ธุรกิจนมควาย ตลาด smes ของธุรกิจนมควาย แนวความคิดธุรกิจนมควาย ความน่าสนใจธุรกิจนมควาย


1,314 ผู้ชม


ธุรกิจนมควาย ตลาด smes ของธุรกิจนมควาย แนวความคิดธุรกิจนมควาย ความน่าสนใจธุรกิจนมควาย

ญจวน เฮงตระกูล และคุณชาริณี ชัยยศลาภ สองแม่ลูกคนเก่ง เจ้าของ “มูร์ร่าห์ ฟาร์ม” กลายเป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจฟาร์มควายนม ในฐานะเจ้าของธุรกิจผลิตภัณท์จากนมของควายพันธุ์มูร์ร่าห์แห่งแรกในประเทศ ไทย ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่คนไทยรู้จักและเริ่มคุ้นชินกับ “นมควาย” มากขึ้น

เธอทั้งคู่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ไล่เรียงมาตั้งแต่การเริ่มทำธุรกิจในรูปแบบที่ไม่เคยมีตัวอย่างภายในประเทศ การต่อสู้กับทัศนคติของคนไทยที่เคยเชื่อกันว่า ควายเป็นสัตว์ใช้แรงงาน และนมของมันดื่มไม่ได้ ไปจนถึงการทำตลาดผลิตภัณฑ์เฉพาะแบบสุดหิน อาทิ ชีสที่ผลิตจากนมควาย ซึ่งในที่สุด “ความพยายาม” ก็ทำให้แม่ลูกคู่นี้ประสบความสำเร็จ โดยผลิตภัณฑ์จากนมควายของมูร์ร่าห์ ฟาร์ม สามารถตีตลาดต่างประเทศและได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก

ความสำเร็จของมูร์ร่าห์ ฟาร์มเกิดจากอะไร ติดตามแรงบันดาลใจ และเคล็ดลับดีๆ ในการเริ่มธุรกิจที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครได้ ในรายการ Voice of the Day ตอน “ฟาร์มนมควายแห่งแรกในประเทศไทย”

https://shows.voicetv.co.th/voice-of-the-day/7960.html

------------

สำหรับชาวต่างชาติแล้ว “นมควาย” ได้รับความนิยมมานาน เหนือกว่านมวัว หรือนมแพะเสียอีก เนื่องจากมีสารอาหารสูง และเข้มข้นยิ่งกว่า แต่สำหรับคนไทยแล้วน้อยรายจะรู้ข้อมูลดังกล่าว เมื่อบวกกับทัศนคติมักเปรียบเทียบควายกับ “ความโง่” ด้วยแล้ว การบริโภคนมควายกับคนไทยจึงเป็นเรื่องไกลตัวอย่างยิ่ง

ทว่า ปัจจุบัน นมควายมีทิศทางจะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการเลี้ยงควายนมในรูปแบบฟาร์มเต็มรูปแบบขึ้นแล้ว เป็นแห่งแรกในเมืองไทย บนพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กว่า 400 ไร่ ที่ ต.หนองไม้แก่น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้การบุกเบิกของ “รัญจวน เฮงตระกูล” ในชื่อ “มูร์ร่าห์ฟาร์ม”(Murrah Farm) ยิ่งเมื่อ “ชาริณี ชัยยศลาภ” บุตรสาวเข้าช่วยกิจการ ได้ยกระดับด้านการตลาด ทั้งสร้างแบรนด์ และแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด

กำเนิดฟาร์มควายนมแห่งแรกในไทย

ชาริณี ชัยยศลาภ ผู้จัดการบริษัท มูร์ร่าห์ แดรี่ จำกัด เล่าให้ฟังว่า พื้นฐานครอบครัวทำธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องหนัง โดยมีการเลี้ยงควายพื้นบ้านของไทย ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ควายปลัก” ควบคู่ไปด้วย เพื่อนำหนังมาใช้เป็นวัตถุดิบ กระทั่ง ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์มณีวรรณ กมลพัฒนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านควาย จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับ “ควายนมพันธุ์มูร์ร่าห์” ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากประเทศอินเดีย มีคุณสมบัติให้น้ำนมเฉลี่ย 20 กิโลกรัม (กก.)/ตัว/วัน ระยะเวลาให้นม 9 - 10 เดือน ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศ นิยมดื่มนมควายสูงกว่านมวัวเสียอีก ตลาดโลกจึงมีความต้องการมหาศาล ทำให้สนใจทำฟาร์มควายนมทันที จากนั้นจึงศึกษาดูงานการทำฟาร์มควายนมในต่างประเทศกว่า 2 ปี ทั้งที่อิตาลี จีน บราซิล อินเดีย และบัลแกเรีย แล้วเริ่มลงมือทำในเมืองไทยเมื่อปี 2546

เผยคุณประโยชน์นมควายสุดยอด

จุดเด่นของน้ำนมควายมูร์ร่าห์นั้น ชาริณี เผยว่า มีสารอาหารสูงกว่านมวัว ทั้งโปรตีน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินเอ รวมถึง มีสีขาวเนียนชวนดื่ม ทั้งยังไม่มีกลิ่นคาว ดื่มง่ายกว่านมแพะ และ Butter Fat ในนมควายก็มากเป็นสองเท่าของนมวัว ในขณะที่ค่าคลอเลสเตอรอลต่ำกว่า นอกจากนั้น ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Natural Antioxidant) เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้แลคโตสในน้ำนมวัว ชาริณีให้ข้อมูลด้วยว่า ถ้าวัดกันเฉพาะเรื่องสารอาหารแล้ว ควายปลักพื้นเมืองของไทยมีคุณสมบัติเหนือกว่าพันธุ์มูร์ร่าห์ด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากควายปลักให้น้ำนมได้เพียงวันละ 1 กก./ตัวเท่านั้น จึงไม่เหมาะจะเลี้ยงหวังน้ำนม ส่วนการเลี้ยงควายทั้งสองชนิดไม่แตกต่างกัน แม้ควายมูร์ร่าห์จะเป็นสายพันธุ์ต่างชาติ แต่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในเมืองไทยได้ดี

ต่อยอดแปรรูปนมควายครบวงจร

จากเป้าหมายหลักต้องการต่อยอดธุรกิจให้ครบวงจรจากฟาร์มเลี้ยงสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ก่อนที่ชาริณีจะเข้ามาช่วยธุรกิจในฐานะผู้บริหารเต็มตัวเมื่อปี 2547 ได้ไปศึกษาการจัดระบบฟาร์มที่ประเทศออสเตรเลีย รวมถึง เรียนรู้การแปรรูปนมควายที่ประเทศอิตาลีด้วย “ธุรกิจฟาร์มนมในเมืองไทย จะมีช่องว่าง กำไรส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่เกษตรกรหรือผู้เลี้ยง แต่กลับตกไปอยู่ในมือของพ่อค้าคนกลางแทน ดังนั้น เราจึงอยากทำให้ฟาร์มมีลักษณะครบวงจร ตั้งแต่เพาะพันธุ์ เลี้ยงจนถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และจำหน่ายด้วยตัวเอง โดยมีผลิตภัณฑ์นำร่อง ได้แก่ นมควายพร้อมดื่ม โยเกิร์ตนมควาย เนยอินเดีย หรือ กีห์ (Ghee) และมอสซาเรลลาชีส” ทายาทธุรกิจ กล่าว โจทย์ยากที่สุดในการทำตลาดระยะแรกคือ แนะนำให้ผู้บริโภครู้ถึงคุณสมบัติของนมควาย เพื่อลบทัศนคติที่ว่าดื่มนมควายอาจทำให้โง่ เป็นที่มาของการลงทุนกว่าล้านบาทเปิดร้าน “มูร์ร่าห์คาเฟ่แอนบิสโทร” ในหมู่บ้านสัมมากร ถ.รามคำแหง 112 เมื่อเดือนธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา “จุดประสงค์หลักของร้าน ต้องการทดสอบตลาดของผลิตภัณฑ์นมควายแปรรูป และสร้างแบรนด์ให้ลูกค้ารู้จัก พร้อมกับลบภาพว่า ควายโง่ เพราะลูกค้าแทบทุกคนจะมาพร้อมกับคำถามว่า กินนมควายแล้วจะโง่ไหม? ซึ่งมันเป็นโอกาสของเรา ที่จะได้บอกข้อมูลความจริง ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการยืนยัน ช่วยให้ลูกค้ารู้จักนมควายอย่างถูกต้อง และยังไปบอกต่อด้วย” ชาริณี เผย

“มูร์ร่าห์คาเฟ่ฯ” จุดนัดคนรักนมควาย

สำหรับเมนูในร้าน “มูร์ร่าห์คาเฟ่ฯ” ล้วนแต่มีส่วนประกอบการจากนมควาย เช่น นมควายสด 100% ปราศจากสารกันบูด และยาฆ่าแมลง มีบริการทั้งดื่มในร้าน แก้วละ 25 บาท หรือบรรจุขวด ขนาด 200 ซีซี ราคา 20 บาท กาแฟ ใส่นมควาย ราคาแก้วละ 25 บาท โยเกิร์ตนมควาย ถ้วยละ 25 บาท ฯลฯ นอกจากนั้น ยังมีอาหารสไตล์อิตาเลียน ที่มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมควายเป็นส่วนประกอบ เช่น คาปรีเซ่สลัด แฮมชีสบรูเซตต้า ข้าวผัดกีห์กับปลาเค็มหน้ากุ้ง พิซซ่ามาร์การิต้า ฯลฯ ผลตอบรับตั้งแต่เปิดร้านมา ดีขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเป็นลูกค้าขาจรมาเพื่ออยากลองของแปลก กลายเป็นขาประจำ โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ร้านแน่นตลอดทั้งวัน ซึ่งจากผลตอบรับที่ดีดังกล่าว เตรียมเปิด “มูร์ร่าห์คาเฟ่ฯ” สาขา 2 ที่เมืองพัทยา ปลายปีนี้ ไม่ใช่เฉพาะขายที่ร้านเท่านั้น ชาริณีได้พาผลิตภัณฑ์นมควายแปรรูปขยายตลาดไปวางจำหน่ายในวิลล่าซูเปอร์มาร์เกต ส่งเข้าร้านอาหารอิตาเลียน และโรงแรมชื่อดังต่างๆ โดยสินค้าขายดีอันดับหนึ่ง ได้แก่ มาสซาเรลลาชีส ซึ่งการผลิตต้องใช้น้ำนมดิบ จำนวน 100 กก.จะได้ชีสเพียง 20 กก. ราคาขายสูงถึง 1,000 บาทต่อ กก. ลูกค้าหลัก คือ ชาวต่างชาติ ส่วนสินค้าที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าคนไทยมากที่สุด คือ นมควายสด ขายราคา 80 บาทต่อ กก. ซึ่งราคาดังกล่าวสูงกว่านมวัวถึง 4 เท่าตัว “การขายนมควายสด ถ้าหวังได้กำไรมูลค่าสูง ต้องทำในลักษณะตลาดแมส แต่ปัจจุบันศักยภาพของเรายังไม่พร้อม แม่ควายนมยังให้ปริมาณน้ำนมไม่มากพอ ดังนั้น ในส่วนนมควายสด เราจึงทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เน้นบริการลูกค้าในร้านเท่านั้น แต่สำหรับมอสซาเรลลาชีส ซึ่งเป็นชีสชนิดเดียวกับที่ใช้ในการทำพิซซ่า ชาวต่างชาติจะนิยมบริโภคชีสที่ทำจากนมควายมาก ดังนั้น โรงแรมที่มีลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ และร้านอาหารสไตล์อิตาเลียน จึงสั่งซื้อสินค้าจากเราจำนวนมาก” ชาริณี เผย

เร่งขยายกิจการรับรองตลาดโต

แม้ว่า ผลิตภัณฑ์แปรรูปนมควายจะขายได้ราคาสูง แต่ปัญหา ณ วันนี้ คือ มีวัตถุดิบน้ำนมไม่เพียงพอ เนื่องจากในฟาร์ม เลี้ยงควายมูร์ร่าห์ประมาณ 250 ตัว มีตัวที่พร้อมให้น้ำนมเพียง 70-80 ตัวเท่านั้น อีกทั้ง แต่ละตัวยังให้น้ำนมได้เพียง 5 กก.ต่อวันเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าควายมูร์ร่าห์ในต่างประเทศอยู่มาก โดยรวมจึงมีวัตถุดิบน้ำนมเฉลี่ยแค่วันละ 200 กก. ขณะที่ความต้องการจริงน่าจะสูงกว่านี้ 2-3 เท่าตัว เพื่อจะแก้ปมดังกล่าว ในส่วนของมูร์ร่าห์ฟาร์มเองจะพยายามพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้น้ำนมสูงขึ้น ขณะเดียวกัน พยายามจะสร้างฟาร์มเครือข่ายกับเกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบ โดยมูร์ร่าห์ฟาร์มจะสนับสนุนสายพันธุ์ ความรู้ในการผสมพันธุ์ และเลี้ยง รวมถึงหาตลาดให้ ชาริณี กล่าวทิ้งท้ายว่า มั่นใจธุรกิจควายนมมูร์ร่าห์จะมีอนาคตสดใส เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย เหมาะกับเมืองไทย อีกทั้ง นมควายสามารถนำไปแปรรูปได้หลายหลาก และด้วยคุณสมบัติสารอาหารสูง จึงตอบสนองกระแสรักสุขภาพของคนทั่วโลกได้อย่างดี

อัพเดทล่าสุด