วิธีป้องกันนิ่วในไต การรักษาโรคนิ่วในไตโดยวิธีธรรมชาติบำบัด !!


1,487 ผู้ชม


โรคนิ่วไต

สร้างเสริมสุขภาพอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคนิ่ว

วิธีป้องกันนิ่วในไต การรักษาโรคนิ่วในไตโดยวิธีธรรมชาติบำบัด !!

 โรคนิ่วไต

โรคนิ่วไตเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบมากทั่วโลก และอุบัติการณ์โรคนิ่วไตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์โรคนิ่วไตสูงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณร้อยละ 10-16 การมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจร้ายแรงจนถึงเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งทำให้ถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้โรคนิ่วไตมีอุบัติการณ์การเป็นนิ่วซ้ำสูงมาก ทำให้ทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาและป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำสูงมาก ดังนั้นโรคนิ่วไตจึงจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรไทยเป็นอย่างยิ่ง


สาเหตุของโรคนิ่วไตเกิดจากหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม เมแทบอลิซึม พันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต และอุปนิสัยการกินอาหารของตัวผู้ป่วยเอง ชนิดของนิ่วมีหลากหลายชนิด องค์ประกอบส่วนใหญ่ในก้อนนิ่วเป็นผลึกแร่ธาตุ เช่น แคลเซี่ยมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต ยูเรต แมกนีเซี่ยมแอมโมเนี่ยมฟอสเฟต เป็นต้น นิ่วที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ นิ่วแคลเซี่ยมฟอสเฟตประมาณร้อยละ 80 รองลงมาคือนิ่วกรดยูริกพบประมาณร้อยละ 10-20 สาเหตุเริ่มต้นของการเกิดนิ่วคือการก่อผลึกแร่ธาตุในปัสสาวะ สารที่กระตุ้นการก่อผลึกเหล่านี้เรียกว่า “สารก่อนิ่ว” ได้แก่ แคลเซี่ยม ออกซาเลต ฟอสเฟต และกรดยูริก สำหรับสารที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะเรียกว่า “สารยับยั้งนิ่ว” ที่สำคัญได้แก่ ซิเทรต โพแทสเซียม และแมกนีเซียม
ปัจจัยเสี่ยงด้านความผิดปกติทางเมแทบอลิซึมที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนิ่วไตไทย คือ การมีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะต่ำ ได้แก่ ภาวะซิเทรตในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 70-90 และภาวะโพแทสเซียมในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 40-60


การรักษาโรคนิ่วไตแบ่งเป็นการรักษาทางศัลกรรม เช่น การผ่าตัดเอานิ่วออกและการสลายนิ่ว เป็นต้น และการรักษาด้วยยาเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำ เช่นยาโพแทสเซี่ยมซิเทรต นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการดำเนินชีวิตมีความสำคัญมากในการสร้าง เสริมสุขภาพของผู้ป่วยโรคนิ่วไต ซึ่งเป็นการป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

วิธีป้องกันนิ่วในไต การรักษาโรคนิ่วในไตโดยวิธีธรรมชาติบำบัด !!

กลไกการเกิดโรค

สาเหตุของการเกิดนิ่วไต คือ การมีสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงกว่าระดับสารยับยั้งนิ่ว ร่วมกับปัจจัยเสริมคือ ปริมาตรของปัสสาวะน้อย ส่งผลให้เกิดภาวะอิ่มตัวยวดยิ่งของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ จึงเกิดผลึกที่ไม่ละลายน้ำขึ้น เช่น แคลเซี่ยมออกซาเลต แคลเซี่ยมฟอสเฟต และยูเรต ผลึกนิ่วที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชั่นและการอักเสบในท่อไต ส่งผลให้เซลล์บุท่อไตถูกทำลาย ตำแหน่งที่ท่อไตถูกทำลายนี้จะเป็นพื้นที่ให้ผลึกนิ่วเกาะยึดและรวมกลุ่มกัน เกิดการทับถมของผลึกนิ่วเป็นเวลานานจนกลายเป็นก้อนนิ่วได้ในที่สุด
ในคนปกติที่มีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะสูงเพียงพอ จะสามารถยับยั้งการก่อตัวของผลึกนิ่วได้ โดยสารเหล่านี้จะไปแย่งจับกับสารก่อนิ่ว เช่น ซิเทรตจับกับแคลเซียม หรือแมกนีเซียมจับกับออกซาเลต ทำให้เกิดเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดี และขับออกไปพร้อมกับน้ำปัสสาวะ ทำให้ปริมาณสารก่อนิ่วในปัสสาวะลดลงและไม่สามารถรวมตัวกันเป็นผลึกนิ่วได้ นอกจากสารยับยั้งนิ่วกลุ่มนี้แล้วโปรตีนในปัสสาวะหลายชนิด เช่น โปรตีนแทมฮอสฟอล และออสทีโอพอนติน ยังหน้าที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะและเมื่อเคลือบที่ผิวผลึกจะช่วยขับ ผลึกออกไปพร้อมกับปัสสาวะได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันมีหลายงานวิจัยระบุว่าความผิดปกติของการสังเคราะห์และการทำงานของ โปรตีนยับยั้งนิ่วเหล่านี้ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคนิ่วไต

วิธีป้องกันนิ่วในไต การรักษาโรคนิ่วในไตโดยวิธีธรรมชาติบำบัด !!

อาการของโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

อาการของโรคนิ่วนั้นเกิดจากการที่มี ก้อนนิ่วไปอุดตันตามที่ต่างๆ ในทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะขัดกระปริกระปรอย หากเป็นในระยะแรกร่างกายอาจขับก้อนนิ่วออกมาได้เองทางปัสสาวะ ซึ่งจะพบตะกอนเหมือนก้อนกรวดเล็กๆ ปนออกมาพร้อมกับปัสสาวะ แต่ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีการอุดตันที่มากขึ้น มีการเสียดสีและทำให้เกิดการบาดเจ็บมีเลือดออก ส่งผลให้ปัสสาวะมีสีแดงขึ้นจากเลือดหรือบางกรณีมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ เนื่องจากมีเนื้อบางส่วนหลุดลอกออกมาด้วย การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นทำให้มีอาการปวดท้อง ปวดหลังขึ้นได้ ในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนจะมีอาการไข้ร่วมด้วย หากปล่อยให้เป็นนิ่วไปนานๆ โดยมิได้รับการรักษาจะทำให้ไตบาดเจ็บเรื้อรัง ส่งผลให้ไตมีรูปร่างและทำงานผิดปกติมากขึ้นและนำไปสู่ภาวะไตวายในที่สุด ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้นการรักษาโดยการผ่าตัดออกจะทำให้เสียเนื้อไตไป บางส่วนด้วย หรือหากเป็นมากๆ อาจต้องตัดไตข้างนั้นทิ้ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ดั้งนั้นหากมีอาการที่น่าสงสัยก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เนิ่นๆ

นิ่วที่พบได้บ่อยในประเทศไทย


ก้อนนิ่วสามารถจำแนกชนิดคร่าวๆ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือนิ่วชนิดเนื้อเดียวที่มีองค์ประกอบเพียงอย่างเดียว และนิ่วชนิดเนื้อผสมที่มีหลากหลายองค์ประกอบรวมกัน นิ่วส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยเป็นนิ่วเนื้อผสม นอกจากนั้นเราสามารถแบ่งชนิดนิ่วได้จากองค์ประกอบหลักที่สำคัญในก้อนนิ่ว ได้แก่

1) นิ่วแคลเซียมออกซาเลต 2) นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต นิ่วยูเรตหรือนิ่วกรดยูริก
4) นิ่วสตูไวท์หรือนิ่วติดเชื้อ 5) นิ่วซีสทีน 6) นิ่วชนิดอื่นๆ

วิธีป้องกันนิ่วในไต การรักษาโรคนิ่วในไตโดยวิธีธรรมชาติบำบัด !!

การรักษาโรคนิ่ว

การรักษาโรคนิ่วด้วยวิธีทางศัลยกรรม ปัจจุบันมีวิธีรักษาให้เลือกหลายวิธี เช่น การใช้คลื่นเสียงกระแทกเพื่อสลายนิ่ว (ESWL) การผ่าตัดเปิด และการนำนิ่วออกผ่านการใช้กล้องที่ส่องเข้าสู่ไต ทั้งนี้การเลือกวิธีขึ้นกับขนาดและชนิดของนิ่ว
การรักษาโรคนิ่วด้วยยา ยาที่ใช้รักษาโรคนิ่วมีทั้งที่อยู่ในรูปสารสังเคราะห์ ได้แก่ เกลือโพแทสเซียมฟอสเฟต และเกลือโพแทสเซียมซิเทรต, อัลโลพูลินอล (allopurinal), ไธเอไซด์ (thiazide), ออโธฟอสเฟต (orthophosphate), ไตรโพนิน (triponin) และ กรดอะซิโตไฮโดรซามิก (acetohydroxamic acid) และในรูปสารในธรรมชาติ เช่น กรดไฟติก สารต้านอนุมูลอิสระ น้ำมันปลา หญ้าหนวดแมวหรือหญ้าเทวดา และมะนาวผง เป็นต้น


การรักษานิ่วด้วยมะนาวผง มีรายงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่าการบริโภคผลไม้และสารต้านอนุมูลอิสระมีบทบาท ต่อการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคนิ่วไต เนื่องจากในผลไม้นั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด อันได้แก่ เบตาแครอทีน วิตามินซี วิตามินอี ฟลาโวนอยด์ โพลีฟีนอล เป็นต้น ช่วยในการปกป้องการทำลายของเซลล์บุท่อไตจากภาวะเครียดจากออกซิเดชั่นและกระ บวนการเปอร์ออกซิเดชั่นของไขมันในเซลล์ นอกจากนี้ผลไม้ยังมีปริมาณซิเทรต ซึ่งเป็นสารยับยั้งการก่อนิ่ว รวมทั้งมีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมอีกด้วย จากการศึกษาของคณะวิจัยจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พบว่า ผู้ป่วยนิ่วไตที่ผ่านการรักษาทางศัลยกรรมเมื่อรับประทานมะนาวผงเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในอัตราส่วน โพแทสเซียม 21 มิลลิอิควิวาเลนท์ ต่อซิเทรต 63 มิลลิอิควิวาเลนท์ สามารถเพิ่มปริมาณซิเทรตในปัสสาวะและเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดนิ่ว รวมถึงลดความเครียดจากออกซิเดชัน ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังสามารถปกป้องการทำลายเซลล์บุท่อไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

องค์ประกอบทางเคมีและสารต้านอนุมูลอิสระในมะนาวผง (5 กรัมต่อซอง

องค์ประกอบทางเคมีและสารต้านอนุมูลอิสระ

ปริมาณ (มิลลิกรัมต่อซอง)

Citrate

4092(63 mEq)

Potassium

819 (21 mEq)

Sodium

6.58 (0.29 mEq)

Calcium

78.90

Phosphate

4.10

Oxalate

0.26

Magnesium

3.78

Vitamin C

27.30

Polyphenols

9.20

Flavonoids

8.80

Beta-carotene

0.042 umol

Vit E

0.029 umol

Cryptozanthine

0.013 umol

Lycopene

0.004 umol

วิธีป้องกันนิ่วในไต การรักษาโรคนิ่วในไตโดยวิธีธรรมชาติบำบัด !!

มะนาวผงบรรจุซอง ปริมาณ 5 กรัม ผลิตโดยปิยะรัตน์ โตสุโขวงศ์และคณะสำหรับรักษาโรคนิ่วไต

การสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรคนิ่วไตซ้ำ


การที่ผู้ป่วยดูแลตนเองทั้งร่างกาย จิตใจ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างเคร่งครัดจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดนี่ว ทำให้ไม่มีโรคนี่วหรือเป็นซ้ำน้อยลง สามารถปฏิบัติได้ดังนี้


1. ควรดื่มน้ำปริมาณมาก ในแต่ละวันควรดื่มน้ำให้ได้มากกว่า 8 แก้วต่อวัน หรือให้ได้ปริมาตรของปัสสาวะมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน เพื่อลดความอิ่มตัวของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ และลดโอกาสการก่อผลึกนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ


2. บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนและสัดส่วนเหมาะสม
2.1 อาหารจำพวกผักและผลไม้ เป็นแหล่งของสารยับยั้งการเกิดนิ่ว และสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ช่วยให้ปริมาณของซิเทรต โพแทสเซียม และความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้น และยังลดการทำลายของเซลล์เยื่อบุท่อไต จึงสามารถยับยั้งการเกิดนิ่วได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผักผลไม้ยังมีไฟเบอร์ช่วยลดแคลเซียมในปัสสาวะและยังช่วยลดไขมันในเลือดได้อีกด้วย
2.2 ไขมันจากพืชและไขมันจากปลา สามารถลดปริมาณแคลเซียมในปัสสาวะได้ดีกว่าไขมันที่ได้จากเนื้อสัตว์อื่นๆ ลดโอกาสการเกิดนิ่วซ้ำ
2.3. ลดอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ อาหารหวานและเค็มมาก และอาหารที่มีกรดยูริกสูง ได้แก่ หนังสัตว์ปีก ตับ ไต ปลาซาร์ดีน โดยปกติในผู้ใหญ่ไม่ควรได้รับโปรตีนจากสัตว์เกิน 150 กรัมต่อวัน การบริโภคอาหารโปรตีนสูงจะทำให้เพิ่มสารก่อนิ่วและเพิ่มโอกาสการเกิดนิ่วสูงมาก
2.4 หลีกเลี่ยงอาหารที่มีออกซาเลตสูง ได้แก่ งา ผักโขม ถั่วต่างๆ เช่นถั่วลิสง ชอกโกแลต และชา เป็นต้น ในผู้ป่วยชนิดแคลเซียมออกซาเลต หากจำเป็นต้องบริโภคควรรับประทานควบคู่ไปกับแคลเซียมหรือดื่มนมจะช่วยลด ปริมาณออกซาเลตในปัสสาวะ
2.5 เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ปัจจุบันพบว่าการลดอาหารที่มีแคลเซียมในผู้ป่วยโรคนิ่ว นอกจากจะทำให้สมดุลของแคลเซียมเปลี่ยนแปลง ยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกในอนาคตและยังทำให้ปริมาณสารออกซาเลตใน ปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากแคลเซียมจะไปจับและยับยั้งการดูดซึมออกซาเลตทางลำไส้จึงช่วยลด ระดับออกซาเลตในปัสสาวะได้ ภาวะปกติร่างกายควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1000 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่รับประทานยาเม็ดแคลเซียมเสริมควรรับประทานพร้อมกับมื้ออาหาร สำหรับในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ควรปรึกษา แพทย์


3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิคเป็นเวลาอย่างน้อย 10-20 นาทีทุกวัน เช่น การเดินจะช่วยทำให้นิ่วขนาดเล็กหลุดได้ การเดินสมาธิ โยคะ ไทเก๊ก ทำให้การทำงานของร่างกายดีขึ้นและลดความเครียด และลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดก้อนนิ่ว


นอกเหนือจากการเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกายแล้ว การเลือกรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด ร่วมกับการลดความเครียดสามารถช่วยป้องกันการเกิดนิ่วไตซ้ำได้
ในทางการแพทย์มีการใช้ยาหลากหลายเพื่อรักษาโรคนิ่ว อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและมีผลข้างเคียง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะลดโอกาสการเกิดนิ่ว คือการควบคุมอาหารดังที่กล่าวข้างต้น มีข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคนิ่ว ดังต่อไปนี้


1. การดื่มน้ำมะนาวหรือน้ำมะนาวเข้มข้น เป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระและซิเทรตที่ดีมาก สามารถยับยั้งการก่อนิ่วและลดการบาดเจ็บของเซลล์บุท่อไตได้ดี
2. ควบคุมน้ำหนักในผู้ป่วยให้มีดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) อยู่ในระดับปกติ โดยให้มีค่าอยู่ระหว่าง 20 – 23.5 kg/m2
3. ผู้ที่มีภาวะออกซาเลตในปัสสาวะสูง ควรได้รับ แมกนีเซียมและวิตามินบี 6 เสริม เพื่อช่วยลดการสร้างของออกซาเลตในตับ
4.ไม่ควรรับประทานวิตามินซีมากกว่า 500 มก.ต่อ วัน เพราะจะไปเพิ่มออกซาเลตในปัสสาวะและเพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเกิดนิ่ว
5. การคลายเครียดด้วยการบริหารร่างกาย แบบโยคะ การทำสมาธิ หรือใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อลดความเครียด เช่น การสร้างจินตภาพ เพื่อผ่อนคลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงงดสูบบุหรี่ จะช่วยลดความเครียดของร่างกายที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์บุท่อไต
6. หลังออกกำลังกาย หรือทำงานหนักในที่มีอากาศร้อน สูญเสียเหงื่อมาก จะต้องดื่มน้ำชดเชยให้เพียงพอ หรือควรดื่มน้ำเป็นประจำตลอดทั้งวันประมาณ 2 ลิตรต่อวัน เพื่อลดการอิ่มตัวของสารก่อนิ่วและการตกผลึกในปัสสาวะ
7. สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติและสงสัยว่ามีนิ่วไตควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และควรนำนิ่วมาวิเคราะห์องค์ประกอบของนิ่ว เพื่อช่วยบอกถึงความผิดปกติเบื้องต้นได้ และเป็นประโยชน์ในการหาแนวทางป้องกันการกลับเป็นนิ่วซ้ำภายหลังการรักษา

ที่มา  www.bmbmd.research.chula.ac.th

อัพเดทล่าสุด