ควบคุมโรคคางทูม - โรคคางทูมในเด็ก ป้องกันได้ !!


1,236 ผู้ชม


โรคคางทูมในเด็ก
โรคคางทูมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า mumps คางทูมเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลาย เนื่องจากเป็นโรคติดต่อจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า epidemic parotitis

ต่อมน้ำลายในร่างกายมีหลายต่อม ต่อมที่ถูกเชื้อไวรัสเล่นงานมาที่สุดคือ ต่อมพาโรติด (parotid) ซึ่งอยู่ตรงหน้าหูหรือแก้มส่วนบน ทำให้แก้มโย้ลงมาที่คาง อันเป็นที่มาของชื่อคางทูม อาจเป็นที่ต่อมน้ำลายข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง หรืออาจเป็นที่ต่อมน้ำลายที่ใต้ลิ้น หรือที่ใต้ขากรรไกรก็ได้ ถ้ายิ่งเป็นมากต่อม อาการก็ยิ่งมาก พบมากในเด็กอายุ 6-10 ปี มักไม่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี อาจพบระบาดได้เป็นครั้งคราว

สาเหตุ

สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัสคางทูม ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มพารามิกโซไวรัส paramyxovirus เชื้อจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อได้ง่ายโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสถูกมือ หรือสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ที่แปดเปื้อนเชื้อ ลักษณะการแพร่เชื้อคล้ายกันกับไข้หวัด โดยทั่วไประยะฟักตัวของเชื้อไวรัสประมาณ 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ ช่วงระยะเวลาที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสคางทูม คือช่วง 3 วันก่อนมีอาการจนถึง 9 วันหลังจากอาการหายไป หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายโรคไปกับบุคคลอื่นได้ตั้งแต่ เริ่มมีอาการจนกระทั่งต่อมน้ำลายยุบบวมแล้ว

เชื้อไวรัสคางทูมเป็นอาร์เอ็นเอไวรัส สายเดี่ยว มีเปลือกหุ้ม ลักษณะเป็นเกลียวที่สมมาตร สาย RNA มีความยาว 16 - 18 kbp โปรตีนที่สำคัญของเชื้อไวรัส ได้แก่ nucleoprotein (NP), M protein ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของเปลือกหุ้ม, HN (haemagglutination and neuraminidase protein) และ F (fusion) protein ที่พัฒนาไปเป็นส่วนหนามของไวรัส ปัจจุบันพบว่าเชื้อไวรัสคางทุมมีเพียง serotype เดียวเท่านั้น แอนติเจนของเชื้อไวรัสคางทูมจะทำปฏิกิริยาข้ามพวกกับเชื้อ paramyxovirus

ในกรณีที่เกิดโรคซ้ำ สาเหตุจะเกิดจากเชื้อ influenza และ parainfluenza (types 1 and 3), coxsackie viruses A and B, ECHO virus, lymphocytic choriomeningitis ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี เชื้อก่อเหตุจะเป็น cytomegalovirus และ adenovirus

อาการ

ควบคุมโรคคางทูม - โรคคางทูมในเด็ก ป้องกันได้ !!ผู้ป่วยจะมีอาการไข้คล้ายไข้หวัดนำมาก่อนประมาณ 2–3 วัน ส่วนใหญ่แล้วอาการเริ่มแรกจะมีไข้อ่อนๆ มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียและปวดในรูหูหรือหลังหู ขณะเคี้ยวหรือกลืน บางรายอาจมีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ในขณะที่บางรายอาจไม่มีไข้เลย

จากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บบริเวณหน้าหู ร่วมกับอาการบวม โดยเริ่มเป็นที่หน้าหูข้างใดข้างหนึ่งก่อน ต่อมาจึงมีอาการทั้งสองข้าง ตำแหน่งที่เจ็บเป็นต่อมน้ำลายที่อักเสบ มีชื่อเรียกว่าต่อมพาโรติด (parotid gland) ต่อมาต่อมน้ำลายที่อักเสบจะบวมโตขึ้น กดเจ็บมากขึ้น ประมาณ 2 หรือ 3 วัน อาการบวมจะมากที่สุด บางคนอาจเห็นลักษณะแก้มโย้ดูน่ากลัวมาก จากบริเวณข้างหูหรือขากรรไกรที่มีอาการปวด บวม และกดเจ็บ ผิวหนังบริเวณนั้นอาจจะมีลักษณะแดง ร้อน และตึง ผู้ป่วยมักรู้สึกปวดร้าวที่หูขณะกลืน เคี้ยว หรืออ้าปาก บางรายอาจมีอาการบวมที่ใต้คางร่วมด้วย สองในสามของผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบของต่อมน้ำลายทั้งสองข้าง โดยห่างกันประมาณ 4-5 วัน

ต่อจากนั้นหากไม่มีภาวะหรือโรคแทรกซ้อน อาการต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ บรรเทาลง และหายได้เองในระยะเวลาราว 1 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการขากรรไกรบวม โดยไม่มีอาการอื่นนำมาก่อน หรือบางรายอาจมีเพียงไข้ โดยขากรรไกรไม่บวมก็ได้

การตรวจร่างกาย พบบริเวณขากรรไกรบวม ข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง และรูเปิดของท่อน้ำลายในกระพุ้งแก้ม ซึ่งอยู่บริเวณตรงกับฟันกรามซี่ที่ 2 อาจมีอาการบวมเล็กน้อย

การวินิจฉัย

วินิจฉัยจากลักษณะประวัติอาการของการเจ็บป่วย แพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการบางอย่างตามความเหมาะสม หรือมีข้อบ่งชี้ อย่างไรก็ตาม อาการคางบวมอาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ได้ ดังนั้นแพทย์จะซักถามอาการและตรวจร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจดูภายในปากและลำคอ

แนวทางการรักษา

การรักษาโรคคางทูมเป็นการรักษาตามอาการ ไม่มีการรักษาจำเพาะ ที่สำคัญต้องนอนพักผ่อน ไม่ควรให้เด็กกระโดดโลดเต้น จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น แพทย์จะให้ให้ยาลดไข้แก้ปวด และแนะนำให้รักษาสุขภาพในช่องปาก โดยใช้น้ำยาบ้วนปากทำความสะอาดช่องปากหลังอาหาร

ให้เด็กดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวเวลามีไข้สูง ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่เป็นคางทูม ประคบบริเวณที่บวมวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที เพื่อลดการอักเสบ โรคคางทูมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จึงไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ

โรคคางทูมจะมีปัญหายุ่งยากเมื่อมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหากจนกว่าคางจะยุบบวม และควรเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ หากสงสัยควรส่งไปตรวจที่โรงพยาบาล โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก

การรักษาสมัยโบราณ

ควบคุมโรคคางทูม - โรคคางทูมในเด็ก ป้องกันได้ !!การรักษาโรคคางทูมสมัยก่อน ผู้ใหญ่จะให้เด็กนอน ห้ามไปวิ่งเล่น แล้วหายาพื้นบ้านประเภทยาเขียว ยาจันทร์ มาละลายน้ำให้กิน เพื่อขับพิษลดไข้ บางคนนิยมใช้ยาแก้ซางตัวร้อน มีรสหวานกลิ่นหอมน้ำกุหลาบ ตัวยาคือโซเดียมซาลิซิเลท ยาแก้ไข้แก้ปวดตระกูลเดียวกับแอสไพริน ส่วนบริเวณหน้าหูที่บวมเจ็บ จะใช้ยาเย็น ๆ ทา เชื่อว่าแก้บวมแก้ปวดได้ เด็กบางคนพ่อแม่พาไปหาซินแสยาจีน ได้ยาสมุนไพรผสมเหล้าที่เรียกว่า ยาแชเฉ้ามาทา

เด็กบางคนที่เป็นคางทูมพ่อแม่พาไปเขียนคำว่า "โฮ้ว" ในภาษาจีนตรงแก้มที่บวม เรื่องนี้เนื่องมาจากความเชื่อของคนจีนว่า โรคคางทูมเกิดจากปีศาจหมู ทำให้แก้มบวมคล้ายหมู คนจีนเรียกโรคนี้ว่า ตือเถ้าปุ๊ย (แปลว่าบวมเป็นหัวหมู) จึงแก้โดยใช้เสือปราบ วิธีการให้เสาะหาคนปีขาลมาเขียนคำว่า "โฮ้ว" ด้วยหมึกจีน ลงบนแก้มที่บวมนั้น เสือจะไปไล่ปีศาจหมูให้หนีไป แก้มที่บวมโย้ ก็จะยุบลงเป็นปกติ การใช้หมึกจีนเขียนลงไปบนแก้มที่บวม ไม่มีอะไรเสีย มีแต่ผลดี เพราะหมึกจีนช่วยให้เย็นสบาย ผลพลอยได้คือช่วยด้านกำลังใจแก่ทั้งเด็กที่ป่วยและผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่ง

อาการแทรกซ้อนภาวะแทรกซ้อนตามมาภายหลังติดเชื้อไวรัสคางทูมที่อาจพบได้ ได้แก่

  1. อัณฑะอักเสบ เรียกว่า orchiitis เกิดจากปฏิกิริยาจากแอนติบอดีที่ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อไวรัสคางทูม ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดอัณฑะและอัณฑะบวม โดยจะปวดมากใน 1-2 วันแรก มักพบหลังเป็นคางทูม 7-10 วัน แต่อาจพบก่อนหรือพร้อม ๆ กับคางทูมก็ได้ ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้างเดียวและน้อยรายที่จะกลายเป็นหมัน มักพบหลังวัยแตกเนื้อหนุ่มซึ่งอาจพบได้ประมาณร้อยละ 25 ในเด็กอาจพบได้บ้าง แต่น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก ผลที่ติดตามมาอาจเป็นหมันในภายหลัง ดังนั้นหากผู้ป่วยเด็กชายมีอาการเจ็บบริเวณถุงอัณฑะ โดยมีประวัติเป็นคางทูมมาก่อนในระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาต่อไป ในกรณีที่มีอาการอัณฑะอักเสบแทรก ให้ประคบด้วยน้ำแข็ง ให้ยาลดไข้แก้ปวด และให้ยาเพร็ดนิโซโลนเพื่อลดการอักเสบ ผู้ใหญ่ให้กินครั้งแรก 12 เม็ด เด็กให้ขนาด 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน ต่อไปให้วันละครั้งโดยค่อย ๆ ลดขนาดลงทีละน้อย จนเหลือวันละ 5-10 มิลลิกรัม ภายในประมาณ 5-7 วัน
  2. รังไข่อักเสบ เรียกว่า oophoritis ผู้ป่วยจะมีอาการไข้และปวดท้องน้อย มักพบในวัยแตกเนื้อสาว เชื้อไวรัสอาจลงไปสู่รังไข่ ทำให้เกิดการอักเสบของรังไข่ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณท้องน้อย ถ้ามีการอักเสบรุนแรง อาจคลำก้อนได้
  3. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เรียกว่า meningitis ซึ่งเป็นสาเหตุของเยื้อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุด โดยทั่วไปอาจพบอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่มากนัก ส่วนภาวะเนื้อสมองอักเสบ encephalitis อาจพบได้บ้าง แต่น้อยมาก ถ้าพบภาวะเนื้อสมองอักเสบ อาจมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตตายได้ ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลง ปวดศีรษะที่รุนแรงมาก ระดับสติสัมปชัญญะจะมีระดับต่ำลง ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีอาการซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล อาจจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ
  4. ตับอ่อนอักเสบ เรียกว่า pancreatitis เกิดขึ้นในรายที่เชื้อไวรัสเข้าสู่ตับอ่อน ผู้ป่วยเกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเดินได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมาก ดังนั้นผู้ป่วยที่ปวดท้อง โดยมีประวัติเป็นคางทูมมาก่อนในระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาต่อไป ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง ควรรีบส่งโรงพยาบาลทันที
  5. อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่ หูชั้นในอักเสบ ประสาทหูอักเสบ ซึ่งอาจทำให้หูตึงหูหนวกได้อย่างถาวร ไตอักเสบ ต่อมไทรอยด์อักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ล้วนเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก มีรายงานทางการแพทย์พบว่าผู้ป่วยแท้งบุตรได้

การป้องกันโรค

โรคคางทูมสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน เรียกว่า mumps vaccine มักทำรวมในเข็มเดียวกันกับวัคซีนป้องกันหัดและหัดเยอรมัน เรียกว่า เอ็มเอ็มอาร์ (MMR - measles, mumps, and rubella vaccine) ฉีดเมื่อเด็กอายุได้ 9-15 เดือน เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อโรคดังกล่าว

ความเชื่อในสมัยก่อนที่ว่า การปล่อยให้เด็กเป็นโรคอีสุกอีใส หัด และคางทูม เพียงครั้งเดียว จะเกิดภูมิคุ้มกันไปชั่วชีวิต ทำให้ผู้ใหญ่บางคนไม่ค่อยวิตกกังวล หากเด็กๆ เป็นโรคดังกล่าว หรืออาจปล่อยให้เด็กที่กำลังป่วยอยู่ ไปเล่นปะปนกับเด็กอื่นๆ โดยคิดว่าติดเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราวจะได้ไม่ต้องรอว่าจะเป็นเมื่อไหร่ บางคนยังเชื่อว่าเป็นเสียตั้งแต่ยังเด็ก อาการโรคจะไม่ค่อยรุนแรง ถ้าเป็นตอนโตจะไม่สบายรุนแรงกว่าหลายเท่า

ปัจจุบันนี้ทราบแล้วว่าโรคเหล่านี้ ถ้าไม่ระวังให้การรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดอาการหรือโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ จึงแนะนำให้เด็กไปฉีดวัตซีนป้องกันโรคเสียจะดีกว่า

ที่มา  www.bangkokhealth.com

อัพเดทล่าสุด