แผนเกี่ยวกับโรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน บอกถึงปัญหา กรวยไตอักเสบ สาเหตุ มาจากอะไร


995 ผู้ชม


กรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลัน

 แผนเกี่ยวกับโรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน บอกถึงปัญหา กรวยไตอักเสบ สาเหตุ มาจากอะไร


ข้อน่ารู้

1. ไต เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับปัสสาวะและของเสียออกจากร่างกายและรักษาดุลของ ร่างกายให้ดำรงอยู่อย่างปกติสุข ถ้าไตสูญเสียหน้าที่ดังกล่าวไป ก็เรียกว่า ไตวาย หรือไตพิการ ทำ ให้ร่างกายดำรงอยู่ได้หากแก้ไขไม่ได้ก็จะก็จะถึงแก่ชีวิตได้ โรคไตหรือความผิดปกติเกี่ยวกับไต มีได้หลายชนิด เช่น ไตอักเสบ ไตเป็นก้อนนิ่ว ไตเป็นก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง ไตเสื่อมเนื่องจากโรคเบาหวานหรือความดันเลือดสูง เป็นต้น โรคไตเหล่านี้ถ้าหากปล่อยปละละเลย ถึงขั้นเยียวยาไม่ได้ ก็จะทำให้กลายเป็นโรคไตวายหรือไตพิการได้ ดังนั้น โรคเกี่ยวกับไตจึงจัดว่าเป็นโรคร้ายแรงต้องรักษาอย่างจริงจัง เพื่อยับยั้งมิให้เป็นไตพิการ

2. คำว่า “ไตอักเสบ” หมายถึง มีการอักเสบของเนื้อเยื่อของไต อาจเกิดจากการมีเชื้อโรคเข้าไปก่อเหตุ หรือเกิดเนื่องมาจากปฏิกิรียาของร่างกายที่สร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อไตไป กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ (โดยไม่มีเชื้อโรคเข้าไปเกี่ยวข้อง) ก็ได้ โรคไตอักเสบเหล่านี้มีผลแทรกช้อนและวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อพูดถึงไตอักเสบจะต้องแยกแยะให้ได้ว่าหมายถึงชนิดใดโดยเฉพาะ ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะโรคต่างๆ กันไป เช่น กรวยไตอักเสบ หน่วยไตอักเสบ โรคไตเนโฟรติก เป็นต้น

3. กรวยไตเป็นส่วนที่อยู่เหนือสุดของท่อไต ซึ่งยื่นเข้าไปในเนื้อไต มีรูปร่างเป็นรูปกรวย เมื่อมีเชื้อโรคผ่านขึ้นทางท่อไตเข้ามาอยู่ในกรวยไต ก็จะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อไตรอบๆ กรวยไต เรียกว่า “กรวยไตอักเสบ” (pyelonephritis)

4. กรวยไตอักเสบ แบ่งเป็นชนิดเฉียบพลันกับชนิดเรื้อรัง กรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลันจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่นมาก ปวดเอว ปวดหลัง ปัสสาวะขุ่นเป็นหนอง นับว่าเป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรง ส่วนกรวยไตอักเสบชนิดเรื้อรังนั้น คนไข้มักจะไม่มีอาการปรากฏชัดเจน จะตรวจพบจากการตรวจเช็กปัสสาวะ อันตราย คือ จะเป็นโรคโดยไม่รู้ตัว จึงไม่ได้รับการรักษา ปล่อยไว้นานๆ เข้าก็จะกลายเป็นไตวายหรือพิการได้

5. กรวยไตอักเสบ มีสาเหตุจากการติดเชื้อ โดยเชื้อโรคมักจะลุกลามขึ้นมาจากกระเพาะปัสสาวะ กล่าวคือ เชื้อโรคบริเวณผิวหนังรอบๆ ท่อปัสสาวะ (ที่อาจแปดเปื้อนอุจจาระ) จะแพร่กระจายเข้าท่อปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคกระเพาะอักเสบ (มีอาการขัดเบา) ถ้าเชื้อลุกลามขึ้นไปตามท่อไตจนเข้าไปถึงบริเวณกรวยไตก็ทำให้เกิดโรคกรวยไต อักเสบได้

6. ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อป้สสาวะสั้นและอยู่ใกล้ทวารหนัก จึงมีโอกาสแปดเปื้อนเชื้อโรคที่ออกมากับอุจจาระได้

การอั้นปัสสาวะจะ ทำให้เชื้อโรคหมักหมนอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานขึ้น และเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะที่ตึงตัวขึ้น (จากปริมาณปัสสาวะที่อั้นไว้) จะทำให้ความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคได้น้อยลง จึงเกิดการอักเสบขึ้นได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ขึ้น เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ขนาด 7-8 เดือนขึ้นไป มดลูกจะขยายใหญ่จนไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ในช่วงนี้จึงอาจเกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งเกิดโรคกรวยไตอักเสบได้

คนที่เป็นอัมพาต (ซึ่งกระเพาะปัสสาวะทำงานไม่ได้เต็มที่) คนที่เป็นนิ่วของทางเดินปัสสาวะ หรือเป็นเนื้องอกของกระเพาะปัสสาวะ หรือผู้ชายสูงอายุที่มีต่อมลูกหมากไตหรือผู้สูงอายุที่มีการตีบตันของท่อ ปัสสาวะ เหล่านี้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน โรคนี้ยังอาจพบได้ในคนที่เป็นเบาหวาน หรือกินยาสตีรอยด์นานๆ เนื่องเพราะคนเหล่านี้จะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ

7. กรวยไตอักเสบ เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด กลายเป็นภาวะโลหิตเป็นพิษ อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ บางรายที่รับการรักษาครึ่งๆ กลางๆ ไม่เต็มที่ตามแพทย์นัด ก็อาจกลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง (มีการอักเสบโดยไม่ปรากฏอาการ) ซึ่งหากปล่อยไว้นานปี ในที่สุดอาจกลายเป็นไตวายหรือพิการได้

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

คนที่เป็นโรคกรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลัน จะมีลักษณะเฉพาะ ดังนี้

1. มีไข้สูง ร่วมกับอาการหนาวสั่นอย่างมาก ต้องห่มผ้าหนาๆ คล้ายอาการของไข้มาลาเรีย แต่จะจับไข้ไม่เป็นเวลาแน่นอน และมีอาการหนาวสั่นได้วันละหลายครั้ง

2. มีอาการปวดบริเวณบั้นเอวหรือสีข้างเพียงข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อใช้กำปั้นทุบเบาๆ ตรงบริเวณที่ปวดจะมีความรู้สึกเจ็บจนสะดุ้งโหยง

3. ปัสสาวะขุ่นขาว บางครั้งอาจข้นเป็นหนอง

นอกจากนี้จะมีอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย แต่จะไม่เป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอ (ซึ่งเป็นอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ)

โรคอื่นที่อาจแสดงอาการคล้ายกรวยไตอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่

1. ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามหลังและทั่วตัว ใช้กำปั้นเคาะบั้นเอวจะไม่รู้สึกเจ็บ คนไข้จะไม่มีอาการหนาวสั่น เพียงแต่รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว มักจะมีอาการเป็นหวัด เจ็บคอร่วมด้วย

2. มาลาเรีย จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่นอย่างมาก แต่จะจับไข้เป็นเวลาแน่นอน วันละครั้งหรือวันเว้นวัน มักจะมีประวัติเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขา หรือได้รับการถ่ายเลือดมาก่อน

3. ปอดอักเสบ (ใน ระยะ 24 ชั่วโมง) นอกจากจะมีไข้สูง มีเสลด เป็นหนอง หรือเจ็บหน้าอกแปล๊บเวลาหายใจแรงๆ แล้ว บางคนอาจมีอาการหนาวสั่นอย่างมากร่วมด้วย

4. ท่อน้ำดีอักเสบ จะมีไข้สูง หนาวสั่น ตาเหลือง ตัวเหลือง และปวดท้องรุนแรง

5. ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก จะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีด เหลือง อ่อนเพลีย

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

หาก ไม่มีอาการไข้สูง และปวดเอวปวดหลัง ถ้าพบว่ามีอาการหนาวสั่นอย่างมากๆ จนต้องห่มผ้าหนาๆ ปัสสาวะขุ่นขาว หรือใช้กำปั่นทุบเบาๆ ที่เอวแล้วรู้สึกเจ็บ ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง

แพทย์จะทำอะไรให้

แพทย์ จะตรวจปัสสาวะ อาจจะตรวจเลือด เอกซเรย์ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าพบว่าเป็นกรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลัน อาจรับไว้รักษาที่โรงพยาบาล (ในกรณีที่อาการค่อนข้างหนัก) หรืออาจให้ยากลับไปกินที่บ้าน (ในกรณีที่คนไข้ยังกินได้ ดื่มน้ำได้ และบ้านอยู่ไม่ไกลนอกจากให้ยาบรรเทาอาการ (เช่น ยาลดไข้) แล้ว แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตม็อกซาโซน อะม็อกซีซิลลิน หรือนอร์ฟล็อกซาโซนกิน ในรายที่เป็นมากอาจให้ยาฉีด เช่น กาน่ามัยซีน หรือเจนตาไมซิน ถ้าถูกกับยา อาจจะทุเลาภายใน 3-4 วัน แต่จะต้องกินยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 1-2 สัปดาห์ เพื่อทำลายเชื้อให้หมด

เมื่อ รักษาจนอาการดีแล้ว แพทย์จะนัดคนไข้มาตรวจปัสสาวะทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่ามิได้กลายเป็นกรวยไตอักเสบชนิดเรื้อรัง ในกรณีที่ตรวจพบสาเหตุซ่อนเร้น เช่น นิ่ว เนื้องอก ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น ก็อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือพบว่าเป็นเบาหวาน ก็จะให้ยารักษาเบาหวานร่วมด้วย

โดยสรุป โรคกรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลันเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง ถ้าหากมีไข้สูงควรสังเกตว่ามีอาการหนาวสั่น ปัสสาวะขุ่นร่วมด้วยหรือไม่ ใช้กำปั้นทุบที่ทั้นเอวมีอาการเจ็บหรือไม่ ถ้ามีอาการข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว จะต้องรีบไปพบแพทย์และรักษาอย่างจริงจัง

การดูแลรักษาตนเอง

คน ที่มีไข้สูงและหนาวสั่นอย่างมาก ต้องห่มผ้าหนาๆ มักมีสาเหตุที่ร้ายแรง จะต้องรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หากตรวจพบว่า เป็นกรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลัน ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. รักษากับแพทย์อย่างจริงจัง ควรกินยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรคให้ครบตามขนาดที่แพทย์แนะนำ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน ก็ต้องกินยาต่อไปจนครบ มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นกรวยไตอักเสบชนิดเรื้อรังได้

2. เมื่อรักษาจนอาการหายดีแล้ว ควรไปพบแพทย์เป็นระยะๆ อาจทุก 3-4 เดือน เพื่อตรวจปัสสาวะให้แน่ใจว่าไม่มีการอักเสบเรื้อรัง

3. ขณะที่มีไข้สูง หนาวสั่น ให้กินยาลดไข้-พาราเซตามอล เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น ดื่มน้ำมากๆ และห่มผ้าหนาๆ ห้ามอาบน้ำเย็น

ดังนั้น เมื่อเป็นโรคนี้จะต้องรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
8. การป้องกันอยู่ที่ระวังอย่าให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะโดยการอย่า อั้นปัสสาวะ ถ้ามีอาการขัดเบา (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) ควรรีบรักษาเสียแต่เนิ่นๆ ถ้าเป็นนิ่ว หรือต่อมลูกหมากไต หรือเป็นเบาหวาน ก็ควรรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง เพื่อลดปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อ


ที่มา  www.doctor.or.th

www.doctor.or.th

อัพเดทล่าสุด