.25 เมตร

    4. ทะเลมีคลื่นปานกลาง (Moderate) ความสูงของคลื่น 1.25 ถึง 2.50 เมตร

    5. ทะเลมีคลื่นจัด (Rough) ความสูงของคลื่น 2.50 เมตร ถึง 4.00 เมตร

    6. ทะเลมีคลื่นจัดมาก (Very Rough) ความสูงของคลื่น 4.00 เมตร ถึง 6.00 เมตร

    7. ทะเลมีคลื่นใหญ่ (High) ความสูงของคลื่น 6.00 เมตร ถึง 9.00 เมตร

    8. ทะเลมีคลื่นใหญ่มาก (Very High) ความสูงของคลื่น 9.00 เมตร ถึง 14.00 เมตร

    9. ทะเลมีคลื่นใหญ่และจัดมาก (ทะเลบ้า – Phenomenal) ความสูงของคลื่นมากกว่า 14 เมตร

บริเวณความกดอากาศสูง (High Pressure Area หรือ High) หรือแอนติไซโคลน (Anitcyclone)

    บริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลน คือ บริเวณที่มีความกดอากาศสูงกว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่รอบๆ ในแผนที่อากาศผิวพื้น แสดงด้วยเส้นความกดอากาศเท่าเป็นวงกลมหรือเป็นวงรีรูปไข่ล้อมรอบ บริเวณที่มีความกดอากาศสูง นั่นคือบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลน จะเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศสูงขึ้นจากขอบนอกเข้าสู่ศูนย์กลาง บริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนนี้จะมีกระแสลมพัดออกจากศูนย์กลางในทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ การเคลื่อนไหวของอากาศรอบศูนย์กลางบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนเช่นนี้ เรียกว่า Anitcyclonic Circulation
    โดยทั่วไปในบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนลมอ่อนและลมมักสงบในบริเวณใกล้ศูนย์กลาง มีเมฆเพียงเล็กน้อย แต่อาจมีเมฆมากกับฝนได้ตามขอบของบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโ๕ลนที่อยู่ใกล้กับแนวปะทะอากาศ
    ในซีกโลกเหนือทางตะวันออกของบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโ๕ลน อากาศจะเย็นที่ผิวพื้นและเป็นลมฝ่ายเหนือพัดผ่าน เรียกบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนชนิดนี้ว่า Cold High ส่วนทางด้านตะวันตก อากาศจะค่อนข้างร้อนและเป็นลมฝายใต้พัดผ่าน เรียกบริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนชนิดนี้ว่า Warm High บริเวณความกดอากาศสูงหรือแอนติไซโคลนชนิด Cold High แผ่ลงมาเมื่อไรอากาศจะหนาวเย็น ส่วน Warm High อากาศจะร้อนเนื่องจากลมพัดมาจากทางใต้ แม้ว่าจะมีความชื้นสูงแต่ไม่มีฝนตก จะทำให้อากาศร้อนอบอ้าว บางครั้งเรียกว่า คลื่นความร้อน (Heat Wave)

บริเวณความกดอากาศต่ำ ( Low Pressure Area หรือ Low )

    บริเวณความกดอากาศต่ำ คือ บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำกว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่รอบๆในแผนที่
อากาศผิวพื้นแสดงด้วยเส้นความกดอากาศเท่าเป็นวงกลมล้อมรอบบริเวณทีทมีความกดอากาศต่ำ นั่นคือ บริเวณความกดอากาศต่ำจะเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำลงจากขอบนอกเข้าสู่ศูนย์กลาง บริเวณความกดอากาศต่ำนี้จะมีกระแสลมพัดเข้าหาศูนย์กลางในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และในทิศทาง ตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ การเคลื่อนไหวของอากาศรอบศูนย์กลางบริเวณความกดอากาศต่ำเช่นนี้ เรียกว่า Cyclonic Circulation ตามปกติในบริเวณความกดอากาศต่ำจะมีเมฆมากและมีฝนตกด้วยบริเวณความกดอากาศต่ำ แบ่งออกได้ 2 ชนิด
        1.Cold Core ที่แกนกลางของความกดอากาศต่ำชนิดนี้ อุณหภูมิจะต่ำกว่าภายนอก และเกิดในแถบละติจูดสูงๆ ที่อากาศเย็น เมื่อเกิดขึ้นแล้วการหมุนเวียนจะต่อเนื่องกัน ความชันของความกดจะเพิ่มมากขึ้นตามความสูงซึ่งสัมพันธ์กับกระแสลม นั่นคือ บริเวณความกดอากาศต่ำชนิด Cold Core จะมีลมพัดแรงขึ้นตามความสูง และมักมีแนวปะทะอากาศขึ้นร่วมด้วยเสมอ
        2.Warm Core ที่แกนกลางของความกดอากาศต่ำชนิดนี้ อุณหภูมิจะร้อนกว่าภายนอก การหมุนเวียนจะเหมือนกับชนิด Cold Core และมีเฉพาะในเขตร้อนเท่านั้น เนื่องจากแกนกลางร้อน ฉะนั้นอากาศที่เย็นกว่าจะพัดเข้าแทนที่จมเข้าหาศูนย์กลาง ทำให้เกิดกระแสลมพัดเวียนเป็นก้นหอยเข้าหาศูนย์กลาง ขณะเดียวกันอากาศตรงกลางจะลอยตัวขึ้น ความชันของความกดตามระดับความสูงจะลดลง นั่นคือ ลมที่พัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางรอบบริเวณความกดอากาศต่ำชนิด Warm Core ความเร็วลมจะลดลงตามความสูง พายุจะรุนแรงที่สุดที่ผิวพื้นเท่านั้น สูงขึ้นไปลมกำลังอ่อนลง
        บริเวณความกดอากาศต่ำทั้ง 2 ชนิด เกิดฝนตกหนักเท่าๆ กัน แต่ความเร็วลมจะต่างกัน

ร่องความกดอากาศต่ำ (Intertropical Convergence Zone – ITCZ ) หรือ ร่องมรสุม (Monsoon Trough)

       ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมนี้ มีชี่อเรียกในภาษาอังกฤษหลายชื่อด้วยกัน เช่น Intertropical Convergence Zone , Equatorial Trough หรือ Monsoon Trough เป็นต้น เป็นโซนหรือแนวแคบๆ ที่ลมเทรดหรือลมค้าในเขตร้อนของทั้ง 2 ซีกโลกมาบรรจบกัน คือลมค้าตะวันออกเฉียงเหนือของซีกโลกเหนือกับลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ของซีกโลกใต้
    ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสม มีลักษณะเป็นแนวพาดขวางในทิศตะวันออก-ตะวันตก ในร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ มีกระแสอากาศไหลขึ้น-ลงสลับกัน ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมจะอยู่ในเขตร้อนใกล้ๆ เส้นศูนย์สูตร และจะมีการเลื่อนข้น –ลงตามแนวโคจรของดวงอาทิตย์โดยจะล้าหลังประมาณ 1-2 เดือน ความกว้างของร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมประมาณ 6-8 องศาละติจูด เป็นบริเวณที่มีเมฆมากและฝนตกอย่างหนาแน่น ฉะนั้น เมื่อร่องนี้ประจำอยู่ที่ใดหรือผ่านที่ใดก็จะทำให้ที่นั้นฝนตกอย่างหนาแน่นได้

พายุฟ้าคะนอง (Thunderstorm)

    พายุฟ้าคะนอง บางครั้งเรียกว่า พายุไฟฟ้า (Electrical Storm) โดยทั่วไปเป็นพายุที่เกิดเฉพาะท้องถิ่นเกิดจกเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus-Cb) มีฟ้าแลบ (Lightning) กับฟ้าร้อง (Thunder) รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้มักจะมีลมกระโชกแรงและฝนตกหนักเกิดขึ้น บางครั้งยังมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุฟ้าคะนองนี้เป็นพายุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น มีน้อยครั้งที่เกิดขึ้นนานกว่า 2 ชั่วโมง
    พายุฟ้าคะนองเป็นผลเนื่องมาจากในเขตร้อนอากาศมีความชื้นมากและมีอุณหภูมิสูงทำให้อากาศไม่มีเสถียรภาพ (Instability) หรือบรรยากาศมีอาการไม่ทรงตัว เกิดการผสมคลุกเคล้าจากล่างขึ้นข้างบนและจาก ข้างบนลงข้างล่าง ในชั้นแรกอากาศหรือบรรยากาศเกิดการไหลขึ้นอย่างรุนแรง (Strong Convective Updraft) และในขั้นต่อมาซึ่งเป็นขั้นการสลายตัว (Dissipating Stage) จะมีกระแสอากาศไหลลงอย่างรุนแรง (Strong Downdraft ) ภายในคอลัมน์ (ช่วง) ของฝนพายุฟ้าคะนองนี้บ่อยครั้งที่ก่อตัวได้สูงถึง 40,000 – 50,000 ฟุต ในบริเวณละติจูดกลางและสูงมากกว่านี้ในเขตร้อน บรรยากาศตอนล่างของชั้นสตราโตสเฟียร์ที่มีเสถียรภาพดีมาก (Great Stability) เท่านั้นที่สามารถยับยั้งการก่อตัวของพายุฟ้าคะนอง

มรสุม (Monsoon)

         มรสุม เป็นการหมุนเวียนส่วนหนึ่งของลมที่พัดตามฤดูกาล คือลมประจำฤดู เป็นลมแน่ทิศและสม่ำเสมอ คำว่า “มรสุม” หรือ Mosoon มาจากคำ Mausim ในภาษาอาหรับ แปลว่า “ฤดูกาล” (Season) ในครั้งแรกได้นำคำนี้มาใช้เรียกลมที่เกิดในทะเลอาหรับก่อน ในทิศตะวันออกเฉลียงเหนือเข้าสู่ทะเลอาหรับเป็นระยะเวลา 6 เดือน แล้วเลี่ยนกลับไปในทิศทางตรงข้าม คือ จากทะเลอาหรับเข้าสู่ภาคพื้นทวีปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะเวลา 6 เดือน เช่นกัน ต่อมาได้นำคำนี้ไปเรียกลมที่มีลักษณะอย่างเดียวกันแต่เกิดขึ้นในส่วนอื่นของโลกด้วย
       มรสุม เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ คือเกิดขึ้นเนื่องจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของพื้นดินและพื้นน้ำทำนองเดียวกับลมบกลมทะเล ในฤดูหนาวอุณหภูมิของดินภาคพื้นทวีปเย็นกว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่อยู่ใกล้เคียง อากาศเหนือพื้นน้ำจึงมีอุณหภูมิสูงกว่าและลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน อากาศเหนือทวีปซึ่งเย็นกว่าไหลเข้าไปแทนที่ ทำให้เกิดเป็นลมพัดออกจากทวีป พอถึงฤดูร้อนอุณหภูมิของดินภาคพื้นทวีปร้อนกว่าน้ำในมหาสมุทร เป็นเหตุให้เกิดลมพัดไปในทิศทางตรงกันข้าม
       มรสุมหรือลมประจำฤดูที่มีกำลังแรงจัดที่สุด ได้แก่มรสุมที่เกิดในบริเวณภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย อันเป็นที่ตั้งของประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย มาเลเซีย พม่า บังคลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของมรสุมลมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มต้น พัดเข้าสู่ภาคกลางของประเทศประมาณกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระยะของฤดูฝน ต่อจากนั้นลมจะแปรปรวนและเริ่มเปลี่ยนทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณปลายเดือน ตุลาคมไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระยะเวลาของฤดูหนาว

พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)

        เป็นคำทั่วๆ ไปที่ใช้เรียกพายุหมุนหรือพายุไซโคลน (Cyclone) ที่มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรในเขตร้อนแถบละติจูดต่ำ บริเวณที่พายุหมุนปกคลุมแคบกว่าบริเวณพายุหมุนในเขตอบอุ่น พายุดังกล่าวเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ใหญ่นักประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรงมาก ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไปโดยพัดเวียนเป็นวงทวนเข็มนาฬิกา (Cyclonically) ในซีกโลกเหนือ ส่วนทางซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลาง ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด ลมที่ใกล้ศูนย์กลางมีความเร็วตั้งแต่ 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ( 64 นอต) ขึ้นไป บางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (175 นอต) ความกดอากาศต่ำสุดที่บริเวณศูนย์กลางพายุโดยทั่วไปต่ำกว่า 1,00 มิลลิบาร์ มีความชันของความกดอากาศ (Pressure Gradient ) และความเร็วลมแรงกว่าพายุหมุนนอกเขตร้อน (Extratropical Storm) มีลักษณะอากาศร้ายติดตามมาด้วย เช่นฝนตกหนักมากกว่าฝนปกติธรรมดาที่เกิดในเขตร้อนมาก บางครั้งมีพายุฟ้าคะนองเกิดขึ้นด้วย ฝนและเมฆมีลักษณะไม่เหมือนกันนักในพายุแต่ละลูกส่วนใหญ่จะเห็นเป็นแนวโค้งหมุนเข้าหาศูนย์กลางหรือตาพายุ มีเมฆประเภทคิวมูลัส (Cumulus) และคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ที่มีฝนอยู่ด้วย เกิดคลื่นสูงใหญ่ในทะเลและน้ำขึ้นสูง
        ตรงบริเวณศูนย์กลางพายุมีลักษณะคล้ายกับมีตาเป็นวงกลมอยู่มองเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายจากดาวเทียมเรียกว่า “ตาพายุ” (Eye) เป็นบริเวณเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางของตาพายุเพียงเป็นสิบๆ กิโลเมตรเท่านั้น (ประมาณ 15-60 กิโลเมตร) ภายในตาพายุนี้เป็นบริเวณที่มีอากาศแจ่มใส มีเมฆบ้างเล็กน้อยเท่านั้นและมีลมพัดอ่อน
พายุหมุนเขตร้อนนี้เกิดขึ้นหลายแห่งโลก โดยทั่วไปเกิดทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรในเขตร้อนบริเวรใกล้ศูนย์สูตร (ยกเว้นมหาสมุทรแอตแลนติกใต้และทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้) เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก ทำความเสียหายให้แก่ทวีปต่างๆ ทางด้านตะวันออก พายุหมุนเขตร้อนนี้มีชื่อเรียกต่างๆ กันแล้วแต่ละท้องถิ่นที่เกิด เช่น
    ถ้าเกิดในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกและในทะเลจีนใต้ เรียกชื่อว่า “พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) ”
    ถ้าเกิดในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลคาริบเบียนและในอ่าวเม็กซิโก เรียกชื่อว่า “พายุเฮอร์ริเคน (Hurricane) ”
    ถ้าเกิดในอ่าวเบงกอลและทะเลอาราเบียนในมหาสมุทรอินเดีย เรียกชื่อว่า “พายุไซโคลน ( Cyclone)
    และถ้าเกิดในทวีปออสเตรเลีย เรียกว่า “วิลลี่-วิลลี่ (Willy-willy)”
    หรือมีชื่อเรียกไปต่างๆกันถ้าเกิดในบริเวณอื่น

ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้จัดแบ่งชั้นของพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของพายุได้เป็น 3 ชั้นดังนี้

  1. ดีเปรสชันเขตร้อน (Tropical Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางน้อยกว่า 34 นอต( 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

  2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 34 ถึง 64 นอต(63 ถึง 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

  3. พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอร์ริเคน (Typhoon or Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 นอต หรือมากกว่า หรือ ตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป

อัพเดทล่าสุด