การแต่งงานในศาสนาอิสลาม การแต่งงานทางศาสนาอิสลาม
เครื่องแต่งกายของกาฟิรที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิมนั้นมีลักษณะอย่างไร ?
﴿ما ثياب الكفار التي نهينا عن لبسها؟﴾
] ไทย – Thai – تايلاندي [
Islamqa.com
แปลโดย : บะนาตุลฮุดา
ผู้ตรวจทาน : ทีมงานอิสลามเฮ้าส์
2009 - 1430
﴿ما ثياب الكفار التي نهينا عن لبسها؟﴾
« باللغة التايلاندية »
موقع الإسلام سؤال وجواب
ترجمة: فريق موقع بنات الهدى
مراجعة: الفريق التايلاندي بموقع دار الإسلام
2009 - 1430
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เครื่องแต่งกายของกาฟิรที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิมนั้นมีลักษณะอย่างไร?
คำถาม:
ในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มุสลิมแยกจากกุฟฟารในเรื่องของการแต่งกายอย่างไร? กุฟฟารในมักกะฮฺก็สวมชุดยาวหลวม (ญิลบาบ) เช่นเดียวกัน ดังนั้นการสวมชุดยาวหลวมนี้จะสามารถเรียกว่าเป็นการแต่งกายแบบอิสลามได้หรือ?
คำตอบ:
มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ
เครื่องแต่งกายเป็นความเมตตาประการหนึ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ เป็นสิ่งปกปิดเอาเราะฮฺและป้องกันความร้อนและความหนาวเย็น อัลลอฮฺทรงประทานความจำเริญนี้แก่เหล่ามนุษย์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า
(يَا بَنِي آدَمَ قَدْ أَنزَلْنَا عَلَيْكُمْ لِبَاساً يُوَارِي سَوْءَاتِكُمْ وَرِيشاً وَلِبَاسُ التَّقْوَىَ ذَلِكَ خَيْرٌ ذَلِكَ مِنْ آيَاتِ اللهِ لَعَلَّهُمْ يَذَّكَّرُونَ) (الأعراف : 26 )
“ลูกหลานอาดัมเอ๋ย แท้จริงเราได้ให้ลงมาแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งเครื่องนุ่งห่มที่ปกปิดสิ่งอันน่าละอายของพวกเจ้า และเครื่องนุ่งห่มที่ให้ความสวยงาม และเครื่องนุ่งห่มแห่งความยำเกรง นั่นคือสิ่งที่ดียิ่ง นั่นแหละคือส่วนหนึ่งจากบรรดาโองการของอัลลอฮฺ เพื่อว่าเขาเหล่านั้นจะได้รำลึก” [อัลอะอฺรอฟ 7:26]
(وَاللهُ جَعَلَ لَكُم مِّمَّا خَلَقَ ظِلاَلاً وَجَعَلَ لَكُم مِّنَ الْجِبَالِ أَكْنَاناً وَجَعَلَ لَكُمْ سَرَابِيلَ تَقِيكُمُ الْحَرَّ وَسَرَابِيلَ تَقِيكُم بَأْسَكُمْ كَذَلِكَ يُتِمُّ نِعْمَتَهُ عَلَيْكُمْ لَعَلَّكُمْ تُسْلِمُونَ) (النحل : 81 )
“และพระองค์ทรงทำเครื่องนุ่งห่มให้พวกเจ้า เพื่อป้องกันพวกเจ้าให้พ้นจากความร้อน และเสื้อเกราะเพื่อป้องกันพวกเจ้าให้พ้นจากอันตรายในยามสงคราม เช่นนั้นแหละ พระองค์ทรงให้ความโปรดปรานของพระองค์อย่างครบถ้วนแก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้นอบน้อม” [อันนะหฺลฺ 16:81]
หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับเสื้อผ้าคือมันเป็นสิ่งที่อนุมัติ มุสลิมสามารถสวมใส่ได้ตามต้องการจากสิ่งที่เขาหรือมุสลิมหรือคนอื่นๆ ทำขึ้น นี่คือสิ่งที่เศาะหาบะฮฺปฏิบัติในมักกะฮฺและที่อื่นๆ ผู้ที่เปลี่ยนมารับอิสลามไม่ได้สวมเสื้อผ้าที่ถูกทำเฉพาะสำหรับพวกเขา ท่านนบี เคยสวมเสื้อผ้าซีเรียและเสื้อคลุมเยเมน และผู้ที่ทำมันขึ้นก็ไม่ใช่มุสลิม มีเงื่อนไขเพียงว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นต้องตรงกับข้อกำหนดตามหลักชะรีอะฮฺ
ท่านนบี ห้ามเราทำเหมือนกุฟฟารโดยทั่วไป ทั้งการแต่งกายและเรื่องอื่นๆ ท่านนบี กล่าวว่า “ใครที่เลียนแบบกลุ่มชนใดก็คือส่วนหนึ่งจากกลุ่มชนนั้น” (บันทึกโดย อบูดาวูด, 4031; อัลอิรอกี ถือว่าเศาะฮีหฺ ใน ตัครีจ อิหฺยาอ์ อุลูม อัดดีน (1/342) และโดย อัลบานี ใน อิรวาอ์ อัลเฆาะลีล, 5/109)
ท่านได้ห้ามเราเป็นพิเศษที่จะทำเหมือนกุฟฟารในเรื่องการแต่งกาย รายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ อิบนุ อัลอาศ ว่า ท่านนบี เห็นเขาสวมเสื้อผ้าสองชิ้นซึ่งย้อมด้วยดอกคำฝอย ท่านกล่าวกับเขาว่า “นี่เป็นเครื่องแต่งกายของกุฟฟาร จงอย่าใส่มัน” (บันทึกโดย มุสลิม, 2077)
มุสลิม (2069) บันทึกจาก อุมัร ว่า เขาได้เขียนถึงมุสลิมในอาเซอร์ไบจัน ว่า “จงระวังความหรูหราฟุ่มเฟือยและการแต่งกายของชาวชิริก” (บันทึกโดยมุสลิม, 2069)
เครื่องแต่งกายของกุฟฟารที่ห้ามมุสลิมสวมใส่ คือ เสื้อผ้าที่ถูกสวมใส่เฉพาะกุฟฟารและไม่มีคนอื่นใส่ ส่วนเสื้อผ้าที่ถูกสวมใส่ทั้งโดยมุสลิมและกุฟฟาร ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดที่จะสวมใส่มัน และไม่ใช่เรื่องมักรูฮฺ (สิ่งน่ารังเกียจที่ควรหลีกเลี่ยง) เพราะมันไม่ใช่เครื่องแต่งกายเฉพาะสำหรับกุฟฟาร
นักวิชาการจากคณะกรรมการเพื่อการออกฟัตวา (The Standing Committee for Issuing Fatwas) ถูกถามเกี่ยวกับการเลียนแบบกุฟฟารซึ่งเป็นที่ต้องห้าม มีคำตอบดังนี้
ความหมายของการเลียนแบบกุฟฟารซึ่งเป็นที่ต้องห้าม คือ การทำเหมือนหรือคล้ายพวกเขาในรูปแบบการดำเนินชีวิตซึ่งจำเพาะสำหรับพวกเขา หรือเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา หรือค่านิยม เช่น การเลียนแบบพวกเขาโดยการโกนเครา
เกี่ยวกับการสวมกางเกง เสื้อสูท หรือทำนองนี้ หลักการพื้นฐานคือเสื้อผ้าทุกประเภทเป็นที่อนุมัติ เพราะเป็นเรื่องปกติในการดำเนินชีวิต อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
(قُلْ مَنْ حَرَّمَ زِينَةَ اللهِ الَّتِيَ أَخْرَجَ لِعِبَادِهِ وَالْطَّيِّبَاتِ مِنَ الرِّزْقِ) (الأعراف : 32 )
“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า ผู้ใดเล่าที่บัญญัติห้ามใช้อาภรณ์เครื่องประดับของอัลลอฮฺที่ทรงสร้างออกมาให้สำหรับปวงบ่าวของพระองค์ และบรรดาสิ่งดี ๆ จากปัจจัยยังชีพ” [อัลอะอฺรอฟ 7:32]
กรณียกเว้นคือเมื่อมีหลักฐานทางชะรีอะฮฺว่าต้องห้ามหรือมักรูฮฺ เช่น ผ้าไหมสำหรับผู้ชาย หรือสิ่งที่เปิดเผยเอาเราะฮฺเพราะบางและเห็นสีผิว หรือเพราะรัดรูปและแสดงให้เห็นสัดส่วนของเอาเราะฮฺ (กรณีนี้เหมือนกับเปิดเผยมันซึ่งหะรอม) ในทำนองเดียวกัน เครื่องแต่งกายที่ถูกสวมใส่เฉพาะกุฟฟารก็ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับชายและหญิงมุสลิม เพราะท่านนบี ห้ามการทำเหมือนพวกเขา และไม่อนุญาตให้ผู้ชายสวมเครื่องแต่งกายของผู้หญิง และไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสวมเครื่องแต่งกายของผู้ชาย เพราะท่านนบี ห้ามผู้ชายเลียนแบบผู้หญิง และห้ามผู้หญิงเลียนแบบผู้ชาย
ความจริงแล้ว กางเกงนั้น (สำหรับผู้ชาย – ผู้แปล) ไม่ใช่เครื่องแต่งกายเฉพาะคนกุฟฟาร เพราะในหลายประเทศ ทั้งมุสลิมและกาฟิรต่างสวมใส่กัน เพียงแต่ว่า ในบางประเทศที่มีบางคนรู้สึกอึดอัดไม่ค่อยชอบมันก็เพราะว่าเขาไม่คุ้นเคยและมันขัดกับการแต่งกายประจำวันของผู้คนที่นั่น อย่างไรก็ตาม สำหรับมุสลิมที่นั้นก็สมควรที่จะไม่สวมใส่ชุดที่ขัดกับประเพณีนิยมของพวกเขา ไม่ว่าเพื่อละหมาด ในที่สาธารณะ หรือตามท้องถนน (ฟะตาวา อัลลัจญนะฮฺ อัลดาอิมะฮฺ, 3/307-309)
มุสลิมทั้งชายและหญิงจำเป็นต้องยึดมั่นในคุณธรรมอิสลามอย่างจริงจัง ต้องดำเนินชีวิตตามครรลองของอิสลามทั้งในยามสุขสันต์และเสียใจ การแต่งกาย อาหาร เครื่องดื่ม และทุกเรื่องของชีวิต
ไม่อนุญาตสำหรับมุสลิมที่จะทำตามกุฟฟารในเรื่องการแต่งกาย โดยสวมเสื้อผ้ารัดรูปที่แสดงสัดส่วนของเอาเราะฮฺ หรือสวมเสื้อบางจนเห็นเนื้อในและเปิดเผยเอาเราะฮฺ หรือสวมเสื้อผ้าชิ้นเล็กที่ไม่ปกปิดหน้าอก ต้นแขน คอ ศีรษะ หรือใบหน้า (ฟะตาวา อัลลัจญนะฮฺ อัลดาอิมะฮฺ, 3/306, 307)
ชัยคฺ มุฮัมมัด อิบนุ ศอลิหฺ อัลอุษัยมีน رحمه الله ถูกถามถึงคำจำกัดความของการเลียนแบบกุฟฟาร ท่านตอบว่า
คำจำกัดความของการเลียนแบบ คือ การทำสิ่งที่จำเพาะสำหรับผู้ที่ถูกลอกเลียน ดังนั้นการเลียนแบบกุฟฟารจึงหมายถึงการที่มุสลิมคนหนึ่งทำในสิ่งที่ชัดเจนและจำเพาะสำหรับกุฟฟาร
เกี่ยวกับสิ่งที่ถูกแพร่ขยายในหมู่มุสลิมจนกระทั่งไม่สามารถแยกแยะระหว่างกาฟิรกับมุสลิมนั้นไม่ถือเป็นการเลียนแบบ มันจึงไม่หะรอมในขอบเขตของการเลียนแบบ ยกเว้นว่ามันอาจหะรอมในเหตุผลอื่น (เช่น เป็นแฟชั่น หรือเย็บจากผ้าไหมสำหรับผู้ชาย – ผู้แปล)
ยังมีการอธิบายในแนวทางที่คล้ายกันโดยผู้เรียบเรียงหนังสือ ฟัตหฺ อัลบารี (10/272) ชาวสะลัฟบางท่านบอกว่าการสวมเสื้อคลุมบุรนุส (البرنس) เป็นสิ่งมักรูฮฺ เพราะเป็นเครื่องแต่งกายของนักบวช แต่ท่านมาลิกเมื่อถูกถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาตอบว่า “ไม่ถือเป็นความผิดแต่อย่างใด” มีผู้แย้งว่า “แต่มันเป็นเครื่องแต่งกายของชาวคริสต์น่ะ” ท่านกล่าวว่า “มันถูกสวมใส่ที่นี่” (จบการอ้างถึง) ดังนั้น ตามความเห็นของฉัน มันจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนกว่า ถ้าหากมาลิกได้ตอบคำถามดังกล่าวว่า การสวมเสื้อคลุมบุรนุสหะรอมหรือไม่ ด้วยการอ้างหลักฐานจากคำพูดของท่านนบี “(สำหรับหุจญาตที่ครองอิหฺรอม) ไม่อนุญาตให้สวมชุดโต๊บ กางเกง เสื้อคลุมบุรนุส ...” มันจึงย่อมส่อให้เห็นว่าเป็นที่อนุญาตสำหรับคนทั่วไป
ในฟัตหุล บารี (10/307) ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าเราบอกว่ามัน (คือผ้าปูอานม้าซึ่งทำจากผ้าไหม ซึ่งกำลังถูกอ้างถึงในวรรคนี้ในตำราฟัตหุลบารี) เป็นที่ต้องห้ามเพราะเลียนแบบคนที่ไม่ใช่อาหรับ นี่เป็นเหตุผลทางศาสนา แต่มันเป็นสัญลักษณ์ของพวกเขาในเวลานั้นซึ่งยังเป็นกุฟฟาร แต่ตอนนี้มันไม่ใช่สิ่งเฉพาะสำหรับพวกเขาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งมักรูฮฺอีกต่อไป และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ที่สุด (มัจญมูอฺ ฟัตวา อัชชัยคฺ อิบนฺ อุษัยมีน, 12/290)
ชัยคฺ ศอลิหฺ อัลเฟาซาน กล่าวว่า อนุญาตให้สวมเครื่องแต่งกายของกาฟิร (กาฟิรผลิต – ผู้แปล) ตราบใดที่มันไม่เป็นนะญิส เพราะโดยหลักการแล้วสิ่งของต่างๆ นั้นให้ถือว่าสะอาดบริสุทธิ์ และจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงค่าเพราะความลังเลสงสัย ดังนั้นเสื้อผ้าที่กาฟิรทอหรือย้อมก็เป็นที่อนุญาต เพราะท่านนบี และบรรดาเศาะหาบะฮฺก็สวมใส่เสื้อผ้าที่ถูกทอและย้อมโดยกาฟิร (อัลมุลัคค็อศ อัลฟิกฮี, 1/20)
คำตอบโดยรวมคือ เป็นเรื่องต้องห้ามที่มุสลิมจะเลียนแบบกุฟฟารในสิ่งที่จำเพาะสำหรับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายหรือเรื่องอื่นๆ แต่สำหรับสิ่งที่ไม่ได้จำเพาะในหมู่กุฟฟาร ไม่มีบาปในเรื่องนั้นแต่อย่างใด และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ที่สุด
ที่มา Islamqa.com คำถามหมายเลข 69789