อาการแทรกซ้อนโรคคางทูม |
ทราบหรือไม่ครับว่า โรคคางทูม (Mumps) คือโรคติดเชื้อเฉียบพลัน ที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งมักจะเกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทั้งนี้โรคดังกล่าวหากเกิดในเด็ก (อายุระหว่าง 5 -10 ปี) อาการมักไม่รุนแรงนัก แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่และไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่คาดไม่ถึงตามมาได้ อาการของโรคคางทูม คางทูม เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่ติดต่อกันโดยตรง ทางการหายใจ การจาม ไอ และการสัมผัสกับน้ำลายของผู้ป่วย เช่น การดื่มน้ำและกินอาหารโดยใช้ภาชนะร่วมกัน เมื่อได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้น จะมีอาการเจ็บบริเวณขากรรไกร เนื่องจากต่อมน้ำลายบริเวณข้างหูบวมโตขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหูเวลาพูด กลืน และเคี้ยวอาหารได้ลำบากมากขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา เชื้อไวรัสดังกล่าวจะเข้าไปเพิ่มจำนวน ในเยื่อบุทางเดินหายใจและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงของเรา จากนั้นจะซึมเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ โรคแทรกซ้อนที่มากับคางทูม • อัณฑะอักเสบ เด็กวัยรุ่นและเพศชายที่ป่วยเป็นโรคคางทูมราว 1 ใน 4 คน มักจะมีอาการอัณฑะอักเสบร่วมด้วย ทั้งนี้อาการดังกล่าว มักเกิดหลังจากต่อมน้ำลายอักเสบราว 4-10 วัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดบวมที่ลูกอัณฑะ เมื่อกดดูจะรู้สึกเจ็บและอึดอัด โดยทั่วไปจะปวดอยู่ราว 2 -4 วัน ก่อนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้อาการอักเสบที่ลูกอัณฑะ อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ และสำหรับคนที่ลูกอัณฑะเกิดการอักเสบทั้งสองข้าง อาจทำให้อัณฑะที่บวมอยู่ ถูกบีบให้อยู่ในพื้นที่อันจำกัด ทำให้ขาดการยืดหยุ่น และมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ หากไม่รีบไปรักษา อาจทำให้เป็นหมันได้ • รังไข่อักเสบ พบในผู้หญิงวัยแตกเนื้อสาว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีไข้และปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ทั้งนี้ ยังพบอีกว่าผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคคางทูมในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีอัตราเสี่ยงต่อการแท้งบุตร และคลอดก่อนกำหนดอีกด้วย • เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดไม่พบเชื้อ เป็นโรคแทรกซ้อนชนิดรุนแรงอีกอย่างหนึ่ง ที่มากับโรคคางทูม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะอย่างหนัก และซึมเศร้า คอแข็ง หลังแข็ง และมีอาการชัก หากรักษาไม่ทัน อาจทำให้เสียชีวิตได้ • ประสาทหูอักเสบ พบได้ประมาณ ร้อยละ 4-5 ส่วนใหญ่มักจะอยู่เพียงชั่วคราว และหายได้เอง ซึ่งอาการประสาทหูอักเสบ เนื่องจากโรคเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าว เข้าไปทำลายระบบการได้ยินของหู ส่งผลให้หูชั้นในเกิดการอักเสบ ซึ่งหากไม่รักษา อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูตึง หรือหูหนวกได้ นอกจากนั้น โรคคางทูมยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาอีกมายมาย เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ ไตอักเสบ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ไขข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งโรคทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะแสดงอาการมากน้อย ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน การรักษาและป้องกัน ปัจจุบันโรคคางทูมยังไม่มียารักษา แต่เราสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้วัคซีนป้องกันโรคคางทูม ซึ่งมักจะอยู่ในรูปของวัคซีนรวม ทั้งโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมันที่มีชื่อว่าเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) โดยจะให้กับเด็กทั่วประเทศ ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุเก้าเดือน และรับครั้งที่สอง เมื่ออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคคางทูม ให้รักษาตามอาการ เช่น หากอ่อนเพลียให้นอนพักและดื่มน้ำมากๆ เวลามีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ในกรณีที่คางบวมมากๆ ให้ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่เป็นคางทูม และหมั่นทำความสะอาดในช่องปาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เป็นต้น ในอดีต คนไทยส่วนใหญ่นิยมนำใบเสลดพังพอนมาตำผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย ทาบริเวณคางที่บวม 2-3 ครั้งต่อวัน ก็จะทำให้อาการบวมลดลงได้ ซึ่งใครที่เคยป่วยเป็นโรคคางทูมแล้ว จะไม่กลับมาเป็นอีก ข้อปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วย ในกรณีของคนใกล้ชิดหรือกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคคางทูม มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ • แยกผู้ป่วยโรคคางทูมออกจากผู้อื่น เป็นเวลา 9 วัน หลังจากมีอาการบวมของต่อมน้ำเหลือง พร้อมทั้งสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสดังกล่าว แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นๆ • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนของผู้ป่วยโรคคางทูม ไม่ว่าจะเป็นเสมหะ น้ำลาย ที่เกิดจากการจามหรือไอของผู้ป่วย รวมถึงงดใช้ภาชนะต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย เป็นต้นว่า ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เพื่อป้องกันการรับเชื้อ เป็นต้น |
ที่มา www.yourhealthyguide.com |