อาการ ของ โรค ไส้เลื่อน และ ข้อเสียโรคไส้เลื่อน


2,428 ผู้ชม


ไส้เลื่อน และ ข้อเสียโรคไส้เลื่อน
โรคไส้เลื่อน (Hernia) หมายถึง ภาวะที่ลำไส้เลื่อนออกนอกช่องท้องผ่านผนังช่องท้องที่บอบบาง ตำแหน่งที่ลำไส้จะเลื่อนออกนอกช่องท้องมีหลายแห่ง เช่น บริเวณขาหนีบ (Groin Hernia), ผนังหน้าท้อง (Abdominal Hernia), สะดือ (Umbilical Hernia), และ รอยแผลผ่าตัด(Incisional Hernia) เป็นต้น
ในท้องของเรามีลำไส้อยู่สองส่วน ส่วนแรกคือลำไส้เล็ก เป็นลำไส้ส่วนที่ต่อกับกระเพาะอาหาร ขดอยู่ตรงกลางท้อง ทำหน้าที่ย่อยอาหารต่อจากกระเพาะ อีกส่วนคือลำไส้ใหญ่ เป็นส่วนที่อยู่รอบๆลำไส้เล็ก  ทำหน้าที่เก็บอุจจาระและปล่อยออกไป ลำไส้พวกนี้จะมีเนื้อเยื่อบางๆเหมือนกระดาษ ที่ขึงลำไส้ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ที่ทางหน้าท้องจะมีเนื้อเยื่อบุผนังและกล้ามเนื้อบังลำไส้ไว้อีกที จากองค์ประกอบดังกล่าวจึงทำให้ลำไส้มีที่อยู่ประจำของมันอยู่ในช่องท้อง หากวันใดที่ลำไส้มีเหตุให้มันเปลี่ยนไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ เราก็จะเรียกมันว่า ‘ไส้เลื่อน’
ทำไมไส้ถึงเลื่อน
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนก็คือ ‘ผนังหน้าท้อง’ ขาดความแข็งแรง โดยสาเหตุต่างๆกันไป
1 ผิดปกติตั้งแต่เกิด บางคนมีช่องทางระหว่างช่องท้องกับลูกอัณฑะ(ซึ่งคนปกติจะปิดสนิท) บางคนขาดกล้ามเนื้อหน้าท้องบางตัว หรือมีความอ่อนแอของผนังหน้าท้องตั้งแต่เกิด ทั้งนี้แม้แต่จะเป็นแต่เกิด แต่อาจจะมาก่อเรื่องเมื่ออายุมากแล้วก็ได้
2 การเสื่อมลงตามอายุ พบในผู้สูงอายุ ซึ่งกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องอ่อนกำลังลง
3 อุบัติเหตุที่หน้าท้อง ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลงหรือเกิดความเสียหายต่อผนังหน้าท้อง
4 แรงดันในช่องท้องสูง การยกของหนัก ไอบ่อย มีการเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นประจำ จะทำให้แรงดันในท้องเพิ่มขึ้นและค่อยๆทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้อง มากขึ้นอย่างช้าๆ
5 หลังการผ่าตัดช่องท้อง เนื้อเยื่อที่ถูกผ่าจะขาดความยืดหยุ่นและเป็นจุดที่อ่อนแอที่สุดของหน้าท้อง หากช่วงพักฟื้นเกิดเหตุแทรกซ้อนกับแผล ก็จะทำให้เกิดไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัดได้มากขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้ถ้ามีเพียงข้อเดียวมักไม่เกิดอะไรขึ้น แต่หากเป็นพร้อมกันหลายๆข้อ ก็จะยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดไส้เลื่อนได้มากขึ้น
ชนิดของไส้เลื่อน
ถ้าแบ่งตามตำแหน่งที่ตรวจพบ จะแบ่งได้เป็น
1) ไส้เลื่อนลงอัณฑะ
2) ไส้เลื่อนผนังหน้าท้องส่วนล่าง
3) ไส้เลื่อนโคนขา
4) ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด
5) ฯลฯ ไส้เลื่อนยังมีอีกหลายชนิด แต่เจอได้น้อยกว่ามาก
การแบ่งแบบนี้ ได้ประโยชน์ในแง่ของการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ เพราะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่ายด้วยตา บางครั้งอาจจะบอกได้ถึงที่มาที่ไปของโรค และนำไปใช้ในการเลือกวิธีการในการผ่าตัด ประโยชน์อีกแง่หนึ่งก็คือบอกให้รู้ได้ว่า ไส้เลื่อนไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะกับผู้ชาย และไม่จำเป็นต้องลงไข่
อาการของไส้เลื่อน
อาการในสายตาของแพทย์มีสองกลุ่มคือแบบหนักกับแบบเบา
แบบเบาๆ ก็คือ พบก้อนเคลื่อนเข้าออก หรือพบก้อนที่ค้างตุงไม่เลื่อนไปมา อาจจะไม่ปวดเลยหรือปวดมากก็ได้
แบบหนักๆ ก็อาการเหมือนกลุ่มเบาๆ แต่ว่ามีอาการของลำไส้อุดตันหรือพบการอักเสบของลำไส้และช่องท้อง โดยมากมักพบในกลุ่มที่ก้อนเลื่อนมาแล้วไม่กลับเข้าที่และมีอาการปวด
ทั้งสองกลุ่มนี้ ตัดกันด้วยเรื่องอาการลำไส้อุดตันหรือการอักเสบในช่องท้องครับ การที่แบ่งเป็นสองกลุ่มนี้ก็เพื่อเลือกว่าจะต้องผ่าตัดในทันทีเลยหรือไม่ หรือยังรอได้ ส่วนขนาดหรือลักษณะไม่ได้เป็นตัวตัดสิน เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่แล้วในก้อนไส้เลื่อนที่เห็นตุงๆ ไม่ใช่ไส้ แต่เป็นพังผืดโอเมนตัม Omentum เลื่อนลงมาปิด ซึ่งไส้เลื่อนที่เกิดจากพวกนี้มักไม่ก่ออันตราย ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดในทันที
การรักษาไส้เลื่อน
1 ผ่าตัดไส้เลื่อน ความจริงผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อน ถ้าเป็นไปได้ควรจะผ่าตัด โดยเฉพาะในรายที่ไส้มีการเลื่อนเข้าเลื่อนออก(เพราะพวกนี้ถ้าวันไหนเลื่อน เข้าแล้วไม่ออก มักเกิดเรื่อง) เมื่อผ่าไปแล้ว แพทย์ก็จะทำการตัดและเย็บปิดช่องทางที่ผิดปกติและใช้เทคนิกการผ่าตัดเพื่อ เสริมความแข็งแรงให้บริเวณนั้น หรืออาจจะใส่วัตถุสังเคราะห์รูปตาข่ายไปพยุงส่วนนั้นให้แข็งแรง
2 ดันไส้เลื่อนกลับ ในบางรายที่มารพ.ด้วยก้อนมีขนาดโตขึ้นและเจ็บปวด ในเบื้องต้นแพทย์จะให้ยาลดปวดและจัดท่าเพื่อดันไส้เลื่อนให้กลับเข้าไป
3 รอต่อไป ในผู้ป่วยบางรายมีโรคประจำตัวหรือสภาวะร่างกายที่ไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัด หรือเสี่ยงเกิดที่จะผ่าตัดไหว ก็จะไม่ได้รับการผ่าตัด แต่ก็จะมีการแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อลดการเป็นหรือลดการเกิดอาการ
แล้วจะทำอย่างไรขณะรอผ่าตัดไส้เลื่อน
การป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำในช่วงที่รอ ผ่าตัดไส้เลื่อนเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่เราพอจะป้องกันได้ทั้งในรายที่เป็นแล้วและในรายที่ยังไม่เป็นก็คือ การลดความดันในช่องท้องจากการกระทำต่างๆ คือ
1 อย่าไอ – ในที่นี้คือไม่ไปรับสิ่งที่เสี่ยงต่อการไอ เช่น หยุดการสูบบุหรี่ อย่าให้เป็นหวัด ถ้าไอควรจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ
2 อย่ายกของหนัก – การยกของหนักจะทำให้เกิดการเบ่ง และเกิดไส้เลื่อนซ้ำได้
3 อย่าเบ่งอุจจาระ – ก็คือควรกินอาหารที่มีกากใยเพื่อช่วยในการระบาย เพราะหากท้องผูกจนต้องเบ่งอุจจาระ ก็สามารถเกิดไส้เลื่อนซ้ำได้
4 อย่าเบ่งปัสสาวะ – ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นต่อมลูกหมากโตหรืออายุมาก อาจจะต้องเบ่งปัสสาวะบ่อย ทางแก้คือไปพบแพทย์ในเรื่องดังกล่าวเพื่อตรวจและรับการรักษาเพื่อให้ถ่าย ปัสสาวะคล่องขึ้น
การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบมาตรฐาน
การผ่าตัดแบบมาตรฐานมีหลักการที่จะ เข้าไปผูกตัดถุงไส้เลื่อนที่ยื่นออกมา จากนั้นก็ทำการเย็บซ่อมผนังหน้าท้องส่วนที่อ่อนแอให้แข็งแรงขึ้น เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ การเย็บซ่อมอาจใช้การเย็บดึงเนื้อเยื่อข้างเคียงเข้าหากัน ซึ่งวิธีนี้ทำได้ง่าย แต่เนื้อเยื่อที่ถูกเย็บเข้ามาหากันจะตึงมาก ผู้ป่วยมักมีความเจ็บปวดหลังผ่าตัด กลับไปทำงาน เดินตัวตรงตามปกติได้ช้า และเนื้อเยื่อที่ถูกเย็บอาจตึงมากและฉีกออกจากกัน ผนังหน้าท้องกลับมาอ่อนแอเหมือนเดิม แนวโน้มในปัจจุบันนิยมการเย็บซ่อมโดยไม่เกิดแรงตึงมากกว่า ซึ่งอาจใช้แผ่นตะแกรงสังเคราะห์ หรือการเย็บถักด้วยไหมเย็บ หลังผ่าตัดผู้ป่วยมักมีความเจ็บปวดน้อยกว่า กลับไปทำงาน เดินได้ตามปกติได้เร็ว วิธีหลังนี้มีข้อเสียตรงที่มีการใส่วัสดุแปลกปลอมเข้าในร่างกาย จึงมักต้องให้ยาปฏิชีวนะกันการติดเชื้อ และมีค่าใช้จ่ายเรื่องวัสดุสังเคราะห์หากเลือกใช้แผลผ่าตัดเป็นแผลแนวขาหนีบ ยาวประมาณ 4-5 cm.
การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบใช้กล้องส่อง
เป็นการผ่าตัดเพื่อทำการซ่อมผนังหน้า ท้องด้วยกล้องส่อง โดยมากจะใช้แผลขนาดเล็ก 3 แผล โดยแผลที่สะดือที่จะใส่กล้องยาว 1 cm. และแผลที่ใส่เครื่องมือยาว 0.5 cm. จากนั้นก็ทำการเลาะด้านหลังของผนังช่องท้อง ซึ่งจะมองเห็นรูไส้เลื่อนจากทางด้านหลังได้อย่างชัดเจน แล้วใช้แผ่นตะแกรงสังเคราะห์ปูคลุมกล้ามเนื้อ ตรึงด้วยหมุดเย็บ 3-4 ตัว เป็นอันเสร็จ วิธีนี้มีข้อเสียตรงที่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง และศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญ ต้องใช้วัสดุสังเคราะห์และยังต้องรอดูผลชัดเจนในระยะยาว จึงมักยังทำได้ไม่แพร่หลาย และเลือกใช้ในรายที่เป็นทั้งสองข้าง หรือในรายที่เป็นซ้ำหลังการทำผ่าตัดแบบมาตรฐาน ปัจจุบัน เริ่มมีการทำในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนข้างเดียว ที่ไม่เคยผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยต้องการการรักษาวิธีนี้
พักฟื้นหลังผ่าตัดไส้เลื่อน
ผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดแบบใช้กล้องส่อง หรือผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยไร้ความ ตึง จะใช้เวลาพักฟื้นสั้น โดยมากมักอยู่โรงพยาบาล 2-3 วัน จากนั้นก็กลับบ้านไปทำงานได้ ผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดแบบมาตรฐานและใช้วิธีที่เย็บเนื้อเยื่อเข้าหากันจะอยู่ โรงพยาบาลนานกว่าเล็กน้อย และมักจะกลับไปพักที่บ้านอีก 5-7 วันก่อนจะกลับไปทำงานได้ ทั้งสองวิธี แพทย์มักแนะนำให้งดการยกของหนัก ออกกำลังกายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 อาทิตย์ ต้องไม่ลืมที่จะรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นปัจจัยชักนำด้วย
ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดไส้เลื่อน
พบได้บ้าง ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่น การมีลิ่มเลือดบริเวณใต้แผลผ่าตัด ซึ่งเกิดจากเลือดออกจากหลอดเลือดเล็ก ๆ ขณะทำการเลาะเนื้อเยื่อ, การติดเชื้อของแผลผ่าตัด, การบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ท่อนำน้ำเชื้ออสุจิ, เส้นประสาทขนาดเล็กที่มารับความรู้สึกจากผิวหนัง ซึ่งทำให้มีการเจ็บแปลบหรือชา เป็นต้น
ไส้เลื่อนผ่าแล้วเป็นอีก ได้หรือไม่
หลังการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนขาหนีบ ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกทั้งข้างเดิม และเป็นใหม่อีกข้างหนึ่ง สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นซ้ำในข้างเดิมมีหลายอย่างได้แก่ การผ่าตัดที่ทำได้ไม่ถูกต้องตามเทคนิค, การรักษาไม่ได้ครอบคลุมการรักษา ปัจจัยชักนำหรือกำจัดปัจจัยชักนำไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยไม่หยุดสูบบุหรี่ ท้องผูกต้องเบ่งเป็นประจำ ไม่ได้ทำการรักษาต่อมลูกหมากโต เป็นต้น นอกจากนี้เนื้อเยื่อที่ไม่แข็งแรงของผู้ป่วยก็เป็นปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะผู้ ป่วยสูงอายุ
โดยมากหากการผ่าตัดไส้เลื่อนครั้งแรก เป็นแบบมาตรฐาน การผ่าตัดแก้ไขโดยใช้การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องก็จะมีข้อได้เปรียบ เพราะการผ่าตัดไส้เลื่อนครั้งแรกที่เลาะเข้าทางด้านหน้าจะทำให้มีเนื้อเยื่อ พังผืด จำนวนมาก ตัดเลาะซ้ำลำบาก การส่องกล้องเข้าจากด้านในผนังช่องท้อง จะไม่มีพังผืดมาบดบังทำให้ทำผ่าตัดแก้ไขได้แม่นยำและต้องไม่ลืมรักษาปัจจัย ชักนำด้วย จึงจะป้องกันการเป็นซ้ำอีกได้ดีที่สุด
All Information From website, search keyword ‘ไส้เลื่อน’ from google
ที่มา mynoz.wordpress.com

อัพเดทล่าสุด