เมื่อราชบัณฑิตยสถานบัญญัติพบ “ศัพท์วิชาการ” ใหม่ ๆ ที่จะต้องบัญญัติเป็นภาษาไทย นอกจากหลักเกณฑ์ 3 ประการที่ผมได้นำเสนอใน “ศัพท์บัญญัติ (ตอนที่ 1)” แล้ว ก็มีหลักเพิ่มเติมว่า ศัพท์ใหม่ที่จะบัญญัติขึ้นควรจะมีลักษณะที่ “สื่อ-สั้น-สวย” ด้วย
เรื่องน่ารู้ ศัพท์บัญญัติ ในงานวิศวกรรมไฟฟ้า (ตอนที่ 2))
เมื่อราชบัณฑิตยสถานบัญญัติพบ “ศัพท์วิชาการ” ใหม่ ๆ ที่จะต้องบัญญัติเป็นภาษาไทย นอกจากหลักเกณฑ์ 3 ประการที่ผมได้นำเสนอใน “ศัพท์บัญญัติ (ตอนที่ 1)” แล้ว ก็มีหลักเพิ่มเติมว่า ศัพท์ใหม่ที่จะบัญญัติขึ้นควรจะมีลักษณะที่ “สื่อ-สั้น-สวย” ด้วย กล่าวคือ สื่อถึงความหมายที่แท้จริงตรงตามศัพท์ต้นที่เป็นภาษาต่างประเทศ และสื่อให้คนไทย โดยเฉพาะคนในแวดวงวิชาการซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ศัพท์บัญญัตินั้น ๆ สามารถเข้าใจได้ทันที โดยไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกรอบ เป็นคำที่สั้น กะทัดรัด เป็นคำที่เราคุ้นเคย หรือใช้กันอยู่จน “ติด” แล้ว และถ้าหากเป็นคำที่สละสลวย ฟังดูไพเราะด้วย ก็จะยิ่งดี
แต่ครั้งที่แล้ว ผมนำเสนอตัวอย่างศัพท์คำว่า “วิยุต”* ที่บัญญัติใช้แทนคำว่า “discrete” บางท่านอาจจะเห็นว่าฟังดูแปลก ๆ ไม่คุ้นเคย ผมต้องการจะชี้ให้เห็นว่า คำว่า “discrete” ที่เป็น “ศัพท์วิชาการ” ซึ่งมีความหมายจำเพาะ ครั้นเมื่อจะหาคำศัพท์บัญญัติภาษาไทย ก็พิจารณาด้วยว่าศัพท์บัญญัตินี้ควรนำไปใช้ได้กว้างขวาง สามารถนำไปใช้ประกอบกับคำอื่น ๆ หรือในบริบทอื่น ๆ ได้ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พยายามคิดหาคำหนึ่ง ๆ ที่ใช้ได้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือ พยายามใช้ให้ “คงเส้นคงวา” ดังนั้น ในการหาศัพท์บัญญัติสำหรับศัพท์วิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งหลาย ที่มีคำว่า “discrete” ประกอบอยู่ ก็มีคำว่า “discrete mathematics” อยู่ด้วย และคำ ๆ นี้เองที่เป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณา ประกอบกับเหตุผลที่ผมได้นำเสนอไว้ใน “ศัพท์บัญญัติ (ตอนที่ 2)” แล้ว จึงมีมติใช้คำว่า “วิยุต” และในครั้งที่แล้วผมก็ได้ยกตัวอย่างคำศัพท์วิชาการภาษาอังกฤษบางคำ ที่มีคำว่า “discrete” ประกอบอยู่ ซึ่งเป็นคำจำเพาะ เมื่อใช้ภาษาไทย ก็ใช้ “วิยุต” ส่วนคำว่า “discrete” ในบางบริบท ที่เป็นเพียงคำทั่วไปเท่านั้น ไม่ใช่ศัพท์วิชาการ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำศัพท์บัญญัติว่า “วิยุต” จะใช้คำว่า “ส่วนย่อย” “องค์ประกอบย่อย” “แยกย่อย” “แยกโดด” หรือแม้แต่ “ไม่ต่อเนื่อง” ในบางบริบทก็ได้
สำหรับประเด็นเรื่องการใช้ศัพท์บัญญัติแบบ “คงเส้นคงวา” ผมขอยกตัวอย่างศัพท์อีกคำหนึ่ง คือ “solar cell” ซึ่ง ผมเห็นมีการใช้หรือการสะกดกัน 4 แบบ คือ คณาจารย์อาวุโสในห้องปฏิบัติการวิจัยเดียวกับผมเรียกเป็นภาษาไทยมานมนานว่า “เซลล์แสงอาทิตย์” แต่ในหนังสือแบบเรียนระดับมัธยมปลายใช้ว่า “เซลล์สุริยะ” ย้อนไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้อ่านบทความวิจัยของอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงแห่ง หนึ่ง ใช้คำว่า “โซล่าเซลล์” (สะกดแบบนี้ทำให้ผมนึกถึง“น้ำมันโซล่า” ขึ้นมาทันที) นอกจากนี้แล้วผมก็ยังได้เห็นมีการใช้หรือสะกดเป็น “โซล่าร์เซลล์” ในบทความในวารสารวิชาการอยู่เนือง ๆ
ฉะนั้น คำว่า “solar cell” ในภาษาไทยที่ถูกต้องแล้ว ควรใช้คำว่าอะไรกันแน่ ?
เนื่องจากราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติให้ใช้ศัพท์ภาษาไทยสำหรับคำว่า “solar” ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ใช้ประกอบกับศัพท์อื่นว่า “-สุริยะ” เช่น solar eclipse – สุริยุปราคา (สุริยะ+อุปราคา), solar system – ระบบสุริยะ, solar wind – ลมสุริยะ, solar noon – เที่ยงสุริยะ, solar physics – ฟิสิกส์สุริยะ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อยึดหลักการใช้ศัพท์บัญญัติแบบ “คงเส้นคงวา” แล้ว ราชบัณฑิตยสถานจึงบัญญัติคำว่า “solar cell” เป็นภาษาไทยว่า “เซลล์สุริยะ”
อนึ่ง ถ้าหากท่านใดที่ไม่ชอบใจใช้ศัพท์ว่า “เซลล์สุริยะ” อาจจะสะกดทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานเป็น “โซลาร์เซลล์” (โดยไม่มีวรรณยุกต์เอก)ก็ได้
* มาจากคำว่า “วิ-” (แยก, ทำให้มีความหมายตรงกันข้าม) + “ยุต” (ประกอบเข้ากัน) รวมเป็น “วิยุต” แปลว่า แยกออก เป็นส่วน ๆ หรือ แยกออกเป็นองค์ประกอบย่อย [ทั้งคำว่า “วิ” และคำว่า “ยุต” มีอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย-สถาน]
โปรดติดตาม “ศัพท์บัญญัติ” ตอนต่อไปในฉบับหน้า
ท่านสามารถสอบถามผู้เขียน หรือแสดงความคิดเห็น ต่อคอลัมน์นี้ ได้ที่ [email protected]
ผู้เขียน
อ. ดร.ชนินทร์ วิศวินธานนท์
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
กรรมการบัญญัติศัพท์วิศวกรรมไฟฟ้า ราชบัณฑิตยสถาน
ที่มา ที่มา www.eng.chula.ac.th