วันสงกรานต์ หมายถึง วันขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยโบราณ โดยนับวัน เดือน ปี ทางจันทรคติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน เป็นต้นไป ประเพณีการบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันสงกรานต์มีมาแต่โบราณ ตามประเพณีของชาวพุท
พระราชพิธีสงกรานต์
วันสงกรานต์ พระราชพิธีสงกรานต์ของพระมหากษัตริย์ไทย
วันสงกรานต์ หมายถึง วันขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยโบราณ โดยนับวัน เดือน ปี ทางจันทรคติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน เป็นต้นไป ประเพณีการบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันสงกรานต์มีมาแต่โบราณ ตามประเพณีของชาวพุทธ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวิธีนับวัน เดือน ปี เป็นทางสุริยคติ คือใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ส่วนประเพณีการบำเพ็ญกุศลสงกรานต์ยังคงเดิม
ต่อมา รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกัน เรียกว่า พระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ โดยเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน และงดงานพระราชพิธีตรุษะ สงกรานต์ในวันที่ 13 เมษายน ที่เคยมีมาแต่เดิม
พระราชพิธีสงกรานต์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ต้น จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีหลักการพระราชพิธีคล้ายสมัยสุโขทัยตามเรื่องของนางนพมาศ เว้นแต่บางปีเมื่อมีพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ เจริญพระชนมายุที่จะโสกันต์ก็โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีโสกันต์ ในวันแรกที่มีการสวดมนต์ ในงานพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ด้วยกัน
ครั้นถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม และจัดให้มีพระราชพิธีขึ้นปีใหม่เป็นเวลา 3 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม และวันที่ 1 – 2 มกราคม ของปีถัดไป และโปรดเกล้าให้จัดการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่นที่เคยปฏิบัติในพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ ได้แก่ การบำเพ็ญพระราชกุศล เสด็จพระราชดำเนินสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เวียนเทียน สดัปปกรณ์ผ้าคู่พระบรมอัฐิ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระอัฐิสมเด็จพระบรมวงศ์ พระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวร และพระอัฐิพระราชวงศ์ เป็นต้น
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล เทศกาลสงกรานต์ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า พระราชพิธีสงกรานต์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ถึง วันที่ 16 เมษายน ซึ่งมีการบำเพ็ญพระราชกุศลและการพระราชพิธีต่าง ๆ ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติแต่เดิม นอกจากนี้ยังจัดให้มีเครื่องราชสักการะ ประกอบด้วยต้นไม้ทอง 4 ต้น ต้นไม้เงิน 4 ต้น แพรแดงติดขลิบ 4 ผืน ผ้าแพรดอก 2 ผืน เทียนหนักเล่มละ 180 กรัม 48 เล่ม ธูปไม้ระกำ 48 ดอก น้ำหอมสรงพระ 2 หม้อ เทียนหนักเล่มละ 15 กรัม 600 เล่ม ธูป 20 กล่อง เพื่อพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทย นำไปบูชาพระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุนครศรีธรรมราช พระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระศรีสรรเพชญ พระพุทธรูปถ้ำประทุน พระพุทธรูปถ้ำวิมานจักรี พระพุทธรูปวัดพนัญเชิง พระพุทธรูปวัดสุวรรณดาราราม
วันสงกรานต์ , พระราชพิธีสงกรานต์ , พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ , สงกรานต์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ที่มา กรมการศาสนา