ผมมีโอกาสได้คุยกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะฯ เรา และกับวิศวกรซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของผมท่านหนึ่ง เป็นที่น่าประหลาดใจว่าท่านทั้งสองนี้เข้าใจว่าศัพท์แปลก ๆ มักเป็นผลงานการบัญญัติของราชบัณฑิตยสถานจริง ๆ
เรื่องน่ารู้ ศัพท์บัญญัติ ในงานวิศวกรรมไฟฟ้า (ตอนที่ 1)
ผมมีโอกาสได้คุยกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะฯ เรา และกับวิศวกรซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของผมท่านหนึ่ง เป็นที่น่าประหลาดใจว่าท่านทั้งสองนี้เข้าใจว่าศัพท์แปลก ๆ มักเป็นผลงานการบัญญัติของราชบัณฑิตยสถานจริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ติวเตอร์ภาษาไทยชื่อดัง ที่ครั้งหนึ่งก็เคยสอนนักเรียนมัธยมออกรายการโทรทัศน์ และบอกว่าราชบัณฑิตยสถานบัญญัติศัพท์เหล่านี้ออกมาจริง ๆ เช่น Software - ละมุนภัณฑ์, Hardware - กระด้างภัณฑ์, Windows - พหุบัญชร, Lotus Notes - พหุอุบลจารึก, PowerPoint - จุดอิทธิฤทธิ์, Visual Basic - ปฐมพิศ, Joystick - แท่งหฤหรรษ์, Stand-alone - ยืนเอกา, Microsoft - จิ๋วระทวย ฯลฯ จนนายกราชบัณฑิตยสถานขณะนั้นต้องเชิญมาชี้แจ้งข้อเท็จจริง ว่าคำดังกล่าวเหล่านี้มีผู้นึกสนุกคิดขึ้นล้อเลียนราชบัณฑิตยสถานเท่านั้น ผมจึงถือโอกาสนี้ช่วยชี้แจงแทนราชบัณฑิตยสถาน ดังนี้ครับ ศัพท์ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ข้างต้นนั้น ถ้าเป็นคำทั่วไป ราชบัณฑิตยสถานก็มีบัญญัติไว้ บางคำก็มีทั้งแบบที่เป็นคำไทยและบัญญัติแบบทับศัพท์ กล่าวคือ
ศัพท์อังกฤษ | ศัพท์บัญญัติทางการ |
Software | ส่วนชุดคำสั่ง, ซอฟต์แวร์ |
Hardware | ส่วนอุปกรณ์, ส่วนเครื่อง, ฮาร์ดแวร์ |
Joystick | ก้านควบคุม |
ส่วนคำอื่นที่เหลือซึ่งเป็นชื่อเฉพาะหรือชื่อทางการค้า ก็จะไม่บัญญัติ แต่ถ้าหากต้องการสะกดเป็นภาษาไทยก็จะใช้วิธีสะกดแบบทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์ อักขรวิธีที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนด เช่น Windows เป็น วินโดวส์, PowerPoint เป็น เพาเวอร์พอยต์, Microsoft เป็น ไมโครซอฟต์ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปดูหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ได้ที่เว็บไซต์ราช บัณฑิตยสถาน https://www.royin.go.th
ตามปกติแล้วราชบัณฑิตยสถานมีหลักเกณฑ์ในการบัญญัติศัพท์เชิงวิชาการใหม่ ๆ ที่เป็นภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยว่า
- ถ้าศัพท์ใดสามารถผูกคำขึ้นใหม่ได้ ก็พยายามใช้คำไทยก่อน
- ถ้าหาคำไทยที่เหมาะสมและตรงกับความหมายของศัพท์ไม่ได้แล้ว ให้หาคำบาลี-สันสกฤตที่มีใช้อยู่แล้วในภาษาไทย มาผูกเป็นศัพท์ขึ้น
- ถ้ายังหาคำเหมาะสมไม่ได้อีก จึงใช้วิธีบัญญัติแบบทับศัพท์
ขอยกตัวอย่างศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี คำว่า “asynchronous” ซึ่งบัญญัติไว้ว่า -ไม่ประสานเวลา, -อสมวาร*, -อะซิงโครนัส ซึ่งเป็นคำพิเศษตรงที่มีศัพท์บัญญัติทั้งสามแบบ คือ แบบคำไทยพื้นๆ แบบคำบาลีสันสกฤต และแบบคำทับศัพท์ ในการนำไปใช้ ผู้ใช้ก็สามารถเลือกใช้ได้ตามบริบท ตามความชอบ ตามความเหมาะสม
และจาก “จุดยืน” ในการบัญญัติศัพท์ ๓ ประการข้างต้น จะเห็นว่าศัพท์ตลกขบขัน หรือศัพท์แปลกๆ อย่างคำว่า “เวทนารมณ์เชิงเพทนาการ” (sensory perception), “สดมภ์รงคเลข” (column chromatography), “ปรัศวภาควิโลม” (lateral inversion) หรือ “วงจรอเนกระรัว” (multivibrator circuit) ที่บางท่านอาจเคยเห็นผ่านตาหรือยังใช้กันอยู่บ้างนั้น ราชบัณฑิตยสถานคงจะไม่บัญญัติขึ้นใช้เป็นแน่แท้
* มีรูปศัพท์คล้ายกับคำว่า “อสมการ” ที่แปลว่า “การไม่เท่ากัน” ทั้งนี้ อสมวาร (อะ-สะ-มะ-วาน) มาจาก อ (อะ = ไม่) + สม (สะ-มะ = เท่า) + วาร (วาร = วาระ, จังหวะ, เวลา) รวมความแล้วแปลได้ว่า “วารไม่เท่ากัน” คือ “จังหวะไม่ตรงกัน” นั่นเอง
ผู้เขียน
อ. ดร.ชนินทร์ วิศวินธานนท์
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
กรรมการบัญญัติศัพท์วิศวกรรมไฟฟ้า ราชบัณฑิตยสถาน
ที่มา www.eng.chula.ac.th