เรื่องน่ารู้ วิศวกรรมโยธา คืออะไร เรียนอะไรบ้าง


11,043 ผู้ชม

วิศวกรรมโยธาเป็นสาขาที่กว้างขวางและมีบทบาทต่อสังคมมากที่สุดสาขาหนึ่ง ของวิศวกรรมศาสตร์ งานของวิศวกรโยธาเกี่ยวพันกับการก่อสร้างอาคาร สะพาน เขื่อน ถนนและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆอีกมากมาย


วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)


วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) คำนิยามที่อาจจะกำหนดได้อย่างสั้นๆสำหรับงานทางวิศวกรรมคือ งานที่เกิดจากการประยุกต์ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อนำทรัพยากร ธรรมชาติต่างๆที่อยู่รอบตัวมาสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าและคุณค่า กล่าวได้อีกอย่างว่าวิทยาศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการค้นหาโลกที่เป็นอยู่ เช่น การค้นหาจุดกำเนิดของจักรวาล การศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆในธรรมชาติในขณะที่วิศวกรรมศาสตร์สร้างสรรค์ให้โลก พบกับสิ่งที่ยังไม่เคยมีและไม่เคยเกิดขึ้น เช่น การคิดค้นและติดตั้งระบบไฟฟ้า ระบบการสื่อสารโทรคมนามคม เป็นต้น ขอบเขตของอาชีพที่เข้าข่ายงานทางวิศวกรรมโดยการกล่าวอ้างจากของสมาคมวิศว ศึกษาของสหรัฐอเมริกา (American Society for Engineering Education, ASEE) คือ สายอาชีพที่เปิดกว้างมากกว่าแขนงวิชาชีพอื่นๆ เป็นสายอาชีพที่สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ตั้งแต่ส่วนที่ลึกสุดใน มหาสมุทรไปจนถึงไกลสุดในการสำรวจและทดลองในอวกาศ จากโครงสร้างที่เล็กที่สุดระดับจุลภาคของเซลล์มนุษย์ไปจนถึงขนาดใหญ่ระดับ ตึกระฟ้า อีกทั้งยังหมายรวมถึงการประดิษฐ์โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูปดิจิตอล อุปกรณ์ตรวจลักษณะรูปหน้าเพื่อการป้องกันการก่อการร้ายวิศวกรเป็นอาชีพที่ อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน วิศวกรเป็นอาชีพที่มีหน้าที่แก้ปัญหา ค้นหาแนวทางการประยุกต์และวิจัยเพื่อสิ่งที่ดีกว่า รวดเร็วกว่า และเหมาะสมทางด้านราคามากกว่า

นักศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์สามารถเลือกเรียนในสาขาความเชี่ยวชาญได้หลาก หลายตั้งแต่สาขาวิศวกรรมที่มีพื้นฐานมานานเช่นไฟฟ้า โยธา ไปจนถึงสาขาที่เริ่มคิดค้นและพัฒนาในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเช่น ทางด้านอากาศยานและอวกาศ พันธุวิศวกรรม อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ เป็นต้น การศึกษาในสาขาวิศกรรมศาสตร์จะทำให้ผู้ศึกษาได้มีอาชีพที่ท้าทาย มีความมั่นคงทางการเงินและที่สำคัญคือความภาคภูมิใจและโอกาสที่เปิดกว้างใน ด้านหน้าที่การงานวิศวกรเป็นอาชีพที่มีบทบาทในการกำหนดลักษณะชีวิตความเป็น อยู่และความเป็นไปของสังคม เช่น การออกแบบเครื่องใช้ที่อยู่รอบตัวทั้งในบ้านและสำนักงาน เครื่องบิน รถยนต์และ การออกแบบอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั้งที่เราสัมผัส ได้ยิน มองเห็นล้วนเป็นผลงานการออกแบบและประดิษฐ์ของวิศวกรทั้งสิ้น งานประดิษฐ์และออกแบบของวิศวกรเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งที่ใช้ใน การขับเคลื่อนสังคมทั้งทางด้านความเป็นอยู่สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และความปลอดภัยในชีวิต

วิศวกรรมโยธา (Civil Engineering)

วิศวกรรมโยธาเป็นสาขาที่กว้างขวางและมีบทบาทต่อสังคมมากที่สุดสาขาหนึ่ง ของวิศวกรรมศาสตร์ งานของวิศวกรโยธาเกี่ยวพันกับการก่อสร้างอาคาร สะพาน เขื่อน ถนนและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆอีกมากมาย วิศวกรโยธามีหน้าที่วางแผน ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างตั้งแต่งานขนาดเล็กไปจนถึงโครงการก่อสร้างขนาด ใหญ่ เช่น ตึกระฟ้า ท่าอากาศยาน ศูนย์การผลิตและควบคุมบำบัดน้ำเสีย นอกจากนี้วิศวกรโยธายังมีบทบาทสำคัญในการคิดค้นและพัฒนาระบบขนส่งและระบบ สาธารณูปโภคในอนาคต เช่น การออกแบบระบบรถไฟอนาคตซึ่งใช้แรงแม่เหล็กเพื่อออกแรงยกตัวและเคลื่อนที่ไป ข้างหน้า (Magnetic levitation trains)

นิยามเกี่ยวกับอาชีพวิศวกรโยธา

ออกแบบ คำนวณ วางแผน จัดระบบงาน ควบคุมงานโครงการ พิจารณาตรวจสอบ ให้คำปรึกษาด้านการก่อสร้างอาคารโรงงาน อาคารสาธารณะ สะพาน อู่เรือ เขื่อนกั้นน้ำ กำแพงกั้นน้ำ โครงสร้างอื่น รวมทั้งการติดตั้ง การใช้และการบำรุงเครื่องจักรต่าง ๆ : พิจารณาโครงการ สำรวจหาสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการก่อสร้าง ; สำรวจและประเมินลักษณะและความหนาแน่นของการจราจรทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ เพื่อพิจารณาว่าจะมีผลต่อโครงการอย่างไร ; สำรวจพื้นผิวดินและใต้ผิวดิน เพื่อนำไปออกแบบฐานรากที่เหมาะสม ปรึกษาหารือในการก่อสร้างกับผู้ชำนาญการสาขาอื่น ๆ เช่น วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรสิ่งแวดล้อมหรือวิศวกรเครื่องกล กรณีที่มีการก่อสร้างงานระบบต่าง ๆ เพื่อกำหนดผังฐานรองท่อร้อยสายไฟฟ้า ท่องานระบบต่าง ๆ และงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ; คำนวณหาค่าความเค้น ความเครียด ปริมาณน้ำ ความแรงของลมและอุณหภูมิ ความลาดและตัวแปรอื่น ๆ ที่มีผลต่อการคำนวณออกแบบงานด้านโยธา ตรวจสอบแปลนรายการก่อสร้าง ปริมาณวัสดุ และประมาณการราคาในงานโยธา ; กำหนดอุปกรณ์ เครื่องจักรต่าง ๆ ในงานก่อสร้าง เช่น งานดินถมดินตัดในงานถนน งานเขื่อน งานโยธาชนิดอื่น ๆ ; วางแผนการปฏิบัติงานและควบคุมให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ; ทดสอบ ตรวจสอบโครงสร้างทั้งเก่าและใหม่เพื่อวิเคราะห์ความมั่นคงแข็งแรง รวมทั้งควบคุมการซ่อมแซมกรณีที่เกิดการชำรุดเสียหายขึ้น

ลักษณะของงานที่วิศวกรโยธาต้องรับผิดชอบ

วางแผน จัดระบบงาน และควบคุมงานสร้างถนน สะพาน อุโมงค์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งต่างๆ ทำงานเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ตลอดจนการติดตั้ง การใช้และการบำรุงรักษาระบบไฮดรอลิกและระบบสาธารณสุขอื่นๆ พิจารณาโครงการ และทำงานสำรวจเพื่อหาสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการ ก่อสร้าง สำรวจและประเมินลักษณะ และความหนาแน่นของการจราจรทางอากาศทางบก และทางน้ำเพื่อพิจารณาว่าจะมีผลต่อโครงการอย่างไรบ้าง สำรวจดูพื้นผิวดินและใต้ผิวดินว่าจะมีผลต่อการก่อสร้างอย่างใด และเหมาะสมที่จะรองรับสิ่งก่อสร้างเพียงใด ปรึกษาหารือในเรื่องโครงการกับผู้ชำนาญงานสาขาอื่นๆ เช่น วิศวกรไฟฟ้า หรือวิศวกรช่างกล วางแผนผังรากฐาน ท่อสายไฟ ท่อต่างๆ และงานพื้นดินอื่นๆ คำนวณความเค้น ความเครียด จำนวนน้ำ ผลอันเนื่องมาจากความแรงของลมและอุณหภูมิ ความลาด และเหตุอื่นๆ เตรียมแบบแปลนรายงานก่อสร้าง และจัดทำประมาณการวัสดุและประมาณการราคา เลือกชนิดของเครื่องมือขนย้ายดิน เครื่องชักรอก เครื่องจักรกล และเครื่องมืออื่นๆ ที่จะใช้ในงานก่อสร้าง จัดทำตารางปฏิบัติงานและควบคุมให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทดสอบ และตรวจดูโครงสร้างทั้งเก่า และใหม่ ตลอดจนวางแผนและจัดระบบงานซ่อม

ลักษณะการจ้างงานและการทำงาน

ผู้ประกอบอาชีพนี้ ได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือน ตามวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงาน โดยส่วนใหญ่จะทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจจะต้องมาทำงานวันเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุด อาจจะต้องทำงานล่วงเวลา ในกรณีที่ต้องการให้งานที่ได้รับมอบหมายเสร็จให้ทันต่อการใช้งาน นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้วในภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนอาจได้รับผล ตอบแทนในรูปอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส เป็นต้น สถานที่ทำงานของวิศวกรโยธาจะมีสภาพเหมือนที่ทำงานทั่วไป คือ เป็นสำนักงานที่มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสำนักงานทั่วไป แต่โดยลักษณะงานที่จะต้องควบคุมงานสำรวจ ก่อสร้าง หรือซ่อมแซมจึงจำเป็นที่จะต้องตรวจดูงานนอกสถานที่ในบางครั้ง เนื่องจากต้องควบคุมดูแลงานให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับงานหรือสถานที่ทำงานที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ในการทำงาน วิศวกรโยธาจึงต้องใช้อุปกรณ์คุ้มครองส่วนบุคคลในขณะปฏิบัติงาน

เนื้อหาที่ต้องเรียนรู้เมื่อเข้ามาศึกษาทางด้านวิศวกรรมโยธา

การเขียนแบบวิศวกรรม 1 (Engineering Drawing I) การใช้เครื่องมือเขียนแบบ ออโตกราฟฟิคโปรเจคชั่น การเขียนภาพออโตกราฟฟิค การเขียนภาพพิคตอเรียล การกำหนดขนาดการเขียนภาพตัด การสะเก็ดภาพด้วยมือ

กลศาสตร์ของไหล (Fluid Mechanics) คุณสมบัติของของไหล ของไหลสถิตย์ ชนิดของการไหล สมการควบคุมสภาพ โมเมนตัมเชิงเส้น สำหรับการไหลคงที่ ผลจากการเสียดทาน การไหลแบบสม่ำเสมอของของไหลอัดตัวไม่ได้ การไหลในท่อแบบราบเรียบและแบบปั่นป่วน การวัดการไหล การวิเคราะห์มิติ การไหลหนืดแบบราบเรียบ การประยุกต์งานของไหลในงานวิศวกรรม เช่น การหล่อลื่น เครื่องจักรกลของไหล การจำแนกประเภทและการประเมินสมรรถนะของเครื่องกังหันชนิดหมุนเหวี่ยงและชนิด ในแนวแกน

ปฏิบัติการกลศาสตร์ของไหล (Fluid Mechanics Laboratory) เครื่องกังหันเพลตัน เครื่องกังหันฟรานซิส เครื่องกังหันคาพาล การทดสอบสมรรถนะของปั๊ม การต่อปั๊มแบบอนุกรมและขนาน การหล่อลื่นในแบริ่ง

ปฏิบัติการวิศวกรรมโรงงาน (Engineering Workshop Practice) งานปรับแต่งโลหะ : การใช้เครื่องมือวัดอย่างง่าย งานตะไบ การทำเกลียวนอกและเกลียวใน งานโลหะแผ่น งานเชื่อมโลหะ : การเชื่อมแก๊ส การเชื่อมไฟฟ้า การบัดกรี เครื่องมือกลอย่างง่าย : การใช้เครื่องเจาะ เครื่องเลื่อย ค้อน สกัด

สถิติวิศวกรรม (Engineering Statistics) ทฤษฎีความน่าจะเป็น ตัวแปรสุ่ม การพิสูจน์เชิงสถิติ การวิเคราะห์ความแปรปรวน สหสัมพันธ์และการหาสมการความสัมพันธ์ การใช้วิธีการทางสถิติเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา

วัสดุวิศวกรรม (Engineering Materials) การศึกษาวัสดุทางวิศวกรรม เช่น โลหะ พลาสติก แอสฟัลท์ ไม้และคอนกรีต การศึกษาเฟสไดอะแกรม การทดสอบคุณสมบัติวัสดุ การศึกษาโครงสร้างทางจุลภาคและมหภาคที่สัมพันธ์กับคุณสมบัติวัสดุ กระบวนการผลิตสำหรับชิ้นส่วนต่างๆที่ใช้วัสดุวิศวกรรม

โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับวิศวกร (Computer Programming for Engineer) ความเป็นมาของคอมพิวเตอร์ โครงสร้างโปรแกรม แผนภูมิ ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณ เช่น ฟอร์แทรน ปาสคาล วิชวลเบสิค

แนะนำวิชาชีพวิศวกรรม (Introduction to Engineering) ประวัติวิศวกรรมศาสตร์ วิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์ แนวทางการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรม การคำนวณทางวิศวกรรม วิชาพื้นฐานของวิศวกรรมศาสตร์ การสื่อความหมายทางวิศวกรรม จรรยาบรรณทางวิชาชีพวิศวกรรม

สถิตยศาสตร์วิศวกรรม (Engineering Statics) ระบบแรง ผลรวมของแรง ความสมดุล ของไหลสถิตย์ คิเนติกส์และคิเนเมติกส์ของอนุภาคและวัตถุ กฏการเคลื่อนที่ของนิวตัน ความฝืด หลักการของวิธีงานสมมุติ ความมั่นคง โมเมนต์ของการเคลื่อนที่

กำลังวัสดุ 1 (Strength of Materials 1) หน่วยแรงและความเครียด คุณสมบัติกลของวัสดุ หน่วยแรงดัดและหน่วยแรงเฉือนในคาน คานประกอบและคานคอนกรีตเสริมเหล็ก หน่วยแรงบิด หน่วยแรงหลัก หน่วยแรงผสมและวงกลมโมร์ พลังงานความเครียดกับการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของโครงสร้าง รอยต่อแบบหมุดย้ำ สลักเกลียวและรอยเชื่อม

กำลังวัสดุ 2 (Strength of Materials II) การโก่งตัวของเสารับน้ำหนักตรงศูนย์ เสารับน้ำหนักเยื้องศูนย์ ชิ้นส่วนรับแรงดึงและแรงดัด คานโค้ง คานต่อเนื่องกับทฤษฎีไตรโมเมนต์ คานบนฐานยืดหยุ่น การบิดของชิ้นส่วนหน้าตัดไม่กลม การบิดของท่อผนังบางหน่วยแรงในภาชนะรับแรงดันผนังบาง ความเข้มของหน่วยแรง แรงกระแทกและแรงกระทำซ้ำ ทฤษฎีการวิบัติ

คณิตศาสตร์ประยุกต์สำหรับวิศวกรโยธา (Applied Mathematics for Civil Engineering) อนุกรมเทเลอร์ อนุกรมฟูเรียร์ ปัญหาค่าขอบเขตในเรื่องคานและคานเสา ปัญหาค่าเริ่มต้น เมตริกซ์ และ ดีเทอร์มินัน ระบบของสมการเชิงเส้น ปัญหาค่าไอเกนในเรื่องการโก่งเดาะ

การสำรวจ 1 (Surveying I) หลักการพื้นฐานของการสำรวจ เครื่องมือในการสำรวจ การทดสอบและปรับแก้เครื่องมือ การวัดและความคลาดเคลื่อน ความละเอียดและความถูกต้อง การวัดระยะทาง โต๊ะแผนที่ การทำระดับ การสำรวจด้วยเข็มทิศ การวัดมุมด้วยกล้องธีโอโดไลท์ การทำวงรอบ การหาพื้นที่สเตเดียและการสำรวจด้วยสเตเดีย

การสำรวจ 2 (Surveying II) การทำโครงข่ายสามเหลี่ยมเบื้องต้น เส้นชั้นความสูง การคำนวณงานดิน การแบ่งชั้นงานสำรวจและการปรับแก้ การหาอาซิมมุทอย่างละเอียด การสำรวจด้วยกล้องธีโอโดไลท์แบบอิเล็กทรอนิกส์ การสำรวจเส้นทาง การสำรวจงานก่อสร้าง การทำแผนที่

การฝึกงานสำรวจภาคสนาม (Practical Training in Surveying) การฝึกงานสำรวจภาคสนาม งานรังวัด/สำรวจพื้นที่ การสร้างหมุดควบคุมทางราบและทางดิ่ง การจัดทำขอบเขตพื้นที่สำรวจ การเก็บรายละเอียดบนพื้นที่ การจัดทำแผนที่ภูมิประเทศ การคำนวณหาปริมาณงานเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางวิศวกรรม การจัดทำรายงานและเอกสารการสำรวจ

ธรณีวิทยาวิศวกรรม (Engineering Geology) โครงสร้างและลักษณะของผิวโลก แร่ หินและดิน การผุพัง การกัดกร่อน การเคลื่อนที่ของมวล การทับถม การก่อตัวของดิน แผ่นดินไหว ชั้นน้ำบาดาล ธรณีกาล แผนที่ภูมิประเทศ แผนที่ธรณีวิทยา การสำรวจทางธรณีวิทยาในงานวิศวกรรมโยธา

วิศวกรรมชลศาสตร์ (Hydraulics Engineering) การจำแนกการไหลทางชลศาสตร์ หลักการพื้นฐานของการไหลซึ่งได้แก่ กฎแห่งการไม่สูญหายของมวล หลักการทางพลังงาน และหลักการทางโมเมนตั้ม การไหลในท่อและอุโมงค์ปิด การไหลในทางน้ำเปิด การไหลในทางน้ำเปิดที่เปลี่ยนขนาด การไหลผ่านจุดบังคับน้ำ การไหลในสภาพไม่คงตัว การเคลื่อนที่ของคลื่น การเคลื่อนที่ของตะกอน

ปฏิบัติการวิศวกรรมชลศาสตร์ (Hydraulics Engineering Laboratory) การทดลองในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชา วิศวกรรมชลศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจทฤษฎีและพฤติกรรมทางชลศาสตร์ได้ดีขึ้น

การเขียนแบบวิศวกรรม 2 (Engineering Drawing II) พื้นฐานการเขียนแบบด้วย CAD ระบบ 2 มิติ และ 3 มิติ การเขียนรูปเรขาคณิต รูปทรงต้น รูปทรงพื้นผิว รูปตัด ตัวอักษร มิติการเขียนแบบก่อสร้าง การพิมพ์แบบ

ทฤษฎีโครงสร้าง (Structural Theory) เสถียรภาพและสถานภาพการหาคำตอบของโครงสร้าง การวิเคราะห์คานโครงข้อหมุนและโครงข้อแข็งแบบหาคำตอบได้โดยง่าย เส้นอิทธิพลของคาน ระบบพื้นคานและโครงข้อหมุนสะพานแบบหาคำตอบได้โดยง่าย การคำนวณค่าวิกฤตสำหรับน้ำหนักเคลื่อนที่และการเสียรูปแบบยืดหยุ่นของโครง สร้างโดยวิธีงานสมมุติ วิธีของคาสติเกลียโน วิธีโมเมนต์-พื้นที่ และวิธีคานเสมือน

การวิเคราะห์โครงสร้าง (Structural Analysis) การวิเคราะห์คาน โครงข้อหมุนและโครงข้อแข็งแบบไม่สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยสมการสมดุลตามลำพัง โดยอาศัยหลักการพลังงาน ได้แก่วิธีความโก่ง ความชัน และวิธีการกระจายโมเมนต์ เส้นอินฟลูเอ็นซ์สำหรับโครงสร้างแบบไม่สามารถวิเคราะห์ได้ด้วยสมการสมดุลตาม ลำพัง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิเคราะห์เชิงพลาสติก และวิธีวิเคราะห์โครงสร้างโดยใช้เมตริกซ์

ปฏิบัติการวิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering Laboratory) การวัดความเครียดโดยใช้ตัววัดความเครียดแบบเชิงกล แสง และไฟฟ้าโฟโตอีลาสติกซิตี้ การทดสอบคานคอนกรีตเสริมเหล็ก คานคอนกรีตอัดแรงคานเหล็กและเสา การทดสอบโครงเหล็กและโครงข้อหมุนจำลอง

กลศาสตร์ดิน (Soil Mechanics) กำเนิดของดิน คุณสมบัติทางฟิสิคส์ของดิน การจำแนกดิน การสำรวจดิน การไหลของน้ำในดิน ความเค้นในดิน กำลังเฉือนของดินเม็ดหยาบ กำลังเฉือนของดินเม็ดละเอียด ทฤษฎีการอัดตัว การทรุดตัว การบดอัดดิน

ปฏิบัติการกลศาสตร์ดิน (Soil Mechanics Laboratory) การเก็บและเตรียมตัวอย่างดิน การหาความถ่วงจำเพาะ การวิเคราะห์ขนาดเม็ดดินโดยตะแกรงและไฮโดรมิเตอร์ พิกัดแอทเทอร์เบิร์ค การทดลองหาความซึมผ่านได้ การทดลองการอัดตัวในทิศทางเดียว การทดลองหากำลังเฉือนโดยตรง การทดลองกดอัดทางเดียว การทดลองกดอัดสามทาง

วิศวกรรมฐานราก (Foundation Engineering) การสำรวจดิน การวิเคราะห์หากำลังรับน้ำหนักบรรทุกและการทรุดตัวของฐานราก ฐานรากตื้นและฐานรากหยั่งลึก แรงดันด้านข้างของดิน การออกแบบฐานรากตื้น การออกแบบฐานรากเสาเข็ม การออกแบบกำแพงกั้นดินและเข็มพืด เสถียรภาพของคันดิน

อุทกวิทยา (Hydrology) ระบบและกระบวนการทางอุทกวิทยา วัฏจักรของน้ำ การหมุนเวียนของบรรยากาศและการตกของน้ำลงสู่ผิวโลก การวิเคราะห์ข้อมูลน้ำฝน คุณสมบัติและลักษณะของฝน การสูญหายทางอุทกวิทยา ลักษณะทางอุทกวิทยาและการไหลของน้ำใต้ผิวดิน น้ำท่าและชลภาพ การหาการเคลื่อนที่ของน้ำ การทำนายทางอุทกวิทยา การออกแบบทางอุทกวิทยา การสร้างแบบจำลองและการจำลองสภาพทางอุทกวิทยา

วิศวกรรมการประปาและสุขาภิบาล (Water supply and Sanitary Engineering) ระบบประปาและระบบน้ำเสีย ปริมาณน้ำใช้และน้ำทิ้งในชุมชน แหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน ระบบท่อประปาและท่อน้ำทิ้งในชุมชน คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ ลักษณะของน้ำเสีย หลักเบื้องต้นของการผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย

วิศวกรรมการทาง (Highway Engineering) ระบบทางกลวง องค์กรและสมาคมที่เกี่ยวข้อง การวางแผนและประเมินทางหลวง ลักษณะของผู้ใช้ถนน ยวดยาน การจราจร และถนน การออกแบบทางเรขาคณิต การระบายน้ำ วิศวกรรมการจราจรเบื้องตัน วัสดุการทาง การออกแบบผิวจราจรเบื้องต้น วิธีการก่อสร้าง การบำรุงรักษาและปรับปรุงทางหลวง

ปฏิบัติการวิศวกรรมการทาง (Highway Engineering Laboratory) การวิเคราะห์วัสดุมวลคละ การทดสอบแอสฟัลท์ซีเมนต์ – อิมัลซิฟายด์ และคัทแบคแอสฟัลท์ การทดสอบแอสฟัลติกคอนกรีต

การฝึกงาน (Practical Training) นักศึกษาแต่ละคนจะต้องผ่านการฝึกงานในสถานที่ฝึกงานอยู่ไม่น้อยกว่า 30 วันทำการ การฝึกงานจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจัดหาฝึกงานของคณะวิศวกรรม ศาสตร์ และนักศึกษาจะต้องส่งบันทึกรายงานการฝึกงานเพื่อประกอบการประเมินผลด้วย

ระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์สำหรับวิศวกร (Geographic Information System for Engineers) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์(GIS) ระบบคอมพิวเตอร์สำหรับ GIS ซอฟแวร์สำหรับGIS ฐานข้อมูลและ การจัดการระบบฐานข้อมูลการเก็บรวบรวมข้อมูล การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการแสดงผลข้อมูลในเชิงภูมิศาสตร์พร้อมคำอธิบายที่เกี่ยวข้องเพื่อวัตถุ ประสงค์ต่างๆ

การออกแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (Reinforced Concrete Design) ส่วนต่าง ๆ ของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กและการคิดน้ำหนัก การออกแบบส่วนต่าง ๆ ของอาคารโดยวิธีหน่วยแรงปลอดภัย และวิธีแรงประลัย ได้แก่ คาน พื้นทางเดียว พื้นสองทาง พื้นไร้คาน บันได เสารับน้ำหนักตรงศูนย์และเยื้องศูนย์ ฐานราก ทฤษฎีเส้นคลากเบื้องต้น

การออกแบบโครงสร้างเหล็กและไม้ (Steel and Timber Design) คุณสมบัติเชิงกลและเชิงกายภาพของโครงสร้างเหล็กและไม้ การออกแบบชิ้นส่วนรับแรงดัด แรงดึง แรงอัดและแรงผสม การออกแบบรอยต่อโครงสร้างเหล็ก รอยต่อโครงสร้างไม้ คานเหล็กประกอบ โครงข้อหมุนเหล็กและคานไม้อัด

การออกแบบคอนกรีตอัดแรง (Prestressed Concrete Design) หลักการ วิธีการ และวัสดุที่ใช้ในการอัดแรง การวิเคราะห์และออกแบบโดยวิธีอิลาสติกสำหรับคานคอนกรีตอัดแรงแบบง่าย กำลังดัดและกำลังเฉือนของหน้าตัดคอนกรีตอัดแรง ปริมาณสูญเสียของการอัดแรง การออกแบบที่ยึด การโก่งคานแบบผสม

การออกแบบอาคาร (Building Design) การวางฝังและการออกแบบอาคารอุตสาหกรรมชั้นเดียว อาคารหลายชั้นและอาคารสูง โดยพิจารณาถึงการออกแบบระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสุขาภิบาลและระบบเครื่องกลในอาคาร

วิธีการทางคอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์โครงสร้าง (Computer Method of Structural Analysis) วิธีเฟลกซิบิลิตี วิธีสติฟเนส วิธีไดเร็คสติฟเนส โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการวิเคราะห์โครงสร้าง

การออกแบบโครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว (Seismic Design of Structures) เปลือกโลก สาเหตุของแผ่นดินไหว องค์ประกอบของโครงสร้าง ระบบพื้นประเภทแข็งหรืออ่อน องค์ประกอบรับแรงแนวดิ่ง ระบบโครงสร้างกำแพงรับแรงเฉือน โครงยึด โครงข้อแข็งที่มีความเหนียว ความเหนียวของโครงสร้าง รายละเอียดของโครงสร้าง

ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของโครงสร้าง (Structural Safety and Reliability) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของโครงสร้าง ทบทวนทฤษฎีความน่าจะเป็น การแจกแจงชนิดที่ใช้กันโดยสามัญ ทฤษฎีความน่าเชื่อถือ การจำลองตัวแปรร่วมในงานวิศวกรรมโยธา การจำลองน้ำหนักบรรทุก ความต้านทานและการตอบสนองของโครงสร้าง วิธีวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ วิธีคำตอบถูกต้อง วิธีคำตอบประมาณ ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์สำหรับวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือมาตรฐานอาคารในปัจจุบัน และการจัดทำมาตรฐานโดยอาศัยทฤษฎีความน่าจะเป็น

วัสดุก่อสร้าง (Construction Materials) ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มวลคละในคอนกรีต น้ำและ สารผสมเพิ่มสำหรับคอนกรีต คุณสมบัติของคอนกรีตสดและคอนกรีตที่แข็งตัวแล้ว การบ่ม การออกแบบ ส่วนผสมของคอนกรีต ชนิดและคุณสมบัติของเหล็กโครงสร้าง คุณสมบัติเชิงกลและเชิงกายภาพของไม้ การรักษาไม้ ไม้อัด อิฐและคอนกรีตบล็อค ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์-แอสเบสตอส พลาสติก เซรามิก ยางมะตอย และสี

ปฏิบัติการวัสดุก่อสร้าง (Construction Materials Laboratory) การทดสอบคุณสมบัติของวัสดุก่อสร้าง ซึ่งได้แก่ ซีเมนต์ : ความละเอียดและเวลาก่อตัวของซีเมนต์ มวลคละ: สารอินทรีย์เจือปน ค่าสมมูลทราย การพองตัว การกระจาย ขนาดหน่วยน้ำหนัก ความถ่วงจำเพาะ การดูดซึม ความต้านทานต่อการขัดสี คอนกรีต: ปริมาณอากาศ ความข้นเหลว โมดูลัสของความยืดหยุ่น กำลังอัด กำลังดึงและกำลังดัด โลหะ: กำลังดึง และกำลังบิดของเหล็กกล้า อลูมิเนียม เหล็กหล่อ ทองเหลือง ไม้:ความแข็ง กำลังฉีก กำลังเฉือน กำลังอัด และกำลังดัด

การจัดการและเทคนิคการก่อสร้าง (Construction Technique and Management) ขั้นตอนและเทคนิคการก่อสร้างอาคาร ถนน สะพาน เขื่อน อุโมงค์ ระบบท่อและงานสุขาภิบาล การบริหารงานก่อสร้าง การประมาณราคา การวางแผนงานก่อสร้าง การเงินและวัสดุ แรงงานและเครื่องจักร เนทเวอร์คและซีพีเอ็มเบื้องต้น การจัดองค์กร การควบคุมค่าใช้จ่าย การตรวจสอบ การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของงานก่อสร้าง

การประมาณและวิเคราะห์ราคา (Construction Cost Estimation and Analysis) หลักการประมาณราคา การประมาณอย่างหยาบ การประมาณอย่างละเอียด การประมาณอย่างต่อเนื่อง การวิเคราะห์ต้นทุนของแรงงานและเครื่องจักร การวิเคราะห์ประสิทธิผล ยุทธวิธีการประมูล วิธีการประมูลแบบ A+B

เทคโนโลยีคอนกรีต (Concrete Technology) ส่วนผสมและชนิดของคอนกรีต การเคลื่อนย้าย การหล่อ และการตรวจสอบรับคอนกรีต ข้อกำหนดมาตรฐานคุณสมบัติของคอนกรีต การออกแบบส่วนผสม การควบคุมคุณภาพคอนกรีต คอนกรีตชนิดพิเศษ สารผสมเพิ่ม การทดสอบคอนกรีตและส่วนผสม

การวางแผนโครงการ (Project Planning) กระบวนการวางแผน การกำหนดเงื่อนไขและปัญหา การวิเคราะห์หาความต้องการด้านเทคนิค ความเหมาะสมด้านการเงิน และเศรษฐศาสตร์ การทำงบประมาณต้นทุน การพิจารณาถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การตัดสินใจในกรณีมีหลายวัตถุประสงค์ การวางแผนขั้นสุดท้ายและการทำให้เป็นผล

เทคโนโลยีแอสฟัลท์ (Asphalt Technology) จุดกำเนิดและอุตสาหกรรมการผลิตแอสฟัลท์ ผิวจราจรแอสฟัลท์สำหรับยวดยาน วัสดุสำหรับผิวจราจรแอสฟัลท์ ประเภทของการก่อสร้างผิวจราจรแอสฟัลท์ คุณสมบัติและการทดสอบ ข้อกำหนด ชนิดของหิน การผสมส่วนคละ การออกแบบส่วนผสม การผลิตและการก่อสร้างคอนกรีตแอสฟัลท์ การดูแลปรับปรุงผิวบน การบำรุงรักษาผิวจราจรแบบแอสฟัลท์ การผสมร้อน การนำกลับมาใช้ใหม่

โครงสร้างดิน (Earth Structures) การใช้ดินเป็นวัสดุก่อสร้าง การบดอัดดินและคุณสมบัติของดินที่บดอัด ปัญหาเกี่ยวกับการซึมของน้ำ การวิเคราะห์เสถียรภาพของความลาด การวิเคราะห์ออกแบบและก่อสร้างทำนบดินและเขื่อนดิน

ฐานรากแบบเสาเข็มและการปรับปรุงดิน (Pile Foundation and Soil Improvement) การหากำลังรับน้ำหนักสูงสุดด้วยวิธีทางสถิตยศาสตร์และพลศาสตร์ การวิเคราะห์การทรุดตัว การออกแบบเสาเข็มรับแรงด้านข้าง การรับแรงของเสาเข็มแบบกลุ่มและเสาเข็มแพ แรงเสียดทานย้อนกลับ เสาเข็มในดินที่มีการพองตัวและหดตัว การโก่งหักของเสาเข็มทรงชะลูด การทดสอบเสาเข็ม วิธีการปรับปรุงดินโดยวิธีบดอัด การอัดแน่นโดยน้ำหนักบรรทุกที่ผิวดิน การฉีดอัดสารเพื่อการอุดแน่น การเติมสารและการเสริมกำลังรับน้ำหนักของดิน

วิศวกรรมธรณีสิ่งแวดล้อม (Geoenvironmental Engineering) ความสำคัญของทรัพยากรดินและแหล่งน้ำใต้ดินในทางวิศวกรรม แหล่งกำเนิดและชนิดของการปนเปื้อน กลไกการเคลื่อนที่ของสารปนเปื้อนในตัวกลางพรุน องค์ประกอบของระบบเก็บกักกากของเสีย หน้าที่และประเภทของวัสดุกันซึมในการควบคุมการเคลื่อนที่ของสารปนเปื้อน วัสดุกันซึมธรรมชาติและวัสดุธรณีสังเคราะห์ การติดตามและปรับปรุงคุณภาพของดินและแหล่งน้ำใต้ดิน

ชลศาสตร์ของน้ำใต้ดิน (Groundwater Hydraulics) กลศาสตร์การไหลผ่านตัวกลางพรุน กฏของดาร์ซี่ ระบบชั้นน้ำใต้ดิน สมการการไหลในระบบชั้นน้ำใต้ดิน สมการการเคลื่อนที่ของสารละลายในน้ำใต้ดิน การวิเคราะห์การไหลในสภาพอิ่มตัวด้วยน้ำ แบบการไหลการวิเคราะห์การไหลในสภาพไม่อิ่มตัวด้วยน้ำ การวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของสารละลายในน้ำใต้ดิน แบบจำลองเชิงตัวเลขของการไหลในระบบน้ำใต้ดิน

วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ (Water Resources Engineering) ทบทวนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอุทกวิทยาและชลศาสตร์ ประเภทของแหล่งน้ำและการใช้ประโยชน์ การวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ หลักการออกแบบแหล่งน้ำประเภทต่างๆ การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของระบบแหล่งน้ำ

วิศวกรรมชลประทานและการระบายน้ำ (Irrigation and Drainage Engineering) ความต้องการน้ำ ความสัมพันธ์ของน้ำและดิน คุณภาพน้ำ วิธีการชลประทาน โครงสร้างทางชลประทาน การประมาณการไหล การระบายน้ำฝนจากพื้นที่เมือง การระบายน้ำจากพื้นดิน การระบายน้ำจากถนน ท่อลอดและสะพาน

โครงสร้างทางชลศาสตร์ (Hydraulic Structures) หลักการทางชลศาสตร์ที่ใช้ในการออกแบบ การออกแบบอาคารทางชลศาสตร์ซึ่งประกอบด้วย เขื่อน ทางระบายน้ำล้นและคลองส่ง อาคารสลายพลังงาน อาคารลดระดับ ประตูน้ำ อาคารยกระดับน้ำ อาคารวัดปริมาณการไหลแบบต่าง ๆ และระบบการส่งน้ำตามคลอง

การบริหารงานวิศวกรรม (Engineering Management) การบริหารจัดการทางวิศวกรรม (องค์ประกอบของการบริหารจัดการ) การจัดองค์กร (ทฤษฎีการจัดองค์กร) การบริหารจัดการโครงการ (รูปแบบการบริหารจัดการโครงการ) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือเพิ่มผลผลิต งบประมาณ และการประมาณการ สัญญาในงานวิศวกรรม (รูปแบบสัญญาและการเลือกใช้ความเสี่ยง และการบริหารจัดการท่ามกลางความเสี่ยง) การประกันภัย การวางแผนโครงการทางวิศวกรรม (องค์ประกอบและปัจจัยในการวางแผน) การบริหารทรัพยากร-บุคคล (การพัฒนาทักษะหรือศึกยภาพของทรัพยากรบุคคล มนุษย์สัมพันธ์ในองค์กร) สวัสดิภาพและความปลอดภัยในงานวิศวกรรม ข้อมูลข่าวสารในองค์กร (การสื่อสารในองค์กร) การติดตามความก้าวหน้า การประเมิน และควบคุมการคุมโครงการ ข้อพิพาทเรียกร้องและวิธีระงับ

วิศวกรรมการขนส่ง (Transportation Engineering) ระบบการขนส่ง การดำเนินการและการควบคุมยวดยานขนส่ง การวางแผนและการประเมินการขนส่ง การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

การออกแบบผิวจราจร (Pavement Design) ชนิดของผิวจราจร น้ำหนักล้อ หน่วยแรงในผิวจราจรแบบยืดหยุ่นและแบบแข็ง ยวดยานและการจราจร คุณสมบัติและการทดสอบส่วนประกอบของผิวจราจร การออกแบบผิวจราจรแบบยืดหยุ่นและแบบแข็งสำหรับถนนและสนามบิน การก่อสร้าง-การประเมินและการปรับปรุงผิวจราจร

วิธีการคำนวณในวิศวกรรมโยธา (Computational Methods in Civil Engineering) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการคำนวณทางวิศวกรรม การแก้ระบบสมการพีชคณิตเชิงเส้น การแก้ปัญหาย้อนกลับ ปัญหาค่าไอเกน การแก้สมการนอนลิเนียร์ วิธีการเชิงตัวเลขสำหรับการแก้สมการดิฟเฟอร์เรนเชียลแบบธรรมดาและแบบพา ร์เชี่ยล

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางวิศวกรรมโยธา (Computer Softwares in Civil Engineering) ทบทวนความรู้เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ศึกษาโปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์ออกแบบทางวิศวกรรมโยธา เช่น การวิเคราะห์โครงสร้าง การออกแบบโครงสร้าง การวิเคราะห์ทางอุทกวิทยาและชลศาสตร์ การจัดการงานก่อสร้าง การสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

งานโครงการวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering Project) ศึกษาผลงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้องานโครงการที่เลือกขึ้น โดยความเห็นชอบของอาจารย์ที่ปรึกษา เค้าโครงงานโครงการที่จัดทำขึ้นซึ่งประกอบด้วยวัตถุประสงค์ วิธีการและแผนงาน โดยจะต้องนำเสนอโดยการสอบปากเปล่าก่อนการดำเนินการโครงการเพื่อการประเมิน แนวความคิด

การสัมมนาทางวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering Seminar) ศึกษา ค้นคว้า และอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับหัวข้อทางวิชาการในปัจจุบันที่น่า สนใจ ตลอดจนการฟังคำบรรยายจากวิทยากรพิเศษ

หัวข้อศึกษาชั้นสูงทางวิศวกรรมโยธา (Advanced Study Topics in Civil Engineering) ศึกษาหัวข้อที่น่าสนใจในปัจจุบันเกี่ยวกับวิทยาการใหม่ๆ ด้านวิศวกรรมโยธาที่จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและการประกอบวิชาชีพ

*ทั้งนี้รายวิชาในข้างต้นบางรายวิชาอาจจะไม่มีการเรียนการสอน ขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละสถาบันการศึกษา

ที่มา autocadscale.igetweb.com 

อัพเดทล่าสุด