เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทานโดยศัพท์ทั่วไปหรือภาษาในโรงงานจะเรียกกันว่า “จป.” ไม่ใช่ จปล และไม่ใช่ รปภ.
วิศวกรรมความปลอดภัย
จป. คือใคร? ทำไมต้องมี จป.? |
จป. หรือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน...เป็นตำแหน่งที่ต้องแต่งตั้งตามกฎหมาย1) ซึ่งจะหมายความถึง “ลูกจ้างซึ่งนายจ้างแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยใน การทำงานระดับหัวหน้างาน ระดับบริหาร ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ” กฎหมายนี้..คือ... กฎกระทรวง เรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549 กำหนดไว้ในข้อที่ 2
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทานโดยศัพท์ทั่วไปหรือภาษาในโรงงานจะเรียกกันว่า “จป.” ไม่ใช่ จปล และไม่ใช่ รปภ. หน้าที่คนละอย่างกัน ถ้าเป็น รปภ. หรือภาษาชาวบ้านเรียก “ยาม” จะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับบริษัท หรือโรงงาน โดยเน้นที่ความปลอดภัยของทรัพย์สิน แต่ “จป.” ไม่ใช่
จป. จะ ทำหน้าที่ในด้าน...ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีคำว่าความปลอดภัยเหมือนกัน แต่...คนละภัย...มีแหล่งกำหนดของภัยต่างกัน...จึงมีความหมายแตกต่างกัน
ต่างกันอย่างไร...ที่แตกต่างกันเพราะความหมายของความว่า “ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” นั้นจะหมายถึง1) การกระทำ หรือสภาพการทำงาน ซึ่งปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดการประสบอันตราย การเจ็บป่วย หรือความเดือดร้อนอันเนื่องจากการทำงาน หรือเกี่ยวกับการทำงาน นั่นคือดูแลผู้ที่ทำงานทุกคน ไม่ให้เจ็บป่วย เป็นโรคจากการทำงาน หรือได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานเน้นไปที่คน...ไม่ใช่โบกรถ...หรือแลกบัตร ไม่ใช่การเน้นไปที่ทรัพย์สินดังนั้นจึงแตกต่างจาก รปภ. โดยชื่อของงานที่รับผิดชอบก็ให้ความหมายอยู่แล้วโดยเฉพาะคำว่า “อาชีวอนามัย” ซึ่งจะมาจากคำว่า “อาชีวะ” ไม่ใช่ อาชีวะ ที่เอาชีวิต แต่เป็นอาชีวะที่หมายถึง “อาชีพ หรือการเลี้ยงชีวิตหรือการทำมาหากิน” มารวมกับคำว่า “อนามัย” ที่หมายถึง “สุขภาพ หรือความไม่มีโรค” เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วก็จะหมายถึง การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่เกิดโรคและอุบัติเหตุจากการทำงาน ดังนั้นหน้าที่ของ จป. คือการควบคุม ดูและให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่เกิดโรคและอุบัติเหตุจากการทำงาน สิ่งนี้เป็นหน้าที่โดยย่อ หน้าที่โดยละเอียดจะอธิบายในลำดับถัดไป
แต่ อย่างไรก็ตามตำแหน่ง จป. นี้...เป็นตำแหน่งงานตามกฎหมาย เพราะกฎหมายกำหนดว่านายจ้าง ต้องแต่งตั้งหรือ จ้าง จป. ไว้ที่บริษัทตามที่กฎหมายบังคับไว้1) แสดง ว่าที่บริษัทต้องมี จป. ตามกฎหมาย แต่ไม่ได้บอกว่าบริษัทอย่างเดียว กฎหมายใช้คำว่า สถานประกอบกิจการ ซึ่งหมายความรวมไปหมดทั้งบริษัท โรงงาน โรงแรม โรงพยาบาล สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ก็ต้องจ้าง จป.
ด้วยเหตุนี้...นายจ้าง จึงงานเข้า...และ จป.จึงได้เข้างาน...
ตำแหน่งงานตามกฎหมาย หมายความว่าอย่างไร?...
คือ ตำแหน่งที่กฎหมายกำหนดให้มี...หรือตำแหน่งที่กฎหมายบังคับว่าบริษัท หรือโรงงานต้องมี...ถ้าไม่มีย่อมมีโทษแน่นอน...เพราะบังคับแล้ว...เหมือนกับ ที่บังคับให้รัดเข็มขัดนิรภัยเมื่อขับรถยนต์ หรือให้สวมหมวกกันน๊อคเมื่อขับขี่รถมอเตอไซค์...มีจับ...มีปรับแน่นอน...
มีตำแหน่งอะไรบ้างที่กฎหมายบังคับ?...วิศวกรใช่หรือไม่? ผู้ จัดการฝ่ายวิศวกรรม ผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ผู้จัดการฝ่ายผลิต หรือผู้จัดการฝ่ายบัญชี การเงิน คำตอบคือ...ไม่ใช่...ตำแหน่งที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีเป็นตำแหน่งงานที่ เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงาน ตำแหน่งงานด้านสิ่งแวดล้อม และตำแหน่งทางการบริหารสถานประกอบกิจการ 3 กลุ่ม...
กลุ่ม แรกเป็นตำแหน่งเจ้าของกิจการ หรือบริหารกิจการ จะเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งนิติบุคล กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด หรือถ้าเป็นบริษัทเอกชนก็จะเป็นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะกล่าวถึงตำแหน่งกรรมการบริษัท ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่การเริ่มต้นตั้งบริษัท จนถึงปิดบริษัท ถ้าสนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
กลุ่ม ที่สองตำแหน่งงานที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมี...คือ บุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน ทั้งตำแหน่งผู้จัดการสิ่งแวดล้อม ผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษ และผู้ปฏิบัติงานประจำเครื่องป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ2,3 หรือผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน (ผชร. หรือ ผชอ.)4 ในที่นี้จะไม่อธิบายละเอียด...เพราะไม่ใช่ประเด็นของเรื่องที่จะอธิบาย...แต่ได้ให้เอกสารอ้างอิงไว้เพื่อศึกษาเพิ่มเติมหากสนใจ
กลุ่ม ที่สามเป็นตำแหน่งของผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในการทำงาน อาทิเช่น ตำแหน่ง ผู้รับผิดชอบความปลอดภัยการเก็บรักษาวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับ ผิดชอบ5,6 หรือตำแหน่ง ผู้ควบคุมประจำหม้อน้ำ หรือวิศวกรควบคุมและอำนวยการใช้หม้อน้ำ 7
แต่ตำแหน่งที่มีจำนวนความต้องการ...อย่างมาก...คำว่าอย่างมากคือต้องมีประจำในแต่กิจการ นั่นคือ จป.หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานนั่นเอง
กฎหมาย ที่บังคับ..คือ... กฎกระทรวง เรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549 กำหนดไว้ใน...
ข้อที่ 7 ว่าต้องมี จป.ระดับหัวหน้างาน และ ข้อที่ 10 ว่าต้องมี จป.ระดับเทคนิค หรือ ข้อที่ 13 ว่าต้องมี จป.ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือ ข้อที่ 16 ต้องมี จป.ระดับวิชาชีพ และต้องมี จป.บริหารตามข้อที่ 19 ของกฎกระทรวง...
เนื่อง จากตำแหน่ง จป. มีหลายระดับ ถ้าเปรียบเทียบตำแหน่งกับแผนกขาย (สมมติว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งจะเป็นแผนก หรือฝ่ายหรืออะไรก็ได้ แต่ในที่นี่จะสมมติว่าเป็นแผนก...) ในแผนกขายจะมีหลายตำแหน่งทั้งผู้จัดการ รองผู้จัดการ หัวหน้าทีม พนักงานขาย ในทำนองเดียวกัน จป.ก็มีหลายระดับคือ ระดับบริหาร ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ แต่ละระดับก็มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ก็เช่นเดียวกันกับแผนกอื่นๆ ในรายละเอียดของแผนกอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อม และบทบาทหน้าที่ของ จป. แต่ละระดับจะอธิบายในลำดับถัดไปๆ
กฎกระทรวงกำหนดว่า จป.มี 5 ระดับ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกบริษัท หรือทุกโรงงาน หรือทุกสถานประกอบกิจการต้องมี จป.ทั้ง 5 ระดับ...ถ้าแบ่งงานของ จป.ก็จะได้เป็น 3 ประเภท คือ
(1) ประเภทที่หนึ่ง คือ งานผู้บริหาร ผู้ทำหน้าที่ก็คือ จป.ระดับบริหาร
(2) ประเภทที่สอง คือ งานควบคุมการปฏิบัติงาน ซึ่งมีหัวหน้างานทำหน้าที่ จป.ระดับหัวหน้างาน
(3) ประเภท ที่สาม คือ งานวิชาการ หรือวิชาชีพเฉพาะ โดยมีสามระดับคือ ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ โดยสามระดับนี้จะทำงานในระดับความเสี่ยงและความรุนแรงที่แตกต่างกันตามความ สามารถทางวิชาการและความชำนาญ นั่นหมายความว่าถ้าสถานประกอบกิจการมีความเสี่ยงและความรุนแรงน้อยก็จัดให้ มี จป.ระดับเทคนิคก็เพียงพอ ถ้าเสี่ยงมากขึ้น ก็เป็น ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ ตามลำดับ
ดังนั้น จป. ในบริษัท หรือโรงงาน จะต้องมีอย่างน้อยสองกลุ่ม คือต้องมี ระดับบริหาร และระดับหัวหน้างาน แล้วกิจการประเภทอะไรบ้างที่ต้องมี จป.ระดับเทคนิค หรือเทคนิคขั้นสูง หรือวิชาชีพ เลือกเองไม่ได้...กฎหมายกำหนดไว้แล้ว สถานประกอบกิจการ ประเภทใด ขนาดเท่าไร ต้องมี จป.ระดับไหน...กฎกระทรวงกำหนดไว้สามกลุ่มสถานประกอบกิจการดังต่อไปนี้
กลุ่มกิจการที่หนึ่ง การทำเหมืองแร่ เหมืองหิน การปิโตรเลียม หรือปิโตรเคมี ถึงแม้ว่าจะมีลูกจ้างเพียง 2 คน (หรือสองคนขึ้นไป) ก็ต้องมี จป.บริหาร, จป.หัวหน้างาน และ จป.วิชาชีพ
กลุ่มกิจการที่สอง กิจการผลิต ก่อสร้าง ขนส่ง สถานีบริการหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซ
ถ้ามีลูกจ้างตั้งแต่ 2-19 คน ต้องมี จป.บริหารและจป.หัวหน้างาน หรือ
ถ้ามีลูกจ้างตั้งแต่ 20-49 คน ต้องมี จป.บริหาร จป.หัวหน้างาน และจป.เทคนิค หรือ
ถ้ามีลูกจ้างตั้งแต่ 50-99 คน ต้องมี จป.บริหาร จป.หัวหน้างาน และจป.เทคนิคขั้นสูง หรือ
ถ้ามีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องมี จป.บริหาร จป.หัวหน้างาน และจป.วิชาชีพ
กลุ่ม กิจการที่สาม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล สถานบันทางการเงิน สถานตรวจสอบทดสอบทางกายภาพ สถานบันเทิง นันทนาการ หรือการกีฬา สถานปฏิบัติการทางเคมีหรือชีวภาพ สำนักงานที่ปฏิบัติงานสนับสนุนสถานประกอบกิจการทุกกิจการที่กล่าวมาทั้งหมด และกิจการอื่นๆ ที่จะประกาศเพิ่มเติมในอนาคต ถ้ามีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ต้องมี จป.บริหารและจป.หัวหน้างาน
จากประเด็นคำถามที่ว่าจำเป็นต้องมี จป ทุกโรงงาน ทุกบริษัท หรือไม่? สรุป คำตอบคือ กำหนดว่าต้องมี จป.ตามประเภทของกิจการ ให้ดูว่าเป็นกิจการอะไร และมีจำนวนลูกจ้างเท่าไร ตอบแบบฟันธง ทันทีไม่ได้ต้องเอาข้อมูลประเภทกิจการ และจำนวนลูกจ้างมาพิจารณาแล้วค่อยฟันธงว่าต้องมี จป.หรือไม่ ถ้ามีต้องมี จป.ระดับไหน...
กฎหมายบังคับเมื่อไหร่...ถ้าไม่ทำตามจะผิดหรือไม่?
กฎหมาย ได้ประกาศใช้..และบังคับมานานมากแล้ว ฉบับปัจจุบันคือกฎกระทรวง เรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549 ก่อนหน้านี้คือ ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2540 เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มี ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2528 ...แต่ อาจจะเป็นการบังคับใช้ที่ยังไม่เป็นผลมากนัก เนื่องจากหลายสาเหตุทั้งจำนวนบุคลากรภาครัฐที่จำกัด ข้อจำกัดทางด้านเทคนิควิชาการและข้อจำกัดด้านจำนวน จป.ที่ยังขาดแคลน หรือจิตสำนึกของนายจ้างและลูกจ้างที่ยังขาดแคลนเช่นกัน ผลก็เลยยังเกิดโรคและอุบัติเหตุจากการทำงานปีละเป็นแสนคนนานเป็นสิบกว่าปีมา แล้ว...
ถ้า ไม่ทำตามจะผิดมั๊ย...ผิดแน่นอน...ให้ดูตามกฎกระทรวง เรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549 แล้วจะเห็นว่าเป็นกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 6 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้ สังเกตให้ดีว่าเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉะนั้นก็ต้องคุ้มครองแรงงาน...บังคับนายจ้างแน่นอน...ถ้าไม่ปฏิบัติ ตาม...โทษตามความหนักเบาของความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ (เลือกเองไม่ได้ปรับมากปรับน้อย จำคุกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความผิด)...บทลงโทษนี้กำหนดไว้ในมาตรา 144, 146, 148 และ 154 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับปี 2541 และ ฉบับ พ.ศ.2551 (ฉบับ ที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปีที่แล้วนี่เอง)
แล้ว...จะแต่งตั้งใครเป็น...จป....? ใครเป็น จป ได้บ้าง? คุณสมบัติของ จป คืออะไร?
การ จะแต่งตั้งใครดี...จะแต่งตั้งใครก็ได้...ไม่ได้...ต้องดูคุณสมบัติตามที่ กฎหมายกำหนดไว้ด้วย...ให้ดูที่กฎกระทรวง เรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549...ได้กำหนดคุณสมบัติของ จป.แต่ละระดับไว้ดังนี้
จป.ระดับหัวหน้างาน ข้อที่ 8 ของกฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติ ของ จป.ระดับหัวหน้างานว่า...ต้อง...เป็นลูกจ้างระดับหัวหน้างาน และ (1) ผ่านการฝึกอบรม หลักสูตร จป.ระดับหัวหน้างาน เป็นหลักสูตรตามกฎหมายปี 2549 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงด้วย...หรือ (2) ถ้า ปัจจุบันนี้เป็น จป.ระดับห้วหน้างาน หรือในอดีตเคยเป็น จป.ระดับหัวหน้างาน...ก็ได้ ถึงจะเป็นตามกฎหมายเก่าก็ตาม (ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2540...กว่า ปี 2549)
จป.ระดับเทคนิคข้อที่ 11 ของกฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติ ของ จป.เทคนิคว่า...ต้อง (1) เรียนจบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัย ตรงๆ หรือเทียบเท่าก็ได้ หรือ (2) เป็น จป.หัวหน้างาน แล้วไปผ่านการอบรม หลักสูตร จป.เทคนิค ก็ได้... (3) เป็น จป.ระดับพื้นฐาน ตามกฎหมายฉบับเก่า ก็ได้...
จป.ระดับเทคนิคขั้นสูง ข้อที่ 14 ของกฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติ ของ จป.เทคนิคขั้นสูงว่า...ต้อง...(1) เรียนจบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัย ตรงๆ หรือเทียบเท่าก็ได้ หรือ (2) จบ ไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูง อนุปริญญา หรือเทียบเท่า แต่ต้องไปอบรมหลักสูตร จป.เทคนิคขั้นสูงก่อน...หรือ (3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่า ม.6 หรือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือเทียบเท่า ต้องมีคุณสมบัติเพิ่มอีกสองอย่างคือมีและด้วย...สองและ หนึ่งคือต้องทำงานเป็น จป.เทคนิค หรือ จป.ระดับพื้นฐานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และสองต้องผ่านการอบรม หลักสูตร จป.เทคนิคขั้นสูงด้วย
จป.ระดับวิชาชีพ ข้อที่ 17 ของกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ ของ จป.วิชาชีพว่า...ต้อง.มีอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้คือ..(1) เรียนจบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัย ตรงๆ หรือเทียบเท่าก็ได้ หรือ (2) จบปริญญาตรี แล้วเป็น จป.เทคนิคขั้นสูงมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีและต้องผ่านการอบรมหลักสูตร จป. หรือไม่งั้นก็ต้อง (3) เป็นหรือเคยเป็น จป.วิชาชีพ ตามกฎหมายฉบับเก่า แล้วไปอบรมหลักสูตร จป.วิชาชีพ เพิ่มเติมอีก 42 ชั่วโมง จึงจะเป็น จป.วิชาชีพตามกฎหมายใหม่
จป.ระดับบริหาร ข้อที่ 20 ของกฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติ ของ จป.ระดับบริหารว่า...ต้อง... เป็นลูกจ้างระดับบริหาร และ (1) ผ่านการอบรมหลักสูตร จป.บริหาร หรือถ้าไม่ผ่านหลักสูตร จป.ระดับบริหารตามกฎหมายใหม่นี้ (ฉบับปี 2549) ก็ได้แต่ต้อง (2) เป็นหรือเคยเป็น จป. ระดับบริหาร ตามกฎหมายฉบับเดิม (ฉบับปี 2540) นั่นคือเมื่อเปลี่ยนกฎหมายใหม่ (ฉบับปี 2549) ก็ให้เป็นได้ตามกฎหมายฉบับเดิมได้
สรุปคุณสมบัติ คือ ผ่านการอบรม หรือจบตรงๆ...
ปัจจุบัน นี้ มีผู้จัดอบรมหลักสูตร จป. บริหาร, จป.หัวหน้างาน, จป.เทคนิค จป.เทคนิคขั้นสูง และจป. วิชาชีพ จำนวนมากทั้งภาครัฐ และเอกชน หาดูได้จาก เวปไซต์ต่างๆ แต่ที่เน้นคือ ต้องเป็นหลักสูตรที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดอบรมเอง8) หรือหน่วยงานอื่นที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน..ถือว่ากรมรับรอง...อบรมได้ 9) ให้ดูให้ดี..มีใบอนุญาตหรือไม่...เพราะหน่วยงานที่จะจัดอบรมได้ก็ต้องมี คุณภาพ ผู้ที่จะเป็นวิทยากรก็ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม การจัดการสอน การประเมินผล การทดสอบ และการรับรองผลการฝึกอบรม ก็ต้องมีลำดับขั้นตอนที่เป็นมาตรฐาน สิ่งเหล่านี้ถูกควบคุมตามกฎหมายทั้งหมด 9) และแม้แต่เนื้อหาวิชาการเอง จะสอนจะเรียนหัวข้อวิชาอะไรบ้าง 10)...นานกี่ชั่วโมง 8)...กฎหมายก็กำหนดไว้...เช่น หลักสูตรจป.วิชาชีพ กำหนดไว้ว่าให้มีระยะเวลาอบรมไม่น้อยกว่า 42 ชั่วโมง แต่เป็นการอบรมเพิ่มเติม...อีก 42 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรม จป.วิชาชีพ ตามกฎหมายฉบับเก่าเท่านั้น11) ไม่ มีการผลิตเพิ่ม (นั่นคือจำกัดให้มี “จป.วิชาชีพอบรม” เพียงเท่านี้...แต่ไม่ได้หมายความว่า จป.วิชาชีพอบรม...ดี...หรือไม่ดี...เก่งหรือไม่เก่ง) โดยให้มาอบรมเพิ่มเติม ภายใน พ.ศ. 2553 หลัง จากนั้นก็จะไม่มีการจัดอบรม (ไม่มาก็หมดสิทธ์) คราวนี้ จป.วิชาชีพ ก็ที่จะมี เพิ่มขึ้น ก็จะมีเฉพาะที่จบมาโดยตรงเท่านั้น...แต่เป็นข้อสังเกตว่าตำแหน่งนี้ปัจจุบัน ยังขาดแคลนอีกมาก และอาจจะยังขาดแคลนอีกนาน...เหมือนแพทย์ และพยาบาล...ไม่เพียงพอสักที!
คุณสมบัติ ที่สอง เป็นการเรียน จป.วิชาชีพ โดยตรง นั้นหลักสูตรที่ต้องการ คือ ปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัย ตรงๆ กับสาขาอื่นที่เทียบเท่า ใช้คำว่าเทียบเท่าตามกฎหมาย...ไม่ได้หมายความว่า...สาขาอะไรดีกว่า หรือเก่งกว่ากัน...ต้องอธิบายเดี๋ยวจะมีคำถาม...ให้บาดหมางใจ ถ้าจะเรียนที่ไหนก็ให้พิจารณาดูว่าอะไรที่เป็นหลักฐานบอกว่าหลักสูตรนี้ใช้ ได้...ให้แสดงให้ดู...ก่อนเรียน !
สถาบันที่เปิดสอนมีประมาณ 20 แห่ง จำนวนนี้เป็นการประมาณการรวมสถาบันที่อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินขออนุมัติ หลักสูตร มีทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ ทั้งที่เรียน 4 ปี และหลักสูตร ต่อเนื่อง 2 ปี ความเชี่ยวชาญของสถาบันก็ต้องพิจารณาดูกันไป...
หลักสูตรปริญญาโท หรือเอกจะไม่พูดถึงเพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องจบ...กำหนดไว้เพียงว่าไม่ต่ำกว่า...ปริญญาตรี
การหาคำตอบให้ลองพิจารณาดูจาก...สถิติการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำแนกตามความรุนแรง ปี พ.ศ. 2545-2550 ตามตารางข้างล่างนี้
ปี | ความรุนแรง | รวม | เงินทดแทน (ล้านบาท) | ||||
ตาย | ทุพพลภาพ | สูญเสียอวัยวะ | หยุดงาน > 3 วัน | หยุดงาน < 3 วัน | |||
2545 | 650 | 14 | 3,424 | 48,077 | 137,879 | 190,979 | 1,220.14 |
2546 | 787 | 17 | 3,821 | 52,364 | 153,684 | 210,673 | 1,480.36 |
2547 | 861 | 23 | 3,775 | 52,893 | 157,982 | 215,534 | 1,490.19 |
2548 | 1,444 | 19 | 3,425 | 53,641 | 155,706 | 214,234 | 1,638.37 |
2549 | 807 | 21 | 3,342 | 51,962 | 148,125 | 204,257 | 1,684.23 |
2550 | 741 | 16 | 3,259 | 50,525 | 144,111 | 198,652 | 1,734.90 |
ที่มา: สำนักกองทุนทดแทน สำนักงานประกันสังคม
ข้อมูลที่เห็นใน ปี 2548 ที่มีการตายจำนวน มากผิดปกติ กว่าปีอื่นๆ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากภัยซึนามิ ไม่ ใช่ภาวะปกติปีนี้พิเศษ... แต่อย่างไรก็ตามการพิการเป็นสิบ ตายเป็นร้อย สูญเสียอวัยวะเป็นพัน หยุดงานเป็นแสน จ่ายเงินทดแทนเป็นพันล้าน ในแต่ละปี ก็ไม่ใช่เรื่องปกติที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีการจ่ายชดเชย...
จ่าย เท่าไร...กับหนึ่งชีวิต...หลายน้ำตา...ถึงจะคุ้ม...ไม่มีคำตอบที่แน่ นอน...อยู่ที่ว่าใครจะเป็นคนตายและใครจะเป็นคนตอบ...การตอบคำถามแทนผู้อื่น เป็นเรื่องไม่ยากนัก แต่คนที่รับผลจากการตอบ ไม่ทราบว่ารับได้หรือไม่ การ ปล่อยให้แต่ละบริษัท แก้ไขปัญหากันเองตามความสมัครใจ ตามความสามารถ ไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลาเท่าไร วัดใจกันยาก...ถ้าเป็นเรื่องธุรกิจมีผลประโยชน์ ไม่บังคับไม่ทำ...ถ้าไม่ได้ประโยชน์ที่เห็นอย่างชัดเจนตรงๆ และทันที...ขึ้นกับจิตสำนึกอย่างเดียว
แล้วจะ รอให้นายจ้างเกิดสำนึกเองไม่แน่ใจว่าคนทำงานจะรอไหวหรือเปล่า...จะมี จิตสำนึกก่อนหรือจะเกิดอุบัติเหตุก่อน... ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา และการแก้อย่างเป็นระบบ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด...แต่การกำหนดวิธีการป้องกันและแก้ไขที่เป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียมกัน จะใช้วิธีการอะไร?... เท่าที่จะทำได้ ก็เป็นการออกมาเป็นกฎหมาย...เพื่อใช้บังคับให้เท่าเทียมกัน สำหรับคนจำนวนมากที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม...โดยเฉพาะสังคมอุตสาหกรรม
1)กฎกระทรวง เรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2549
2)ประกาศกระ ทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำหนดชนิดและขนาดโรงงาน กำหนดวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดคุณสมบัติของผู้ควบคุม ผู้ปฏิบัติงานประจำ และหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนผู้ควบคุมสำหรับระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ พ.ศ. 2545
3)ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง คุณสมบัติของบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน การฝึกอบรมและการสอบมาตรฐาน พ.ศ.2547
4)พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535
5)ประกาศกรม โรงงานอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการแจ้งมีบุคลากรเฉพาะ การจดทะเบียนบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบความปลอดภัยการเก็บรักษาวัตถุอันตรายที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ และการรายงานความปลอดภัยการเก็บรักษาวัตถุอันตราย พ.ศ.2551
6)ประกาศกระ ทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดให้สถานประกอบการวัตถุอันตรายมีบุคคลากรเฉพาะรับผิดชอบความปลอดภัยการ เก็บรักษาวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ พ.ศ.2551
7)ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำ และหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน พ.ศ.2549
8)ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (18 สิงหาคม พ.ศ.2551)
9)ระเบียบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความ ปลอดภัยในการทำงาน และการดำเนินการฝึกอบรม พ.ศ.2549
10)ระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยหลักสูตร การอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน พ.ศ.2549
11)ประกาศกระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยความปลอดภัยในการทำงานในการทำงานของลูกจ้าง ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2540
บทความจาก: นายธีมา ไชยบุตร
ทำไมประเทศไทย ต้องมี จป.? ...ทำไม? กฎหมายต้องกำหนดให้มี จป. เพราะอะไร?
จำเป็นต้องมี จป ทุกโรงงาน ทุกบริษัท หรือไม่?
ที่มา autocadscale.igetweb.com