การวินิจฉัยโรคหัด เรื่อง วิธีต้านโรคหัดเยอรมัน และป้องกัน การแพร่กระจายของโรคหัดเยอรมัน


919 ผู้ชม


การวินิจฉัยโรคหัด
โรคหัดคืออะไร
โรคหัดหรือภาษาชาวบ้านเรียก “ไข้ออกตุ่ม” (ถ้าเป็นชาวจีนก็เรียกว่า “ชุกม้วย”) เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดโรคหนึ่งในเมืองไทย ทั้งนี้ตั้งแต่โบราณมาแล้วที่เด็กทุกคนจะต้องเป็นโรคหัด จนเป็นความเชื่อไปเลยว่ายากดีมีจนไม่มียกเว้น และถือว่าการเป็นหัดเป็นเรื่องปกติธรรมดา
อย่างไรก็ดี สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่เคยเห็นลูกหลานเป็นหัดแล้วจะต้องยอมรับว่าหัดเป็น โรคที่สร้างความทุกข์ให้แก่ทั้งผู้ป่วยและผู้ปกครอง เพราะเด็กจะมีอาการไข้ น้ำมูก ตาแดง ไอมากติดต่อกัน 3-4 วัน แล้วจึงเริ่มออกผื่นตัวลายเป็นตุ๊กแกอีกเกือบอาทิตย์ เด็กที่เคยอ้วนท้วนน่ารักก็จะผอมลงเพราะกินอะไรไม่ได้เท่าที่ควร ที่เคยผอมอยู่แล้วก็ยิ่งแย่ลงไปอีก
ที่สำคัญคือ เด็กร้อยละ 15 จะมีโรคแทรกได้ เช่น ท้องร่วง ปอดบวม หูน้ำหนวก และสมองอักเสบ ฯลฯ ซึ่งทำให้เด็กตายได้ง่าย หรืออาจมีความพิการต่อไป
จากข้อมูลของกอง ระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2528 พบว่าทุกๆ 1,000 รายของผู้ป่วยจะมีเด็กเสียชีวิต 1 คน แต่ถ้ามีโรคแทรกซ้อนแล้ว การตายจะเพิ่มขึ้นเป็นทุกๆ 200 รายของผู้ที่ป่วยจะเสียชีวิต 1 คน ท่านผู้อ่านคงไม่อยากให้บุตรหลานของท่านป่วยเป็นหัดแล้วเสี่ยงต่อความตาย หรือพิการแน่ๆ
ต้องเป็นหัดทุกคนหรือไม่
ความ เชื่อที่ว่าเด็กทุกคนจะหนีโรคหัดไม่ได้นั้นไม่จริงเสียแล้ว เด็กๆในประเทศอเมริกาเกือบจะไม่มีใครป่วยเป็นหัดอีกเลย ทั้งๆที่มีประชากร 240 ล้านคน สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มให้วัคซีนป้องกันหัดแก่เด็กทุกคนตั้งแต่พ.ศ.2527 เป็นต้นมา
เด็กที่ได้รับวัคซีนแล้วเกือบจะไม่มีโอกาสเป็นโรคหัดเลย เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ขอให้คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายวางใจได้ และไม่ต้องกังวลอย่างผิดๆว่าวัคซีนจะทำให้เด็กไม่ออกผื่นเวลาป่วย (ดังที่เรียกกันว่าหัดหลบใน) ซึ่งมีความเชื่อกันว่าจะเป็นอันตราย ตรงกันข้ามเด็กที่ได้รับวัคซีน ถ้าเกิดป่วยก็จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า
จะป้องกันโรคหัดได้อย่างไร
ใน ฉบับที่แล้วท่านผู้อ่านคงทราบจากบทความในคอลัมน์เดียวกันนี้แล้ว ว่าการป้องกันโรคหรือภัยต่างๆในทางสาธารณสุขสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
การป้องกันขั้นต้น (การป้องกันการป่วย)
การป้องกันขั้นที่สอง (การรักษาเพื่อป้องกันการตายหรือโรคแทรก)
และการป้องกันขั้นที่สาม (การฟื้นฟูสมรรถภาพ)
สำหรับ โรคหัดก็เช่นเดียวกัน ควรเน้นที่การป้องกันขั้นต้นหรือการป้องกันก่อนติดโรค แต่เมื่อเป็นแล้วก็ต้องรู้ว่าจะดูแลรักษาเองอย่างไร และเมื่อไรควรจะปรึกษาแพทย์
การป้องกันก่อนติดโรค
การฉีดวัคซีน เป็นวิธีที่ดีที่สุด ง่ายที่สุด วัคซีนป้องกันโรคหัดที่ใช้ในประเทศไทยมี 2 ชนิดคือ
ชนิดแรก วัคซีน ป้องกันโรคหัดชนิดเดียว (Measles vaccine) เป็นวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ฉีดให้แก่เด็กทุกคนโดยไม่คิดมูลค่าที่สถาน บริการทุกแห่งในสังกัด ผู้ปกครองควรพาเด็กไปรับวัคซีนตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน โดยฉีดเพียงเข็มเดียว จะป้องกันโรคหัดได้แน่นอน ส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ที่กำหนดให้ฉีดในช่วงอายุนี้เพราะถ้าฉีดก่อน 9 เดือนภูมิคุ้มกันที่มีอยู่เดิมจากแม่อาจรบกวนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันใน เด็กได้
ชนิดที่สอง คือวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) แม้ว่าจะมีข้อดีตรงที่ป้องกันได้ทั้ง 3 โรคพร้อมกัน แต่มีราคาแพงมาก และควรฉีดในเด็กอายุ 15 เดือน เพราะภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมันจะเกิดไม่ค่อยดีถ้าฉีดในอายุที่ต่ำกว่านี้ แต่เด็กอาจติดโรคหัดเสียก่อนถ้ารอจนถึง 15 เดือน ดังนั้น วัคซีนป้องกันหัดชนิดเดียวจึงเหมาะกว่ามาก
เราทราบว่าเชื้อหัดจะปน ออกมากับน้ำมูก เสมหะหรือฝอยละอองเมื่อไอจาม โดยจะพบเชื้อตั้งแต่วันแรกที่มีอาการจนกระทั่งผื่นออกแล้วประมาณ 4 วัน ดังนั้นเมื่อเด็กเล็กๆในบ้านหรือข้างบ้านมีอาการคล้ายหัดหรือมีอาการเป็น หวัดไอมาก ไม่ควรให้บุตรหลานที่ยังไม่ได้รับวัคซีนไปคลุกคลีด้วย (ความจริงแล้วหลักการนี้เป็นวิธีการป้องกันโรคต่างๆที่ถ่ายทอดทางการไอหรือ จามได้หลายโรค เช่น หวัด ปอดบวม หัดเยอรมัน ฯลฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูกาลที่มีการระบาดของโรคหัดซึ่งได้แก่ ช่วงปลายปีติดต่อไปถึงต้นปี (พ.ย.-มี.ค.) หรือทราบว่ามีผู้ป่วยอยู่ในละแวกใกล้เคียง
สำหรับในโรงเรียนอนุบาล หรือเด็กชั้นเล็กๆ ถ้าครูพบเด็กที่สงสัยว่าจะป่วยเป็นหัดหรือมีอาการหวัด ตาแฉะ และไอมาก ควรจะได้ให้เด็กหยุดเรียนเพื่อป้องกันการติดต่อไปยังเด็กร่วมชั้นเรียนคน อื่นๆ
ในกรณีเด็กซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนไปคลุกคลีสัมผัสกับผู้ป่วย ตัวอย่างเช่นอยู่บ้านเดียวกันหรือนั่งเรียนติดกัน ฯลฯ การรีบพาไปรับวัคซีนอาจช่วยป้องกันได้ถ้าไม่เกิน 2-3 วันโดยพบว่าร้อยละ 68 ของเด็กจะไม่ป่วยหรือถ้าป่วยก็มีอาการไม่รุนแรง
การรักษาเมื่อป่วยแล้ว
ถ้า ไม่มียารักษาเฉพาะ เชื้อจะถูกกำจัดเองโดยภูมิคุ้มกันที่เกิดตามมาจึงอาศัยการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวบ่อยๆ (ในเด็กที่ชักเวลาไข้สูง ควรกินยากันชัก) ยาแก้ไอ ให้ดื่มน้ำมากๆ เด็กบางคนอาจมีอาการท้องร่วงร่วมด้วยก็ได้ ดื่มน้ำเกลือ การรักษาเหล่านี้ผู้ปกครองสามารถดูแลได้เอง
โดย ธรรมชาติหลังจากผื่นออกแล้ว 1-2 วันอาการไข้ควรจะลดลง อาการทั่วไปจะดีขึ้น ถ้าไม่เป็นไปดังนี้ต้องสงสัยไว้ว่าอาจจะมีโรคแทรกบางอย่าง ที่พบบ่อยได้แก่ ปอดบวม (เด็กจะไอมาก หายใจหอบ) หูน้ำหนวก (เด็กจะงอแง เอามือขยี้หู หรือบ่นปวดหู ฯลฯ) สมองอักเสบ (ซึม ชัก หมดสติ) จึงถือเป็นหลักว่าควรต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยต่อไปในกรณีที่ อาการไม่ดีขึ้นหลังจากผื่นออกแล้ว 1-2 วัน
โดยสรุป ผู้ปกครองไม่ควรคิดว่าโรคหัดไม่อันตราย เพราะทำให้เกิดโรคแทรกได้หลายอย่าง เช่น ปอดบวม หูน้ำหนวก สมองพิการ ฯลฯ ไม่ควรที่จะต้องให้บุตรหลานของท่านป่วยเป็นหัดอีกแล้วเพราะโรคหัดเป็นโรคที่ ป้องกันได้
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การพาบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัดเมื่ออายุได้ 9 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ
ที่มา  www.doctor.or.th

อัพเดทล่าสุด