แนวคิดแรงจูงใจของแรงงานไทยในการทำงานที่ประเทศมาเลเซีย


1,666 ผู้ชม


คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยข้อมูลพบแรงงานไทยเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซียกว่า 2 แสนราย ส่งเงินกลับประเทศไทยกว่า 400 ล้านบาทต่อเดือน จี้ภาครัฐเจรจาลดค่า"เวิร์กเปอร์มิต" สร้างแรงจูงใจ แก้ปัญหาทั้งสองประเทศ

 

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ประกอบด้วย ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา คณะรัฐศาสตร์ นายนิอับดุลรากิ้บ บินนิฮัสซัน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายฮัมเดีย มูดอ คณะวิทยาการสื่อสาร นายมูฮำหมัดสูไฮมี ยานยา คณะวิทยาการสื่อสาร และนายวิรัช เอี่ยมปลัด พี่เลี้ยง สนับสนุนโครงการหน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง ได้รายงานผลการวิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดสวัสดิการ การกำหนดค่าธรรมเนียมที่มีผลต่อการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานร้านอาหารไทย ผันเข้าสู่ระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวของมาเลเซียอย่างถูกกฎหมาย"

 

โดยวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อประมาณการจำนวนร้านอาหาร และแรงงานร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ตลอดจนคำนวณมูลค่าการส่งเงินกลับประเทศไทย และคำนวณต้นทุนพร้อมการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับการเจรจากำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการและแรงงานร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ประมาณ 5,000 ร้านจำนวนแรงงานในร้านอาหาร ประมาณ 1-1.5 แสนคน โดยมีมูลค่าของรายได้ที่ส่งกลับประเทศไทย 300-400 ล้านบาท/เดือน โดย เจ้าของร้านขนาดใหญ่ส่งเงินกลับบ้านประมาณ 100,000 บาท/เดือน ร้านขนาดเล็ก 20,000-50,000 บาท/เดือน ลูกจ้างที่มีใบอนุญาตทำงานหรือ work permit ถูกต้อง คนล้างจาน เสิร์ฟ มีเงินเดือนๆ ละ 5,500-6,000 บาท เก็บเงินได้เดือนละ 4,500 บาท ส่งเงินกลับบ้าน 1,000-2,000 บาท/เดือน กุ๊กเงินเดือน 15,000 -20,000 บาท ส่งเงินกลับบ้าน 5,000 บาท/เดือน

 

แต่จากข้อวิเคราะห์พบว่า แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียกว่า 200,000 คนนั้น ทางการไทยและมาเลเซียไม่ทราบว่าคนเหล่านี้ชื่ออะไร มาจากไหน อยู่ที่ไหน เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่ได้ทำ work permit อย่างถูกต้อง โดยเหตุที่แรงงานไทยไม่ยอมทำ work permit เพราะค่าใช้จ่ายสูงเกินไปคือ กว่า 30,000 บาท ต่อคนต่อปี

 

ข้อมูลจากอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ยืนยันว่า หากลดค่าใช้จ่ายในการทำ work permit เหลือ 5,000 บาท ต่อคนต่อปี จะมีแรงงานไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของแรงงานทั้งหมดยินดีทำเวิร์กเปอร์มิต อย่างแน่นอน เพราะอัตราดังกล่าวเท่ากับแรงงานอินโดนีเซีย ที่ทำงานบ้าน เป็น unskilled labors ซึ่งอยู่ประมาณ 600 ริงกิต/ปี หรือราว 5,000 บาท

 

ส่วนสาเหตุของแรงงานไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เป็นผลสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมความเคยชินที่ปฏิบัติตามกันมาคือ เดินทางเข้าไปลักลอบทำงาน โดยอาศัยกับญาติพี่น้อง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันการอำนวยความสะดวกในเรื่องของบริการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย และพัฒนาระบบจัดส่งแรงงานที่ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว แต่แรงงานร้านต้มยำ ไม่ได้ประสานงาติดต่อกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดเท่าที่ควร ซึ่งแตกต่างจากแรงงานประเภทอื่น รวมทั้งจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ นิยมไปทำงานร้านอาหารในแบบชั่วคราว ไม่ได้มุ่งหวังหรือตั้งใจที่จะยึดอาชีพร้านต้มยำอย่างจริงจัง ซึ่งต่างจากคนในยุคก่อนที่ไปทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย และต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัวที่อยู่ในประเทศไทย

 

การที่แรงงานได้ work permit แล้วย้ายก่อนครบสัญญาว่าจ้าง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายจ้างหมดทุนและเข็ดหลาบที่จะทำ work permit ให้ลูกจ้างอีก และอีกกรณีบางตำแหน่งในร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านขนาดเล็ก ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างไม่สูงพอที่จะสามารถจ่ายค่าภาษีรายปี และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานได้ เช่น ลูกจ้างที่ล้างจาน หั่นผัก เสิร์ฟอาหาร เป็นต้น รวมทั้งยังมีปัจจัยสถานการณ์ความไม่สงบ การว่างงาน จบการศึกษาด้านศาสนาแล้วไม่มีงานทำ นิยมไปทำงานร้านอาหารในแบบชั่วคราว ไม่ได้มุ่งหวังหรือตั้งใจที่จะยึดอาชีพร้านต้มยำอย่างจริงจัง ซึ่งต่างจากคนในยุคก่อน

 

ผศ.ชิดชนก กล่าวว่า ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของแรงงานไทยเหล่านี้ นอกเหนือจากรายได้จากแรงงานร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย จะช่วยสร้างงาน บรรเทาปัญหาความยากจนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย รวมทั้งการส่งออกสินค้าการเกษตร ยังได้รับประโยชน์จากการมีแรงงานและผู้ประกอบการร้านอาหารไทย

 

เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่แบบถาวรในประเทศมาเลเซีย จึงต้องเช่าบ้าน เช่าอาคารสถานที่ในมาเลเซีย ต้องซื้ออาหารสด เช่น ปลา และผักสดจากคนจีนในตลาด เนื้อสัตว์จากคนมุสลิม รวมทั้งของอุปโภคบริโภคอื่นๆ จากร้านค้าต่าง ๆ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจยังส่งผลเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ไปยังภาคการส่งออกกุ้ง และอาหารทะเลจาก จ.สงขลา การนำเข้าผักสดจากด่านสุไหงโก-ลก และข้าวหอมมะลิจากไทย

 

ผศ.ชิดชนก ระบุว่า ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาดังกล่าว รัฐบาลไทยต้องมีมุมมองเชิงบวกต่อผู้ประกอบการและแรงงานร้านอาหารไทย ที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องลดอคติที่มองว่าบุคคลสองสัญชาติเป็นปัญหาต่อความมั่งคง แต่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางธุรกิจร้านอาหารไทยเอง ควรเปิดการเจรจาลดค่าภาษีรายปี และค่าธรรมเนียม work permit จากเดิมที่ต้องจ่ายปีละประมาณ 30,000 บาทต่อคนต่อปี บางตำแหน่งในร้านได้รับค่าจ้างไม่สูงพอ จึงไม่คุ้มทุนที่นายจ้างจะดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ ระดับค่าใช้จ่ายที่นายจ้างคิดว่า จะช่วยให้เกิดแรงจูงใจให้ดำเนินการจ้างแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้คือ 5,000 บาทต่อคน ต่อปี

 

วิธีการเจรจาลดค่า work permit น่าจะทำได้โดยการขอเปลี่ยน Category จาก skilled ซึ่งจะต้องตรวจสอบและประสานงานกับฝ่ายมาเลเซียเป็นการภายในว่าอำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่ใคร หากแรงงานไทยยอมทำ work permit ทางการก็จะทราบว่าใครบ้างสามารถติดตามได้ง่ายและสามารถส่งข่าวสารเกี่ยวกับ 3 จังหวัดภาคใต้ให้ทราบตรงกับความเป็นจริง

 

รวมทั้งอาจทำ newsletter ภาษามาลายูท้องถิ่น ส่งไปให้ทุกเดือน เป็นส่วนหนึ่งของสงครามข่าวสารแบบ direct sales ตรงตัว ช่วยลดข่าวลือ และนำเสนอพัฒนาการในด้านบวกได้ด้วย ที่สำคัญมาเลเซียจะได้เก็บค่า work permit ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่ตามมา กรณีรายละ 600 ริงกิตต่อปี คำนวณ จากแรงงาน 200,000 ราย มาเลเซียจะมีรายได้จาก work permit เป็นเงินถึง 12,000,000 ริงกิตต่อปี

 

"ประโยชน์ที่รัฐบาลมาเลเซีย จะได้คือสามารถควบคุมแรงงานต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น กระบวนการจ่ายเงินสินบนนอกระบบ ส่วนประโยชน์ที่รัฐบาลไทยจะได้รับคือข้อมูลที่ถูกต้อง จำแนกผู้บริสุทธิ์ที่มีวัตถุประสงค์ไปประกอบอาชีพที่สุจริตออกจากแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบที่เชื่อว่าหลบหนีไปพักพิงยังต่างประเทศ"

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอต่อสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มอบหมายตัวแทนสภาที่ปรึกษาไปพบปะเยี่ยมเยือนแรงงานไทยในประเทศมาเลเซียที่ถูกจับกุมคุมขังในฐานะแรงงานผิดกฎหมาย แจ้งกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการเจรจากับประเทศมาเลเซียเพื่อขอเจรจาลดค่า work permit โดยของเปลี่ยน Category จาก skilled labors เป็น unskilled labors

 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเพื่อให้มีการเจรจาลดค่า work permit ของคณะนักวิจัย มอ.นั้น ตรงตามข้อเสนอของ พล.ท.วิโจรน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคฝ่ายไทย ที่ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 89 ระหว่างไทยและมาแลซีย กับ พล.ท.ดาโต๊ะ ซุลกีฟลี บินโมฮัมเหม็ด ซิน ผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพบกสนามมาเลเซีย ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคมาเลเซีย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ม.ค.51 ที่โรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

โดย พล.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือใน 2 เรื่อง คือ การขอปรับลดค่าใช้จ่ายในการทำหนังสือรับรองการทำงาน ของมาเลเซีย ซึ่งค่อนข้างสูง โดยแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในมาเลเซียจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ 6,000 บาทต่อ 3 เดือน หรือ 24,000 บาทต่อ 1 ปี ทำให้แรงงานไทยส่วนหนึ่งหลบเลี่ยง และเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากขณะนี้มีแรงงานไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการเข้าไปทำงานในมาเลเซียเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมาเลเซียยอมลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ถูกลงก็จะเป็นผลดีของทั้งสองประเทศคือแรงงานไทยสามารถเข้าไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมาเลเซียเองก็จะไม่มีปัญหาแรงงานเถื่อนผิดกฎหมาย

 

ส่วนเรื่องที่สอง คือ มีการเสนอให้ทำประกันภัยรถยนต์ร่วม 2 ประเทศ ในกรณีที่มีการขับรถยนต์เข้าออกทั้งสองประเทศ เพราะที่ผ่านมาหากคนไทยจะขับรถเข้าไปในมาเลเซียก็จะต้องทำประกันภัยของมาเลเซียด้วย ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและค่อนข้างยุ่งบาก ซึ่งหากเป็นไปได้ขอให้ทำประกันภัยในประเทศใดประเทศหนึ่งและผ่านได้เลยซึ่งจะสะดวกยิ่งขึ้น โดยทั้งสองเรื่องทางมาเลเซีย ยินดีที่จะรับและนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป ซึ่งน่าจะได้รับคำตอบในการประชุมคณะกรรมการชายแดนฯครั้งที่ 90 ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพ

แหล่งข่าว : ผู้จัดการ

อัพเดทล่าสุด