ประวัติโรคหัวใจ ที่มา การเกิดโรคหัวใจ !!


2,081 ผู้ชม


โรคหัวใจขาดเลือด Myocardial Infarction

โรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Ischemic heart disease/IHD) 
หรือโรคหลอดเลือดโคโรนารี (Coronary artery disease/CAD) หมายถึง โรคหัวใจ
ที่เกิดจากการตีบ และแข็งตัวของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจ หรือที่
เรียกว่าหลอดเลือดโคโรนารี (Coronary artery) ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
ลดลงหรือชะงักไป เมื่อผู้ป่วยมีภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น เช่น 
การออกแรงมาก ๆ การมีอารมณ์โกรธ หรือจิตใจเครียด เป็นต้น ก็จะทำให้มีอาการ
เจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว โดยที่ยังไม่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้น เราเรียก
ว่า อาการดังกล่าวว่าโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (Angina pectoris)   แต่ถ้ากล้าม
เนื้อหัวใจมีการตายเกิดขึ้นบางส่วน   เนื่องจากหลอดเลือดโคโรนารีเกิดการอุดตัน
เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้เลยก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง 
ซึ่งมักจะมีภาวะช็อก และหัวใจวายร่วมด้วย   เราเรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย 
(Myocardial infarction)
โรคนี้มักจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะมีอาการเริ่มแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 
40 ปีขึ้นไป มักไม่พบในผู้ชายอายุต่ำ 30 ปี หรือผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปีที่ไม่มีโรค
ประจำตัวอยู่ก่อน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คนที่อยู่ดีกินดี คนที่มีอาชีพทำงานนั่ง
โต๊ะ และคนในเมืองมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนยากจน คนทีมีอาชีพใช้แรงงาน
 และชาวชนบท

สาเหตุ
เกิดจากมีการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (หลอดเลือดโคโรนารี) 
ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ มักเป็นผลจากผนังหลอดเลือดแข็งเนื่องจากมี
ไขมันเกาะ ดังที่เรียกว่าอะเทอโรสเคลอโรซิส (Atherosclerosis) ซึ่งอาจเป็นผลมาจาก
ความเสื่อมของร่างกายตามวัย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเร็วขึ้น เช่น
ภาวะไขมันในเลือดสูง, การสูบบุหรี่จัด, โรคความดันโลหิตสูง , โรคเบาหวาน , โรคเกาต์ , 
ความอ้วน, การขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
อาการ
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ จะมีอาการปวดเค้นคล้ายมีอะไรกดทับ หรือจุกแน่นที่ตรง
กลางหน้าอก หรือยอดอก ซึ่งมักจะเจ็บร้าวมาที่ไหล่ซ้าย ด้านในของแขนซ้าย 
บางคนอาจร้าวมาที่คอขากรรไกร หลัง หรือแขนขวา
บางคนอาจรู้สึกจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อย หรือท้องอืดเฟ้อ ผู้ป่วยมักมีอาการเวลา
ออกแรงมาก ๆ (เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นที่สูง ออกกำลังแรง ๆ ทำงานหนัก ๆ แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน)
มีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ หรือ จิตใจเคร่งเครียด ขณะร่วมเพศ หลังกินข้าวอิ่มจัด หรือ
เวลาถูกอากาศเย็น ๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง เป็นไข้ หรือหัวใจเต้นเร็ว (เช่น หลังกินกาแฟ
หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคคอพอกเป็นพิษ) ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคนี้ได้
อาการเจ็บหน้าอก มักจะเป็นอยู่นาน 2-3 นาที (มักไม่เกิน 10-15 นาที) แล้วหายไปเมื่อได้พัก หรือหยุด
กระทำสิ่งที่เป็นสาเหตุชักนำ หรือหลังจากได้อมยาขยายหลอดเลือด (เช่น ไนโตรกลีเซอรีน)
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เหงื่อออก เวียนศรีษะ คลื่นไส้ร่วมด้วย 
ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบแปล๊บ ๆ หรือ รู้สึกเจ็บเวลาก้ม หรือเอี้ยวตัว หรือรู้สึกเจ็บ
อยู่ตลอดเวลา (เวลาออกกำลังกาย หรือทำอะไรเพลินหายเจ็บ) มักไม่ใช่โรคหัวใจขาดเลือด
ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะมีอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ 
แต่จะเจ็บรุนแรงและนาน แม้จะได้นอนพักก็ไม่ทุเลา ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน 
คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าเป็นรุนแรง จะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีภาวะหัวใจวาย     หรือเกิด
ภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเต้นเบาและเร็ว ความดันเลือดตก) หรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ 
ผู้ป่วยอาจเป็นลมหมดสติ หรือตายในทันทีทันใด บางคนอาจมีประวัติว่า เคยมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นพัก ๆ 
นำมาก่อน เป็นเวลาหลายสัปดาห์ บางคนอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนเลยก็ได้
สิ่งตรวจพบ
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร ในบางรายอาจตรวจพบ
ความดันโลหิตสูง ส่วนในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจตรวจพบภาวะช็อก
การรักษา
1. หากสงสัย ควรแนะนำผู้ป่วยไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งจะตรวจคลื่นหัวใจ
(Electrocardiography/ECG/EKG), ตรวจเลือด, ตรวจปัสสาวะ, การเอกซเรย์
หลอดเลือดหัวใจ (coronary arteriography) หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ และให้การ
รักษาโดยให้ยาขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ได้แก่ ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerine) 
หรือไอโซซอร์ไบด์ (Isosorbide) อมใต้ลิ้นทันทีเมื่อมีอาการ 
ยานี้อาจทำให้เกิดอาการปวดศรีษะได้นอกจากนี้ อาจให้ยาขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจชนิด
ออกฤทธิ์นาน เช่น ไอโซซอร์ไบด์ (lsosorbide), เพอร์แซนทิน (Persantin),
เพอริเทรต (Peritrate) กินวันละ 2-4 ครั้ง ๆ ละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการ
บางครั้งอาจต้องให้ยาปิดกั้นบีตา (Beta-blockers) เช่น โพรพราโนลอล (Propranolol) 
กินวันละ 4ครั้ง ๆ ละ 20-80 มก., ยาต้านแคลเซียม เช่น ไนเฟดิพีน  ชนิดออกฤทธิ์นาน 
30-90 มก. วันละครั้ง ให้แอสไพริน ขนาด 75-325 มก. วันละครั้ง  เพื่อป้องกันมิให้เลือดจับเป็น
ลิ่มอุดตันหลอดเลือดหัวใจ
ถ้าผู้ป่วยมีโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูงก็ต้องให้ยา
รักษาโรคเหล่านี้ร่วมด้วย ในรายที่มีการตีบตันของหลอดเลือดโคโรนารีหลายแห่ง และกินยาไม่ได้ผล
อาจต้องทำการผ่าตัดเปิดทางระบาย (ทางเบี่ยง) ของหลอดเลือด (Coronary artery bypass 
grafting/CABG) หรือใช้บัลลูนชนิดพิเศษขยายหลอดเลือด 
(Percutaneous transluminal coronary angioplasty/PTCA)
2. ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง มีภาวะหัวใจวาย ช็อก หรือหมดสติ ควรส่งผู้ป่วยไป
โรงพยาบาลด่วน ถ้าเป็นไปได้ ควรฉีดยาระงับปวดอย่างแรง เช่น มอร์ฟีน 
(Morphine) ก่อนส่งโรงพยาบาลและให้ออกซิเจน (ถ้ามี) มาระหว่างทางด้วย
ผู้ป่วยมักจะต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 2-4 สัปดาห์ หากไม่มีโรค
แทรกซ้อนที่รุนแรงก็มีโอกาสหายได้ แต่มักจะต้องกินยาเป็นประจำ โดยให้ยา
ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และยาปิดกั้นบีตา ถ้ามีภาวะหัวใจวาย อาจให้ยา
ช่วยหัวใจทำงาน เช่น ลาน็อกซิน (Lanoxin) หรือ ไดจอกซิน(Digoxin) กินวันละ
1/2 - 1 เม็ดเป็นประจำ (ยานี้ถ้าใช้เกินขนาด อาจทำให้ตาพร่าตาลาย คลื่นไส้
อาเจียน หัวใจหยุดเต้น หรือเต้นผิดจังหวะได้ ควรให้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
เท่านั้น)
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง และอาจมีอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ควรติดต่อ
รักษากับแพทย์เป็นประจำ และควรพกยาไนโตรกลีเซอรีน หรือไอโซซอร์ไบด์
ชนิดอมใต้ลิ้น ติดตัวไว้ใช้เวลามีอาการ
2. สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้ว ควร
พักฟื้นที่บ้าน อีกสักระยะหนึ่ง อย่าทำงานหนัก และงดการร่วมเพศเป็นเวลา 4-5 
สัปดาห์  ผู้ป่วยสามารถเริ่มกลับไปทำงานได้หลังมีอาการ 8-12 สัปดาห์ แต่ห้าม
ทำงานที่ต้องใช้แรงมาก ผู้ป่วยควรป้องกันมิให้มีอาการกำเริบอีก โดยการกินยา
ตามแพทย์สั่งเป็นประจำ และปฏิบัติตัวดังในข้อ 7
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ก็อาจมีโอกาสหายขาด และมีชีวิตยืนยาวเช่น
คนปกติได้ ส่วนในรายที่กำเริบใหม่ มักมีโรคอื่นแทรกซ้อนอยู่ก่อน หรือหลอด
เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบตันจำนวนมาก
3. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดบางคนอาจไม่มีอาการเจ็บจุกหน้าอกชัดเจน แต่
อาจรู้สึกคล้ายมีอาการปวดเมื่อย ที่ขากรรไกร หรือหัวไหล่ ถ้าหากมีอาการ
กำเริบบ่อย และมีอายุมากหรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ (เช่น สูบบุหรี่จัด ความดัน
โลหิตสูง เป็นเบาหวาน อ้วน ฯลฯ) ก็ควรจะตรวจเช็กให้แน่ใจ
4. โรคนี้บางครั้ง อาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ เหมือนอาการอาหารไม่ย่อย  โดย
เฉพาะอย่างยิ่งเป็นหลัง กินอาหารใหม่ ๆ อาจทำให้วินิจฉัยผิดได้ ดังนั้น ถ้าพบ
อาการจุกแน่นลิ้นปี่ในคนสูงอายุ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆก็ควรจะตรวจเช็กให้
แน่ใจ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นเพียงอาการอาหารไม่ย่อย
5. การตรวจคลื่นหัวใจ มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคนี้ประมาณ 50-75% 
หมายความว่า ประมาณ 25-50% ของคนที่เป็นโรคนี้ อาจตรวจคลื่นหัวใจแล้ว 
บอกผลว่าปกติ เรียกว่า "ผลลบลวง" (false negative) ก็ได้ ถ้ายังมีอาการเจ็บ
จุกหน้าอก เข้าลักษณะโรคหัวใจขาดเลือด ควรทำการตรวจพิเศษโดยวิธีอื่น 
เช่น การตรวจคลื่นหัวใจ โดยการวิ่งบนสายสะพาน หรือปั่นจักรยาน (Stress 
testing/Excercise ECG) เป็นต้น และบางครั้ง อาจจำเป็นต้องให้การรักษา 
และปฏิบัติตัวแบบโรคหัวใจขาดเลือด
6. บางคน อาจมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบโดยไม่ปรากฏอาการก็ได้ ดังนั้นผู้ที่
มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ (มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดในครอบครัว, สูบบุหรี่จัด, 
เป็นความดันโลหิตสูง, เบาหวาน) ควรตรวจเช็กหัวใจ และอาจต้องให้การรักษา
ตามความเหมาะสมต่อไป
7.ข้อปฏิบัติตัว จะมีส่วนช่วยรักษาให้มีชีวิตยืนยาวได้เท่าหรือเกือบเท่าคนปกติ 
ควรแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัว ดังนี้
7.1 เลิกสูบบุหรี่ เด็ดขาด
7.2 ถ้าอ้วน ควรหาทางลดน้ำหนัก
7.3 อย่ากินอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง โดยใช้น้ำมันจากพืชแทน ยกเว้นกะทิ
7.4 ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่หักโหม และควร
      เพิ่มขึ้นทีละน้อย ทางที่ดีควรขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อนที่จะออกกำลัง
      กายมาก ๆ การออกกำลังกายที่แนะนำให้ทำกันได้แก่ การเดินเร็ว วิ่งเหยาะ 
     ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น 
7.5 หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบ เช่น
- อย่าทำงานหักโหมเกินไป 
- อย่ากินข้ามอิ่มเกินไป
- ระวังอย่าให้ท้องผูก โดยการดื่มน้ำมาก ๆ กินผลไม้ให้มาก ๆ และควรกินยา
   ระบายเวลาท้องผูก
- ควรงดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ใส่กาเฟอีน
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้นตกใจ หรือการกระทบกระเทือนทางจิตใจ และทำ
  จิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ

การป้องกัน
โรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ, ไม่สูบบุหรี่, ผ่อนคลาย
ความเครียดด้วยวิธีต่างๆ, ระวังอย่าให้อ้วน, ลดการกินอาหารที่มีไขมันสูง, รักษา
ภาวะไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง และเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุม
ได้ การกินแอสไพริน วันละ 75-325 มก. ก็มีส่วนในการป้องกันโรคนี้ได้ โดยเฉพาะ
อย่างยิ่ง ในผู้ป่วยที่เป็นไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง

ที่มา  www.thailabonline.com

อัพเดทล่าสุด