เรื่องน่ารู้ วิศวกรรมโยธา เรียนอะไรบ้าง วิชาอะไรบ้าง


1,328 ผู้ชม

รายวิชาและเนื้อหาทางด้านวิศวกรรมโยธา ที่นักศึกษาวิศวกรรมโยธาจำเป็นต้องเรียนรู้


รายวิชาและเนื้อหาทางด้านวิศวกรรมโยธา ที่นักศึกษาวิศวกรรมโยธาจำเป็นต้องเรียนรู้

รายวิชาและเนื้อหาของรายวิชาทางด้านวิศวกรรมโยธา

การสำรวจ (Surveying)

บทนำเกี่ยวกับงานสำรวจ พื้นฐานงานระดับภาคสนาม หลักการและการประยุกต์ของกล้องระดับและวัดมุม การวัดระยะทางและทิศทาง ความคลาดเคลื่อนในงานสำรวจ การยอมรับค่าความคลาดเคลื่อน การปรับแก้ข้อมูล วงรอบสามเหลี่ยม การกำหนดที่แน่นอนของแอสซีมัธระบบพิกัดระนาบที่เที่ยงตรง ระดับที่แน่นอน รังวัดภูมิประเทศ การเขียนแผนที่เส้นชั้นความสูงการหาประมาณดินขุด ดินถม และการประยุกต์

คอนกรีตเทคโนโลยี (Concrete Technology)

วัสดุซีเมนต์ หิน ทราย น้ำ การออกแบบส่วนผสม การควบคุมคุณภาพ การทดสอบการรับแรงดึง แรงอัด ส่วนผสมของคอนกรีต ชนิด การเคลื่อนย้าย การเก็บ การทดสอบยอมรับข้อกำหนดมาตรฐาน คุณสมบัติของคอนกรีต การออกแบบส่วนผสม การควบคุมคุณภาพคอนกรีต คอนกรีตชนิดพิเศษ สารผสมเพิ่ม การทดสอบคอนกรีตและส่วนผสม

เศรษฐศาสตร์วิศวกรรมสำหรับวิศวกรโยธา (Engineering Economics for Civil Engineer)

วิธีการเปรียบเทียบ ค่าของเงิน ค่าเสื่อมราคา การประเมินค่า การหาอัตราผลการตอบแทน การทดแทนทรัพย์สิน ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน การประมาณค่าผลสืบเนื่องของภาษีเงินได้ การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน การวิเคราะห์ความไวต่อการเปลี่ยนแปลง ศึกษาการวิเคราะห์โครงการงานด้านวิศวกรรมโยธา

ชลศาสตร์ (Hydraulics)

คุณสมบัติของของไหล สถิตยศาสตร์ของของไหล หลักพลังงานและโมเมนตัมในการไหลแบบคงตัว แรงไดนามิกส์ในการไหล การวิเคราะห์ปริมาตรควบคุม การไหลในท่อ การไหลในทางน้ำเปิด การไหลแบบคงตัว การไหลแบบสม่ำเสมอและไม่สม่ำเสมอ การออกแบบทางน้ำเปิด หน้าข้างการไหล การวิเคราะห์มิติและความคล้ายคลึง เครื่องจักรกล กังหัน การวัดการไหล

วิศวกรรมสำรวจ (Surveying Engineering)

ลักษณะภูมิประเทศ ชนิดของกล้องวางแนวพร้อมส่วนประกอบ การปรับแก้กล้องวางแนวหลักของการวางแนว การวัดมุมราบและมุมดิ่ง การทำวงรอบโดยกล้องวางแนว การคำนวณและการปรับแก้วงรอบ เส้นชั้นระดับ การเขียนเส้นชั้นระดับ การทำวงรอบโดยวิธีสเตเดีย การสำรวจงานทาง ชนิดของโค้งแนวราบ ส่วนประกอบโค้งแนวราบ วิธีการวางโค้งแนวราบ วิธีการโค้งก้นหอยและการยกระดับขอบทาง การทำสโลปสเต็ก โค้งแนวดิ่ง ส่วนประกอบโค้งแนวดิ่งระยะการมองเห็น การคำนวณพื้นที่และปริมาตรของหน้าตัดการขุดและถมดิน การคำนวณงานดินเพื่อการประมาณเบื้องต้น และในการก่อสร้างจริง การสำรวจเพื่อการก่อสร้าง การสำรวจโดยใช้ดาวเทียม

วิศวกรรมธรณี (Geology Engineering)

ธรณีวิทยาทั่วไปเกี่ยวกับวิศวกรรมโยธา แร่ประกอบหินที่พบโดยทั่วไป ลักษณะและการกำเนิดหินโดยทั่วไป ลักษณะพื้นผิวของเปลือกโลก ธรณีวิทยาของแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำและที่ตั้งเขื่อนกั้นน้ำ การควบคุมการกัดเซาะและน้ำท่วม การพัฒนาและปรับปรุงแม่น้ำและอ่าว องค์ประกอบทางธรณีวิทยาที่มีผลต่อการทำเหมืองหิน การขุดเจาะอุโมงค์ แผ่นดินเคลื่อน แผ่นดินทรุด ฐานของสิ่งก่อสร้างและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง

อุทกวิทยา (Hydrology)

ความรู้เบื้องต้นทางอุทกวิทยา น้ำจากอากาศ การสูญเสียชนิดต่างๆ ทางอุทกวิทยา (การซึม การระเหย ฯลฯ) น้ำท่า กราฟน้ำท่า การเดินทางของน้ำหลาก น้ำใต้ผิวดิน

การวิเคราะห์โครงสร้าง 1 (Structural Analysis 1)

การวิเคราะห์โครงสร้างเบื้องต้น แรงปฏิกิริยา แรงเฉือนและโมเมนต์ในโครงสร้างอย่างง่าย สถิตยศาสตร์ กราฟิก เส้นอิทธิพลของโครงสร้างดีเตอร์มิเนตและน้ำหนักบรรทุกจรที่มีการเคลื่อนที่ การโก่งตัวของโครงสร้างวิธีงานเสมือน วิธีพลังงานและวิธีแผนภูมิวิลลอต – โมร์ วิธีคานคอนจูเกต การวิเคราะห์อย่างประมาณ การวิเคราะห์โครงสร้างอย่างยากเบื้องต้น

การวิเคราะห์โครงสร้าง 2 (Structural Analysis 2)

การวิเคราะห์โครงสร้างประเภทอินดีเทอร์มิเนต วิธีน้ำหนักบรรทุกยืดหยุ่น วิธีสมการสามโมเมนต์ วิธีความโก่งและความชัน วิธีการกระจายโมเมนต์ หลักการพลังงาน เส้นอิทธิพลของโครงสร้างอย่างยาก คานต่อเนื่อง โครงข้อหมุนและโครงข้อแข็ง วิธีเสาอุปมาน ความรู้เบื้องต้นทางการวิเคราะห์แบบพลาสติก ความรู้เบื้องต้นวิธีวิเคราะห์โครงสร้างโดยใช้เมตริก การวิเคราะห์โครงสร้างด้วยวิธีไฟไนต์เอลเลเมนต์เบื้องต้น

ปฏิบัติการทดสอบวัสดุ (Material Testing Lab)

ศึกษาพฤติกรรมและการทดสอบวัสดุที่ใช้ในงานวิศวกรรมโยธาโดยทั่วไป เช่น เหล็ก ไม้ อิฐ เหล็กหล่อ และคอนกรีต เป็นต้น

ปฐพีกลศาสตร์ (Soil Mechanics)

กำเนิดของดิน การจำแนกประเภทของดิน การสำรวจดิน การไหลของน้ำในดิน หน่วยแรงในมวลดิน หน่วยแรง – หน่วยเครียดและแรงเฉือนของดินเม็ดหยาบ คุณสมบัติทางด้านแรงเฉือนของดินเม็ดละเอียด การทรุดตัว ทฤษฎีการอัดตัว การบดอัดดิน ทฤษฎีความสามารถในการรับน้ำหนักของดิน

การออกแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (Reinforced Concrete Design)

พฤติกรรมในโครงถัก แรงผลักดัน แรงดัด แรงบิด แรงเฉือน แรงยึดเหนี่ยว และการถ่ายเทระหว่างแรง การออกแบบคานคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยวิธีหน่วยแรงใช้งานและวิธีกำลัง การออกแบบองค์อาคารของระบบโครงสร้างคือ แผ่นพื้น คาน เสา บันไดและฐานราก และปฏิบัติการออกแบบ

วิศวกรรมการจราจร (Traffic Engineering)

องค์ประกอบทางด้านการจราจร ลักษณะและความสัมพันธ์ระหว่าง คนขับ รถยนต์ คนเดินเท้า และถนนในการจราจร การศึกษา การสำรวจปริมาณจารจร และหาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณความเร็วและความหนาแน่นของการจราจร การออกแบบและกำหนดตำแหน่งอุปกรณ์ควบคุมการจราจร เครื่องหมายจราจร ป้ายจราจร และสัญญาณไฟจราจร การควบคุมและออกแบบสัญญาณไฟในลักษณะของระบบ และการควบคุมจราจรเต็มพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ความปลอดภัยทางด้านจราจร และกฎระเบียบของการจราจรและการจัดการทางด้านจราจร

การออกแบบโครงสร้างไม้และเหล็ก (Timber and Steel Design)

การออกแบบโครงสร้างไม้และโครงสร้างเหล็ก องค์อาคารรับแรงดึงและแรงอัดคาน และองค์อาคารรับแรงดัด แรงในแนวแกนองค์อาคารประกอบ คานประกอบการต่อและรอยต่อขององค์อาคารไม้และองค์อาคารเหล็ก ปฏิบัติการออกแบบ และศึกษาการออกแบบโครงสร้างเหล็กโดยวิธีพลาสติกเบื้องต้น

วิศวกรรมสุขาภิบาลและการประปา (Sanitary Engineering and Water Supply)

แหล่งน้ำ มาตรฐานน้ำดื่ม ความต้องการใช้น้ำ การประปาโดยใช้น้ำใต้ดิน การส่งและกระจายน้ำ การออกแบบระบบประปาในอาคาร การบำบัดน้ำเสีย เช่น การดัดขยะโดยตะแกรง การตกตะกอน การกรอง การลดโลหะหนักในน้ำการกำจัดรสและกลิ่นในน้ำ เป็นต้น การออกแบบระบบระบายน้ำในชุมชน การออกแบบระบบระบายน้ำเสียแบะน้ำฝนในอาคาร

เครื่องจักรกลงานก่อสร้าง (Construction Equipments)

เครื่องจักรอุปกรณ์การก่อสร้างอาคาร งานถนน งานเชื่อม รถบรรทุก สายพานลำเลียง รถขุดตักประเภทต่างๆ ปั้นจั่น เครื่องผสมคอนกรีต การเลือกเครื่องจักรและการคิดต้นทุน

เทคนิคการก่อสร้าง 1 (Construction Technique 1)

เทคนิควิธีการก่อสร้างอาคารและถนน การวางแผนงานการปักผัง การจัดงานสนาม งานคอนกรีต งานไม้ งานก่อ งานฉาบ งานเชื่อม การเลือกใช้วัสดุและเครื่องจักรเครื่องมือ การก่อสร้างอาคารสูงและงานใต้ดิน

เทคนิคการก่อสร้าง 2 (Construction Technique 2)

เทคนิควิธีการก่อสร้างอาคารพิเศษ สะพาน สนามบิน การก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินสำหรับรถยนต์ รถไฟ อุโมงค์ส่งน้ำ อุโมงค์สำหรับบริการสิ่งสาธารณูปโภค อุโมงค์น้ำเสีย การก่อสร้างไซโลและถังเก็บกักต่างๆ งานก่อสร้างใต้ดินลึก วิธีการสร้างลงล่างและสร้างขึ้นบน การใช้ระบบชิ้นส่วนสำเร็จและชิ้นส่วนย่อย

วิศวกรรมการทาง (Highway Engineering)

ความเป็นมาของการพัฒนาทางด้านถนนและทางหลวง องค์กรบริหารทางด้านถนนและทางหลวง การออกแบบด้วยเรขาคณิตและวิธีดำเนินการ ถนนในตัวเมืองและชนบท การศึกษาวิเคราะห์ปริมาณยวดยานของถนน เทคนิคการก่อสร้างถนนและเครื่องมืออุปกรณ์ในการก่อสร้างวัสดุที่ใช้ในการก่อ สร้างถนน โครงสร้างถนน การออกแบบผิวทางชนิดยืดหยุ่นและชนิดแข็งการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้าน เศรษฐศาสตร์ของถนน การวางแผนและศึกษาความต้องการในระยะยาว

การออกแบบฐานราก (Foundation Design)

การประยุกต์หลักการปฐพีกลศาสตร์กับปัญหาทางวิศวกรรมฐานราก การตรวจสอบสถานที่ก่อสร้าง ความสามารถในการรับแรงของมวลดิน การออกแบบฐานรากระดับตื้นและฐานรากเสาเข็ม การกระจายหน่วยแรงในมวลดิน การวิเคราะห์การทรุดตัว แรงดันด้านข้าง การออกแบบกำแพงดิน เสถียรภาพความลาด

การบริหารงานก่อสร้าง (Construction Management)

ศึกษาระบบการนำส่งโครงการ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง หลักการบริหารงาน องค์กรโครงการก่อสร้าง การวางผังหน่วยงาน การศึกษาความเป็นไปได้ด้วย CPM และ PERT การจัดการทรัพยากร การวัดและประเมินผลความก้าวหน้า ความปลอดภัยในการก่อสร้าง ระบบคุณภาพ เครื่องมือวางแผนและควบคุม เป็นต้น

การประมาณและวิเคราะห์ราคา (Construction Cost Estimation and Analysis)

หลักการประมาณราคา การประมาณอย่างหยาบ การประมาณอย่างละเอียด การประมาณอย่างต่อเนื่อง การวิเคราะห์ต้นทุนของแรงงานและเครื่องจักร การวิเคราะห์ประสิทธิผลยุทธวิธีการประมูล

การออกแบบนั่งร้านและแบบหล่อคอนกรีต (Concrete Formwork and Scaffolding Design)

ศึกษาชนิดและคุณสมบัติของนั่งร้านและแบบหล่อคอนกรีต วัสดุที่ใช้ทำแบบหล่อไม้ ไม้อัด เหล็ก และอื่นๆ การออกแบบชิ้นส่วนต่างๆของแบบหล่อที่ใช้หล่อพื้นและอื่นๆ แบบหล่อที่ใช้ในการออกแบบนั่งร้าน ไม้ค้ำยัน นั่งร้านแขวง นั่งร้านสำเร็จรูป ความปลอดภัยในการก่อสร้างและบำรุงรักษานั่งร้าน วิธีปฏิบัติงาน

การออกแบบโครงสร้างอาคารสูง (Tall Building Structures Design)

วิธีการออกแบบอาคารสูง น้ำหนักบรรทุก รูปแบบโครงสร้าง การจำลองการวิเคราะห์การออกแบบค้ำยันโครงข้อแข็ง โครงสร้างข้อแข็งแกร่ง โครงสร้างแบบตัดส่วนโค้งข้อแข็งแบบกำแพงรับแรงเฉือน โครงสร้างแบบ Tubular และ Core การหาเสถียรภาพของอาคาร การวิเคราะห์แบบพลศาสตร์และผลกระทบต่ออาคารสูงในด้านต่างๆ เช่น การคืบ การหดตัว และอุณหภูมิ เป็นต้น

การออกแบบคอนกรีตอัดแรง (Prestressed Concrete Design)

มโนทัศน์การอัดแรง คุณสมบัติของวัสดุที่เกี่ยวข้อง ระบบการอัดแรง การลดเลี่ยงการอัดแรง การวิเคราะห์และการออกแบบหน้าตัด แรงเฉือน การยึดเหนี่ยวและการแบกทาน แคมเบอร์และการโก่งตัว องค์อาคารรับแรงอัดและแรงดึง

การออกแบบสะพาน (Bridge Design)

ทฤษฎีการกระจายน้ำหนักบรรทุกและการประยุกต์ สะพานจุดรองรับแบบธรรมดา ซึ่งก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เหล็กกล้าและคอนกรีตอัดแรงสะพานแบบอินดีเตอร์มิเนต วิธีน้ำหนักประลัย เศรษฐศาสตร์ในงานสะพาน

การประมูลและสัญญาการก่อสร้าง (Construction Contract and Bidding)

ศึกษาวิธีการประมูลการก่อสร้าง การวางแผนและข้อกำหนดสำหรับการประมูลโครงการก่อสร้าง สัญญาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ในการก่อสร้างและการทำสัญญาก่อสร้าง

ความปลอดภัยและกฎหมายการก่อสร้าง (Safety and Construction Law)

ศึกษาหลักการความปลอดภัย การจัดการบริหารองค์กรงานความปลอดภัย พฤติกรรมมนุษย์และการจูงใจ วิธีการเสนอความคิดให้เกิดการจัดตั้งระบบความปลอดภัยในงานก่อสร้างการตรวจ สอบวิเคราะห์ และการประเมินค่าความเสียหายจากอุบัติภัย กฎหมายแรงงาน กฎหมายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยงานวิศวกรรมโยธา (Computer Application in Civil Engineering)

การประยุกต์ใช้ Software ที่เกี่ยวข้องกับงานทางวิศวกรรมโยธา การใช้คอมพิวเตอร์สำหรับการออกแบบโครงสร้าง วางแผนก่อสร้าง การทำแผนที่เชิงภาพ การวางแผนการแก้ปัญหาการจราจร การประยุกต์ใช้ Word Processor และ CAD

วิศวกรรมการขนส่ง (Transportation Engineering)

ลักษณะและคุณสมบัติของระบบการขนส่ง ทางถนน ทางรถไฟ ทางอากาศ ทางน้ำ ทางสายพาน และการขนส่งทางท่อ การศึกษาและการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวของระบบการขนส่ง การวางแผนระบบการขนส่งในภูมิภาคและในตัวเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างการขนส่งกับการพัฒนาพื้นที่ และการเติบโตของตัวเมือง ลักษณะความต้องการในการใช้บริการการวิเคราะห์และทำนายความต้องการในการเดิน ทาง และการกำหนดเส้นทางสำหรับการเดินทางการวางแนวทาง กำหนดรูปแบบระบบการขนส่ง

วิศวกรรมชลศาสตร์ (Hydraulics Engineering)

การประยุกต์และการวิเคราะห์หลักการของการไหลในท่อมาใช้ในงานทางวิศวกรรม ชลศาสตร์ เช่น ระบบท่อ การเกิดค้อนน้ำ เครื่องสูบน้ำและกังหัน เป็นต้น การวิเคราะห์การไหลในทางน้ำเปิดทั้งการไหลแบบคงตัวและไม่คงตัว การวิเคราะห์การตกตะกอนในทางน้ำ การออกแบบอาคารชลศาสตร์ เช่น อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ทางน้ำล้น ท่อลอดถนน เป็นต้น แบบจำลองทางชลศาสตร์

การออกแบบโครงสร้างคอนกรีต (Structural Concrete Design)

ออกแบบระบบโครงสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยวิธีกำลัง ระบบแผ่นพื้น แผ่นพื้นไร้คาน โครงข้อแข็ง ออกแบบเสารับแรงในลักษณะต่างๆ กำแพงรับแรงเฉือน โครงสร้างรับแรงดึง โครงสร้างคอนกรีตใต้ดิน

พลศาสตร์ปฐพีเบื้องต้น (Basic Soil Dynamics)

ศึกษาพลศาสตร์ปฐพีเบื้องต้น ธรรมชาติและแหล่งกำเนิดของน้ำหนักบรรทุก การสั่นสะเทือนมูลฐาน คลื่นในตัวกลางยืดหยุ่น คุณสมบัติของมวลดินที่รับแรงสั่นสะเทือน การสั่นของฐานราก ความสามารถในการรับแรงแผ่นดินไหวของฐานรากตื้น แผ่นดินไหวและชั้นสั่นสะเทือน แรงดันดินด้านข้างในกำแพงกันดิน การยุบอัดตัวของดินภายใต้แรงสั่นสะเทือนสภาวะทรายดูดในมวลดิน อุปกรณ์ฐานรากบนเสาเข็ม ความมั่นคงของคันดินในสภาวะแผ่นดินไหว เป็นต้น

การวางผังบริเวณ (Site Planning)

หลักการและกระบวนการออกแบบวางผังบริเวณ องค์ประกอบในการเลือกและวิเคราะห์บริเวณออกแบบ ได้แก่ ลักษณะพื้นที่ อาทิเช่น ความลาด ลักษณะของดิน พืชพันธุ์ ลักษณะการระบายน้ำ เป็นต้น ระบบการสัญจร ปัญหาเรื่องแสง เสียงและฝุ่น อิทธิพลของดินฟ้าอากาศ สิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปการ เทคนิคและข้อคิดในการวางผังบริเวณประเภทต่างๆ ที่จำเป็นในการวางผัง เช่น ขนาดถนน ทางเดินเท้า ระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งหลักการและเทคนิคของการสำรวจ

วัสดุวิศวกรรม (Engineering Material)

วัสดุโลหะ พลาสติก แอสฟัลต์ ไม้และคอนกรีตในด้านวิศวกรรม แผนภูมิสมดุล วัฎภาคและการแปลความหมาย การทดสอบและความหมายของคุณสมบัติต่างๆ การศึกษาโครงสร้างมหภาคและจุลภาคซึ่งสัมพันธ์กับคุณสมบัติต่างๆ ของวัสดุวิศวกรรม กระบวนการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุวิศวกรรม

กลศาสตร์วิศวกรรม 1 (Engineering Mechanics 1)

ระบบแรง ผลลัพธ์ สมดุล การประยุกต์กับโครงสร้างและเครื่องจักรกล การหาจุดศูนย์กลาง คาน กลศาสตร์ของไหล แรงเสียดทาน งานเสมือน เสถียรภาพ โมเมนต์ความเฉื่อยของพื้นที่

กำลังวัสดุ 1 (Strength of Materials 1)

แรงและหน่วยแรง ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยแรงกับหน่วยเครียด ชิ้นส่วนเชิงประกอบหน่วยแรงในภาชนะผนังบาง แรงบิด แรงเฉือนและโมเมนต์ดัดในคาน หน่วยแรงในคาน การโก่งตัวของคาน การโก่งของเสาและแรงในแนวแกน วงกลมโมร์และหน่วยแรงรวม การต่อองค์อาคาร และทฤษฎีการแตกหัก

กำลังวัสดุ 2 (Strength of Materials 2)

แรงดึงและแรงดัดกระทำร่วมกันต่อวัตถุ คานต่อเนื่อง เสารับแรงโก่งเดาะในขีดยืดหยุ่นเสารับแรงดัด ความสัมพันธ์ของหน่วยแรงที่จุดหน่วยแรงหลัก การตัดไม่สมมาตร แรงกระทำซ้ำความล้าของโลหะ แรงกระทำพลศาสตร์ วิธีพลังงาน แรงที่กระทำในช่วงอินอีลาสติก หน่วยแรงที่จุดสัมผัส ทฤษฎีเชิงยืดหยุ่นและเสถียรภาพเชิงยืดหยุ่น คานโค้งและคานบนฐานรากยืดหยุ่น

การเขียนแบบวิศวกรรมสำหรับวิศวกรโยธา (Engineering Drawing for Civil Engineers)

การสเกตซ์ภาพ การเขียนตัวอักษรตัวเลขไทยและอังกฤษ การเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD) การเขียนรูปทางเรขาคณิต การเขียนภาพฉายในระนาบสองมิติ การเขียนภาพฉายสามมิติ การให้ขนาด ภาพตัด การเขียนแบบงานโครงสร้าง การเขียนแบบงานสถาปัตยกรรม การเขียนแบบระบบสุขาภิบาล การเขียนแบบระบบไฟฟ้า


หมายเหตุ : ชื่อรายวิชาอาจจะไม่ตรงกันและบางรายวิชาอาจจะไม่มีการเรียนการสอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักสูตรการศึกษาของแต่ละสถาบัน

บทความโดย : CivilClub Team

แหล่งข้อมูลโดย : ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อัพเดทล่าสุด