ขอความรู้เรื่องการกินยาคุม และ ระยะเวลาการกินยาคุม (มีคำตอบแล้ว)


1,024 ผู้ชม


ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานในปัจจุบันเป็นชนิดฮอร์โมนรวมโดยประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่ง
มีขนาดแตกต่างกัน และโปรเจสเตอโรนซึ่งแตกต่างกันตามชนิด ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดระยะเวลาของ
การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ผู้ใช้ยาสามารถใช้ยาต่อเนื่องได้ถ้ายังต้องการคุมกำเนิด
แต่ในสตรีที่มีอายุ > 35 ปี การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมต้องระมัดระวัง โดยควรเลือกใช้ชนิด
ที่มีฮอร์โมนต่ำที่สุด หรือใช้ถุงยางอนามัยแทน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ดี
และสามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย

ตามองค์การอนามัยโลกที่ทำการศึกษาใน 21 ศูนย์ กว่า 17 ประเทศทั้งในทวีปแอฟริกา, เอเชีย, ยุโรป และละตินอเมริกา
พบว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อขาดเลือด และหลอดเลือดสมองในสตรีสูงอายุ
และสูบบุหรี่ และความเสี่ยงนี้เพิ่มมากขึ้นในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย หรือผู้ที่ไม่เคยวัดความดันโลหิตก่อนเริ่มใช้ยา
โดยความเสี่ยงเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกันทั้งในประเทศกำลังพัฒนา และยุโรป ความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงขึ้น
ในสตรีที่ใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนรุ่นที่ 3 ได้แก่ desogestrel , gestodene และ norgestimate มากกว่า levonorgestrel
(ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนรุ่นที่ 2) และพบว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่
และเยื่อบุมดลูกได้ ส่วนมะเร็งเต้านมพบว่าผู้ที่เคยใช้การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแทบไม่มีความเสี่ยงนี้
แต่ก็พบว่าผู้ที่กำลังใช้ หรือเพิ่งจะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
และความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกพบว่าเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการใช้ยาคุมกำเนิด
ไม่พบหลักฐานการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งตับ หรือถุงน้ำดี (3)
จากการศึกษาล่าสุดในปี ค.ศ. 2008 ที่ทำการศึกษาความปลอดภัย และการที่สามารถใช้ยาอย่างต่อเนื่อง
ของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ( Ethinyl estradiol 30 ไมโครกรัม และ chlormadinone actate 2 มก.)
ในสตรีสุขภาพดีที่สามารถตั้งครรภ์ได้ที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี (สูบบุหรี่), 18-40 ปี (ไม่สูบบุหรี่)
และรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดมาแล้วกว่า 24-45 รอบ/เดือน จำนวน 781 คน ไม่พบหลักฐานการ
เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน, โรคหลอดเลือดแดงแข็ง หรือมะเร็งปากมดลูก (4)
อย่างไรก็ตามเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้อยู่มีขนาด และชนิดของฮอร์โมนที่แตกต่างกัน
ผู้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมควรเฝ้าสังเกตอาการแสดงของอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ (1-2)
1.อาการปวดท้อง ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคเนื้องอกที่ตับ, โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี หรือหลอดเลือดอุดตัน
2.อาการเจ็บหน้าอก (ไอรุนแรง หรือหายใจหอบ) อาจเป็นอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด
3.อาการปวดศีรษะ (มึนศีรษะอย่างรุนแรง หรืออ่อนแรง) อาการแสดงของความดันโลหิตสูง ไมเกรน หรือหลอดเลือดสมอง
4.มีปัญหาการมองเห็น (ตาพร่ามัว) อาการแสดงของความดันโลหิตสูง หรือหลอดเลือดสมอง
5.อาการปวดขาอย่างรุนแรง (ปวดน่อง หรือต้นขา) อาจเป็นอาการของหลอดเลือดอุดตัน
สำหรับข้อห้ามใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ได้แก่ (1)
1.สตรีที่กำลังเป็น หรือเคยเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่บริเวณขา หรือปอด, โรคหลอดเลือดสมอง,
โรคหัวใจขาดเลือด, โรคลิ้นหัวใจ
2.โรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต ตา ระบบประสาท หรือหลอดเลือดต่างๆ, โรคเบาหวานที่เป็นมา > 20ปี
3.มะเร็งเต้านม
4.สตรีที่กำลังเป็น หรือเคยเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งตับ โรคตับแข็งที่เป็นรุนแรง
5.ไมเกรนชนิดที่มองเห็นแสงสว่างวาบ มองภาพไม่ชัด
6.ไมเกรนชนิดที่ไม่เห็นแสงสว่างวาบ แต่มีอายุ > 35 ปี
7.ภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ (ความดันโลหิตค่าบน >160 มม.ปรอท หรือ ความดันโลหิตค่าล่าง >90 มม.ปรอท )
8. ผู้ที่ผ่าตัดใหญ่ที่ทำให้ไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานาน, การผ่าตัดบริเวณขา
9.อายุ > 35 ปี และสูบบุหรี่จัด (>15 มวน/วัน)
10.หญิงตั้งครรภ์
11.หญิงให้นมบุตร (หลังคลอดมา <6 สัปดาห์)
การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมจึงไม่เป็นอันตรายต่อมดลูก และผู้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดควรตรวจสุขภาพ
อย่างสม่ำเสมอ โดยการตรวจวัดระดับความดันโลหิต, ระดับไขมันในเลือด และระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อเฝ้าระวัง
อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ หรืออาจเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดเป็นวิธีการอื่นที่ให้ผลการคุมกำเนิดในระยะยาว
เช่น การฝังยาคุมกำเนิดใต้ผิวหนัง ซึ่งสามารถคุมกำเนิดได้นานถึง 5 ปี

ที่มา   drug.pharmacy.psu.ac.th

อัพเดทล่าสุด