อาการเริ่มแรกของไซนัส ไซนัสเรื้อรัง พร้อม วิธีรักษาไซนัสอักเสบ ที่ถูกต้อง


7,828 ผู้ชม


  ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
นพ.อมรชัย หาญผดุงธรรมะ
--------------------------------------------------------------------------------
"ไซนัสอักเสบเฉียบพลันในผู้ใหญ่จะมีอาการไข้ปวดบริเวณใบหน้าและน้ำมูกข้น เป็นหนอง
ในเด็กอาการจะแตกต่างไป แทบไม่มีอาการปวดศีรษะหรือปวดบริเวณใบหน้า จะมีอาการไอร่วมกับ
ไข้และน้ำมูกข้น การล้างไซนัส หรือการผ่าตัด อาจจำเป็นในรายที่ กลับเป็นซ้ำ หรือรายที่รักษาด้วยยา
แล้วไม่ดีขึ้น"
ไซนัส คือ โพรงในกระดูกในหน้า ของเรา โพรงนี้จะเป็นคู่คืออยู่ข้างขวาและข้างซ้าย
ไซนัสคู่ที่เกิดก่อนเพื่อนคือ ไซนัสบริเวณแก้ม เรียกว่า แม็กซิลลารี่ไซนัส เริ่มเกิดตั้งแต่ ยังอยู่ในท้องแม่
ต่อมาคือไซนัสใต้สันจมูกลงไป ปรากฏตอนเกิด เรียกว่า เอ็ทมอยด์ไซนัส เมื่ออายุราว 6 ขวบ
จะเริ่มมีไซนัสบริเวณหน้าผาก เรียกชื่อว่า ฟรันเทิ่ลไซนัส สุดท้ายคือไซนัสบริเวณใต้สันจมูก
ติดกับเอ็ทมอยด์ไซนัส เริ่มเกิดตอนอายุราว 9 ขวบ เรียกว่า สฟีนอยด์ไซนัส
ทุกโพรงไซนัสจะมีช่องหรือรูระบายลงสู่โพรงจมูกและมีเยื่อบุปกคลุมในโพรงทั้งหมด ไซนัสอักเสบก็คือ
การอักเสบของเยื่อบุโพรงไซนัส นั่นเอง ซึ่งอาจอักเสบ 1 โพรง หรือหลายโพรงพร้อมกันก็ได้
เนื่องจากไซนัสเปิดสู่โพรงจมูกซึ่งมักมีเชื้อโรคอยู่ เชื้อโรคจึงเป็นตัวการสำคัญ ในการอักเสบ ของไซนัส
หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน อาจมีอาการแทรกซ้อน เกิดขึ้นได้ เช่น การอักเสบ
ของเนื้อเยื่อข้างเคียง เป็นฝีหนอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (เพราะอยู่ใกล้กัน มาก แค่คนละฝั่งของกระดูก)
กระดูกอักเสบ หรือเกิดการอุดตัน ของหลอดเลือดดำใต้สมอง ในเด็ก
หากไม่รักษาอาจทำให้รูปใบหน้าไม่สมดุล บิดเบี้ยวไป หรืออาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดหอบหืดได้ เรียกว่า
เป็นเรื่องยาวเลยทีเดียวไม่จบง่าย ๆ ละคราวนี้
กลไกการเกิดไซนัสอักเสบ :
ไซนัสอักเสบอาจเป็นผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง เช่น
-เปลี่ยนแปลงขนาด ของช่อง หรือรูที่ระบายสู่โพรงจมูก
-เปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตของเยื่อบุไซนัส การแลกเปลี่ยนออกซิเย่น
-หรือ การเปลี่ยนแปลงของกลไกการทำงานของขนอ่อนและเยื่อเมือกในไซนัส
เยื่อบุไซนัสประกอบด้วยเซลล์บุผิวซึ่งมีขนอ่อนอยู่ที่ผิวเซลล์ด้านโพรงไซนัส ขนอ่อนที่ว่านี้ ไม่ใช่ขนหรือ
ผมที่เราเห็นด้วยตาเปล่า แต่เป็นโครงสร้างของเซลล์ ที่เมื่อดูด้วยกล้อง จุลทรรศน์อิเล็กตรอนแล้ว ดูคล้าย
ขน ขนนี้จะพัดโบกอยู่ตลอดเวลา พัดจากในโพรงมาออก ทางรูระบายของไซนัสนั้น ๆ เป็นการขับถ่าย
หรือทำความสะอาดโพรงไซนัส ที่ธรรมชาติสร้างไว้ รูระบายของแม็กซิลลารี่ไซนัสอยู่สูงขึ้นมาจาก
จุดต่ำสุดของโพรงเล็กน้อย ขนอ่อนจึงต้องพัดโบกสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก
ภาวะใดก็ตามที่มาลดการพัดโบกของขนอ่อนก็เท่ากับมาขัดขวางการทำความสะอาดไซนัส อาจทำให้
ของเสียหรือเชื้อโรคคั่งค้างในไซนัส นำไปสู่การเป็นหนองได้ ปัจจัยสำคัญในการเกิดไซนัสอักเสบคือ
การตีบแคบของรูระบายไซนัส อาจเป็นเพราะเยื่อบุ ที่กรุอยู่โดยรอบ บวมขึ้นมา หรือเป็นที่โครงสร้าง
กระดูกผิดปกติก็ได้ เมื่อรูระบายนี้อุดตัน จะทำให้ปริมาณออกซิเย่นในไซนัสลดต่ำลง
ปกติแล้วแรงดันออกซิเย่นในไซนัสจะอยู่ที่ 177 มิลลิเมตรปรอท เมื่อลดลงเหลือ 80 มิลลิเมตรปรอท
หรือต่ำกว่าจะทำให้เชื้อโรคบางชนิดชอบ เช่นเชื้อแบคทีเรีย นิวโมค็อกไซ จะเจริญเติบโตเร็วขึ้น เวลา
เกิดหนองขึ้นในไซนัสอาจทำให้อออกซิเย่นลดต่ำลงมาก ต่ำลงใกล้ศูนย์เลยล่ะ สภาวะเช่นนี้เชื้อแบคทีเรีย
ที่ไม่ต้องการออกซิเย่น จะชอบมาก และเจริญเติบโตกันใหญ่ และภาวะแบบนี้ ยังไปขัดขวางการทำงาน
ของเม็ดเลือดขาว ที่จะมาจับกินเชื้อโรคอีกด้วย
การที่รูระบายไซนัสอุดตันยังทำให้การถ่ายเทอากาศและการระบายสิ่งขับถ่ายเสียไปด้วย สาเหตุอื่น ๆ
ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ได้แสดงไว้ในตาราง ถ้าการติดเชื้อยืดเยื้อออกไป หรือ
เป็นซ้ำ เยื่อบุไซนัสอาจถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง เยื่อบุผิวซึ่งเดิม เป็นเซลล์ชนิด
มีขนอ่อนไว้พัดโบก จะถูกแทนที่ด้วยเซลล์ชนิดใหม่ เป็นเซลล์ทรงแบน ที่ไม่มีขนอ่อน ทำให้การขับถ่าย
หรือทำความสะอาดในไซนัสหย่อนประสิทธิภาพ เชื้อแบคทีเรียในไซนัสถูกขจัดออก ได้ช้าลง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
รูระบายไซนัสอุดตัน
การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
จมูกอักเสบจากภูมิแพ้
ผนังกั้นจมูกคด
ต่อมอะดีนอด์โต
ริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอก
สิ่งแปลกปลอมในจมูก
ใช้ยาพ่นจมูกมากไป
สภาวะแวดล้อม
ว่ายน้ำ ดำน้ำ
บาดเจ็บจากแรงกดอากาศ
อากาศเย็น
ความผิดปกติที่การโบกพัดขนอ่อน
โรคซีสติคไฟโบรสิส
กลุ่มอากาศคาร์ตาเยนเนอร์
การติดเชื้อจาการบำบัดรักษา
การใส่สายยางทางจมูก
การใส่ท่อหายใจเมื่อเจาะคอ
การอัดโพรงจมูก
ภูมิต้านทานโรคต่ำ
การเจ็บป่วย
การติดเชื้อไวรัส
การได้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
ติดเชื้อเอดส์
การติดเชื้อของฟัน
ไซนัสอักเสบเฉียบพลันในผู้ใหญ่
อาการที่พบบ่อยที่สุดของไซนัสอักเสบเฉียบพลันในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ คือ เป็นไข้ ปวดศีรษะ และ
บริเวณใบหน้า และมักเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบน บางทีอาการปวด
หรือเจ็บใบหน้าอาจไม่มี หรือคิดว่าปวดฟัน หรืออาการเป็นแค่ครั่นเนื้อครั่นตัว เบื่ออาหาร แสบตา
เวลามองแสงสว่าง
ตำแหน่งที่ปวดหรือกดเจ็บบนใบหน้า ช่วยบอกได้ว่า ไซนัสไหนอักเสบ
แม็กซิลลารี่ไซนัสมักเจ็บหรือปวดบริเวณโหนกแก้มหรือฟันบน
ฟรันเทิ่ลไซนัสอักเสบจะปวดบริเวณหน้าผากเหนือคิ้ว
สฟีนอยด์ไซนัสอักเสบมักปวดลึก ๆ บริเวณหลังลูกตา
เอ็ทมอยด์ไซนัสจะมีอาการปวดรอบ ๆ ลูกตาครับ
ลองใช้นิ้วกดบริเวณใบหน้าเหนือไซนัสดูก็จะช่วยบอกได้ว่าตรงนั้นเจ็บหรือไม่ ความปวดของ
แม๊กซิลลารี่ไซนัสอักเสบ มักเริ่มมีอาการหลังตื่นนอนภายใน 2 ชั่วโมง ปวดมากตอนบ่ายต้น ๆ แล้วค่อย ๆ
ปวดน้อยลงตามลำดับจนถึงตอนเย็น
อาการปวดหรือความรู้สึกว่าหน้าตึง ๆ หนัก ๆ จะมากขึ้นเวลาเบ่ง เวลาไอ หรือเวลาก้มตัว ให้ศีรษะห้อยลง
น้ำมูกหรือหนองอาจไหลออกทางจมูกข้างที่ไซนัสอักเสบ บางทีสิ่งที่ไหลออกมาอาจดูใส หรือเป็นเมือก ๆ
ก็ได้ เมื่อมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจ ส่วนบน เช่น เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ แล้วตามด้วยอาการต่อไปนี้
 - ไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส
 - น้ำมูกข้นเหมือนหนอง
 - รอบ ๆ ตาบวมตอนเช้า
 - ปวดบริเวณใบหน้า
 - ปวดศีรษะ หรือ
 - เป็นหวัดนานเกิน 10 วัน และมีน้ำมูกไหลหรือไอมากตอนกลางวัน
นี่คืออาการของไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมาแทรกซ้อนนั่นเองครับ อย่าคิดว่าหวัดธรรมดา
ไซนัสอักเสบเฉียบพลันในเด็ก
ไซนัสที่อักเสบบ่อยที่สุดในเด็กคือ แม๊กซิลลารี่ไซนัส ส่วนฟรันเทิ่ลและสฟีนอยด์ไซนัส พบน้อยมาก
เด็กที่เสี่ยงต่อการเป็นไซนัสอักเสบสูง คือเด็กที่มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคติดเชื้อทางเดิน
หายใจส่วนบน
อาการที่ต่างจากผู้ใหญ่ก็คือเด็กมักไม่มีอาการปวดศีรษะหรือปวดใบหน้า อาการสำคัญคือ ไอ เป็นไข้ และ
น้ำมูกข้น
การวินิจฉัยไซนัสอักเสบ
การเอ็กซเรย์ ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ช่วยในการวินิจฉัยได้มาก ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ การเอ็กซเรย์
ไซนัสจะไม่ได้ประโยชน์
การเจาะแม๊กซิลลารี่ไซนัส มักกระทำเมื่อต้องการเพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ ของการอักเสบ
การรักษา
- ยาต้านเชื้อโรค ได้แก่ยาปฏิชีวนะต่าง ๆ
- ยาลดอาการคัดจมูก มีชนิดที่เป็นยากินและยาพ่นจมูก พบว่าอาจมีผลเสียต่อการ รักษาไซนัสอักเสบได้
  จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
- เจาะล้างไซนัส ช่วยระบายสิ่งที่คั่งค้างอยู่ออก ช่วยได้มาก อาจต้องทำหลายครั้ง
- การผ่าตัด อาจผ่าเพื่อเปิดช่องหรือรูระบายให้ใหญ่ขึ้นหรือระบายได้ดีขึ้น หรือกรณี รักษาด้วยยาแล้ว
  ไม่ดีขึ้นก็ต้องผ่าตัดช่วย
- ผู้ป่วยที่เป็นหอบหืดพบว่าเมื่อมีไซนัสอักเสบด้วย หลังการรักษาไซนัสอักเสบแล้ว อัตราการหอบหืด
  ลดลงได้มากครับ
การป้องกัน
ต้องพยายามลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ผมให้ไว้ในตารางข้างต้น การดูแลรักษาสุขภาพในแง่ ของอาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย ฯลฯ ก็สำคัญมาก อย่ามองข้าม สิ่งเหล่านี้ไปนะครับ
  โรคโพรงอากาศอักเสบ (Sinusitis)
พญ.จันทรา เจณณวาสิน
--------------------------------------------------------------------------------
ถ้าท่านมีอาการปวดหัวรอบกระบอกตา หน้าผาก รู้สึกแน่นในโพรงจมูก หายใจไม่สะดวกทางจมูก ขนาด
ต้องหายใจทางปาก เป็นหวัดเรื้อรังไม่หาย หรือทุเลาเกินเวลาสามสี่วัน ถ้าท่านมีน้ำมูกไหลออกมาข้างนอก
หรือตกลงไปข้างหลังคอ โดยเฉพาะเมื่อน้ำมูกมีสีเหลือง หรือแกมสีเขียว อาการดังกล่าวเกิดขึ้นตามฤดูกาล
โดยเฉพาะช่วงที่มีฝุ่นละออง (pollen) มาก ในฤดูใบไม้ผลิ, ใบไม้ร่วง นั่นหมายถึง ว่าท่านคงมีปัญหา
เกี่ยวกับโพรงอากาศบริเวณรอบจมูก เรียกกันว่า โรคไซนัส หรือโรคโพรงกระดูกอักเสบ (Sinusitis)
โพรงอากาศหรือโพรงกระดูก (Sinuses) คือ ช่องว่างในกระดูกกระโหลกศีรษะ มีอากาศบรรจุอยู่ เพื่อ
ช่วยทำให้กระดูกกระโหลกศีรษะเบาขึ้น ส่วนอากาศที่อยู่ในโพรงจมูกและใบหน้า ช่วยในการ เปล่งเสียง
โพรงอากาศเหล่านี้ บุด้วยเยื่อบุที่ผลิตน้ำเมือกเหนียวใส และมีท่อเปิดเข้าไปในโพรงจมูก ตามตำแหน่ง
ต่าง ๆ ถ้าเกิดปัญหาใด ๆ ที่ทำให้น้ำเมือกเหนียวคั่งค้าง อยู่ในโพรงอากาศเหล่านี้ ย่อมก่อให้เกิดอาการ
ไม่สบายดังกล่าวแล้ว ตามปกติเมื่อน้ำเหนียวไหลจากท่อของโพรงอากาศ เข้าสู่ช่องจมูกและเมือก ด้านหลัง
ของลำคอ น้ำเมือกช่วยกวาดล้างฝุ่นและเชื้อโรคแบคทีเรีย ลงสู่กระเพาะอาหาร ซึ่งมีน้ำกรดคอยทำลาย
เชื้อโรคพวกนี้ อีกทอดหนึ่ง น้ำเมือกเหนียวนี้คือ น้ำมูก และส่วนประกอบของเสมหะด้วย
ปัญหาที่ก่อให้เกิดการอักเสบของโพรงอากาศ ได้แก่
- โรคหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ เป็นสาเหตุให้เยื่อบุในจมูกและโพรง อากาศบวมขึ้น ทำให้ท่อติดต่อ
   ระหว่างโพรงอากาศ และจมูกตัน เมื่อน้ำเมือกเหนียวที่ผลิตขึ้นมา โดยเยื่อบุในโพรงอากาศเกิดคั่งค้าง
   ย่อมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อแบคทีเรีย ลักษณะสีของน้ำมูกที่เปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือแกมเขียว 
   ย่อมบ่งชี้ถึงการอักเสบที่เกิดขึ้น นอกเหนือไปจากอาการไม่สบาย, ปวดหัว, แน่นคั่งบริเวณหัวคิ้ว,
   หน้าผาก, จมูกคัด
- โรคภูมิแพ้ เมื่อเยื่อบุจมูกของคนที่มีปัญหาทางภูมิแพ้ (Allergic reactiou) สัมผัสกับอากาศที่มี
   สารซึ่งทำให้ร่างกายของเขาผลิตสาร ฮิสตามิน (histamine) ขึ้น สารตัวนี้มีคุณสมบัติในการทำให้
   เยื่อบุในจมูกและในโพรงอากาศบวมเป็นน้ำระยะยาว เป็นเหตุให้การเดินทางของน้ำมูกน้ำเมือกสู่ช่องจมูก
   และช่องปากเป็นไปได้ไม่ราบรื่น ตกค้างอยู่ในโพรงอากาศมากแบบเดียวกับโรคหวัดเรื้อรัง
- การอุดตัน การเดินทางของน้ำมูกน้ำเมือกจากโพรงอากาศ เนื่องจากการคดงอของ สันกลางจมูก
   (Septum) หรือเนื้องอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดธรรมดา เรียกว่า ริดสีดวงจมูก หรือ (Polyp) ซึ่งเป็น
   ผลพวงจากการที่ เยื่อบุโพรงจมูกและโพรงอากาศบวมเป็นระยะเวลานาน ส่วนมากเกิดจากอาการแพ้
   อากาศ หรือสารที่สูดผ่านทางช่องจมูก ริดสีดวงจมูกอาจมีขนาดใหญ่ จนอุดตันจมูกข้างใดข้างหนึ่ง
   ทั้ง ๆ ที่เนื้อแท้ของมัน เป็นเพียงเยื่อบุที่บวมหนาตัวขึ้นมาเท่านั้น
- โรคโพรงอากาศอักเสบ ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นส่วนมากเกิดตามหลังโรคติดเชื้อในระบบ ทางเดิน
   ลมหายใจส่วนบน ที่พบบ่อย คือ โรคหวัดธรรมดานี่เอง เชื้อโรคทำให้ขน (Cilia) ที่อยู่ตามเยื่อบุไม่ทำ
   หน้าที่โบกกวาดน้ำมูกน้ำเมือกออกจากโพรงอากาศ เข้าสู่ท่อ ไปยังด้านในของจมูกและด้านหลังของ
   ช่องปากตามปกติ แต่เมื่อเชื้อโรคถูกทำลายไป โดยการรักษาเยียวยาที่ถูกต้อง ขนในเยื่อบุเหล่านี้สามารถ
   ฟื้นคืนกลับมาทำหน้าที่ตามปกติได้ ยกเว้นกรณีเกิดการอักเสบเรื้อรัง หรือในโรคภูมิแพ้ระยะนานทำให้
   ขนเหล่านี้ถูกทำลาย เยื่อบุสูญเสียลักษณะประจำตัวในการผลิตน้ำมูกใส กลับกลายเป็นพังผืดหนาขึ้นมา
   แทนที่ ดังนั้น การรักษาโดยทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญมาก ก่อนที่ถึงขั้นแก้ไม่ได้จนขนาดประสาทในการ
   ดมกลิ่น มีประสิทธิภาพของการทำงานลดลง และต้องหายใจทางปากหรือทางจมูกเพียงข้างเดียว
การป้องกันตนเองจากโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ป้องกันการบวมแดงของเยื่อบุโพรงอากาศ โพรงจมูก ที่เกิด
จากการแพ้อากาศ มลพิษภาวะต่าง ๆ โดยยาที่ลดการบวมของเยื่อบุ (decongestant,
antihistamines) ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย นั่นหมายถึงการพึ่งยาปฏิชีวนะช่วยฆ่าเชื้อโรค นอกจากนี้
ท่านควรช่วยดูแลตัวของท่านเองโดย
1. การดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณหนึ่งแก้วทุกหนึ่งหรือสองชั่วโมง เพื่อช่วยให้น้ำมูกคลายความเหนียวลง   
    จนไหลได้สะดวกขึ้น เครื่องพ่นไอน้ำเพิ่มความชื้นของอากาศในห้องที่พักอยู่ ช่วยร่วมกระบวนการ
    เดียวกัน
2. การใช้น้ำเกลือพ่นล้างในจมูก โดยใช้ลูกยางบีบน้ำเกลือผสมที่มีสัดส่วนดังนี้คือ เกลือหนึ่งในสี่ช้อนชา
    ผสมกับ Baking Soda ในสัดส่วนเท่ากัน เจือด้วยน้ำอุ่นแปดออนซ์   
    การใช้ลูกยางบีบน้ำเกลือพ่นเข้าไปในรูจมูกวันละสองสามครั้งนี้ อาจใช้น้ำเกลือที่ผสมขาย ตามร้าน
    ขายยาได้
3. การใช้ความร้อนหรือความเย็น ช่วยประคบบริเวณใบหน้าแถบ โพรงอากาศที่มีน้ำมูก น้ำเมือกคั่งค้าง
    อยู่ ช่วยลดอาการเจ็บปวดทรมาน
ในรายที่เกิดปัญหาเรื้อรัง อาจต้องใช้เครื่องมือส่องกล้อง (Endoseopic Surgery) เข้าไปเปิด ทาง
เดินเก่าดั้งเดิมของน้ำมูกหรือตัดเอาริดสีดวงจมูกออก บางรายอาจต้องทำการผ่าตัด เปิดทางเดินใหม่
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์แต่ละกรณีไป
คนที่เกิดอาการของโพรงอากาศอักเสบ ย่อมรู้ซึ้งถึงความทรมานได้ดี ด้วยเหตุนี้ การป้องกันจึงเป็นสิ่ง
สำคัญที่สุด (และเป็นจุดประสงค์ในการที่ดิฉันเสนอบทความ ทางการแพทย์ต่อท่านผู้อ่าน)
ท่านพึงระวังสุขภาพดูแลตัวของท่านเอง หลีกเหลี่ยงการติดโรคหวัด โรคหวัดใหญ่ และแก้ปัญหาโรค
ภูมิแพ้อากาศ ซึ่งเป็นต้นเหตุในการเกิดโรคโพรงอากาศอักเสบ ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น นุ่งห่มให้
ร่างกายอบอุ่น ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ระบาด
ท่านควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในกลุ่มชนที่แออัด และคนที่เป็นโรคนี้ ควรพยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ นอนหลังพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก
เพื่อช่วยทำให้น้ำมูกเหลวลง เคลื่อนไหลออกจาก โพรงอากาศได้ง่าย
ถ้าท่านใช้เครื่องพ่นไอน้ำควรตรวจดูเชื้อราที่อาจเกิดขึ้นในเครื่องได้ ท่านควรลดปริมาณการเสพกาแฟ
หรือเครื่องดื่มมึนเมาซึ่งทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้ การสูบบุหรี่ เป็นการทำให้เยื่อบุจมูก และ
โพรงอากาศลดการผลิตเมือกน้ำมูกออกมา ซึ่งเป็นการลดกลไก ของการขับไล่เชื้อโรค
ในขณะเดียวกันขนที่เยื่อบุทำงานลดลง เวลาที่ท่านขึ้นเครื่องบินเดินทางระยะยาว ท่านควรดื่มน้ำมาก
กว่าปกติ อาจจำเป็นต้องใช้น้ำเกลือพ่นในจมูก
บางคนที่มีอาการแพ้ ไอจามน้ำมูกไหล คัดจมูกควรได้รับการตรวจสอบว่า สารใด เช่น ผง ฝุ่นละออง
เกสรดอกไม้ เชื้อราในอากาศ ทำให้เกิดอาการเช่นนั้นยามที่ต้องเผชิญกับฝุ่นละออง เช่น ขณะทำความ
สะอาดบ้านควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก พยายามหลีกเลี่ยงอากาศนอกบ้าน ยามที่มีตัวการ ทำให้เกิดอากาศ
มาก เครื่องกรองอากาศ และเครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องกรองอากาศอยู่ด้วย ช่วยลดจำนวนฝุ่นละออง
แต่ตรวจเช็คดูส่วนที่ใช้ดักผงฝุ่นละอองฝนเครื่องเป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านเกิดปัญหาโพรงอากาศอักเสบแล้ว ควรได้รับการดูแลจากแพทย์จนสบายดีหายใจได้
สะดวก เพราะบางสาเหตุต้องใช้เวลานานในการเยียวยารักษา จนคนไข้เกิดอาการเอือมระอาในการไป
หาแพทย์แต่ละครั้ง
 
 
  ไซนัสอักเสบ
--------------------------------------------------------------------------------
แพทย์ทั่ว ๆ ไป มักพบเสมอว่า ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศรีษะจะมาบอกแพทย์ว่า กลัวจะเป็นโรค "ไซนัส"
ซึ่ง เขาหมายถึง "ไซนัสอักเสบ" ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยทราบเลยว่า "ไซนัส" คืออะไร
ในความเป็นจริงอาการปวดศรีษะเป็นแต่เพียงอาการอย่างหนึ่งที่อาจพบได้ในโรคไซนัสอักเสบ และพบใน
ระยะเฉียบพลันมากกว่าระยะเรื้อรัง
ไซนัส หมายถึงโพรงหรือช่องอากาศที่อยู่ในกระดูกของหน้ามีทางติดต่อกับช่องจมูกเรียกว่ารูเปิดของ
ไซนัส โดยทั่ว ๆ ไปในคนมีไซนัสอยู่ 4 คู่คือ
1. Maxillary sinus มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ที่แก้มทั้ง 2 ข้าง
2. Frontal sinus อยู่ที่หัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง ในบางรายพบว่ามีเพียงช่องเดียวหรือไม่มีเลย บางรายก็มีถึง
    3 ช่อง
3. Ethmoidal sinus อยู่ที่ซอกตาระหว่างกระบอกตา และจมูกเป็นช่องเล็ก ๆ ติดต่อกันอยู่มีข้างละ
    ประมาณ 2-10 ช่อง
4. Sphenoidal sinus อยู่ที่หลังจมูกด้านบนสุด ติดกับฐานของสมอง
ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)  ชนิดเฉียบพลัน
สาเหตุ
1. สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยไม่ดี เช่น ภูมิต้านทานต่ำ โดยมีโรคอื่นเป็นพื้นฐานได้แก่ โรคเลือด, เบาหวาน,
โรคภูมิแพ้, วัณโรค โรคขาดสารอาหาร, ภาวะที่ร่างกายตรากตรำมากเกินไป, ทำงานหนักเกินไป, นอน
ไม่หลับ, การกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะความเย็นจัด ถูกฝุ่นละออง
และควันบุหรี่จำนวนมาก สูดดมสารเคมีที่มีฤทธิ์รุนแรง เป็นต้น
2. สภาพของจมูกที่ช่วยส่งเสริมให้เป็นโรคนี้ง่าย เช่น มีการอักเสบในจมูก หรือไซนัสอันใดอันหนึ่งมาก่อน
มีเนื้องอกในจมูก แผ่นกั้นช่องจมูกคด ส่วนโครงสร้างภายในจมูกเบียดบังรูเปิดของไซนัสทำให้อากาศ
ถ่ายเทไม่ดี มีการแตกหักของกระดูกไซนัส เป็นต้น
3. สาเหตุโดยตรง ได้แก่
   3.1 โรคที่มีอาการนำทางจมูก เช่น ไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, หัด, คางทูม ไอกรนและอื่น ๆ
   3.2 ฟันผุและการถอนฟัน โดยเฉพาะฟันบน เชื้ออาจมาจากรากฟันซี่บน ซึ่งอยู่ติดกับโพรงไซนัสดูใหญ่
          สุด จะเป็นให้ไซนัสที่แก้มข้างนั้นอักเสบได้
   3.3 การสั่งน้ำมูกแรง ๆ จามมาก ๆ อย่างรุนแรง การใส่ยาในจมูก และการดำน้ำ พาให้เชื้อโรคเข้าสู่ไซนัส
         ได้ง่ายขึ้น อาการอาจมีประวัติเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ มาก่อน หรือาจมีประวัติฟันผุ
         ถอนฟันนำมาก่อนก็ได้
1. ไข้ไม่สูงมาก ประมาณ 38 ํ - 39 ํซ. อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว และปวดศรีษะ บริเวณขมับ, ท้าทอย
     หรือปวดทั่วศรีษะ
2. ปวดบริเวณหน้า หรือกระบอกตาวันแรก ๆ มักปวดทั่ว ๆ ไป อาจปวดทั่วศรีษะจนบอกไม่ถูกว่าปวด
    บริเวณไหน หลังจากวันที่ 2 จะปวดเฉพาะบริเวณไซนัสที่เป็น เช่น ปวดที่แก้ม ที่ซอกตา ที่หัวคิ้ว
    และกลางศรีษะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดร้าวไปตามอวัยวะใกล้เคียง เช่น ฟันบน ขมับ
    หน้าผาก กระบอกตา ท้ายทอย หูและกลางกระหม่อม
3. อาการคัดจมูก, จาม, น้ำมูกไหล ส่วนมากมีมาก่อน เนื่องจากเป็นโรคระบบทางเดินหายใจนำมา แต่ใน
    บางรายที่เป็นไซนัสอักเสบโดยตรง อาจมีอาการในวันที่ 2 - 3 ไปแล้วก็ได้ ถ้ามีโรคภูมิแพ้อยู่ด้วยจะมี
    อาการรุนแรงมากขึ้น
    การอักเสบติดเชื้อหนอง จะทำให้มีน้ำมูกข้น สีเขียว หรือเหลือง ระยะนี้เสียงผู้ป่วยมักมีลักษณะตื้อ ๆ 
    ไม่กังวาน
4. อาการในคอ เช่น เจ็บคอ มีเสมหะในคอ คอแห้ง ระคายคอ
5. อาการไอ เนื่องจากเสมหะที่ไหลลงคอไปรบกวน ทำให้ไอ หรือบางครั้งมีโรคหลอดลมอักเสบ
    แทรกซ้อนขึ้น
6. อาการทางหู อาจมีอาการ หูอื้อ ปวดหู เนื่องจากท่อระบายอากาศของหูชั้นกลาง ถูกอุดตันโดยเสมหะ
    หรือการบวมหรือบางครั้งมีเนื้องอกอยู่ด้านหลังจมูกร่วมด้วย  นอกจากนี้อาจมีเชื้อโรคเข้าสู่หูชั้นกลาง
    ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น
การตรวจโดยแพทย์
1. การตรวจด้านหน้าของจมูก แพทย์ใช้ไฟส่องเข้าในจมูก ซึ่งถ่างด้วยเครื่องถ่างจมูกเพื่อดูว่ามีการบวม,
    หนอง, เนื้องอก, หรือการผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่
2. การตรวจด้านหลังของจมูก ใช้ไม้กดลิ้น และกระจกเล็ก ๆ ลนไฟส่องในคอด้านหลัง ช่องปาก
3. ตรวจหาที่เจ็บบริเวณหน้า และไซนัส
4. ตรวจด้วย เอกซ์เรย์ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงภายในไซนัส
การรักษา
ส่วนมากเป็นการรักษาด้วยยารับประทาน ไม่นิยมให้ยาหยอดจมูก
ผู้ป่วยที่ปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำและรับประทาน
ยาสม่ำเสมอ มักหายได้ง่าย ในระยะนี้ ยาที่ใช้ส่วนใหญ่ คือยาปฏิชีวนะและยาที่รักษาตามอาการ
หลักที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติ
1. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะการนอน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ ไม่ควรอดนอน
2. รับประทานอาหารที่มีคุณค่าและถูกสุขลักษณะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
3. ดื่มน้ำตามสมควรในผู้ใหญ่ประมาณวันละ 8-10 แก้ว ในฤดูหนาวในจังหวัดทางภาคเหนือ ควร
    ดื่มน้ำอุ่นจัด ๆ
4. รักษาร่างกายให้อบอุ่นตามสมควร การใส่เสื้อกันความหนาวนั้น ควรใส่ให้หนาจนมือและเท้าของ
    ผู้ป่วยอุ่นขึ้น  บางครั้งต้องใส่หมวก และถุงเท้าด้วย
5. การทำงานที่ไม่ได้ออกกำลังมากและไม่เครียดมาก พอทำได้ ไม่ถึงกับต้องหยุดทำงาน นอกจากใน
    รายที่อาการ รุนแรงมาก
6. การใช้น้ำร้อนประคบบริเวณที่ปวดอาจช่วยลดอาการปวดลงได้บ้าง รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
7. หลักเลี่ยงการกระทบอากาศเย็นจัดหรืออากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง ประวัติ
    การป่วย มักเป็นนาน หลายๆ เดือน หรือเป็นปี หรือหลายๆ ปี เนื่องจากโรคไซนัสอักเสบ มักไม่มี
    อันตรายที่รุนแรง นอกจากผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอมาก ๆ หรือมีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงอยู่เท่านั้น
    บางรายอาจมี อาการเฉียบพลันเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ก็ได้
อาการของไซนัสอักเสบเรื้อรัง อาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง บางอย่าง หรือทุกอย่างดังต่อไปนี้
1. อาการทางจมูก ได้แก่ คัดจมูกน้ำมูกไหล, จาม, เวลาพูดมีเสียงตื้อ ๆ ไม่กังวาน น้ำมูก อาจมีทั้งใส
    หรือขุ่น สีขาว, เขียว,เหลืองก็ได้ บางรายมีกลิ่นเหม็น การได้กลิ่นอาจผิดปกติ เช่น ไม่ค่อยรู้สึกกลิ่น
    หรือมีกลิ่นมากไป ในเด็กที่มีน้ำมูกข้นนานเป็นเดือน มักมีสาเหตุจากไซนัสอักเสบ
2. แน่นหรือไม่สบาย บริเวณหน้าหรือไซนัสที่เป็น
3. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะในระยะที่ยังไม่เรื้อรังมาก ประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน
4. ไอ อาจมีเสมหะหรือไม่มี แต่ส่วนมากจะมี
5. อาการทางหู แน่นหู หูอื้อ ปวดหู หรือมีเสียงรบกวนในหู
6. อาการปวดศรีษะอาจมีได้ในบางราย มักปวดในระยะหลังตื่นนอนเช้า หายไปตอนบ่าย ๆ
7. มีประวัติโรคภูมิแพ้ ฟันผุ หรือประวัติการเป้นอย่างเฉียบพลันมาก่อน หรือมีเนื้องอกในจมูก การตรวจ
    เช่นเดียวกับในรายที่เป็นเฉียบพลัน
การรักษา แบ่งเป็น
1. การใช้ยา เช่นเดียวกับในรายที่เป็นชนิดเฉียบพลัน
2. การล้างไซนัส เมื่อมีประวัติเป็นนานเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป และการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล มีวิธีล้าง 2 วิธี
   2.1 ใช้เครื่องดูดเสมหะ มักใช้ในเด็กโดยทำในท่านอนให้เด็กนอนแหงนหน้ามาก ๆ และหายใจทางปาก
          ใส่ น้ำยาที่ใช้ล้าง (น้ำเกลือผสมยาลดการบวมของเยื่อจมูกและไซนัส) บางครั้งผู้ป่วยจะถูกขอร้อง
          ให้พูดคำว่า " เค...เค" เพื่อให้การดูดได้ผลดีขึ้น
   2.2 การล้างโดยตรง ในไซนัสอาจใช้การเจาะผนังไซนัสผ่านทางจมูก ผ่านรูเปิดธรรมชาติของไซนัส
         ทำมาก และสะดวก สำหรับไซนัสบริเวณแก้ม ส่วนไซนัสที่หัวคิ้วและหลังจมูก ควรทำโดยผู้เชี่ยว
         ชาญ สำหรับไซนัสที่ ซอกตาไม่อาจล้างวิธีนี้ได้
3. การผ่าตัด แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ควรจะรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งหมายความว่าได้ผ่านการ
    รักษา ชั้นที่ 1 และ 2 มากแล้ว หรืออาจเป็นมานาน จนแพทย์ตรวจพบว่าไม่อาจรักษาให้หายได้ ด้วยวิธี
    ข้างต้น การผ่าตัดนั้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้
   3.1 แก้ไขสิ่งกีดขวางในจมูกที่ทำให้อากาศถ่ายเทระหว่างจมูก, แผ่นกั้นช่องจมูกคดและอื่น ๆ
   3.2 นำเนื้อเยื่อที่เป็นโรคยนไม่อาจหายเป็นปกติได้ออกจากไซนัสให้หมด
   3.3 ทำการถ่ายเทอากาศและหนองในไซนัสให้ดีไม่มีการอุดตันของไซนัส
ปัญหาของผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง หลังจากได้รับการผ่าตัดแล้ว ส่วนมาก็จะหายจากโรคนี้
 แต่บางครั้งก็พบว่าผู้ป่วยยังไม่หายจากอาการที่เคย เป็น เช่นอาจมีน้ำมูก หรือเสมหะลงคออยู่เรื่อย ๆ
จามและคัดจมูก เป็นต้น ทั้งนี้อาจมีสาเหตุอีกหลายอย่าง เช่น
1. การผ่าตัดไม่ได้ทำหมดทุกไซนัส เราทราบแล้วว่ามีอยู่ทั้งหมด 4 คู่ แต่แทพย์มักทำผ่าตัดคู่ที่เป็นมาก
    ที่สุด ก่อนเสมอ ถ้ายังมีปัญหาอยู่ก็ต้องปรึกษาแพทย์ต่อไป อาจจะต้องทำผ่าตัด ไซนัสอื่นเพิ่มเติม
2. ผู้ป่วยมีโรคภูมิแพ้เป็นประจำอยู่ แม้ว่าจะรักษาโรคไซนัสอักเสบจากการติดเชื้อ หายไปแล้ว แต่โรค
    ภูมิแพ้ ก็ยังคงทำให้มีอาการคล้าย ๆ กันได้ จำเป็นต้องรักษาโรคภูมิแพ้ต่อไป โรคภูมิแพ้นี้ไม่อาจรักษา
    ให้หายขาดได้ เพียงแต่ทำให้อาการเบาบางลง โดยหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้, รับประทานยาแก้แพ้,
    ฉีดวัคซีนเพื่อลดความไวของโรคภูมิแพ้ เป็นต้น
3. อาจมีการเกิดซ้ำของโรคหลังจากผ่าตัด เพราะเนื้อเยื่อภายในจมูก และไซนัสระยะหลังผ่าตัดใหม่ ๆ ยัง
    มีความอ่อนแออยู่
4. มีโรคประจำตัวอย่างอื่น เช่น เบาหวาน, วัณโรค, โรคของต่อมไธรอยด์ เป็นต้น
การป้องกันโรคไซนัสอักเสบ หรือป้องกันการเกิดซ้ำของโรค ควรปฏิบัติให้ถูกต้องคือ
1.   หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำลายสุขภาพตามสาเหตุข้อ 1 หรือแก้ไขโรคประจำตัวที่มีอยู่ เมื่อมีความผิดปกติ
      ในจมูกควรปรึกษาแพทย์ เพื่อแก้ไข ควรงดการว่ายน้ำดำน้ำ เมื่อเป็นหวัด หรือโรคภูมิแพ้ของจมูก
2.   รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในฤดูหนาว
3.   ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงทุกวัน
4.   หลีกเลี่ยงจากสิ่งมีพิษในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง, สารเคมีต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง, ควันบุหรี่, ทินเนอร์
      ผสมสี เป็นต้น
5.   เมื่อเป็นหวัดอย่าปล่อยไว้นานเกิน 1 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์
6.   ในกรณีที่มีฟันผุ โดยเฉพาะฟันบนพึงระวังว่าจะมีโอกาสติดเชื้อเข้าสู่ไซนัสได้
7.   รักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้ดีอยู่เสมอ
8.   ออกกำลังกายพอสมควรโดยสม่ำเสมอ
9.   รับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ครบถ้วน และไม่มาก หรือน้อยเกินไป
10. ถ้ามีโรคประจำตัวอยู่ ควรได้รับการรักษาแพทย์โดยสม่ำเสมอ
ที่มา   www.thailabonline.com

อัพเดทล่าสุด