ทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory) กับความไร้ระบบระเบียบของสถานการณ์บ้านเมือง


839 ผู้ชม

การที่ปัจจัยทางการเมืองถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศ เสถียรภาพทางการเมืองจึงมีความสำคัญ เนื่องจากหากประเทศใดมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงต่อเนื่องปราศจาก สงคราม จะส่งผลให้นักธุรกิจ นักลงทุนเกิดความมั่นใจ


ทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory)

การที่ปัจจัยทางการเมือง ถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เสถียรภาพทางการเมืองจึงมีความสำคัญเนื่องจากหากประเทศใดมีเสถียรภาพทางการ เมืองที่มั่นคงต่อเนื่องปราศจากสงคราม จะส่งผลให้นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เกิดความมั่นใจกล้าลงทุน ระบบเศรษฐกิจเกิดการจ้างงาน เศรษฐกิจเกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่ กระทั่งผู้นำประเทศและการบริหารจัดการต่างก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลักดัน กำหนดนโยบายบริหารจัดการ กำหนดกลยุทธ์ ให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory)

บริบทของทฤษฎีความโกลาหลกล่าวได้ดังนี้

“ความโกลาหล” ในทฤษฎีความโกลาหล ก็คือ ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนว่าเกิดขึ้นอย่างสะเปะสะปะ(random) แต่ที่จริงแล้วแฝงไปด้วยความเป็นระเบียบ (order) ตัวอย่างของระบบที่แสดงความโกลาหลคือ เครื่องสร้างเลขสุ่มเทียม (psuedo-random number generator) ในเครื่องคอมพิวเตอร์จากงานจำลองสถานการณ์จริง(simulation) การที่คอมพิวเตอร์สามารถสร้างเลขสุ่ม (random number) ซึ่งอาจดูเหมือนการเกิดของตัวเลขสุ่มไม่มีแบบแผนเพราะเป็นเพียงเลขสุ่มเทียม (psuedo-random number)ซึ่งต่างจากเลขสุ่มแท้ที่เกิดจากการทอดลูกเต๋า เพราะเลขสุ่มของคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นจากโปรแกรม ง่าย ๆ เช่น X(n+1) = c X (n) mod m โดยที่ X(n) คือเลขสุ่มครั้งที่ n ส่วน c และ m เป็นเลขจำนวนเต็ม และ mod หมายถึงการหารเลขจำนวนเต็มแล้วเอาเฉพาะเศษ เช่น 5 mod 3 จะได้ 2 (5 หาร 3 เหลือเศษ2)

ประโยชน์ของทฤษฎีความโกลาหลมีดังต่อไปนี้

1. ใช้ในการวิเคราะห์ระบบและทำนายอนาคต

โดยแนวคิดของทฤษฎีความโกลาหลแห่งสถาบันวิจัยซานตาเฟ (santafe Research Institute) ในสหรัฐอเมริกา ได้มีการประยุกต์แนวนี้ได้แก่ การทำนายความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak load) ในแต่ละวันของบริษัทไฟฟ้า หรือปริมาณความต้องการใช้น้ำในแต่ละวัน (ซึ่งประยุกต์ใช้จริงที่บริษัทเมเดนฉะในญี่ปุ่น) และการพยากรณ์อากาศซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้หนึ่งที่ทำให้เกิดศาสตร์แห่งความโกลาหลเองด้วย

2. ใช้ในการสร้างระบบโกลาหล

มีผู้เชื่อว่า “ในธรรมชาติ ความโกลาหลเป็นสิ่งสากลมากกว่าและดีกว่าระเบียบแบบง่าย ๆ” เช่น การที่บริษัทมัทสึชิตะยังใช้ทฤษฎีโกลาหลควบคุมหัวฉีดของเครื่องล้างจาน ซึ่งพบว่าสามารถล้างจานได้สะอาดโดยประหยัดน้ำได้กว่าเครื่องล้างจานแบบอื่นๆ ทั้งนี้เพราะเส้นทางการเคลื่อนที่ของหัวฉีดที่ดูเหมือนไร้ระเบียบทำให้ครอบ คลุมพื้นที่ได้ดีกว่าการเคลื่อนที่ตามแบบแผนปกติ

3. ใช้ในการควบคุม-สร้างความเสถียรให้กับระบบ

ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ตามแนวความคิดนี้ได้แก่ การที่องค์การนาสา (NASA) สามารถควบคุมยานอวกาศ ISEE-3 ให้ลอยไปสู่ดาวหางที่ต้องการสำรวจได้โดยใช้เชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อย

ประพจน์ของทฤษฎีความโกลาหล (chaos theory)

ประพจน์โดยสรุปของ ทฤษฎีความโกลาหล (chaos theory) มีดังต่อไปนี้

ระบบที่แสดงความโกลาหลจะต้องประกอบไปด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีคุณสมบัติแบบไม่เป็นเชิงเส้น (nonlinearly) คุณสมบัติแบบไม่เป็นเชิงเส้นสามารถนิยามได้ว่าตรงกันข้ามกับ คุณสมบัติแบบเชิงเส้น โดยที่ฟังก์ชัน f จะมีคุณสมบัติเชิงเส้นก็ต่อเมื่อ f(x+y) = f(x)+f(y)นั่น ก็คือ ในระบบแบบไม่เป็นเชิงเส้น ผลลัพธ์จากการรวมกันของส่วนย่อยจะไม่เท่ากับผลรวมของทั้งหมดนั่นเอง และการที่ระบบโกลาหลจำเป็นต้องเป็นระบบที่ไม่เป็นเชิงเส้นก็ไม่ได้หมายถึง ระบบที่ไม่เป็นเชิงเส้นทุกๆ ระบบจะเป็นระบบโกลาหลด้วยเสมอไป

2. ไม่ใช่เกิดแบบสุ่ม (คือเป็น deterministic ไม่ใช่ probabilistic) หรือเรียกได้ว่าในระบบโกลาหล เหตุการณ์ทั้งหลายมักเกิดขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว โดยเพื่อป้องกันความสับสนระหว่าง“ความโกลาหล” และ “การสุ่ม” จึงมีการเรียก chaos ว่า deterministic chaos

3. ไวต่อสภาวะเริ่มต้น (sensitivity to initial conditions) คือการเริ่มต้นที่ต่างกันเพียงนิดเดียวอาจส่งผลให้บั้นปลายต่างกันมาก จึงนิยมยกตัวอย่างของ “ผลกระทบผีเสื้อ” (butterfly effect) ซึ่ง หมายถึงการที่ผีเสื้อกระพือปีกในที่แห่งหนึ่ง แล้วส่งผลทำให้ฝนตกในที่ที่ห่างไกลออกไป ในสัปดาห์ต่อมา ตัวอย่างที่ชัดเจนของการไวต่อสภาวะเริ่มต้นคือ การขยายผลลัพท์ให้ความแตกต่างรวดเร็วขึ้นของเลขยกกำลัง (exponential) นั่นเอง

4. ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าในระยะยาวได้ (long-term prediction is impossible) การ ศึกษาทฤษฎีความโกลาหลมีความสำคัญก็เพราะเชื่อว่า ระบบในธรรมชาติ โดยมากมีลักษณะโกลาหล ทั้งๆ ในความเป็นจริงยังไม่มีวิธีการที่แน่นอนชัดเจน ในการตัดสินว่าระบบใดระบบหนึ่งเป็นระบบโกลาหลหรือไม่ด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม ระบบโกลาหลได้สร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่แก่วงการวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นการหักล้าง ความเชื่อของ Laplace ที่กล่าวไว้ว่า “การรู้สภาพตั้งต้นที่ดีมากพอ จะทำให้สามารถทำนายอนาคตของเอกภพทั้งเอกภพได้”

การประยุกต์ใช้ทฤษฎีความโกลาหลกับสังคมไทย

การ ประยุกต์ทฤษฎีความโกลาหลในสังคมไทย เป็นการประยุกต์ที่แตกต่างกับวงการวิชาการของโลกโดยสิ้นเชิง เนื่องจากไม่พบการประยุกต์ในด้านวิทยาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์เลย พบเพียงการอธิบายในด้านสังคม โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเป็นไปอย่างหละหลวม คือเป็นการหยิบเอาเฉพาะแนวความคิดบางอย่างในทฤษฎีไปจับกับสิ่งที่ต้องการ ศึกษา เช่นระบบการเมือง ที่ใช้เพียงภาษาของทฤษฎีที่ใช้สื่อในสิ่งที่ต้องการจะสื่อ ออกมาในรูปแบบใหม่โดยที่ผู้ฟังฟังแล้วอาจแค่รู้สึกแปลกใหม่ หรือทำให้ฉงนสงสัยเท่านั้น มีเฉพาะแนวคิดที่่น่าสนใจเรื่องเรื่อง “จุดคานงัดของสังคม”ซึ่ง ทฤษฎีความโกลาหลช่วยชี้ให้เห็นว่า ในระบบที่ไวต่อสภาวะตั้งต้นนั้น การกระทำเพียงเล็กน้อยอาจเกิดสะเทือนมากได้ เหมือนกับผลกระทบผีเสื้อ หรือเหมือนกับการงัดเบาๆ คานก็อาจเคลื่อนไหวได้ หากเราสามารถรู้ว่า “จุดคานงัด” ดัง กล่าวนั้นอยู่ที่ไหน แนวความคิดนี้จึงเป็นการประกาศถึงศักยภาพของปัจเจกชน ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เพราะผลการกระทำของปัจเจกชนคนเดียว แม้เป็นเหมือนการกระพือปีกของผีเสื้อตัวเล็ก ๆ ก็ยังมีโอกาสทำให้ฝนตกได้

แต่กระนั้นจะเห็นได้ว่าแนวคิด Chaos Theory กับ สถานการสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นเพียงการสื่อในลักษณะใช้ภาษาทั่วๆ ไปโดยไม่มีการอ้างอิงหลักทฤษฎีโกลาหลแต่อย่างใด เนื่องจากทฤษฎีความโกลาหลมีประเด็นที่ชัดเจนคือ “ธรรมชาติมีความซับซ้อนเกินกว่าการคิดแบบเชิงเส้นจะสามารถทำความเข้าใจได้” ขณะ ที่ทฤษฎีความโกลาหลไม่ได้ให้อ้างอิงหรือระบุ ถึงวิธีการจัดการกับสังคมที่เป็นรูปธรรม มีแค่การกล่าวถึงความสำคัญของการมองแบบไม่เป็นเชิงเส้น ไม่เป็นกลไก หรือเรียกว่ามองแบบองค์รวมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

กล่าวถึง Chaos Theory กับสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองไทยได้ดังนี้

ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางสังคมครั้งใหญ่ “ทฤษฎีเดิม” ที่เคยใช้ได้ผล เริ่มมีความผิดพลาดยอมรับไม่ได้ ดังนั้น “ขุมกำลัง” ทั้งหลายที่อยู่ในเวทีการต่อสู้ที่คาดเดาไม่ได้นี้ จะต้องพยายามค้นหา “ทฤษฎีใหม่” ที่ใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ได้แม่นยำกว่าทฤษฏีเดิม เพื่อนำไปสู่การกำหนด “กลยุทธ์” ที่ถูกต้องเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม อันจะนำไปสู่ชัยชนะในท้ายที่สุด

บทความของหนังสือพิมพ์มติชน ได้มีการอ้างอิงที่น่าสนใจไปถึง การวางแผนของพรรคประชาธิปัตย์หลายปีก่อน เพื่อประยุกต์ใช้ Chaos Theory มาเป็นกลยุทธ์เพื่อสู้กับพรรคไทยรักไทย โดยเน้นไปที่การ“สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม ด้วยการยกปมการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลขึ้นมาขยายฉายซ้ำ”ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์หรือฝ่ายอื่นๆได้ประยุกต์ใช้แนวทางนี้จริงๆ ก็จะพบว่า Chaos Theory ที่ผู้ใช้คาดหวังว่าจะทำลายพรรคไทยรักไทยนั้น ในที่สุดกลับทำให้เกิดผลเป็นขุมกำลัง “เสื้อแดง” และขุมกำลังอื่นๆที่ควบคุมไม่ได้ออกลูกออกหลานเต็มไปหมด และส่วนหนึ่งได้กลับมากระทบ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งกำลังถูก Chaos Theory สั่นคลอนอยู่ในขณะนี้

หากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มมือที่มองไม่เห็นที่ซ่อนตัวอยู่ ต้องการที่จะได้รับชัยชนะในช่วง Chaos Theory ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระเบียบใหม่ (New Order) ย่อมต้องทำการศึกษา “ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการ” ของสังคมไทยและสังคมโลกอย่างรอบด้าน เพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในภาพอนาคต (Scenario) ที่สังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระเบียบใหม่ (New Order)

การกำหนด “กลยุทธ์” เพื่อรับมือกับภาวะ Chaos Theory จึงไม่ใช่เพียงการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อทำให้ประชาชนเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว เพราะในภาวะ Chaos Theory ที่ซับซ้อนนั้น การกระทำเพื่อมุ่งหวังผลทางตรง อาจนำไปสู่ผลทางอ้อม ซึ่งท้ายสุดอาจย้อนกลับมาทำร้ายผู้กระทำได้

แม้จะมีการนำ Chaos Theory มา ใช้เปรียบเทียบกับสถานการณ์ความวุ่นวายของบ้านเมืองที่กำลังประสบอยู่ จุดอ่อนแห่งการประยุกต์ใช้บ่งชัดคือเป็นการมองภาพเพียงแค่องค์รวมหลวมๆ ที่สื่อว่า “สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้…เป็นบรรยากาศที่ช่างไร้ระเบียบ ไร้หลักการ ยากที่จะทำนาย (Unpredictable)” โดยลืมมองไปว่า การต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองในทุกยุคทุกสมัยก็ล้วนแต่มีความไร้ระเบียบเกิดขึ้นเป็นระยะ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ Chaos Theory มา จับก็สามารถอธิบายได้ กรณีปัจจุบันมติชนพยายามสื่อว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความวุ่นวาย โกลาหลที่เกิดขึ้นแบบธรรมดาทั่วไปที่ท้ายสุดเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่ระเบียบ เดิม (Old Order)

แต่กรณีนี้มุ่งจับประเด็นเน้นไปที่ภาวะไร้ระเบียบ ที่จะไม่หวนกลับไปสู่สถานะเดิม (Old Order) แต่จะนำไปสู่ระเบียบใหม่ (New Order) ที่จะผุดบังเกิดขึ้นมาภายหลังภาวะไร้ระเบียบ(Chaos) สิ้นสุดลงนั่นเอง

*การแก้ไขปัญหาประเทศไทยได้อย่างเป็นระบบในการกำหนดกลยุทธ์ที่ดีที่สุด ในการตอบโต้กับภาวะChaos Theory กับปัจจัยทางการเมืองที่เกิดขึ้นจึงควรกระทำดังนี้

1. พิจารณาสถานการณ์แบบองค์รวมโดยใส่ “สถานการณ์จำลอง (Scenario)” เพื่อเป็นตัวแทนภาพอนาคต ในการกำหนดกลยุทธ์ที่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ไปวันๆ

กรณี ตัวอย่างการที่กลุ่มเสื้อแดงรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนที่มีทีท่าจะขยายใหญ่โต เป็นปึกแผ่นขึ้นทุกวันนั้น ความชัดเจนคือแสดงให้เห็นถึงเป็นความยินยอมพร้อมใจ ไม่ ได้เกิดจากถูกหลอกลวงมาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเกิดขึ้นเป็นเวลานานและมีการขยายกลุ่มก้อนใหญ่โตขึ้นทุกวัน จึงเป็นสิ่งชี้ชัดว่าเป็นเพราะอดีตนายกฯ ทักษิณมีนโยบายที่เข้าถึงในการแก้ปัญหาได้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคน เสื้อแดง ฉะนั้นการมุ่งพยายามจัดการเพียงอดีตนายกทักษิณ จึงไม่ใช่ประเด็นในการแก้ปัญหาความวุ่นวายการแบ่งเป็นฝักฝ่ายของคนใน สังคมอย่างแน่นอนที่สุด

2. ใส่ใจปรากฎการณ์ขนาดเล็กที่เคยมองข้ามไป

Chaos Theory มักให้ความสำคัญกับปรากฎการณ์เล็กๆ ที่อาจพลิกเปลี่ยนสถานการณ์ใหญ่ไปสู่ทิศทางใหม่โดยไม่คาดฝัน เนื่องเพราะในสถานการณ์ Chaos นั้น กฎเกณฑ์เดิมล้วนแต่ถูกทำลายลง ดังนั้นจึงเปิดช่องว่างให้กับปรากฎการณ์เล็กๆได้มีบทบาทสำคัญต่อสถานการณ์ใหญ่ได้

3. ใช้มุมมองใหม่ๆในการประเมินมิตรและศัตรู

การที่ Chaos Theory ทำลายกฎเกณฑ์เดิม ดังนั้นมิตรและศัตรู ก็อาจเปลี่ยนข้างย้ายขั้วได้ซึ่งค่อนข้างซับซ้อนกว่าปกติ ดังนั้นหากใครสามารถมองเห็น Scenario ที่ จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ย่อมสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวทั้งการประสานมิตรและสร้างศัตรูได้แม่นยำ กว่าคนอื่น ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ที่ดีกว่าได้

กล่าวโดยสรุป Chaos Theory สามารถ อธิบายภาวะเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ที่กฎเกณฑ์เดิมได้ถูกทำลายลง ดังนั้นหากต้องการชัยชนะจะต้องมองเห็นช่องว่างระหว่างกฎเกณฑ์เดิมกับการ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ ภายใต้ภาวะใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องและแม่นยำที่สุดนั่นเอง


ที่มา: ทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory) กับความไร้ระเบียบของสถานการณ์บ้านเมือง ในหรอยดอทคอม

อัพเดทล่าสุด