วันฉัตรมงคล พระราชพิธีฉัตรมงคล ประวัติ ความเป็นมา และการประกอบพระราชพิธี


913 ผู้ชม

วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์


พระราชพิธีฉัตรมงคล

วันฉัตรมงคล พระราชพิธีฉัตรมงคล ประวัติ ความเป็นมา และการประกอบพระราชพิธี

               วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489   แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป  จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ แล้วจึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย และรัฐบาลไทย ได้น้อมเกล้าฯ   จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.  2493 เหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก

                        พระราชพิธีฉัตรมงคลพระราชพิธีฉัตรมงคล

 

ประวัติความเป็นมาของการจัดพิธีบรมราชาภิเษก

               การ จัดพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพิธีที่จัดต้อนรับหรือรับรองฐานะความเป็นประมุขของสังคม อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งมีมาแต่ครั้งพ่อขุนผาเมือง ได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย ดังปรากฏในหลักฐานในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระองค์ได้ทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติทุกสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ พระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า "พระบาท" นำหน้า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า "พระบรมราชโองการ" และที่สำคัญประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

 

              ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณ ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เป็นวันจุดเทียนชัย และวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 อันเป็นวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำหรับขั้นตอนของพิธีที่สำคัญต่างๆ แบ่งออกเป็น 5 ลำดับ ดังนี้
                        1.      ขั้นเตรียมพิธี
                        2.      พิธีเบื้องต้น
                        3.      พิธีบรมราโชวาท
                        4.      พิธีเบื้องปลาย และ
                        5.      เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เพระราชพิธีที่ประกอบขึ้นก่อนวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก 


                 ขั้นเตรียมพิธี มีการตักน้ำและตั้งพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษก และน้ำสรงมูรธาภิเษก สำหรับน้ำอภิเษกนั้น ต้นตำราให้ใช้น้ำจากสถานที่สำคัญต่าง ๆ 18 แห่ง และทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พุทธเจดีย์ที่สำคัญตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร แล้วส่งเข้ามาเจือปนเป็นน้ำมูรธาภิเษกให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรง และทรงรับน้ำอภิเษกในวันพระราชพิธีราชาอภิเษกต่อไป พระพุทธเจดีย์ที่สำคัญที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ทั้ง 18 แห่ง คือ 
                                                             
    

1. จังหวัดสระบุรี        ที่ตั้งพระพุทธบาท 
2. จังหวัดพิษณุโลก   ที่ตั้งวัดพระศรีมหาธาตุ 
3. จังหวัดสุโขทัย      ที่ตั้งวัดพระมหาธาตุ 
4. จังหวัดนครปฐม     ที่ตั้งพระปฐมเจดีย์ 
5. จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ตั้งวัดพระมหาธาตุ 
6. จังหวัดลำพูน                  ที่ตั้งวัดพระธาตุหริภุญชัย 
7. จังหวัดนครพนม    ที่ตั้งวัดพระธาตุพนม
8. จังหวัดน่าน                      ที่ตั้งวัดพระธาตุแช่แห้ง 
9. จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ตั้งวัดบึงพระลานชัย
10. จังหวัดเพชรบุรี   ที่ตั้งวัดมหาธาตุ 
11. จังหวัดชัยนาท ที่ตั้งวัดพระบรมธาตุ 
12. จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ตั้งวัดโสธร 
13. จังหวัดนครราชสีมา ที่ตั้งวัดพระนารายณ์มหาราช 
14. จังหวัดอุบลราชธานี ที่ตั้งวัดศรีทอง 
15. จังหวัดจันทบุรี   ที่ตั้งวัดพลับ 
16. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ตั้งวัดมหาธาตุ อำเภอไชยา 
17. จังหวัดปัตตานี ที่ตั้งวัดตานีณรสโมสร 
18. จังหวัดภูเก็ต ที่ตั้งวัดทอง 
น้ำสำหรับ มูรธาภิเษกเป็นน้ำที่เจือด้วยน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี สรภู มหิ และจากปัญจสุทธคงคา ในแม่น้ำสำคัญทั้ง 18 ของไทย คือ
1. แม่น้ำเจ้าพระยา     ตักที่ตำบลบางแก้ว จังหวัดอ่างทอง
2. แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าชัย จังหวัดเพชรบุรี
3. แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม
4. แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ จังหวัดสระบุรี
5. แม่น้ำบางปะกง  ตักที่ตำบลบึงพระอาจารย์ จังหวัดนครนายก

             และ น้ำ 4 สระ คือสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเคยใช้เป็นน้ำสรงมาแต่โบราณ นอกจากนี้ยังมีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎดวงพระบรมราชสมภพ (ดวงเกิด) และแกะพระราชลัญจกร (ดวงตราประจำรัชกาล) โดยได้มีการประกอบพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2493 ในพระโบสถวัดพระศรีศาสดาราม 


             พิธีในเบื้องต้น มีการตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระบรมราชาภิเษก 
             พิธีบรมราชาภิเษก เริ่มด้วยการสรงพระมุรธาภิเษกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรพระราชอาสน์ ราชบัณฑิตและพราหมณ์นั่งประจำ 8 ทิศ กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล ถวายดินแดนแต่ละทิศให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคุ้มครอง (ในรัชกาลนี้ได้เปลี่ยนจากราชบัณฑิตเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน)

 
             ในวันที่ 5 พฤษภาคม อันเป็นวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงมูรธาภิเษก แล้วทรงเครื่องต้นเสด็จออกประทับ เหนือพระที่นั่งอัฐทิศภายใต้สตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษก และพราหมณ์ทำพิธีถวายน้ำเทพมนต์เวียนไปครบ 8 ทิศ เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ (จิตต์ ณ สงขลา) ประธานวุฒิสมาชิกสภา ถวายพระพรเป็นภาษามคธ และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ ประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายพระพรเป็นภาษาไทย พระราชครูวามเทพมุนี ถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น) แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งภัทรบิฐ พราหมณ์ร่ายเวทเปิดศิวาลัยไกลาสทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ ด้วยภาษามคธ

ที่มา กรมการศาสนา

อัพเดทล่าสุด