เลือดออกตามไรฟัน วิธีรักษาเลือดออกตามไรฟัน วิธีแก้เลือดออกตามไรฟัน


1,986 ผู้ชม


วิธีแก้เลือดออกตามไรฟัน

เลือดออกตามไรฟัน

เวลา มีเลือดออกตามซอกเหงือกหรือตามไรฟัน เรามักจะคิดว่าขาดวิตามินซี เพราะเรียนสุขศึกษามาตั้งแต่สมัยประถม คงจำกันได้อาการสำคัญของการขาดวิตามินซีคือ เลือดออกตามไรฟันแต่จริงๆ แล้ว บ้านเราเป็นเมืองที่มีผลไม้ ผักตลอดทั้งปีโอกาสขาดวิตามินซีถึงขนาดทำให้เลือดออกตามเหงือก ซอกฟันนั้นมีน้อยมาก แต่ที่เราพบบ่อยๆ และมักมองข้ามไป คือ การที่มีเหงือกอักเสบ ทำให้เลือดออกง่ายขึ้น

ตัว การสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ ก็คือ เศษอาหารที่เรารับประทานเข้าไป แล้วทำความสะอาดไม่หมด เศษอาหารเหล่านี้เกาะ ในลักษณะของคราบฟันเหนียวๆ มีอาหารที่ไหนแบคทีเรียก็ตามมา ก็เกิดการอักเสบเกิดขึ้น ดังนั้นถ้าจะไม่ให้เหงือกอักเสบ


วิธีพื้นฐานที่ใช้อยู่คือ
- แปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ
- ใช้ไหมขัดซอกฟัน
- ใช้น้ำยาบ้วนปาก


ไม่ เพียงเท่านี้อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องให้การดูแลอย่างดี คือ เรื่องหินปูนที่เกาะตามตัวฟัน หินปูนมาจากไหน มาจากน้ำดื่ม อาหาร น้ำลาย ตกตะกอนผสมกับคราบอาหารที่แปรงไม่หมดเกาะแน่นตามตัวฟัน ถ้าไม่เคยขูดทำความสะอาดมันก็เกาะหนาและลงลึกมากขึ้น ไปอยู่ใต้เหงือกเป็นช่อง เป็นกระเป๋า ยิ่งทำให้แบคทีเรียเข้าไปหลบซ่อนง่าย และอันตรายต่อกระดูกรองรับรากฟัน ซึ่งจะค่อยๆ ละลายตัว มีผลทำให้ฟันโยกคลอนถึงกับหลุดไปเลยก็มี
โรคเหงือก อักเสบ เป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไปจนทำให้เราใจเย็น ผัดผ่อนการไปพบทันตแพทย์ พอไปพบก็มีอาการลุกลามมากแล้ว การรักษาก็ทำได้ยากและใช้เวลานานกว่าจะหาย
ถ้ามองถึงวิธีรักษาโรคเหงือกอักเสบ ควรให้น้ำหนักที่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคดีที่สุ
- อย่าให้เศษอาหารติดที่ตัวฟันและเหงือก
- หลังอาหาร แปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน
- เลี่ยงอาหารเหนียว แป้ง อาหารหวาน
- สำคัญที่สุดถึงฟันยังไม่มีอาการปวดเจ็บก็ควรไปพบทันตแพทย์ตรวจ ทุกๆ 6  

   เดือน และ ขูดหินปูนทำความสะอาดด้วย

⇒ วิธีแก้เลือดออกตามไรฟัน , การป้องกันรักษาโรคเหงือกอักเสบด้วยตนเอง
การดูแลตนเอง เป็นหลักการสำคัญของงานสาธารณสุขมูลฐาน ที่เน้นการป้องกันโรคด้วยการเฝ้าระ-วังโรค การตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม โรคเหงือกอักเสบเป็นโรคที่ประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วยเป็นมากที่สุด ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
โดยมีรายงานว่า ในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคเหงือกอักเสบกว่าร้อยละ 80 ทั้งในเมืองและในชนบท การป้องกันและรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดอุบัติการณ์และความชุกของโรคเหงือกได้อย่างดียิ่ง ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า อาการแรกเริ่มของเหงือกอักเสบ ได้แก่ อาการเหงือกบวมแดงนั้น การที่จะพิเคราะห์แยกเหงือกอักเสบจากเหงือกปกติจึงจำเป็นในการเฝ้าระวังโรค เหงือกอักเสบนี้
ลองส่องกระจกดูเหงือกของตัวเอง ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือบริเวณฟันหน้าด้านบนและล่าง แต่ควรพยายามดูให้ทั่วที่ขอบเหงือกของฟันทุกซี่ ทั้งฟันหน้าและฟันหลัง โดยใช้นิ้วชี้ของมือทั้งสองข้างแหวกมุมปากให้กว้างพอที่จะดูได้ชัด ดูให้ดีที่บริเวณเหงือกที่ชิดกับฟัน จะสังเกตเห็นว่า เหงือกมีลักษณะโค้งเว้าตามรูปร่างของฟันแต่ละซี่ แยกจากกันได้ว่า เหงือกของฟันซี่ไหนเป็นซี่ไหน บริเวณดังกล่าวนี้เอง ลองดูให้ดี ๆ เปรียบเทียบสีลักษณะทั่วไปกับเหงือกที่อยู่เหนือขึ้นไปเล็กน้อยหรือเหงือก บริเวณอื่น
เหงือกปกติที่สมบูรณ์ จะมีสีชมพูสดใส มีลักษณะแน่น ถ้าสังเกตให้ใกล้ชิดอาจเห็นปุ่มน้อย ๆ บนผิวเหงือกแลดูขรุขระ และถ้ากดด้วยนิ้วมือโดยออกแรงเบา ๆ จะรู้สึกถึงความแน่นคล้ายกดที่ผิวหนังของร่างกายปกติ แต่ถ้าเหงือกอักเสบจะมีอาการที่เห็นได้ชัดคือ บวม แดง ดังนั้น จะเห็นสีแดงช้ำ ผิวเหงือกอาจเต่งตึง แบบบวมเป่ง หรือฉุ ๆ แบบบวมช้ำ ขอบเหงือกจะไม่เรียบ ไม่เห็นผิวที่มีลักษณะปุ่มขรุขระน้อย ๆ ในแบบเหงือกปกติ ในรายที่ไม่รุนแรงมาก ขอบเขตของการอักเสบจะจำกัดเฉพาะ บริเวณขอบเหงือกที่ต่อกับฟัน ดูเห็นเป็นแถบอักเสบแดง ไม่กว้างนัก ถ้ากดด้วยนิ้วแม้จะไม่แรงนัก ก็รู้สึกได้ถึงความนิ่มที่ไม่แน่นของเหงือกปกติ
นอกจากนี้ ในขณะที่กำลังอักเสบ การกดเบา ๆ ก็อาจทำให้เลือดออกตามขอบเหงือกหรือไรฟันได้ และในรายที่รุนแรงมากอาจมีของเหลวหรือหนองออกมาร่วมกับเลือดได้ ซึ่งในรายที่รุนแรงนี้ มักจะสังเกต เห็นหินปูนเกาะโดยรอบขอบฟัน และอาจมีอาการฟันโยกร่วมด้วย ในกรณีนี้อาจเป็นโรครุนแรงมาก เราเรียกว่า โรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งเป็นอาการต่อไปจากโรคเหงือกอักเสบ ต้องอาศัยทันตแพทย์ให้การรักษา ไม่สามารถดูแลรักษาด้วยตนเองได้เพียงพอ
อย่างไรก็ดี การดูแลรักษาด้วยตนเองก็อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคให้น้อยลงได้ เพื่อประทังอาการไว้ก่อนไปรับการรักษาต่อไป
การดูแลรักษาโรคเหงือกอักเสบในระยะแรกเริ่มด้วยตนเอง ที่สำคัญ ก็คือการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ ดังได้กล่าวแล้วว่า เชื้อในคราบจุลินทรีย์เก่าจะมีความรุนแรงกว่า ดังนั้น การทำความสะอาดฟัน โดยเฉพาะบริเวณของเหงือกให้ทั่วถึงทุกวันเพื่อไม่ให้มีการหมักหมมของเชื้อใน คราบจุลินทรีย์ จะช่วยลดการระคายเคืองจากสารพิษของเชื้อจุลินทรีย์ได้ นั่นก็คือ การแปรงฟันบริเวณขอบเหงือกให้สะอาดเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกัน การแปรงฟันให้ปลายขนแปรงที่อ่อนนุ่มกระทบเหงือกเบา ๆ เป็นการกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยง เหงือกบริเวณที่กำลังอักเสบอยู่นั้น จะช่วยกำจัดสารพิษและสิ่งแปลกปลอมที่ก่อให้เกิดการอักเสบ เป็นการลดการอักเสบของเหงือกอีกทางหนึ่ง แน่นอนว่า การแปรงฟัน แปรงเหงือกในระยะที่กำลังอักเสบอยู่ จะรู้สึกเจ็บปวดบ้าง และเลือดก็คงออกในขณะที่แปรงไปกระทบเหงือกที่อักเสบอยู่นั้น แต่ถ้าอดทนแปรงต่อไปได้อีกเพียง 2-3 วัน อาการเจ็บและเลือดออกในขณะแปรงฟัน จะค่อย ๆ น้อยลงจนเป็นปกติ พร้อมกับอาการเหงือกอักเสบที่เป็นบวมแดงตามขอบเหงือกก็จะหายไปด้วย เพราะร่างกายจะสร้างเหงือกใหม่ที่แข็งแรงมาทดแทน ซึ่งต่อไปก็เป็นหน้าที่ขอองเราที่จะต้องคอยดูแลแปรงฟัน-แปรงเหงือก เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ โดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือกเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เหงือกอักเสบกลับมาใหม่ได้อีก
มาช่วยกันป้องกันและลดโรคเหงือกอักเสบ โดยการหมั่นสังเกต ตรวจดูเหงือกของตนเองและผู้ใกล้ชิด และรีบแก้ไขความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการแปรงฟัน-แปรงเหงือก ยิ่งบริเวณใดที่แปรงฟันแล้วเลือดออก ยิ่งจะต้องแปรงด้วยความระมัดระวัง แปรงให้ถูกวิธีสะอาดหมดจดอย่างทั่วถึง โดยให้ปลายขนแปรงที่อ่อนไปกระทบขอบเหงือก ด้วยความอดทนต่อไปอีก 2-3 วันจะเห็นผลในการลดอาการเลือดออกตามไรฟันในที่สุด

หมอชาวบ้าน https://www.doctor.or.th

อัพเดทล่าสุด