กฎหมายอิสลาม ในไทย กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก


1,412 ผู้ชม


กฎหมายอิสลาม ในไทย กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก

กฎหมายอิสลาม


        ความหมายของกฎหมายอิสลาม : ( خطاب الشارع المتعلق بأفعال العباد اقتضاء أو تخييرا أو وضعا ) “ ศาสนบัญญัติที่กำหนดพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นเนื้อความบังคับหรือบังคับให้เลือก และด้วยการกำหนดเป็นรูปแบบและวิธีการ ”
ข้อสังเกต
จากนิยามข้างต้น สรุปได้ว่า กฎหมายอิสลามมี 4 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ
     1. เป็นศาสนบัญญัติ
     2 . มีสภาพเป็นข้อกำหนดความประพฤติของบุคคล
     3. มีสภาพเป็นข้อบังคับ หรือบังคับให้เลือก
     4. มีสภาพที่เป็นกระบวนการที่แน่นอน
 
ประเภทของกฎหมายอิสลาม
กฎหมายอิสลามมี 2 ประเภท
1. กฎหมายที่มีเนื้อหาบังคับ (Charging legal law : التكليفى الحكم الشرعي )
2. กฎหมายที่เป็นรูปแบบกำหนดวิธีการ (Correlative law : الحكم الشرعي الوضعى )
      2.1 กฎหมายที่มีเนื้อหาบังคับ ( الحكم الشرعي التكليفى )
ความหมายของกฎหมายที่มีเนื้อความบังคับ คือ
( ( خطاب الشارع المتعلق بأفعال العباد اقتضاًء أو تخييراً
“ ศาสนบัญญัติที่กำหนดพฤติกรรมของบุคคลที่มีเนื้อหาบังคับ หรือบังคับให้เลือก ”
ประเภทของกฎหมายที่มีเนื้อหาบังคับ ( أقسام الحكم الشرعي التكليفى )
กฎหมายที่มีเนื้อหาบังคับ มี 5 ประเภท คือ
     1. อัลวาญิบ (Obligation : الواجب )
     2. อัลมันดูบ (Recommended : المندوب )
     3. อัลลมูบาห์ (Permissible : المباح )
     4. อัลมักรูฮฺ (Abominable : المكروه )
     5. อัลหะรอม (Prohibited : الحرام )

----------------

        หลักนิติธรรมอิสลาม (อัชชะรีอะฮฺ อัลอิสลามียะฮฺ) หมายถึง สิ่งซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ได้ทรงบัญญัติสิ่งนั้นเอาไว้แก่มวลบ่าวของพระองค์จากบรรดาหลักการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบรรดาหลักการที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการยึดมั่น (อัลอะกีดะฮฺ) หรือหลักจริยธรรม (อัลอัคลาก) หรือการจัดระเบียบสิ่งที่ออกมาจากมนุษย์ทั้งวจีกรรม, กายกรรมและการทำธุรกรรมทั้งหลาย (ดร.ซูฟีย์ หะซัน อบูฏอลิบ ; การบังคับใช้กฎหมายอิสลามในกลุ่มประเทศอาหรับ, หน้าที่ 15 พิมพ์ครั้งที่ 4 (ค.ศ.1995) สำนักพิมพ์อันนะฮฺเฎาะฮฺ อัลอะรอบียะฮฺ, ไคโร, อียิปต์)

         กฎหมายอิสลาม (อัลฟิกฮุล อิสลามีย์) หมายถึง ประมวลหลักการปฏิบัติต่าง ๆ ตามศาสนบัญญัติซึ่งจัดระเบียบพฤติกรรม วจีกรรมและการทำธุรกรรมทั้งหลายของบรรดาผู้ที่เข้าอยู่ในเกณฑ์บังคับของศาสนา โดยมีที่มาจากคัมภีร์อัลกุรฺอานและสุนนะฮฺตลอดจนบรรดาหลักฐานทางศาสนบัญญัติอื่น ๆ (อ้างแล้ว หน้า 16)

         นัยของหลักนิติธรรมอิสลามจึงมีความครอบคลุมและกว้างกว่านัยของกฎหมายอิสลาม เนื่องจากหลักนิติธรรมอิสลามจะประมวลถึงหลักการยึดมั่น (อัลอะกีดะฮฺ) และหลักจริยธรรม (อัลอัคลาก) ตลอดจนประมวลกฎหมายอิสลามเอาไว้ด้วย จึงกล่าวได้ว่า กฎหมายอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมอิสลามโดยรวม

         กฎหมายอิสลาม แบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ คือ

         1. หมวดการประกอบศาสนกิจ (อัลอิบาดาตฺ) ซึ่งจะกล่าวถึงบรรดาหลักการเฉพาะที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลกับพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي)  อาทิเช่น การละหมาด, การจ่ายซะกาต, การถือศีลอด และการประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นต้น


         2. หมวดปฏิสัมพันธ์ (อัลมุอามะลาตฺ) อันหมายถึงบรรดาหลักการเฉพาะที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน อาทิเช่น การซื้อขาย, การทำธุรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ การสมรส และการตัดสินข้อพิพาท เป็นต้น

        ในส่วนของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์ ได้แบ่งหมวดของกฎหมายอิสลามออกเป็น 4 หมวด คือ

  1. หมวดการประกอบศาสนกิจ (อัลอิบาดาตฺ)

  2. หมวดปฏิสัมพันธ์ (อัลมุอามะลาตฺ)

  3. หมวดลักษณะอาญา (อัลอุกูบาตฺ)

  4. หมวดการสมรส (อัซซะวาจฺญ์) หรือกฎหมายครอบครัว (อะฮฺกาม – อัลอุสเราะฮฺ)

          * จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ประเภทหมวดของกฎหมายอิสลามมีความครอบคลุมถึงเรื่องราวทางศาสนาและทางโลก ในขณะที่หลักนิติธรรมอิสลามตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานของการจัดระเบียบที่ครอบคลุมกิจกรรมทุกมิติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางจิตวิญญาณ, จริยธรรม และวัตถุ

         ที่มาของกฎหมายอิสลาม

         บรรดาที่มาของกฎหมายอิสลามถูกเรียกว่า บรรดาหลักฐานทางศาสนบัญญัติ (อัลอะดิลละฮฺ อัชชัรฺอียะฮฺ) หรือ บรรดาหลักมูลฐาน (อัลอุซู้ล) ซึ่งนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่ามี 4 ประการ คือ

         1. อัลกุรฺอาน (อัลกิตาบ)

         2. อัล-หะดีษ (อัส-สุนนะฮฺ)

         3. อัล-อิจญ์มาอฺ (เรียกทั้ง 3 ประการนี้ว่า บรรดาหลักฐานอันเป็นตัวบทที่มีการรายงานถ่ายทอด (อัลอะดิลละฮฺ อันนักลียะฮฺ) และ

         4. อัล-กิยาส (ประการที่ 4 นี้ถูกจัดอยู่ในหมวดบรรดาหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ทางสติปัญญา (อัลอะดิลละฮฺ อัลอักลียะฮฺ) ซึ่งนักกฎหมายอิสลามได้ผนวกประเภทของบรรดาหลักฐานในหมวดนี้เอาไว้แตกต่างกัน อาทิเช่น อัลอิสติฮฺซาน, อัลอิสติสหาบฺ, อัลอุรฟ์ และอัลมะซอลิฮฺ อัลมุรซะละฮฺ เป็นต้น)

         นักวิชาการเรียกที่มาของกฎหมายอิสลามทั้ง 4 ประการนี้ว่า บรรดาหลักฐานในขั้นปฐมภูมิ (อัลอะดิลละฮฺ อัลอะซาซียะฮฺ) และเรียกประเภทอื่น ๆ ที่ถูกจัดอยู่ในหมวดของบรรดาหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ทางสติปัญญาว่า บรรดาหลักฐานสืบเนื่อง (อัลอะดิลละฮฺ อัตตะบะอียะฮฺ) หรือ บรรดาหลักฐานในขั้นทุติยภูมินั่นเอง

         อัลกุรฺอาน (กิตาบุลลอฮฺ) คือ พระดำรัสของอัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي)   ที่ได้ประทานลงมาให้ท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ด้วยภาษาอาหรับเพื่อเป็นปาฏิหาริย์ด้วยบทที่สั้นที่สุด พระดำรัสนั้นถูกบันทึกอยู่ในคัมภีร์ซึ่งถูกถ่ายทอดแบบมุตะวาติรและเป็นอิบาดะฮฺด้วยการอ่าน เริ่มต้นด้วยบทอัลฟาติหะฮฺ และจบลงด้วยบทอัน-นาส (อัล-อามิดีย์ ; อัลอิฮฺกาม 1/82) อัลกุรฺอานมี 114 บท (สูเราะฮฺ) และแบ่งออกเป็น 30 ภาค (ญุซอฺ) ถือเป็นแม่บทของกฎหมายอิสลาม และเป็นที่มาของบทบัญญัติและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ คือ

         1. บรรดาหลักความเชื่อ

         2. บรรดาหลักจริยธรรม

         3. บรรดาหลักปฏิบัติซึ่งครอบคลุมทั้งหมวดการประกอบศาสนกิจ (อิบาดาตฺ) และหมวดปฏิสัมพันธ์ (มุอามะลาตฺ) โดยหมวดปฏิสัมพันธ์ (มุอามะลาต) นี้แบ่งออกเป็น หลักการครองเรือน, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายลักษณะอาญา, กฎหมายธรรมนูญการปกครอง, หลักวิธีพิจารณาคดีความทั้งแพ่งและอาญา หลักวิเทโศบายหรือกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักเศรษฐศาสตร์และการคลัง เป็นต้น (ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ ; อุศูลุลฟิกฮฺ อัลอิสลามีย์ เล่มที่ 1 หน้า 432-439)

         อัล-หะดีษ (อัส-สุนนะฮฺ) หมายถึง คำพูด การกระทำ และการยอมรับของท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ซึ่งเป็นคำสอนของท่านที่ได้มีการจดจำ บันทึก ถ่ายทอดโดยผู้ใกล้ชิดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา อัล-หะดีษเป็นแม่บทของกฎหมายอิสลามในลำดับที่ 2 รองจากอัล-กุรอาน

         อนึ่งนักกฎหมายอิสลามมักเรียกที่มาของกฎหมายอิสลามในลำดับที่ 2 นี้ว่า อัส-สุนนะฮฺ เนื่องจากมีนัยกว้างและครอบคลุมมากกว่าคำว่า อัล-หะดีษ โดยแบ่งประเภทของอัส-สุนนะฮฺ ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

         1. อัส-สุนนะฮฺที่เป็นคำพูด คือ บรรดาอัล-หะดีษที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวเอาไว้ในโอกาสและเป้าหมายต่าง ๆ อาทิเช่น หะดีษที่ว่า : “…..إنَّمَاالأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ” (อันที่จริงการปฏิบัติทั้งหลายขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา” เป็นต้น

         2. อัส-สุนนะฮฺที่เป็นการกระทำ คือบรรดาการกระทำที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้ปฏิบัติเอาไว้ อาทิเช่น การปฏิบัติละหมาด 5 เวลา, การประกอบพิธีฮัจญ์, การตัดสินคดีความโดยใช้พยานและการสาบาน เป็นต้น

         3. อัส-สุนนะฮฺที่เป็นการรับรอง คือ การที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) นิ่งเงียบจากการปฏิเสธหรือคัดค้านคำพูดหรือการกระทำที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) หรือเกิดขึ้นในยุคสมัยของท่านและท่านรับรู้ถึงคำพูดหรือการกระทำนั้นโดยท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) เห็นด้วยหรือแสดงความยินดีหรือถือว่าคำพูดหรือการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นต้น (อุศูลุลฟิกฮฺ อัลอิสลามีย์ เล่มที่ 1 หน้า 450)

          ในส่วนของอัส-สุนนะฮฺที่เป็นการกระทำของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) นั้นนักวิชาการแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

         1. การกระทำต่าง ๆ อันเป็นอัธยาศัยของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) อาทิเช่น การยืน, การนั่ง, การรับประทานและการดื่ม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่มีข้อขัดแย้งว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติสำหรับท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และสำหรับประชาชาติของท่าน แต่ไม่ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติในทัศนะของปวงปราชญ์

         2. การกระทำต่าง ๆ ซึ่งมีการยืนยันว่าเป็นกรณีเฉพาะของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) เท่านั้น อาทิเช่น การถือศีลอดติดต่อกัน การอนุญาตให้มีภรรยาได้มากกว่า 4 คนในคราวเดียวกัน เป็นต้น การกระทำต่าง ๆ ชนิดนี้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และไม่ต้องถือตาม

         3. การกระทำต่าง ๆ ที่นอกเหนือจาก 2 ประการแรก ซึ่งมีเป้าหมายในการวางข้อบัญญัติทางศาสนา การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามโดยมีลักษณะแตกต่างกันไปว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือส่งเสริมหรืออนุญาต เป็นต้น (อ้างแล้ว เล่มที่ 1 หน้า 478)

         อัล-อิจญ์มาอฺ หมายถึง การเห็นพ้องกันของบรรดานักปราชญ์ทางศาสนา (มุจญ์ตะฮิด) จากประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ในข้อบัญญัติทางศาสนาภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ในยุคสมัยหนึ่งจากบรรดายุคสมัยต่าง ๆ (อ้างแล้ว เล่มที่ 1 หน้า 490)

         อัล-อิจญ์มาอฺ มี 2 ชนิดคือ

         1. การเห็นพ้องโดยชัดเจน (อิจญ์มาอฺ-ซ่อรีฮฺ) คือ การที่บรรดานักปราชญ์ทางศาสนามีทัศนะความเห็นทั้งคำพูดและการกระทำพ้องกันต่อข้อชี้ขาดในประเด็นข้อปัญหาหนึ่งที่เจาะจงแน่นอน อาทิเช่น มีการร่วมชุมนุมของบรรดานักปราชญ์ในสถานที่แห่งหนึ่ง นักปราชญ์แต่ละคนได้นำเสนอความเห็นของตนอย่างชัดเจนในข้อปัญหานั้น ๆ และทัศนะของทุกคนก็พ้องกันต่อข้อชี้ขาดของปัญหานั้น หรือการที่มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งตอบปัญหาศาสนาเอาไว้ด้วยทัศนะหนึ่ง แล้วปรากฏว่าการตอบปัญหาศาสนาจากนักปราชญ์ผู้อื่นพ้องตรงกันในข้อชี้ขาดนั้น ปวงปราชญ์ถือว่า อัล-อิจญ์มาอฺชนิดนี้เป็นหลักฐานทางศาสนา

         2. การเห็นพ้องโดยนิ่งเงียบ (อิจมาอฺ-สุกูตีย์) คือ การที่นักปราชญ์ทางศาสนาบางท่านในยุคสมัยหนึ่งได้กล่าวคำพูดเอาไว้ในประเด็นข้อปัญหาหนึ่ง และนักปราชญ์ผู้อื่นที่อยู่ร่วมสมัยนิ่งเงียบหลังจากที่รับรู้ถึงคำพูดนี้โดยไม่มีการปฏิเสธหรือคัดค้าน อัล-อิจญ์มาอฺชนิดนี้นักนิติศาสตร์มีความเห็นต่างกันในการถือเป็นหลักฐานทางศาสนา (อ้างแล้ว เล่มที่ 1 หน้า 552)

        อัล-กิยาส หมายถึง การนำข้อปัญหาที่ไม่มีตัวบทระบุถึงข้อชี้ขาดทางศาสนาไปเปรียบเทียบกับข้อปัญหาที่มีตัวบทระบุถึงข้อชี้ขาดทางศาสนาเอาไว้แล้ว เนื่องจากทั้ง 2 ข้อปัญหานั้นมีเหตุผลในข้อชี้ขาดร่วมกัน (มิรอาตุ้ลอุศูล 2/275)

         องค์ประกอบหลักของอัล-กิยาสมี 4 ประการคือ

         (1) หลักมูลฐาน (อัล-อัศลุ้) หมายถึง ตำแหน่งของข้อชี้ขาดซึ่งได้รับการยืนยันด้วยตัวบทหรืออัล-อิจญ์มาอฺ หรือหมายถึง ตัวบทที่บ่งชี้ถึงข้อชี้ขาดนั้น

         (2) ข้อปลีกย่อย (อัล-ฟัรอุ้) คือตำแหน่งที่ไม่มีตัวบทหรืออิจญ์มาอฺระบุข้อชี้ขาดเอาไว้

        (3) คุณลักษณะร่วมกันระหว่างหลักมูลฐาน (อัล-อัศลุ้) และข้อปลีกย่อย (อัลฟัรอุ้) คือเหตุผล (อัล-อิลละฮฺ)

        (4) ข้อชี้ขาดของหลักมูลฐาน (ฮุกมุ้-อัลอิศฺล์)

https://www.oknation.net/blog/shukur

อัพเดทล่าสุด