สมุนไพรไขปัญหา "เก๊าท์" แฟนคอลัมน์สมุนไพรเพื่อสุขภาพท่านหนึ่ง โทรศัพท์มาขอให้เขียนแนะนำวิธีปฏิบัติตัว สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเก๊าท์ด้วย บอกว่ารอมาหลายฉบับแล้ว ต้องขอออกตัวก่อนว่า ข้อแนะนำที่จะเสนอต่อไปนี้ เป็นข้อแนะนำ จากมุมมอง ของกรอบความรู้แบบตะวันออก สายอายุรเวทของอินเดีย ซึ่งคำว่าโรคเก๊าท์นั้น เป็นวิธีวิเคราะห์โรคในทางแผนตะวันตก ในทางตะวันออก หรือแม้แต่การแพทย์ไทยเรา ก็ไม่มีโรคที่เรียกว่า โรคเก๊าท์อยู่ เพราะฉะนั้น การแนะนำวิธีปฏิบัติตัว คงต้องใช้วิธีทำความเข้าใจกับอาการของโรคเก๊าท์ แล้วทำความเข้าใจว่า การแพทย์แผนตะวันออกวิเคราะห์โรคอย่างไร แล้วค่อยเสนอข้อแนะนำ จากมุมมองตรงนั้น อาการหลัก ๆ ของโรคเก๊าท์คือ ปวดตามข้อต่าง ๆ ผู้ที่เริ่มเป็นใหม่ ๆ มักเริ่มจากหัวแม่เท้า โดยมีอาการปวดและอักเสบ หลังจากนั้นจะลามไปยังข้ออื่น ๆ บางคนมีอาการบวมและอักเสบตามข้อร่วมด้วย ช่วงที่มีอาการ คนไข้จะรู้สึกไม่สบายเนื้อตัว บางครั้งตามด้วยอาการท้องอืด กระหายน้ำ บางครั้งมีอาการท้องผูก และเป็นตะคริวที่ขา ในทางอายุรเวทถือว่าอาการ หรือความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นนั้น เกิดจากร่างกายเสียสมดุล โดยเฉพาะสมดุล ระหว่างอาหารที่กินเข้าไป กับการนำอาหารไปใช้ประโยชน์ ของร่างกาย ลองสังเกตว่า โรคที่เกี่ยวกับข้อ มักเกิดกับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย กินอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน ไขมันในปริมาณมาก ๆ โดยเฉพาะอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เมื่อกินเข้าไปมาก ๆ แล้วร่างกายไม่ได้เอาไปใช้ โดยเฉพาะในคนสูงอายุ ที่บ่อยครั้งระบบย่อยอาหาร ทำงานไม่เต็มที่อยู่แล้ว อาหารที่กินเข้าไป จึงถูกย่อยไม่เต็มที่ ร่างกายดูดซึมไปใช้ไม่ได้ ก็กลายเป็นส่วนเกิน ไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ส่วนเกินที่ว่าไปสะสมที่ไหน ก็ขัดขวางการไหลเวียน ของเลือดของลม ในส่วนนั้น ทำให้เกิดการเจ็บปวดไม่สบาย อย่างเช่นโรคที่เกี่ยวกับข้อ เป็นต้น ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำกว้าง ๆ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อหรือโรคเก๊าท์ ๑. ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน อาหารรสเปรี้ยวจัด เช่น โยเกิรต์ รวมทั้งเหล้าและของ มึนเมาต่าง ๆ อาหารที่บำรุงมาก ๆ อย่างเช่น เนื้อสัตว์ อาหารมัน ถ้ากินเข้าไปมาก ๆ โดยเฉพาะ ในยามที่ระบบย่อยอาหารไม่ดี กินเข้าไปแล้วแทนที่จะเป็นคุณกลับให้โทษแทน วิธีดูว่า ระบบย่อยอาหาร ทำงานปกติหรือไม่ ให้สังเกตว่า เราเจริญอาหาร หรือมีความอยากอาหาร ดีหรือไม่เมื่อถึงเวลาอาหาร ถ้ารู้สึกเบื่ออาหาร ก็แสดงว่า ระบบย่อยอาหารไม่เป็นปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายว่า ขณะนี้ ร่างกายไม่ต้องการอาหารหรอกนะ ช่วงเวลาอย่างนี้ หากไม่รู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ก็ไม่จำเป็นต้องกินอาหาร อดสักมื้อหนึ่งไม่น่าจะเกิดอันตรายอะไร ถ้าจะกินอาหารก็ควรกินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มใส่น้ำมาก ๆ อาจเติมขิงซอย พริกไทยลงไปบ้างเพื่อช่วยย่อย อาหารที่แนะนำให้รับประทาน ได้แก่ ข้าวหุงจากข้าวสารเก่า ข้าวสาลี (ทั้งสองอย่างควรเป็นข้าวที่ไม่ขัดขาว) ถั่วเขียว น้ำต้มเนื้อ กระเทียม หัวหอม มะระ มะละกอ กล้วย ที่สำคัญอีกอย่างคือ อาหารมื้อเย็นควรกินแต่หัวค่ำ กะเวลาให้ห่าง จากเวลาเข้านอน สักสองชั่วโมงเป็นอย่างน้อย อาหารมื้อเย็นควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ๒. ระวังอย่าให้ท้องผูก ถ้าหากมีอาการท้องผูก ขอแนะนำให้ใช้สมุนไพร ที่เป็นยาระบายอ่อน ๆ เช่น เนื้อลูกสมอไทยบดผง กินครั้งละ ๑-๒ ช้อนชา กับน้ำอุ่น ก่อนนอน ๓. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับความเย็น ไม่ควรอาบน้ำเย็นจัด ๔. ควรออกกำลังกายบ้าง เช่น เดินเล่นในสวน ฝึกโยคะ บริหารร่างกายเบา ๆ แต่ไม่ควรออกกำลังกาย อย่างหักโหม เพราะคนที่มีปัญหาเรื่องข้อ ปกติข้อไม่แข็งแรงอยู่แล้ว การออกกำลังหักโหม จะกลายเป็นการซ้ำเติม ทำให้ข้อเสื่อมลงอีก ๕. ไม่ควรนอนตอนกลางวัน ยกเว้นในฤดูร้อนซึ่งร่างกายอ่อนเพลียได้ง่าย หากงีบหลับบ้างก็ไม่เป็นไร เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัว นอกจากเรื่องอาหารและการปฏิบัติตัวที่ว่ามาตอนต้นแล้ว จะขอแนะนำ ตำรับยาสมุนไพรง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ ๑. เถาบอระเพ็ด เหง้าขิงแห้ง ลูกผักชี หนักอย่างละ ๒๐ กรัม ล้างให้สะอาด เถาบอระเพ็ดและขิงแห้งควรสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาทั้งสามอย่างต้มกับน้ำ ๕ แก้ว ต้มให้เหลือหนึ่งแก้วครึ่ง แล้วกรองเอาแต่น้ำยา แบ่งกินครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น หรือกินครั้งละ ๓/๔ แก้ว เช้า เย็น ก็ได้ถ้าไม่สะดวกกินยาตอนกลางวัน ก่อนกินยาให้อุ่นยาก่อนทุกครั้ง ยาตำรับนี้จะช่วยย่อยสลายส่วนเกินที่ไปขังสะสมอยู่ตามข้อ ทำให้เลือดลม ไหลเวียนสะดวกขึ้น อาการปวดก็จะลดลง ๒. ถ้ามีอาการปวดข้อ เช่น ข้อเข่า ให้ใช้เมล็ดงาดำ ตำให้แหลก คั่วโดยใส่น้ำมันงาเล็กน้อย แล้วเติมนมสด กะให้พอคลุกกับเมล็ดงาที่ตำแล้ว ได้เป็นยาพอกเละ ๆ เอามาพอกตามข้อที่ปวด หรือจะเด็ดใบมะรุม มาตำโดยผสมน้ำคั้นจากใบมะขาม ตำให้แหลก ทำเป็นยาพอก ตามข้อที่ปวด ก็ใช้ได้เช่นกัน การพอก หรือประคบในลักษณะนี้ จะช่วยลดอาการปวดข้อโดยตรง ทั้งยังช่วยบำรุงข้อ บำรุงกระดูกด้วย ข้อแนะนำที่กล่าวมาข้างต้น เป็นหลักการปฏิบัติกว้าง ๆ เพื่อควบคุม และบรรเทาอาการของโรค คงไม่ได้มุ่งที่การรักษาโดยตรง เนื่องจาก โรคเก๊าท์เป็นโรคที่เรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคนี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และการรักษาจากหมอโดยใกล้ชิด |