การทำความดีมีผลต่อศาสนาอิสลามอย่างไร


853 ผู้ชม


บาปจากมุมมองของอิสลาม

บาปคือการละเมิดคำสอนของศาสนา การทำบาปก็คือการทำความชั่วนั่นเอง บาปจึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่สร้างความทุกข์ให้แก่มนุษย์ ใครที่ไม่เชื่อในบาปก็จะยิ่งทำบาปมากขึ้นและสร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเองและคนอื่นมากขึ้น บาปมีมาแต่เมื่อใด


คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าบาปเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อตอนที่อาดัมและอีฟ(เฮาวา)ฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าขณะที่ทั้งสองอยู่ในสวนสวรรค์แห่งเอเดน ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ทำให้ทั้งสองต้องถูกอัปเปหิมายังโลกนี้และทำให้มนุษย์มีมลทินจนต้องถูกตีตราบาปมาตั้งแต่นั้น


แต่อิสลามมีมุมมองในเรื่องบาปต่างไปจากความเชื่อเช่นนั้น คัมภีร์กุรอานกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าพระเจ้าได้สั่งให้อาดัมและอีฟอาศัยอยู่ในสวนสวรรค์แห่งเอเดนและแสวงหาความสุขสำราญจากผลไม้นานาพรรณในสวนของพระองค์ตามความพอใจ แต่ทั้งสองถูกสั่งมิให้เข้าใกล้ต้นไม้ต้นหนึ่งทั้งนี้เพื่อที่ทั้งสองจะได้ไม่ต้องมีทุกข์และทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมต่อตัวเอง แต่แล้วมารร้ายก็ล่อลวงทั้งสองให้หลงผิดและทำให้ทั้งสองต้องสูญเสียความเป็นอยู่อันแสนบรมสุขของตัวเอง หลังจากนั้น ทั้งสองก็ได้ถูกขับออกจากสวรรค์มายังโลกนี้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ชั่วครู่หนึ่งแล้วก็ตาย หลังจากนั้นก็จะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อรอรับการตัดสินครั้งสุดท้าย


ด้วยความสำนึกในสิ่งที่ตัวเองได้ทำไป ทั้งอาดัมและอีฟมีความรู้สึกละอาย จึงสำนึกและเสียใจในความผิดของตน ด้วยความสำนึกนี้เองที่พระผู้เป็นเจ้าได้สอนให้คนทั้งสองกล่าวคำสำนึกผิดและขออภัยโทษต่อพระองค์ว่า ?ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา แท้จริง เราเป็นผู้อธรรมต่อตัวของเราเอง หากพระองค์มิทรงให้อภัยและมิทรงเมตตาเราแล้ว เราย่อมเป็นผู้ขาดทุนอย่างแน่นอน? แม้ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่ต้องแบกบาป


เหตุการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แต่มันเกิดขึ้นในสวนสวรรค์ของพระเจ้า เรื่องราวดังกล่าวได้ถูกเล่าเป็นสัญลักษณ์หรืออุทาหรณ์ให้มนุษย์ได้รู้ว่าขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้วไม่มีใครสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์และมีความต้องการไม่สิ้นสุดแม้แต่จะอยู่ในสวรรค์ก็ตาม แต่ความผิดหรือบาปดังที่อาดัมและอีฟได้ทำไปนั้นมิจำเป็นต้องหมายความว่าหัวใจของมนุษย์ได้ตายไปแล้วจนไม่มีทางที่จะปฏิรูปหรือเจริญเติบโตก้าวหน้าได้อีก ในทางตรงข้าม มนุษย์มีความสำนึกพอที่จะยอมรับบาปและข้อบกพร่องของตัวเอง ที่สำคัญก็คือ มนุษย์สามารถที่จะรู้ว่าเขาควรจะหันกลับไปหาใครเพื่อขอคำแนะนำหรือการชี้ทาง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือความจริงที่ว่าพระเจ้าพร้อมเสมอที่จะตอบรับคำวิงวอนอย่างจริงใจของผู้ที่แสวงหาความช่วยเหลือจากพระองค์ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงกรุณาปรานี ทรงเมตตาเสมอ นอกจากนั้นแล้ว เมื่อพระองค์ทรงให้อภัยใคร พระองค์ก็จะประทานความเมตตาแก่คนผู้นั้นด้วย (กุรอาน 7:156) การเอาเหตุการณ์ทำผิดของมนุษย์คู่แรกมาอ้างว่าเพศหญิงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำบาปและทำให้บาปนั้นติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิดจึงเป็นสิ่งแปลกประหลาดในทัศนะของอิสลาม


แนวความคิดเรื่องบาปติดตัวมาแต่กำเนิดไม่มีอยู่ในคำสอนของอิสลาม ตามคัมภีร์กุรอานและคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัด มนุษย์เกิดมาในสภาพที่สะอาดบริสุทธิ์หรือที่เรียกในภาษาอาหรับว่า ?ฟิฏเราะฮฺ?

นั่นคือ มนุษย์อยู่ในสภาวะยอมจำนนต่อเจตนารมณ์และกฎของพระเจ้า มนุษย์จะเป็นอะไรหลังจากเกิดมานั้นก็เป็นเพราะอิทธิพลภายนอกและปัจจัยรอบตัวที่มากระทบเขา ถ้าจะเปรียบเรื่องนี้กับความคิดสมัยใหม่ก็คือ ธรรมชาติของมนุษย์สามารถดัดแปลงได้โดยกระบวนการหล่อหลอมทางสังคม(Socialisation)โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมภายในบ้านซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะมันจะเป็นตัวกำหนดให้มนุษย์เป็นอะไร มนุษย์จะมีบุคลิกและลักษณะทางศีลธรรมอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการอบรมบ่มเพาะนิสัยของพ่อแม่ คนไทยจึงมีคำพูดเรียกเด็กที่มีพฤติกรรมชั่วๆว่า ?พ่อแม่ไม่สั่งสอน?

 แต่นี่มิได้เป็นการปฏิเสธเสรีภาพในการเลือกของบุคคลและทำให้เขาพ้นจากความรับผิดชอบต่อการกระทำของเขาเอง แต่มันเป็นการบรรเทาภาระมนุษย์มิให้ต้องมาแบกบาปหรือความผิดที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดโดยที่ตัวเองยังไม่ได้ทำเลย ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังรู้ดีรู้ชั่ว


อย่างไรก็ตาม ความไม่สมบูรณ์และความบกพร่องผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากมนุษย์ก็มิได้หมายถึงบาปหรือมีความหมายเดียวกันกับการทำความผิด อย่างน้อยที่สุด อิสลามก็มีคำสอนเช่นนั้น ถ้าหากมนุษย์ไม่สมบูรณ์ มนุษย์ก็มิได้ถูกพระเจ้าทอดทิ้งไว้โดยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และพระเจ้าก็จะไม่ปล่อยให้มนุษย์ต้องตกเป็นเหยื่อความบกพร่องของเขาเอง แต่มนุษย์ได้รับอำนาจจากคำสอนของพระองค์ที่พร้อมไปด้วยเหตุผลที่สติปัญญาของเขาสามารถเข้าใจได้และเขามีเสรีภาพที่จะเลือก

อีกทั้งมนุษย์ยังมีความคิด มีลักษณะทางสังคมและจิตใจในการแสวงหาความสมบูรณ์ด้วย ดังนั้น การที่พลังแห่งความดีและความชั่วต่างยื้อยุดฉุดกระชากกันจึงเป็นการต่อสู้ของชีวิต มันทำให้มนุษย์มีอะไรบางอย่างข้างหน้าที่เขามุ่งมาดปรารถนาจะได้มันมาและลงมือทำเพื่อมัน มันทำให้ชีวิตของมนุษย์น่าสนใจและมีความหมาย ไม่ใช่เกิดมาเพียงเพื่อกิน นอน ถ่าย สืบพันธุ์แล้วก็ตายไป ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ทำให้พระเจ้าพึงพอพระทัยที่ได้เห็นบ่าวของพระองค์อยู่ในฐานะของผู้ที่ได้รับชัยชนะทางด้านจิตใจและศีลธรรม องค์ประกอบของบาป


มาตรฐานทางศีลธรรมของอิสลามถือว่าบาปมิใช่สิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่สมบูรณ์หรือมีความบกพร่อง ความไม่สมบูรณ์เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของมนุษย์ในฐานะที่เป็นสิ่งถูกสร้างที่มีขอบเขตจำกัด บาปจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมนุษย์มีหนทางและปัจจัยที่จะไปสู่ความสมบูรณ์กว่าได้ แต่เขากลับเลือกที่จะไม่ไปหามัน ดังนั้น บาปจึงหมายถึงการกระทำผิดใดๆที่

(1) ทำไปโดยตั้งใจ

(2) ฝ่าฝืนคำสั่งที่ชัดเจนของพระเจ้า

(3) ละเมิดสิทธิ์ของพระเจ้าหรือสิทธิ์ของมนุษย์

(4) เป็นอันตรายต่อวิญญาณหรือร่างกาย และ

(5) สามารถหลีกเลี่ยงได้


นี่คือองค์ประกอบของบาปซึ่งมิได้มีอยู่ในตัวของมนุษย์หรือติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธว่ามนุษย์มีความสามารถในการทำบาปอยู่ภายในตัว แต่ความสามารถนี้ก็มิได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าความสามารถในการทำดีของเขาเช่นกัน ถ้าเขาเลือกที่จะใช้ความสามารถของเขาทำบาปแทนการใช้ความสามารถในการทำดี นั่นก็เท่ากับว่าเขาได้เอาปัจจัยภายนอกเข้าไปเพิ่มในธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของเขา ด้วยเหตุนี้เองที่มนุษย์จึงต้องรับผิดชอบการกระทำของตน


ในอิสลาม บาปมีทั้งบาปเล็กและบาปใหญ่ มีทั้งบาปต่อพระเจ้าโดยเฉพาะ และบาปต่อทั้งพระเจ้าและมนุษย์ด้วยกัน บาปทั้งหมดที่มีต่อพระเจ้าสามารถได้รับการให้อภัยหากผู้ทำบาปขอการอภัยโทษต่อพระองค์ด้วยความจริงใจ ส่วนบาปที่กระทำต่อมนุษย์นั้นจะได้รับการให้อภัยก็ต่อเมื่อผู้ถูกละเมิดให้อภัยผู้ละเมิดหรือถ้าหากได้มีการชดใช้หรือได้รับการลงโทษแล้ว


กล่าวโดยสรุป บาปเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้น มิได้มีอยู่ในตัวมนุษย์ มันเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถหลีกเลี่ยงได้ มันเป็นการฝ่าฝืนกฎของพระเจ้าโดยเจตนาทั้งๆที่รู้ ถ้ามนุษย์ทำสิ่งใดที่เกิดจากสัญชาตญาณทางธรรมชาติโดยแท้จริง เช่นหลงลืม หรือทำโดยถูกบังคับจนไม่สามารถต้านทานได้แล้ว การกระทำนั้นก็ไม่ถือเป็นบาปในอิสลาม มิเช่นนั้นแล้ว วัตถุประสงค์ของพระเจ้าที่จะทดสอบก็จะไม่มีความหมายอะไรและความรับผิดชอบของมนุษย์ก็จะไม่มีผล พระเจ้าต้องการจากมนุษย์ในสิ่งที่เป็นไปได้และสิ่งที่มนุษย์สามารถไปถึงเท่านั้น


บทความโดยอาจารย์บรรจง บินกาซัน ประธานโครงการอบรมผู้สนใจอิสลาม

บาปอันมหันต์ที่มนุษย์ต้องละเว้นมีทั้งหมด 63 ประการ ผู้ใดได้ทำความผิดย่อมต้องถูกลงโทษ เดือนรอมะฎอนนี้จึงควรถือว่าเป็นฤกษ์ดีสำหรับการตรวจสอบตนเองและขออภัยโทษต่ออัลลอหฺ หากเคยละเมิดข้อใดข้อหนึ่ง

              
                  1. การตั้งภาคีต่ออัลลอหฺ
                  2. การแหนงหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอหฺ
                  3. การหมดหวังในความเมตตาต่ออัลลอหฺ
                  4. การเชื่อว่าสามารถรอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอหฺ
                  5. การสังหารชีวิตผู้ไม่มีความผิด
                  6. การเนรคุณต่อมารดาและบิดา
                  7. การตัดขาดจากญาติพี่น้อง
                  8. การกินทรัพย์สินของลูกกำพร้าโดยอธรรม
                  9. การกินดอกเบี้ย
                  10. การผิดประเวณี
                  11. การรักร่วมเพศระหว่างชาย
                  12. การใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ว่าทำผิดประเวณีหรือรักร่วมเพศ
                  13. การดื่มสุราเมรัยหรือทำการใดที่เกี่ยวข้องกับสุราเมรัย
                  14. เล่นการพนัน
                  15. การอยู่กับการละเล่นบันเทิง
                  16. การฟังหรือขับร้องเพลงและเล่นดนตรี
                  17. การพูดเท็จ
                  18. การสาบานเท็จ
                  19. การเป็นพยานเท็จ
                  20. การไม่ยอมให้การหรือเป็นพยาน
                  21. การผิดสัญญา
                  22. การทำลายไม่รับผิดชอบสิ่งที่ได้รับมอบหมาย
                  23. การโขมยลักทรัพย์
                  24. การหลอกลวง
                  25. การกินของฮะรอม
                  26. การไม่ยอมจ่ายหนี้หรือเหนี่ยวรั้งทรัพย์สินของผู้อื่น
                  27. การการหนีจากสงครามศาสนา
                  28. การกลับคืนสู่อวิชชาหลังจากได้เรียนรู้สัจธรรมอิสลามแล้ว
                  29. การฝักใฝ่กับผู้อธรรม
                  30. การไม่ช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม
                  31. การเรียนและทำคุณไสย
                  32. ความฟุ่มเฟือย
                  33. ความเย่อหยิ่งทรนง
                  34. การต่อสู้กับศรัทธาชน
                  35. รับประทานซากสัตว์ เลือด เนื้อสุกร และสัตว์ที่ไม่ได้ถูกเชือดตามหลักศาสนา
                  36. การละทิ้งการนมาซ
                  37. การไม่จ่ายศะกาต
                  38. การไม่ใยดีต่อการทำหัจญ์
                  39. การละทิ้งกฏบัญญัติศาสนา เช่น การถือศีลอด ญิฮาด การสั่งทำความดี การห้ามทำความชั่ว การภักดีต่อบรรดาอิมาม การผละตนออกจากศัตรูบรรดาอิมาม
                  40. การทำบาปเล็กบาปน้อยจนเป็นกิจวัตร
                  41. การนินทากาเล
                  42. การยุยงให้ผู้คนแตกแยกกัน
                  43. การวางแผนหลอกลวงผู้อื่น
                  44. อิจฉาริษยา
                  45. การกักตุนสินค้าจนทำให้ข้าวยากหมากแพง
                  46. การตั้งตัวเป็นศัตรูต่อศรัทธาชน
                  47. การรักร่วมเพศระหว่างหญิง
                  48. การเป็นแมงดาหรือแม่เล้าติดต่อให้แก่โสเภณี การยินยอมให้ภารยาและบุตรีผิดประเวณี
                  49. การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง
                  50. การทำการอุตริในศาสนา
                  51. การพิพากษาคดีด้วยความฉ้อฉล
                  52. การทำสงครามในเดือนต้องห้ามทั้งสี่ คือ ซุลกออิดะห์ ซุลฮิจญะห์ มุฮัรรอม รอญับ นอกจากจะเป็นฝ่ายถูกรุกราน
                  53. การล่วงละเมิดสิทธิของศรัทธาชนด้วยการล้อเล่น เหยียดหยาม ด่าทอ
                  54. การหักห้ามกีดกันผู้อื่นเข้าสู่สัจธรรม
                  55. การเนรคุณต่อคุณงามความดีของอัลลอหฺ
                  56. การก่อเหตุวุ่นวายในสังคม
                  57. การขายอาวุธแก่ผู้ปฏิเสธศรัทธา
                  58. การใส่ร้ายผู้อื่น
                  59. การไม่ให้ความเคารพต่ออัลลอหฺ
                  60. การไม่ให้เกียรติต่อกะอฺบะหฺ
                  61. การไม่ให้้เกียรติต่อมัสยิด
                  62  การไม่ให้้เกียรติต่อสุสานบรรดามะอฺซูม
                  63. การไม่ให้้เกียรติต่อดินที่มาจากสถานที่ที่อิมามฮุเซน(อ)ถูกสังหาร

อัพเดทล่าสุด