โรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อง่ายในโรงพยาบาล โรคหัด หรือ Measles เกือบทุกครั้งที่ได้รับปรึกษาให้ไปดูผู้ป่วยที่มีผื่นที่มีลักษณะเป็นผื่นคล้ายหัดในผู้ใหญ่ ที่ภาษาหมอเราเรียก maculopapular rash ถามทุกคนก็มักจะคิดถึงผื่นแพ้ยาเป็นส่วนมาก เพราะเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งถ้าเป็นมากเราก็มักจะให้ยาฉีดสเตียรอยด์ เช่น hydrocortisone หรือ dexamethasone แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา บางปีมีมากกว่า 30 รายที่ผื่นที่เห็นไม่ได้เกิดจากการแพ้ยา เป็นผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือโรคผิวหนังอื่นเช่น โรคแพ้แสง โรคเอสแอลอี ถ้าคนไข้เป็นเด็ก หลายครั้งผื่นที่เห็นเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหัด หัดเยอรมัน หรือส่าไข้จากเชื้อไวรัสอื่น ที่น่าแปลกก็คือ ในคนไข้ผู้ใหญ่ที่ไม่น่าจะเป็นโรคหัด กลับพบผู้ป่วยโรคหัดที่ได้รับการปรึกษาเพราะคิดว่าเกิดจากการแพ้ยาปีละเกือบ สิบราย ซึ่งที่แน่ๆ ถ้าคิดว่าแพ้ยาแล้วได้รับยาสเตียรอยด์เข้าไป อาการโรคหัดของผู้ป่วยอาจจะกำเริบ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ เรา จะมีวิธีคิดอย่างไรเพื่อที่จะแยกให้ได้ว่าผู้ป่วยรายโน้น รายนี้เกิดจากโรคหัด หรือเกิดจากการแพ้ยา หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ลองมาทำความรู้จักกับโรคหัดกันเป็นอันดับแรกก่อนดีกว่า สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์อาจารย์เคยถามผมว่า เราควรจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้กับเด็กอายุเท่าไร ผมคิดในใจว่า ทำไมต้องไปฉีดมันด้วย ไอ้วัคซีนป้องกันโรคหัดนี่ เพราะตัวผมเองก็เคยเป็นมาแล้ว พี่น้องทุกคนก็เป็นมาหมด เพื่อนๆก็ล้วนแต่เป็นกันมาแล้วทั้งนั้น แล้วเขาก็บอกว่า เป็นหนเดียวมีภูมิคุ้มกันไปทั้งชีวิต ไม่เป็นอีก เป็นเองก็หายเอง อ่านหนังสือดู กลับกล่าวถึงประวัติการทำลายล้างชีวิตมนุษย์จากโรคหัดไว้อย่างน่ากลัว ต่อเมื่อจบมาเป็นแพทย์ผมจึงได้เห็นผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคหัดเสียชีวิต เห็นหญิงที่ตั้งครรภ์ป่วยเป็นโรคหัดแล้วมีอาการแทรกซ้อนเป็นปอดบวม เห็นเด็กที่เป็นหัดแล้ว ท้องเดินจนมีอาการช็อค ซึ่งถ้าขาดการดูแลที่ดีก็คงจะเสียชีวิต หรือแม้แต่ว่าดูแลดีๆ ผู้ป่วยก็อาจจะเสียชีวิตได้ หมอเด็กรุ่นพี่ที่โรงพยาบาลถึงกับเคยสอนผมว่า เอ็งเห็นเด็กเป็นโรคหัดให้จับ admit นอนโรงพยาบาลซะ ปลอดภัยไว้ก่อนเวลาเกิดอะไรขึ้นก็ยังถือว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว โดยเฉพาะในเด็กฐานะยากจนที่อาจจะมีภาวะทุพโภชนาการอยู่ด้วย เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนแพทย์ผมชอบซื้อหนังสือที่ไม่ใช่ตำราแพทย์แต่เป็น หนังสือที่เขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของโรคต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประวัติบุคคลสำคัญของโลก หรือประวัติการเดินทางไปสำรวจโลกของนักเดินทางในอดีต มีเรื่องเล่ามากมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับดินแดนที่เกิดการระบาดของโรคหัดใน หมู่ชาวเกาะ เช่นที่เกาะฟิจิ ในปี คศ.1883 หัวหน้าเผ่าเดินทางไปออสเตรเลียแล้วไปติดโรคหัดมา ปรากฏว่ากลับมาถึงเกาะของตัวเองได้ไม่นานก็เกิดการระบาดของโรคหัดไปทั่วทั้ง เกาะ ปรากฏว่าผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะตายไปถึงหนึ่งในสี่ ในปี คศ. 1749 ชาว Amazon Indians เป็นหัดตายไป 30,000 คน ชนพื้นเมืองบางเผ่าถึงกับสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปเลย ช่วงสงครามกลางเมืองในอเมริกา มีทหารตายจากโรคหัดไป 5000 คน ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารตายจากหัดไป 2000 คน ในปีคศ. 1772 มีหัดระบาดที่เมือง Charleston มลรัฐเซ้าท์แคโรลิน่า ปรากฏว่าเด็กตายไป 900 คน ทุกวันนี้ขนาดที่เราคิดกันเอาเองว่าการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากเหลือเกิน แต่รายงานจากองค์การอนามัยโรคปี 1999 ยังมีคนเป็นโรคหัด 30-40 ล้านรายทั่วโลก ในจำนวนนี้ มี 875,000 รายที่เสียชีวิต ในปี คศ. 2004 มีผู้คนตายจากหัด 454,000 ราย ซึ่งถือว่าน้อยแล้วเพราะย้อนกลับไปไม่กี่ปี ในยุคที่ยังไม่มีวัคซีนโรคหัดพบว่า เพียงเวลาแค่ปีเดียวมีคนไข้เป็นโรคหัดมากกว่า 130 ล้านราย และมีเด็กในประเทศด้อยพัฒนาเป็นหัดตายปีละกว่าล้านคน พอมาถึงยุคที่มีวัคซีน ซึ่งปัจจุบันต้องถือว่าเป็นรุ่นที่สองที่ออกมาตั้งแต่ปี 1968 เป็นไวรัสหัดที่เขาทำให้อ่อนแอลง แต่ยังมีชีวิต live vaccine เพื่อให้ร่างกายเราสร้างภูมิต้านทานโดยไม่เกิดโรค ถือได้ว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่ารุ่นแรกที่ออกมาในปี 1963 ซึ่งเป็น killed viral vaccine จากผลของการฉีดวัคซีนทำให้ผู้ป่วยโรคหัดในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ อเมริกา มีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดในประเทศของเขาในแต่ละปีไม่ถึง 100 ราย จนมีการตั้งความหวังกันว่าภายในปี 2010 เราอาจจะสามารถตั้งเป้าที่จะทำให้โรคหัดหมดไปจากโลกนี้เหมือนดังเช่นโรคไข้ ทรพิษ หรือโรคที่ใกล้จะสามารถกำจัดให้หมดไปจากโลกได้อย่าง โปลิโอ เชื้อไวรัสหัด เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก บางคนบอกว่าเป็นโรคติดเชื้อที่ติดกันง่ายที่สุดในโลกในแง่ที่ virions ไม่กี่ตัวก็ทำให้เกิดโรคได้ และเพราะมันติดต่อกันผ่านละอองจากลมหายใจ หรือการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย เคยมีบันทึกว่าชายคนหนึ่งเดินทางจากยุโรปไปเยี่ยมบ้านที่ Venezuela ปรากฏว่ามีคนติดหัดจากเขาคนเดียวไป 2,000 ราย ในปี 1982 มีรายงานว่ามีเด็กติดหัดจากคลินิกแพทย์ ทั้งๆที่คนเป็นหัดที่ไปพบแพทย์ก่อนหน้านี้ได้ออกจากคลินิกไปตั้งชั่วโมง ครึ่งแล้ว หัดสามารถติดต่อกันได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนที่จะเริ่มมีผื่นขึ้น จนกระทั่งผื่นขึ้นไปได้ 4 วัน หลังจากนั้นไม่ใช่ระยะที่ติดต่อได้ง่ายอีกต่อไป พอคนไข้คนที่หนึ่งเป็นหัด อีกประมาณ 8-12 วันก็จะได้เจอคนไข้ที่ติดไวรัสหัดมาจากคนแรก เราเรียกว่ามีระยะฟักตัว 8-12 วัน พอติดเชื้อไวรัสหัดแล้ว สิ่งที่สำคัญมากที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ที่ทำให้ผู้ป่วยถึงตายได้บ่อยก็เพราะไวรัสไปทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายของ ผู้ป่วยต่ำลง จึงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงตามมา เวลาที่ผมไปดูคนไข้ว่าแพ้ยาหรือเป็นหัด ผมอาศัยหลักฐานหลายๆอย่างประกอบกัน ข้อที่หนึ่งพวกที่แพ้ยามักจะไม่มีไข้ และถ้ามีไข้ก็มักจะไม่ใช่ไข้สูงปรี๊ดขนาด 40-40.5 องศาเซลเซียส ผมมักจะถามคนไข้ที่มีไข้ว่าไอหรือเปล่า เพราะคนไข้โรคหัดนั้นไอเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จนครูท่านหนึ่งของผมสอนเอาไว้ว่า ถ้าไม่ไอไม่ใช่หัด แต่ที่ต้องระวังก็คือไอ้ที่ไอแล้วไม่ใช่หัดก็มีเยอะ ถ้าคนไข้มีตาแดง ผมมักจะคิดถึงหัดก่อนเสมอ อย่างไรก็ดีผมจะฟันธงว่าเป็นหัดก็ต่อเมื่อให้คนไข้อ้าปากแล้วเอาไม้กดลิ้นดู ที่กระพุ้งแก้มด้านใน buccal mucosa ประมาณฟันกรามด้านบนสองซี่สุดท้าย มีบ้างนานๆครั้งพบที่ labial mucosa ถ้ามีจุดแดงและจุดขาวเล็กๆ เต็มไปหมด หลายคนบรรยายว่าเหมือนเม็ดทรายบนพื้นสีแดง ที่เราเรียกว่า Koplik spots ถ้าเห็นละก็ฟันธงได้เลย น่าเสียดายที่ Koplik spots ถ้าผื่นขึ้นมาสักสองสามวัน ก็มักจะหายไปเสียแล้ว อีก อย่างหนึ่งก็คือถ้าไม่มีผื่นที่หน้าก่อน คือมีแต่ผื่นตามตัวหรือที่อื่น อย่างนี้ผมจะคิดว่าคงไม่ใช่หัด เพราะผื่นหัดร้อยทั้งร้อย ขึ้นที่หน้าก่อน โดยเฉพาะที่หน้าผากและหลังหู แล้วค่อยลามไปที่ลำตัว สุดท้ายผื่นที่แขนขาถึงจะปรากฏให้เห็น บางรายพอผื่นใกล้จะหายก็จะเห็นผิวหนังลอกเป็นขุยเล็กๆเต็มไปหมด ผื่น หัดมักจะไม่ค่อยคัน ถ้าคันก็คันไม่มาก แต่ถ้าคันสุดๆละก็คิดถึงแพ้ยา หรือผื่นแพ้อย่างอื่นเอาไว้ก่อน เวลาตรวจร่างกายคนไข้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหัดหรือไม่ผมจะคลำต่อมน้ำ เหลืองอยู่สองตำแหน่งคือ ที่คอสองข้าง และที่หลังหู ถ้าไม่โตแล้วไป ถ้าต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มีโอกาสเป็นหัดมากกว่าแพ้ยา แต่ถ้าเจอต่อมน้ำเหลืองที่หลังใบหู ผมจะคิดถึงอีกโรคหนึ่งคือ หัดเยอรมัน ปัญหาที่รบกวนจิตใจผู้ป่วยและผู้ที่ดูแลไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล และญาติผู้ป่วยก็คืออาการของหัด บางทีมันไม่ได้มีแค่นี้ บางคนมีทั้งปวดท้อง ทั้งอาเจียน แถมบางรายยังคลำได้ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว และถ้าไม่ได้คิดถึงในใจเอาไว้ก่อนว่า โรคหัดนี้มีอาการแทรกซ้อนมากมายที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ปอดบวม อาการวัณโรคกำเริบ สมองอักเสบ นี่ยังไม่นับอาการหูอักเสบ เกร็ดเลือดต่ำทำให้มีจ้ำเลือดขึ้นตามตัว บางคนก็มีตับอักเสบ หากไม่ได้หมั่นสังเกตุอาการ หรือ ส่งตรวจเพิ่มเติม อาจจะต้องมารบกับญาติผู้ป่วยที่คงจะตั้งข้อสงสัยว่า ไหนคุณหมอบอกว่าเป็นหัด ทำไมตอนนี้อาการหนักทำท่าจะตายเอา โดยโรคที่ทำให้คนไข้เสียชีวิตมากที่สุดก็คือ ปอดบวม มีวิธีคิดที่พอจะให้เราตั้งข้อสังเกตุว่า โรคหัดคนไหนอาจเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง ก็คือกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ ยิ่งถ้าอายุต่ำกว่า 2 ขวบยิ่งเสี่ยง และพวกที่อายุเกิน 20 ปี โดยเฉพาะที่อายุมากๆ ประเภท 60 ขึ้นไปยิ่งมีความเสี่ยงสูง อีกอย่างหนึ่งก็คือ คนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และพวกที่มีภาวะทุพโภชนาการ หมอสมัยก่อนเห็นโรคหัดมามากกันทุกคน ก็ไม่เห็นความสำคัญว่าจะต้องส่งตรวจอะไรกันมากมาย และอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีให้ส่งตรวจอีกด้วย ถ้ามีก็มีอยู่ไม่กี่แห่งในกรุงเทพ ได้แก่การส่งตรวจ measles antibody IgM และIgG พอเห็นคนไข้สงสัยหัด ก็ส่งตรวจ IgM ก่อน แต่แนะนำว่าอย่าเพิ่งใจร้อนส่งทันที รอให้ผื่นขึ้นไปสัก 3-4 วันแล้วค่อยส่ง หรือส่งก่อนคนไข้กลับบ้าน หลังจากนั้นนับไป 2 อาทิตย์หลังผื่นขึ้นค่อยส่ง IgG แล้วส่ง measles antibody IgG ซ้ำอีกครั้งอีก 4-6 สัปดาห์ต่อมา ถ้า titer ขึ้นมากกว่า 4 เท่าถึงจะยืนยันได้ว่าเป็นหัดอย่างแน่นอน เรียกว่ากว่าจะได้ผลคนไข้ก็หายกลับบ้านไปเป็นเดือนแล้ว แต่มีความสำคัญสำหรับการเรียนรู้ของแพทย์ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ หากเป็นหัดชนิดมีโรคแทรกซ้อนก็จะได้มีหลักฐานยืนยันให้เราให้การรักษาอย่าง มั่นใจ สมัยนี้การวินิจฉัยทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นคือ ส่ง measles PCR ไปเลย ได้ผลเร็วกว่า แต่ก็แพงกว่า แต่โทษทีผมเคยส่งทั้ง antibody และ PCR ปรากฏว่า PCR ผลเป็นลบ แต่ measles IgM ขึ้น คำถามที่ได้รับจากพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอยู่เสมอ มันจะติดพวกเราไหม และถ้ามีใครที่กำลังตั้งครรภ์อยู่แล้วต้องขึ้นเวรจะทำอย่างไร จากประสบการณ์จริง ผมพบว่าพวกเราติดหัดจากคนไข้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ล้วนแต่ฉีดวัคซีนหัดกันมาตั้งแต่ยังเด็กแล้ว และวัคซีนหัดนี่ถ้าลองใครได้ฉีดก็มักจะมีภูมิคุ้มกันกันเขาว่า antibody ขึ้นประมาณ 95% สมัยก่อนฉีดกันแค่เข็มเดียวตอน 9 เดือน แล้วก็ปรับเป็น 12 เดือน 15 เดือน ตอนผมทำงานอยู่ต่างจังหวัดผมให้ฉีดตอน 9 เดือน เพราะรอจน 15 เดือนหลายคนติดหัดไปแล้ว สมัยนี้เห็นหมอเด็กเขาให้ฉีด 3 ครั้งคือ 9 เดือนฉีดวัคซีนหัดอย่างเดียว 1 เข็มแล้วอายุ 15 เดือนฉีดวัคซีน MMR คือมีทั้งหัด หัดเยอรมัน และคางทูมรวมกัน และฉีดซ้ำอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4-6ปี เพราะฉะนั้นต้องถามคุณพ่อคุณแม่ และถามตัวเองดูครับว่า เราได้รับการฉีดวัคซีนกันครบแค่ไหน ถ้าสงสัยว่าจะไม่เคยฉีด และไม่เคยออกหัด ก็ควรจะฉีดเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป อย่างมากก็มีไข้ขึ้นสักวันสองวัน บางคนอาจมีผื่นหัดขึ้นน้อยๆ แต่ถ้ารู้ตัวว่าท้อง ไม่ควรฉีดนะครับ วัคซีนหัดอาจก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กในครรภ์ได้ รู้แต่ว่าถ้าฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน เข้าห้ามไม่ให้ท้องอย่างน้อย 3 เดือน ถ้าท้องอยู่ และไม่เคยออกหัด รวมทั้งไม่เคยฉีดวัคซีน ถ้าเจอคนไข้โรคหัดละก็มีสิทธิ์ติดได้อย่างง่ายดาย เพราะติดต่อทางลมหายใจ ถ้าคนท้องเป็นหัด ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนสำคัญคือปอดบวมถือว่ามีมากกว่าปกติ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยส่วนตัวผมไม่เคยเห็น case ที่แม่เป็นหัดแล้วลูกในท้องเสียชีวิต แต่เคยมีรายงานว่าถ้าแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นหัดอาจทำให้เกิดการแท้ง เด็กคลอดน้ำหนักน้อยกว่าปกติ บางรายอาจถึงกับทำให้เด็กในครรภ์เสียชีวิต การรักษาโรคหัด ส่วนมากก็เป็นการดูแลแบบ supportive คือรักษาตามอาการ ให้นอนพักให้มาก ดื่มน้ำมากๆให้เพียงพอ ดูแลอย่าให้ขาดสารอาหาร มีไข้ให้ยาลดไข้ อาเจียนให้ยาแก้อาเจียน ปวดท้องก็ให้ยาลดอาการปวดเกร็ง ยาลดกรด ท้องเดินก็ให้กินน้ำเกลือ ให้น้ำเกลือไปตามสภาวะว่ามีอาการขาดน้ำหรือไม่ สำหรับอาการไอต้องทำใจส่วนใหญ่จะไอนานหลายสัปดาห์อย่างน้อยก็หนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่น้ำมูกหรืออาการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆหายแล้ว บางรายอาจจะต้องให้ vaporizer ให้ส่งตรวจดูว่ามีตับอักเสบไหม ซึ่งผลการตรวจเอ็นไซม์ตับมักจะพบว่าผิดปรกติ แต่เมื่อหัดหายแล้วส่วนใหญ่ก็จะกลับมาเป็นปกติในเวลาไม่นานนัก บางรายก็จำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเมื่อสงสัยว่าอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่นปอดบวม หูอักเสบ ยาปฏิชีวนะต้องให้ถ้ามีไข้ peak ที่สองขึ้น ซึ่งมักจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน สำหรับยาต้านไวรัสก็มีการกล่าวถึงยา Ribavirin ว่าสามารถฆ่าเชื้อไวรัสหัดได้ในหลอดทดลอง ส่วนมากก็จะให้กันในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันหรือรักษาอาการสมองอักเสบหลังเป็นหัด ที่เรียกว่า subacute sclerosing panencephalitis มีการศึกษาบางรายงานว่าการให้วิตามินเอ ในเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการอาจช่วยผู้ป่วยโรคหัดได้ โดยเฉพาะในเด็ก 6 เดือนถึง 2 ปี ทั้ง WHO และ UNICEF ต่างแนะนำให้ให้วิตามินเอในเด็กเป็นหัดทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อ ภาวะขาดวิตามินเอ โดยมีรายงานการศึกษาว่าช่วยลดทั้งความรุนแรงของโรคและอัตราตาย ซึ่งแนะนำให้ให้ในผู้ป่วยหัดที่มีอาการรุนแรงทุกราย Rubella หรือหัดเยอรมัน เป็นโรคที่มีอาการคล้ายหัดมาก แต่ไข้มักจะสูงกว่า ผื่นขึ้นเร็วหายไปเร็ว บางคนเรียกว่า 3 days measles คือเป็นหัดที่เป็นแค่ 3 วันหาย ข้อสังเกตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราแยกโรคออกจากหัดได้อย่างชัดเจนก็คือการ มีต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะที่หลังหู คอ และ occipital area ซึ่งมักจะโตเป็นเดือน โดยที่ผื่นหัดเยอรมันนั้นขึ้นเพียง 3 วันก็หายไป และไม่ค่อยทิ้งรอยดำเอาไว้เหมือนหัด ที่พอหายแล้วตัวยังดำลายไปอีกหลายสัปดาห์ การยืนยันการวินิจฉัยทำได้โดยการส่งตรวจ Rubella antibody IgM และIgG ระยะเวลาส่งก็เช่นเดียวกับหัด โดยเฉพาะถ้า IgG ขึ้นมากกว่า 4 เท่า เดี๋ยวนี้มีการส่งตรวจ Rubella PCR ก็เลยทำให้ยิ่งได้ผลตรวจเร็วขึ้น ถ้ามีคนไข้ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหัดเยอรมัน คนท้องทุกคนควรจะหนีไปให้ห่างถ้าไม่แน่ใจว่าเคยได้รับวัคซีน MMR มาก่อนหรือไม่ โดยเฉพาะในคนท้องช่วง 3 เดือนแรก เพราะถ้าเกิดป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน อาจมีผลให้เด็กในครรภ์พิการรุนแรง ยังมีอยู่อีกโรคหนึ่งที่ต้องคิดถึงเอาไว้เวลามีใครมาบอกให้ว่าคนไข้เป็นหัด นั่นก็คือ Kawasaki disease ซึ่งมักจะมีอาการมือเท้าลอก โรคนี้ถ้าเป็นแล้วเด็กอาจมีปัญหาเรื่องของการติดเชื้อที่หัวใจ การรักษาอาจต้องให้ยาแอสไพรินร่วมด้วย |
ที่มา gotoknow.org |