โดย : โรงพยาบาลกรุงเทพพระประแดง
อาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เริ่มแรกมักมีปัญหาเรื่องความจำ บางคนมีปัญหาในการนึกคำศัพท์ที่จะพูด, ในกรณีที่อาการเป็นมากขึ้นจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำงาน, การดูแลบ้าน, การทำอาหาร, การขับรถ, การเดินทาง หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางด้านภาษา...
- อาการของโรคอัลไซเมอร์
- อัลไซเมอร์เกิดจากอะไร
- โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคทางพันธุกรรมหรือไม่
- การรักษาโรคอัลไซเมอร์
- อาหารกับอัลไซเมอร์
- วัคซีนกับอัลไซเมอร์
- อัลไซเมอร์คืออะไร
ตอบ. จริงๆ แล้วอัลไซเมอร์เป็นชื่อของจิตแพทย์ และ พยาธิแพทย์ชาวเยอรมันค่ะ ชื่อเต็มคือ Alois Alzheimer (1864-1915), นพ.อัลไซเมอร์ ได้อธิบายอาการ และพยาธิวิทยาทางสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คนแรก คือ นาง Auguste D ในที่ประชุมจิตแพทย์เยอรมัน ปี ค.ศ.1906 หลังจากนั้นนพ. Kraepelin ได้มีการบรรยายกลุ่มอาการ และพยาธิวิทยาดังกล่าวในหนังสือ psychiatrie ปี 1910 และให้ชื่ออาการดังกล่าวคือ โรคอัลไซเมอร์
- อาการของโรคอัลไซเมอร์
ตอบ. อาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เริ่มแรกมักมีปัญหาเรื่องความจำ บางคนมีปัญหาในการนึกคำศัพท์ที่จะพูด, ในกรณีที่อาการเป็นมากขึ้นจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำงาน, การดูแลบ้าน, การทำอาหาร, การขับรถ, การเดินทาง หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางด้านภาษา นึกคำพูดไม่ออก หรือตอบแบบอ้อมค้อมไม่ตรงคำถาม ผู้ป่วยบางรายมีปัญหาเรื่องหลงทาง รวมถึงยังพบปัญหาทางด้านพฤติกรรม และอารมณ์ได้ด้วย เช่น การหลงผิด, ระแวง, เห็นภาพหลอน, ก้าวร้าว, ซึมเศร้า
ในระยะสุดท้ายของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่พูด แขนขาเกร็ง ในบางรายอาจพบอาการชักร่วมด้วย - อัลไซเมอร์เกิดจากอะไร
ตอบ. ในกลุ่มผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์พบว่ามีความผิดปกติของการจับตัวของโปรตีน 2 ชนิดในสมอง คือ Aβ42amyloid โปรตีนและ Tau โปรตีน รวมถึงยังพบว่ามีความผิดปกติของสารสื่อประสาทหลายชนิดโดยเฉพาะ สารอะซีติลโคลีนที่ลดลง - โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคทางพันธุกรรมหรือไม่
ตอบ. พบว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ในปัจจุบันมีการค้นพบยีนอย่างน้อย 4 ชนิด คือ APP, presenilin-1, presenilin-2, Apo€4 ในกลุ่มผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
สำหรับยีน Apo€4 ยังเป็นยีนที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นยีนที่พบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่ไม่มีประวัติทางพันธุกรรมถึง 40-65% แต่ในคนปกติก็สามารถพบยีนนี้ได้ 24-30% ดังนั้นจึงยังไม่แนะนำให้ทำการตรวจยีนนี้ในคนปกติ ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์แล้ว การตรวจพบยีนก็เป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนโรคอัลไซเมอร์
- การรักษาโรคอัลไซเมอร์
ตอบ. ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด ทำได้เพียงการให้ยาชะลออาการผู้ป่วยอย่างน้อยในช่วง 5 ปีแรก รวมถึงการควบคุมอาการผิดปกติทางพฤติกรรม และอารมณ์ของผู้ป่วย
ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบันที่มีใช้ ได้แก่ Donapezil, rivastigmine, galantamine, memantine
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมร่วมด้วย เช่น การหลงผิด หวาดระแวง วุ่นวาย หรือเห็นภาพหลอน การให้ยาทางจิตเวช (antipsychotic) จะสามารถควบคุมอาการผู้ป่วยได้
บางครั้งผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วย ยาลดอาการซึมเศร้าจึงอาจต้องให้ผู้ป่วยร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ นอกจากยาแล้ว การดูแลจากญาติและคนใกล้ชิดที่มีความเข้าใจผู้ป่วยก็มีความสำคัญเช่นกัน
- อาหาร, สมุนไพร กับโรคอัลไซเมอร์
ตอบ. จากการศึกษาพบว่าอาหารหรือสมุนไพรบางอย่างมีผลดี บางอย่างมีผลเสียหรือไม่ได้ผลในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เช่น แปะก๊วย จากการศึกษาพบว่าไม่เกิดประโยชน์ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์, เต้าหู้ จากการศึกษาในคนอินโดนีเซีย และญี่ปุ่น พบว่าทำให้ความจำแย่ลง, ส่วนอาหาร และสมุนไพรที่อาจจะให้ผลดีกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือ บลูเบอรรี่, ทับทิม ขิง โสม ชาเขียว
- วัคซีนกับอัลไซเมอร์
ตอบ. ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากวัคซีนรักษาโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งค้นพบก่อนหน้านี้ให้ผลดีกับสัตว์ทดลอง แต่เมื่อนำมาใช้กับคนแล้วพบว่าทำให้มีอัตราการเกิดสมองอักเสบมากขึ้นจึงไม่ได้นำมารักษาในคน ขณะนี้จึงยังมีการทดลอง และวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนซึ่งยังต้องรอผลการวิจัยต่อไป