นิ่วในไต สาเหตุ การรักษา การป้องกัน |
คำจำกัดความ นิ่วในไต (Kidney stones หรือ Nephrolithiasis) คือ การที่แร่ธาตุและกรดเกลือในปัสสาวะ มาสะสมรวมกันอยู่ในรูปของของแข็ง และอยู่ในไต ถ้าก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็กมาก จะสามารถหลุดออกมานอกร่างกายได้เอง ผ่านทางน้ำปัสสาวะ คือ ผ่านจากไต ลงมาที่ท่อไต ต่อเนื่องลงมาจนถึงกระเพาะปัสสาวะ และผ่านทางท่อปัสสาวะออกมาด้านนอก แต่ถ้าก้อนนิ่วนั้นมีขนาดใหญ่มาก จะไปอุดกั้นอยู่ในท่อไต ไม่สามารถผ่านออกมาได้ จึงทำให้เกิดอาการของโรคนิ่วขึ้น นิ่วในไต แบ่งได้หลายชนิด ตามส่วนประกอบหลักของก้อนนิ่ว ประกอบด้วย * Calcium stones : ส่วนประกอบหลักของก้อนนิ่วเป็นแคลเซียม * Struvite stones : ก้อนนิ่วเกิดจากสารยูเรียที่สร้างจากแบคทีเรีย ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ * Uric acid stones : ส่วนประกอบหลักของก้อนนิ่วเป็นกรดยูริค * Cystine stones อาการ อาการของโรคนิ่วในไต เกิดจากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่กว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อไต (ใหญ่กว่า 2-3 มิลลิเมตร) ทำให้ก้อนนิ่วเคลื่อนที่เข้าไปอุดอยู่ในท่อไต อาการและอาการแสดงของโรคนิ่วในไต ประกอบด้วย * อาการปวดอย่างรุนแรงที่บริเวณสีข้างหรือใต้ชายโครง อาการปวดอาจร้าวไปที่ท้องน้อยส่วนล่างและขาหนีได้ ลักษณะอาการปวดเป็นแบบบีบๆ คลายๆ (เรียกว่า renal colic) อาการปวดจะมาเป็นช่วงๆ ส่วนใหญ่แต่ละครั้งปวดนานประมาณ 20-60 นาที อาการปวดนี้เกิดจากก้อนนิ่วไปอุดอยู่ในท่อไต ทำให้ท่อไตพยายามบีบตัวเพื่อขับเอาก้อนนิ่วออก * มีคลื่นไส้ และหรืออาเจียนร่วมด้วย * มีเลือดปนออกมาในน้ำปัสสาวะ ซึ่งอาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า (ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อหรือสีแดงสด) หรือมองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ตอนส่งตรวจปัสสาวะ เกิดจากเยื่อบุผิวของทางเดินปัสสาวะถูกทำลายและหลุดลอกออก * เจ็บเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะขัด : ส่วนใหญ่เกิดจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แต่บางรายเกิดจากมีก้อนนิ่วปนอยู่ในน้ำปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่คล่อง * ปัสสาวะมีก้อนกรวดปน * มีอาการปัสสาวะแสบ/ขัด/ขุ่น และหรือไข้ หนาวสั่น จากมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อน สาเหตุ นิ่วในไตไม่มีสาเหตุที่แน่นอน แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันที่ทำให้มีความไม่สมดุลของน้ำและสาร ต่างๆ ในน้ำปัสสาวะ (ความเป็นกรดด่างและแร่ธาตุต่างๆ) ทำให้เกิดการตกตะกอนเป็นนิ่วขึ้น การวินิจฉัย การซักประวัติ : ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดังที่กล่าวมาแล้ว การตรวจร่างกาย : ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและเคาะเจ็บที่บริเวณสีข้าง การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ : ประกอบด้วย 1. การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) : จะพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะปริมาณมาก 2. การตรวจทางรังสีวินิจฉัย : * การตรวจเอ็กซเรย์ (Film KUB) : ในรายที่เป็นนิ่วทึบแสง (radio-opaque stone) เช่น มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบค่อนข้างมาก จะสามารถมองเห็นก้อนนิ่วได้จากการตรวจเอ็กซเรย์ โดยจะเห็นเป็นก้อนสีขาวอยู่ในตำแหน่งที่อยู่ในทางเดินปัสสาวะ แต่ถ้าก้อนนิ่วนั้นเป็นนิ่วไม่ทึบแสง (radiolucent stones) จะไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจวิธีนี้ * การฉีดสีและตรวจทางเดินปัสสาวะด้วยเอ็กซเรย์ (IVP) : การตรวจนี้สามารถตรวจพบนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ทั้งนิ่วทึบแสงและนิ่วโปร่ง แสง การตรวจนี้ทำได้โดยการฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดดำ แล้วถ่ายภาพเอ็กซเรย์ซ้ำเป็นระยะ เพื่อดูการเคลื่อนที่ของสีไปในทางเดินปัสสาวะ * การตรวจอัลตราซาวน์ (ultrsound) : การตรวจนี้สามารถตรวจพบนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ทั้งนิ่วทึบแสงและนิ่วโปร่ง แสง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ดูการโป่งพองของไต (Hydronephrosis) และการโป่งขยายของท่อไต (Hydroureter) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของการที่ก้อนนิ่วอุดกั้นอยู่ในท่อไตนานๆ ข้อดีของการตรวจด้วยวิธีนี้ คือ ไม่ต้องเสี่ยงต่อการฉีดสีและสามารถใช้ตรวจในหญิงตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย (ไม่มีอันตรายจากรังสีเหมือนการตรวจด้วยเอ็กซเรย์) * การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) : เพื่อหานิ่วในไต ภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามหลังภาวะนิ่วในไต คือ * การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection) * ก้อนนิ่วอุดตันในท่อไต จนเกิดแรงดันย้อนกลับไปที่ส่วนต้นของทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดการโป่งพองของไต (Hydronephrosis) และการโป่งขยายของท่อไต (Hydroureter) ตามมา * ถ้ารักษาช้า แรงดันที่กระทำต่อไตนานๆ จะทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้ การรักษาและยา การรักษาโรคนิ่วในไต ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนนิ่ว คือ 1. การรักษานิ่วในไตในกรณีที่มีก้อนนิ่วมีขนาดเล็กและผู้ป่วยมีอาการแค่เล็กน้อย : นิ่วสามารถหลุดออกมากับปัสสาวะได้เอง การรักษาทำได้โดย * ดื่มน้ำมากๆ วันละประมาณ 2-3 ลิตร เพื่อที่จะช่วยเร่งการขับนิ่วออกมาทางปัสสาวะ * ให้ยาบรรเทาปวด 2. การรักษานิ่วที่มีขนาดใหญ่หรือผู้ป่วยมีอาการมาก : สามารถทำได้โดย 2.1 ใช้คลื่นเสียงเพื่อที่จะทำให้นิ่วแตกออกมา (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy, ESWL) : ทำได้โดยการใช้อัลตราซาวน์หรือเอ็กซเรย์หาตำแหน่งนิ่ว แล้วใช้คลื่นเสียงยิงสลายนิ่ว จากนั้นเศษนิ่วจะหลุดออกมากับปัสสาวะ ข้อดีของวิธีนี้ คือ เจ็บตัวน้อยและไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ข้อเสียของวิธีนี้ คือ ไม่สามารถรับรองผลการรักษาได้ เพราะนิ่วอาจหลุดไม่หมด ทำให้ต้องมายิงนิ่วซ้ำอีกหลายครั้ง 2.2 ใช้วิธีการส่องกล้องเพื่อนำนิ่วออก: ทำโดยการส่องกล้องเข้าไปในไตและใช้เครื่องมือทำให้นิ่วแตก จากนั้นก็คีบเศษนิ่วที่แตกออกมาทางเครื่องมือในกล้อง วิธีนี้สามารถทำได้ทั้งการส่องกล้องผ่านผิวหนัง (Percutaneous nephrolithotomy, PCN) และการส่องกล้องย้อนขึ้นมาจากทางท่อปัสสาวะ (Ureterorenoscopy) ข้อดีของวิธีนี้ คือ เป็นหัตถการที่ไม่ค่อยดูรุนแรงต่อผู้ป่วย (minimal invasive) และอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่าการผ่าตัด ข้อเสียของวิธีนี้ คือ ต้องการแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะ, ต้องการเครื่องมือที่พิเศษ และใช้เวลาทำนานกว่าการผ่าตัด 2.3 การผ่าตัดเพื่อนำนิ่วออกจากไต (Nephrolithotomy) : ใช้ในกรณีที่นิ่วมีขนาดใหญ่และมีกิ่งก้านหลายกิ่ง (staghorn) ทำให้ไม่สามารถเอานิ่วออกได้ด้วยวิธีอื่น 2.4 การผ่าตัดเอาไตออก (Nephrectomy) : ใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย จะพิจารณาทำในกรณีที่เนื้อไตเสียไปมากหรือมีการอักเสบเป็นหนองเนื้อไต จนไม่สามารถเก็บไตไว้ได้ |
ที่มา healthy.in.th |