วงแหวนแห่งไฟ Ring of Fire แผนที่แนวบริเวณของวงแหวนแห่งไฟ


2,651 ผู้ชม

วงแหวนแห่งไฟ (อังกฤษ: Pacific Ring of Fire หรือ the Ring of fire) เป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง


วงแหวนแห่งไฟ

แผนที่วงแหวนแห่งไฟ

วงแหวนแห่งไฟ (อังกฤษ: Pacific Ring of Fire หรือ the Ring of fire) เป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า ความยาวรวมประมาณ 40,000 กิโลเมตร และวางตัวตามแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟและบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก โดยมีภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ภายในวงแหวนแห่งไฟทั้งหมด 452 ลูก และเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาไฟคุกกรุ่นอยู่กว่า 75% ของภูเขาไฟคุกกรุ่นทั้งโลก[1] ซึ่งบางครั้งจะเรียกว่า circum-Pacific belt หรือ circum-Pacific seismic belt

แผ่นดินไหวประมาณ 90% ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลกและกว่า 80% ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณวงแหวนแห่งไฟ นอกจากวงแหวนแห่งไฟ ยังมีแนวแผ่นดินไหวอีก 2 แห่ง ได้แก่ แนวเทือกเขาอัลไพน์ ซึ่งมีแนวต่อมาจากเกาะชวาสู่เกาะสุมาตรา ผ่านเทือกเขาหิมาลัย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แนวแผ่นดินไหวแห่งนี้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น 17% ของทั้งโลก และอีกแห่งคือ แนวกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น 5-6% ของทั้งโลก[2][3]

ภูเขาไฟมายอน ประเทศฟิลิปปินส์

การปะทุของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1980

วงแหวนแห่งไฟเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่และการชนกันของแผ่นเปลือกโลก[4] แบ่งเป็นส่วนวงแหวนทางตะวันออก มีผลมาจากแผ่นนาซคาและแผ่นโคคอส ที่มุดตัวลงใต้แผ่นอเมริกาใต้ ส่วนของแผ่นแปซิฟิกที่ติดกับแผ่นฮวนดีฟูกา ซึ่งมุดตัวลงแผ่นอเมริกาเหนือ ส่วนทางตอนเหนือที่ติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นแปซิฟิก มุดตัวลงใต้บริเวณเกาะเอลูเชียนจนถึงทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น และส่วนใต้ของวงแหวนแห่งไฟเป็นส่วนที่มีความซับซ้อนของแผ่นเปลือกโลก มีแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กมากมายที่ติดกับแผ่นแปซิฟิก ซึ่งเริ่มตั้งแต่หมู่เกาะมาเรียน่า ประเทศฟิลิปปินส์ เกาะบัวเกนวิลเล ประเทศตองกา และประเทศนิวซีแลนด์ แนววงแหวนแห่งไฟยังมีแนวต่อไปเป็น แนวอัลไพน์ ซึ่งเริ่มต้นจากเกาะชวา เกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย รอยเลื่อนที่มีชื่อเสียงที่ตั้งบนวงแหวนแห่งไฟนี้ ได้แก่ รอยเลื่อนซานอันเดรียส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กอยู่เป็นประจำ รอยเลื่อนควีนชาร์ลอตต์ ทางชายฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะควีนชาร์ลอตต์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 3 ครั้ง ได้แก่ แผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์เมื่อ ค.ศ. 1929 แผ่นดินไหวขนาด 8.1 ริกเตอร์ในปี ค.ศ. 1949 (แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศแคนาดา) และแผ่นดินไหวขนาด 7.4 ริกเตอร์ในปี 1970[5]

ภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงที่ตั้งอยู่ในวงแหวนแห่งไฟ เช่น ภูเขาไฟวิลลาร์ริกา ประเทศชิลี ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเกิดการระเบิดครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ได้พ่นเถ้าถ่านออกมากว่า 1.2 ลูกบาศก์กิโลเมตร ภูเขาไฟฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น ระเบิดครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 1707 ภูเขาไฟพินาตูโบ มายอน ทาล และคานลายอน ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งภูเขาไฟพินาตูโบเคยเกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1991 ภูเขาไฟแทมโบรา เคลูด และเมราปี ในประเทศอินโดนีเซีย ภูเขาไฟลูอาเปทู ประเทศนิวซีแลนด์ และภูเขาไฟเอเรบัส ทวีปแอนตาร์กติกา

ภูเขาฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในแนววงแหวนแห่งไฟนี้ เช่น แผ่นดินไหวคาสคาเดีย มีขนาด 9 ริกเตอร์ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1700 แผ่นดินไหวโลมาพรีเอตา ในแคลิฟอร์เนีย แผ่นดินไหวภาคคันโต ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1923 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 130,000 คน แผ่นดินไหวเกรตฮันชินในปี 1995 และครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้ คือแผ่นดินไหวเมื่อ ค.ศ. 2004 บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ขนาด 9.3 ริกเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ถูกถล่มด้วยคลื่นขนาด 10 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 230,000 คน

ประเทศที่ตั้งหรือมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ ได้แก่ ประเทศเบลีซ โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย ชิลี คอสตาริกา เอกวาดอร์ ติมอร์ตะวันออก เอลซัลวาดอร์ ไมโครนีเซีย ฟิจิ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คิริบาตี เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นิการากัว ปาเลา ปาปัวนิวกินี ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองกา ตูวาลู และสหรัฐอเมริกา

วงแหวนแห่งไฟ , วงแหวนไฟ , ring of fire วงแหวนแห่งไฟ , แนววงแหวนแห่งไฟ , แผนที่วงแหวนแห่งไฟ , ประเทศที่อยู่ในวงแหวนแห่งไฟ , วงแหวนไฟแปซิฟิก , แนววงแหวนไฟ , วงแหวนแห่งไฟได้แก่บริเวณ

ที่มา วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อัพเดทล่าสุด