แผนที่แสดงให้เห็นน้ำ (สีฟ้า) ล้อมรอบกรุงเทพมหานคร
ภาพแสดงระดับความสูงต่ำของพื้นที่ กทม. เพื่อการวิเคราะห์การเคลื่อนตัวของมวลน้ำ GISTDA
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงอุทกภัยประเทศไทย 23 ตุลาคม 2554
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก GISTDA , Team Group , ครอบครัวข่าว 3
ภาพ แผนที่กรุงเทพ ที่ถ่ายจากดาวเทียม เผยให้เห็นมวลน้ำก้อนใหญ่ กำลังล้อมกรุงเทพชั้นใน ซึ่งจ่อถล่มภายใน 2-3 วันนี้ เตือนสร้างคันกั้นน้ำให้แข็งแรงคงทน และสูงกว่าระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าว ชี้ 15 พ.ย. สถานการณ์ดีขึ้นแน่นอน
โดย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาพรวมในประเทศ น้ำในภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนทางด้านคลองระพีพัฒน์นั้น สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เพราะสามารถผันน้ำไปยังทางตะวันออกของกรุงเทพฯ ได้เร็ว จึงช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้าท่วมตอนบนของกรุงเทพฯ เช่น ดอนเมือง หลักสี่ แต่ทั้งนี้ในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องเร่งเสริมแนวกั้น พร้อมซ่อมแซมรอยรั่วที่คลอง 1 และเมืองเอกให้เร็วที่สุด
ดร.อานนท์ ยังกล่าวอีกว่า ต่อ จากนี้พื้นที่ในซีกตะวันตกของ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ นนทบุรี ไปยังนครปฐม จะต้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะมวลน้ำที่แผ่ลงมายังคลองมหาสวัสดิ์นั้น คาดว่าแนวรับที่คลองดังกล่าว จะไม่สามารถกั้นน้ำได้ทั้งหมด ซึ่งน้ำจะดันเข้ามา และข้ามคันกั้นมายังทางรถไฟ และเมื่อท่วมรางรถไฟ ก็จำเป็นต้องปิดการเดินทางในเส้นทางดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 - 3 วันที่จะถึงนี้ พื้นที่พุทธมณฑล และมหิดลศาลายา มีน้ำสูงตั้งแต่ 50-80 ซม. ซึ่งถ้าน้ำลงถึงสมุทรสาครได้ สถานการณ์ก็จะดีขึ้น น้ำจะไม่ท่วมมากนัก ทั้งนี้เป็นเพราะการแก้ปัญหาโดยใช้ระบบแก้มลิง ผลักดันน้ำเข้าไปในคลองจำนวนมาก และเร่งระบายออกในช่วงน้ำลง เมื่อน้ำขึ้นจะปิดประตูทันที เพื่อรับน้ำจากทางเหนือให้ลงสู่คลอง เพราะฉะนั้นประชาชนจะไม่ถูกน้ำท่วมขัง
และ ถ้าหากดูจากแบบจำลองของ TEAM GROUP (เตือนภัยน้ำท่วม ฉบับที่ 3) จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำในทุ่งเจ้าพระยาที่ยังมีมากกว่า 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณเท่ากับอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลอีก 1 อ่าง และ ตอนนี้มวลน้ำดังกล่าวอยู่ที่บางไทร และปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ทุ่งเจ้าพระยา แม้จะมีปริมาณลดลง แต่ก็มากกว่าที่จะระบายลงสู่ทะเลได้
อย่างเช่น เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีน้ำไหลเข้าสู่งทุ่งเจ้าพระยาวันละ 419 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถระบายลงทะเลได้ 403 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีน้ำเหลือสะสมเพิ่มเติมในทุ่งเจ้าพระยาอีกวันละ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นครชัยศรี บางเลน บางใหญ่ เมืองนนทบุรี ปากเกร็ด ลาดหลุมแก้ว เมืองปทุมธานี คลองหลวง ธัญบุรี สายไหม ลำลูกกา หนองจอก คลองสามวา ลาดกระบัง บางเสาธง และบางบ่อ
ทั้งนี้ถ้าหากไม่สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้มากกว่านี้ พนังกั้นน้ำก็ไม่สามารถต้านทานได้ น้ำจะไหลพุ่งเข้าท่วมพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป น้ำทะเลจะขึ้นสูงเรื่อย ๆ จนหนุนสูงสุดในวันที่ 31 ตุลาคม ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพุทธสูงขึ้นอยู่ที่ 2.45 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ลำคลอง
อย่าง ไรก็ดี จากนั้นระดับน้ำจะทรงตัว และค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ และหลังจากวันที่ 15 พฤศจิกายนไปแล้ว ระดับน้ำในพื้นที่อ่างทอง อยุธยา สุพรรณบุรี จะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ตามด้วยพื้นที่ บางไทร ปทุมธานี นนทบุรี นครชัยศรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ตามลำดับ
ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง (เตือนภัยน้ำท่วม ฉบับที่ 1) จะต้องเสริมความแข็งแรงให้กับพนังกั้นน้ำต่าง ๆ และเพิ่มความสูงให้เพียงพอ และคงทนอยู่ได้ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งตะวันออกของถนนหทัยราษฎร์ ถนนร่มเกล้า ถนนกิ่งแก้ว และฝั่งตะวันออกของถนนบางพลี-บางตารุ ควรเสริมความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำให้มั่นคง และให้มีระดับความสูงไม่น้อยกว่า +3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลกลาง