โรคไมเกรน ผศ.นพ.รังสรรค์ เสวิกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คำจำกัดความของโรคไมเกรน โรค ไมเกรนเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่สำคัญคือ อาการปวดศีรษะนั้นมักจะปวดข้างเดียว หรือเริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดทั้งสองข้าง และแต่ละครั้งที่ปวดมักจะย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่งได้ แต่บางครั้งก็อาจจะปวดทั้งสองข้างขึ้นมาพร้อม ๆ กันตั้งแต่แรก ลักษณะอาการปวดมักจะปวดตุ๊บ ๆ เป็นระยะ ๆ แต่ก็มีบางคราวที่ปวดแบบตื้อ ๆ ส่วนมากจะปวดรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก โดยจะค่อย ๆ ปวดมากขึ้นที่ละน้อยจนกระทั่งปวดรุนแรงเต็มที่แล้วจึงค่อย ๆ บรรเทาอาการปวดลงจนหาย ขณะที่ปวดศีรษะก็มักจะมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย ระยะเวลาปวดมักจะนานหลายชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะนานไม่เกิน 1 วัน ในบางรายอาจจะมีอาการเตือนนำมาก่อนหลายนาที เช่น สายตาพร่ามัว หรือ มองเห็นแสงกระพริบ ๆ อาการ ปวดนั้นไม่เลือกเวลา บางรายอาจจะปวดขึ้นมากลางดึก หรือปวดตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา บางรายก็ปวดตั้งแต่ก่อนเข้านอนจนกระทั่งตื่นนอนเช้าก็ยังไม่หายปวดเลยก็ได้ อาการ ปวดศีรษะไมเกรนต่างจากอาการปวดศีรษะธรรมดาตรงที่ว่า อาการปวดศีรษะธรรมดามักจะปวดทั่วทั้งศีรษะ ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดตื้อ ๆ ที่ไม่รุนแรงนัก และมักจะไม่มีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อได้นอนหลับสนิทไปพักใหญ่ ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยกลุ่มใด วัยใด เพศใด มากที่สุด โรคปวดศีรษะไมเกรนส่วนใหญ่จะเป็นในผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย มักเป็นในผู้ที่มีความเครียดทางอารมณ์และจิตใจสูง แต่ก็อาจเกิดในผู้ที่สุขภาพจิตดีก็ได้ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไมเกรน ปัจจุบัน สาเหตุของไมเกรนก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มีอยู่หลายทฤษฎีที่เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ โดยเชื่อกันว่าอาจจะเกิดจากความผิดปกติที่ระดับสารเคมีในสมอง การสื่อกระแสในสมอง หรือการทำงานที่ผิดปกติไปของหลอดเลือดสมองก็ได้ จาก หลักฐานข้อมูลทางระบาดวิทยา ปัจจุบันเชื่อว่าไมเกรนถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่จะเกิดอาการหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่มากระ ทบตัวผู้เป็น อาการปวดศีรษะไมเกรนจะแตกต่างจากอาการปวดศีรษะจากสาเหตุอื่นอย่างไร อาการ ปวดหัวอาจจะเกิดจากความผิดปกติของส่วนต่าง ๆ ภายในกะโหลกศีรษะ เช่น สมอง เยื่อหุ้มสมอง โพรงน้ำในสมอง หลอดเลือดสมอง หรืออาจจะเกิดจากความผิดปกติของกะโหลกศีรษะเอง รวมทั้งอวัยวะต่าง ๆ รอบกะโหลก ได้แก่ ตา หู จมูก โพรงอากาศหรือไซนัส คอ และกระดูกคอ นอกจากนั้นแล้วอาการปวดศีรษะอาจจะเกิดจากโรค หรือภาวะต่าง ๆ ที่เกิดแก่ร่างกายแล้วส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น การที่จะทราบว่าอาการปวดศีรษะนั้นเกิดจากโรคไมเกรนแพทย์ต้องทำการวินิจฉัยจากลักษณะจำเพาะของอาการปวดศีรษะ อาการที่เกิดร่วมด้วย รวมทั้งผลการตรวจร่างกายระบบต่าง ๆรวมทั้งการทำงานของสมองที่เป็นปกติ แต่ อย่างไรก็ดี โรคไมเกรนบางประเภทก็อาจทำให้สมองทำงานผิดปกติไปชั่วคราวในระหว่างที่เกิด อาการปวดขึ้นได้ แพทย์จำเป็นที่จะต้องทำการวินิจฉัยแยกโรคให้ได้ แพทย์จะมีการตรวจวินิจฉัยอย่างไรว่าผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรน การที่จะทราบว่าอาการปวดหัวเกิดจากสาเหตุใดนั้น ต้องอาศัยลักษณะต่าง ๆ ของอาการปวด อาการที่เกิดร่วมด้วย ความผิดปกติของการทำงานของสมอง หรืออวัยวะต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการปวด ดังนี้ - ลักษณะต่าง ๆ ของอาการปวด : ตำแหน่ง ความรุนแรง ลักษณะการปวด การดำเนินของการปวด - อาการที่เกิดร่วมด้วย เช่น ไข้ ตาแดง ตาโปน น้ำมูกมีกลิ่นเหม็น คลื่นไส้ เวียนหัว - ความผิดปกติของการทำงานของสมองหรืออวัยวะต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการปวด เช่น ความคิดอ่านเชื่องช้า มองเห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง เดินเซ - ปัจจัยกระตุ้นอาการปวด เช่น ความเครียด แสงจ้า ๆ อาหารบางชนิด - ปัจจัยทุเลาอาการปวด เช่น การนอนหลับ การนวดหนังศีรษะ ยา รวม ทั้งแพทย์จำต้องสอบถามอาการและตรวจร่างกายผู้ป่วย ในกรณีที่จำเป็นบางครั้งอาจต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้การวินิจฉัยแยกโรค ที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกับโรคไมเกรน การรักษาผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรน วิธีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนที่สำคัญได้แก่ การบรรเทาอาการปวดศีรษะ และการป้องกันไม่ให้เกิดหรือลดความถี่ ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะ การบรรเทาอาการปวดศีรษะนั้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา เช่น การ นวด การกดจุด การประคบเย็น การประคบร้อน หรือการนอนหลับ ในรายที่ไม่ได้ผลหรืออาการปวดรุนแรงก็จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด ปัจจุบันมียาแก้ปวดที่ได้ผลดีหลายชนิด ยาแต่ละชนิดก็มีผลข้างเคียงต่าง ๆ กันไป ประกอบกับผู้ป่วยแต่ละรายก็ตอบสนองต่อยามาไม่เหมือนกัน จึงต้องเลือกให้เหมาะสมในแต่ละรายไป สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิด หรือลดความถี่ ความรุนแรงของอาการปวดศีรษะนั้น ที่สำคัญมีอยู่ 2 วิธี วิธีแรกก็คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการกำจัดความเครียดอย่างเหมาะสม วิธีที่สองคือ การรับประทานยาป้องกันไมเกรน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาป้องกันก็ต่อเมื่อปวดศีรษะบ่อยมาก เช่น สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ขึ้นไป หรือแม้จะปวดไม่บ่อยแต่รุนแรงมากหรือนานต่อเนื่องกันหลายวัน ยาป้องกันไมเกรนนั้นมีอยู่หลายชนิด จะต้องเลือกชนิดและปรับขนาดยาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายไป แนะนำให้รับประทานยาป้องกันต่อเนื่องจนอาการสงบลงนาน 6-12 เดือน จึงลองหยุดยาได้ เมื่อกำเริบขึ้นอีกจึงเริ่มรับประทานใหม่ ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาไมเกรนให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีควบคุมอาการให้สงบลงได้ดังกล่าวแล้ว ผลกระทบหรือปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคไมเกรนมีอะไรบ้าง ผล กระทบที่สำคัญที่เห็นได้ชัดคือเสียสุขภาพกาย ต้องทรมานจากความปวด บางรายปวดรุนแรงมากจนแทบอยากจะวิ่งเอาหัวชนฝาผนัง บางรายก็ปวดข้ามวันข้ามคืนจนนอนหลับไม่สนิท บ้างก็คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียจนเสียสมรรถภาพการเรียนการทำงาน ไมเกรนเป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ทำงานประเภทใช้ความคิดต้องขาดงานเป็นจำนวน มาก ทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อย ถ้าเป็นบ่อยมากเป็นรุนแรงมาก ๆ ก็ทำให้เสียสุขภาพจิตได้ บ้างก็จะวิตกกังวลว่าอาจจะเป็นเนื้องอกในสมอง วิธีการดูแลตนเองระหว่างเป็นโรคไมเกรน ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เมื่อ ทราบว่าเป็นไมเกรนแล้ว ควรจะออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยป้องกันอาการปวด เมื่อปวดศีรษะไมเกรนควรรับประทานยาแก้ปวดเป็นครั้งคราว ถ้าปวดบ่อยมากควรจะพบแพทย์เพื่อรับประทานยาป้องกันไมเกรน
วิธีการป้องกันโรค ที่สำคัญมีอยู่ 2 วิธี วิธีแรกก็คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการกำจัดความเครียดอย่าง เหมาะสม วิธีที่สองคือการรับประทานยาป้องกันไมเกรน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานป้องกันก็ต่อเมื่อปวดศีรษะบ่อยมาก เช่น สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ขึ้นไป หรือแม้จะปวดไม่บ่อยแต่รุนแรงมากหรือนานต่อเนื่องกันหลายวัน ยาป้องกันไมเกรนนั้นมีอยู่หลายชนิด จะต้องเลือกชนิดและปรับขนาดยาให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายไป แนะนำให้รับประทานยาป้องกันต่อเนื่องจนอาการสงบลงนาน 6-12เดือนจึงลองหยุดยาได้ เมื่อกำเริบขึ้นอีกจึงเริ่มรับประทานใหม่ โรค ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะนั้นมีมากมายหลายสาเหตุ ที่จะเกิดจากเนื้องอกในสมองนั้นพบไม่มาก ถ้ามีอาการปวดศีรษะเรื้อรังหรือปวดรุนแรงมาก ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุสำหรับโรคปวดศีรษะไมเกรนนั้นแม้ จะเป็นโรคที่เรื้อรัง แต่สามารถที่จะควบคุมให้โรค สงบลงได้ทั้งโดยวิธีธรรมชาติ โดยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักกำจัดความเครียดอย่างเหมาะสม ในกรณีที่จำเป็นก็อาจต้องใช้ยาสักระยะหนึ่ง |