(น่ารู้) บรรยากาศในห้องเรียน การจัดบรรยากาศในห้องเรียน - การสร้างบรรยากาศในห้องเรียน


4,352 ผู้ชม


(น่ารู้) บรรยากาศในห้องเรียน การจัดบรรยากาศในห้องเรียน - การสร้างบรรยากาศในห้องเรียน

(น่ารู้) บรรยากาศในห้องเรียน การจัดบรรยากาศในห้องเรียน - การสร้างบรรยากาศในห้องเรียน

หลักการจัดชั้นเรียน
          เนื่องจากชั้นเรียนมีความสำคัญ เปรียบเสมือนบ้านที่สองของนักเรียน นักเรียนจะใช้เวลาอยู่ในชั้นเรียนประมาณวันละ 5-6 ชั่วโมง อิทธิพลของชั้นเรียนจึงมีมากพอที่จะปลูกผังลักษณะของเด็กให้เป็นแบบที่ต้อง การได้ เช่น ให้เป็นตัวของตัวเอง ให้สามารถทำงานเป็นหมู่คณะได้ดี ให้ชอบแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ให้มีความรับผิดชอบ ให้รู้จักคิดวิเคราะห์   ดังนั้นเพื่อให้นักเรียนมีคุณลักษณะนิสัยดังประสงค์ และมีความรู้สึกอบอุ่นสบายใจในการอยู่ในชั้นเรียนครูจึงควรคำนึงถึงหลักการ จัดชั้นเรียน ดังต่อไปนี้
          1. การจัดชั้นเรียนควรให้ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม ชั้นเรียนควรเป็นห้องใหญ่หรือกว้างเพื่อสะดวกในการโยกย้ายโต๊ะเก้าอี้ จัดเป็นรูปต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน ถ้าเป็นห้องเล็ก ๆ หลาย ๆ ห้องติดกัน ควรทำฝาเลื่อน เพื่อเหมาะแก่การทำให้ห้องกว้างขึ้น
          2. ควรจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างเสริมความรู้ทุกด้าน โดยจัดอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมหรือหนังสืออ่านประกอบที่หน้าสนใจไว้ตามมุมห้อง เพื่อนักเรียนจะได้ค้นคว้าทำกิจกรรมควรติดอุปกรณ์รูปภาพและผลงานไว้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
          3. ควรจัดชั้นเรียนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ซึ่งมีอิทธิผลต่อความเป็นอยู่และการเรียนของนักเรียนเป็นอันมาก ครูมีส่วนช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้ดีได้ เช่น ให้นักเรียนจัดหรือติดอุปกรณ์ให้มีสีสวยงาม จัดกระถางต้นไม้ประดับชั้นเรียน จัดที่ว่างของชั้นเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรม คอยให้คำแนะนำในการอ่านหนังสือ ค้นคว้าแก้ปัญหา และครูควรสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน ไม่ให้เครียด เป็นกันเองกับนักเรียน ให้นักเรียนรู้สึกมีความปลอดภัย สะดวกสบายเหมือนอยู่ที่บ้าน
          4. ควรจัดชั้นเรียนเพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีงาม ชั้นเรียนจะน่าอยู่ก็ตรงที่นักเรียนรู้จักรักษาความสะอาด ตั้งแต่พื้นชั้นเรียน โต๊ะม้านั่ง ขอบประตูหน้าต่าง ขอบกระดานชอล์ก แปลงลบกระดาน ฝาผนังเพดาน ซอกมุมของห้อง ถังขยะต้องล้างทุกวัน เพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหม็น และบริเวณที่ตั้งถังขยะจะต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นแหล่งบ่อเกิดเชื้อโรค
          5. ควรจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างความเป็นระเบียบ ทุกอย่างจัดให้เป็นระเบียบทั่งอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ เช่นการจัดโต๊ะ ชั้นวางของและหนังสือ แม้แต่การใช้สิ่งของก็ให้นักเรียนได้รู้จักหยิบใช้ เก็บในที่เดิม จะให้นักเรียนเคยชินกับความเป็นระเบียบ
          6. ควรจัดชั้นเรียนเพื่อสร้างเสริมประชาธิปไตย โดยครูอาจจัดดังนี้
             6.1 จัดให้นักเรียนเข้ากลุ่มทำงาน โดยให้มีการหมุนเวียนกลุ่มกันไป เพื่อให้ได้ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น
             6.2 จัดที่นั่งของนักเรียนให้สลับที่กันเสมอ เพื่อให้ทุกคนได้มีสิทธิที่จะนั่งในจุดต่างๆ ของห้องเรียน
             6.3 จัดโอกาสให้นักเรียนได้หมุนเวียนกันเป็นผู้นำกลุ่ม เพื่อฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
          7. ควรจัดชั้นเรียนให้เอื้อต่อหลักสูตร หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปัจจุบันเน้นการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้ เรียนเป็นศูนย์กลาง และให้ใช้กระบวนการสอนต่างๆ ดังนั้นครูจึงควรจัดสภาพห้องให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เช่น การจัดที่นั่งในรูปแบบต่างๆ อาจเป็นรูปตัวยู ตัวที หรือครึ่งวงกลม หรือจัดเป็นแถวตอนลึกให้เหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอนและการจัดบรรยากาศ ทางด้านจิตวิทยาให้ผู้เรียนรู้สึกกล้าถามกล้าตอบ กล้าแสดงความคิดเห็น เกิดความใคร่รู้ ใคร่เรียน ซึ่งจะเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาตน พัฒนาอาชีพ พัฒนาสังคม และเป็นคนเก่ง ดี มีความสุขได้ในที่สุด
         จากที่กล่าวมาทั่งหมด สรุปได้ว่า หลักการจัดชั้นเรียน คือ การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ และการจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ และเพื่อการพัฒนาผู้เรียนทั่งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป
 
ลักษณะของชั้นเรียนที่ดี
         เพื่อให้การจัดชั้นเรียนที่ถูกต้องตามหลักการ ผู้สอนควรได้ทราบถึงลักษณะของชั้นเรียนที่ดี สรุปได้ดังนี้
         1. ชั้นเรียนที่ดีควรมีสีสันที่น่าดู สบายตา อากาศถ่ายเทได้ดี ถูกสุขลักษณะ
         2. จัดโต๊ะเก้าอี้และสิ่งที่ที่อยู่ในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน และกิจกรรมประเภทต่างๆ
         3. ให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข   มีอิสรเสรีภาพ และมีวินัยในการดูแลตนเอง
         4. ใช้ประโยชน์ชั้นเรียนให้คุ้มค่า ครูอาจดัดแปลงให้เป็นห้องประชุม ห้องฉายภาพยนตร์และอื่น ๆ
         5. จัดเตรียมชั้นเรียนให้มีความพร้อมต่อการสอนในแต่ละครั้ง เช่น การทำงานกลุ่ม การสาธิตการแสดงบทบาทสมมุติ
         6. สร้างบรรยากาศให้อบอุ่น ให้ความเป็นกันเองกับผู้เรียน
 
รูปแบบการจัดชั้นเรียน
          การจัดชั้นเรียนจัดได้หลายรูปแบบ โดยจัดให้เหมาะสมกับบทเรียน กิจกรรมการเรียนการสอน จำนวนนักเรียน สภาพแวดล้อมในชั้นเรียน ขนาดของห้องเรียน เป็นต้น ครูควรได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจัดโต๊ะ เก้าอี้ มุมวิชาการ และมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศของห้องเรียนให้น่าสนใจไม่ซ้ำซากจำเจ ไม่น่าเบื่อหน่าย นักเรียนจะเกิดความกระตือรือร้นและกระฉับกระเฉงในการเรียนดีขึ้น การจัดชั้นเรียนถ้าแบ่งตามวิธีการสอนจะได้ 2 แบบ คือ
          1. ชั้นเรียนแบบธรรมดา
          2. ชั้นเรียนแบบนวัตกรรม
 
1. ชั้นเรียนแบบธรรมดา
          ชั้นเรียนแบบธรรมดาเป็นชั้นเรียนที่มีครูเป็นศูนย์กลาง  เป็นผู้นำการเรียนรู้ โดยมีผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้จากครู การจัดชั้นเรียนแบบนี้จะมีโต๊ะครูอยู่หน้าชั้นเรียน และมีโต๊ะเรียนวางเรียงกันเป็นแถว โดยหันหน้าเข้าหาครูแสดงดังรูป
รูปแสดง การจัดชั้นเรียนแบบธรรมดา
          1.1 ลักษณะการจัดชั้นเรียน   การจัดชั้นเรียนแบบธรรมดานี้ โต๊ะเรียนของนักเรียน อาจเป็นโต๊ะเดี่ยวหรือโต๊ะคู่ก็ได้ ผนังห้องเรียนอาจจะมีกระดานป้ายนิเทศ หรือสื่อการสอน เช่น แผนภูมิ รูปภาพ   แผนที่ติดไว้ ซึ่งสื่อการสอนเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนบ่อยนัก การตกแต่งผนังห้องเรียนจะแตกต่างกันออกไปตามแต่สถานที่ตั้งของโรงเรียน โรงเรียนที่อยู่ในตัวเมืองอาจจะมีการตกแต่ง มากกว่าโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลออกไปตมชนบท เพราะหาสื่อการสอนได้ยากกว่า บางห้องเรียนอาจจะมีมุมความสนใจ แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน
          1.2 บทบาทของครูและนักเรียน    บทบาทของครูและนักเรียนในชั้นเรียนแบบธรรมดานี้ ครูจะเป็นผู้รอบรู้ในด้านต่างๆ ใช้วิธีการสอนแบบป้อนความรู้ให้แก่นักเรียนโดยการบรรยาย   และอธิบายให้นักเรียนฝังอยู่ตลอดเวลา ครูจะเป็นผู้แสดงกิจกรรมต่างๆ เอง แม้กระทั่งการทดลองอย่างง่ายๆ ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ยิบจับ หรือแตะต้องสื่อการสอนที่ครูนำมาแสดง นักเรียนจึงต้องฟังครู มีมีโอกาสได้พูด หรือทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อค้นหาคำตอบใดๆ สื่อการสอนที่ใช้ส่วนมาก ได้แก่ ชอล์ก กระดานดำ และแบบเรียน
การจัดชั้น เรียนแบบนี้ไม่เอื้อต่อการสอนตามหลักสูตรใหม่ นักการศึกษาจึงไม่แนะนำให้ใช้มากนัก อาจใช้ได้เป็นบางครั้งเท่านั้นถ้าจำเป็นต่อวิธีการสอนวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่ไม่ควรยึดถือเป็นแบบอย่างตลอดไป
 
2. ชั้นเรียนแบบนวัตกรรม
          ชั้นเรียนแบบนวัตกรรม เป็นชั้นเรียนที่เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิควิธี สอนใหม่ๆ เช่น การเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบโฟร์แมท แบบสตอรี่ไลน์ แบบโครงงาน เป็นต้น ซึ่งนักเรียนจะมีอิสระในการเรียน อาจเรียนเป็นกลุ่ม หรือเป็นรายบุคคล โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา การจัดชั้นเรียนจึงมีรูปแบบการจัดโต๊ะเก้าอี้ในลักษณะต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเรียงแถวหันหน้าเข้าหาครู เช่น จัดเป็นรูปตัวที ตัวยู วงกลม หรือจักเป็นกลุ่ม
          2.1 ลักษณะการจัดชั้นเรียน การจัดชั้นเรียนแบบนวัตกรรมนี้   โต๊ะครูไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าชั้น อาจเคลื่อนย้ายไปตามมุมต่างๆ การจัดโต๊ะนักเรียนจะเปลี่ยนรูปแบบไปตามลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ของครู ส่วนใหญ่นิยมจัดโต๊ะเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน มีการจัดศูนย์สนใจ มีสื่อการสอนในรูปของชุดการสอน หรือเครื่องช่วยสอนต่างๆ ไว้ให้นักเรียนศึกษาด้วยตนเอง หรือศึกษาร่วมกับเพื่อน มีการตกแต่งผนังห้องและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับเรื่องที่นัก เรียนกำลังเรียน
          2.2 บทบาทของครูและนักเรียน   การจัดชั้นเรียนแบบนี้ครูจะเป็นผู้กำกับและแนะแนวนักเรียนเป็นผู้แสดงบทบาท ครูจะพูดน้อยลง ให้นักเรียนได้คิด ได้ถาม ได้แก้ปัญหา และได้ทำกิจกรรมด้วยตนเอง นักเรียนอาจจะเรียนด้วยตนเองจากสื่อประสม เช่น บทเรียนแบบโปรแกรม ชุดการสอน คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครูจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ดังนั้น การจัดชั้นเรียนแบบนี้จึงเป็นการจัดชั้นเรียนที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ หลักสูตรที่ต้องการให้ผู้เรียนได้คิดค้นคว้า วิเคราะห์วิจารณ์ และลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน จนสามารถเรียนรู้ได้ตนเอง
          กล่าวโดยสรุป ในการจัดชั้นเรียน ผู้สอนสามารถจัดได้ 2 แบบ ทั้งแบบธรรมดาและแบบนวัตกรรม แต่เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตร การจัดชั้นเรียนแบบนวัตกรรมจะเป็นแบบที่เหมาะสม เพราะสะดวกแก่การที่ผู้เรียนจะค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง สะดวกแก่การทำงานกลุ่มกับเพื่อน สะดวกแก่การทดลองหรือทำกิจกรรมต่างๆ ผู้สอนจึงควรจัดชั้นเรียนแบบนวัตกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียน การสอน
 
การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข
          ด้วยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับปัจจุบัน มุ่งหวังให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขครูจึงเป็นบุคคลที่สำคัญอย่าง ยิ่งที่จะต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข
ความหมายของการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข
          บรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข คือ การจัดสภาพการเรียนการสอนให้มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย นักเรียนรู้สึกเป็นอิสระ ได้เรียนรู้โดยวิธีการต่างๆ อย่างหลากหลาย ครูยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาตน เองอย่างเต็มศักยภาพ
ความสำคัญของการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุข
          การสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนทั้งปัจจุบันและอนาคต ดังนี้
          1. ทำให้ผู้เรียนมีสุขภาพจิตดี มีความสุข สดชื่น เบิกบาน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพที่ดีในอนาคต
          2. ทำให้ผู้เรียนเกิดกำลังใจ ใฝ่เรียนรู้ ไม่ท้อแท้ หรือท้อถอย เป็นการส่งเสริมนิสัย ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และรักการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตลอดชีวิต
          3. ทำให้ผู้เรียนมีจิตใจที่ดีงาม เพราะเด็กที่เจริญเติบโตขึ้นในบรรยากาศแห่งความรักก็จะรู้จักรักผู้อื่น เผื่อแผ่ความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีกว้างอออกไป และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
          4. ทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของตนเอง และมีกำลังใจที่จะทำสิ่งที่ดีงามตลอดไป
          5. ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพราะการเรียนรู้ที่มีความสุขเป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ กับเพื่อน เป็นการฝึกการยอมรับ การเข้าใจ เห็นใจผู้อื่น ไม่มุ่งมั่นเอาชนะ มีเหตุผล ฝึกความอดทน อดกลั้น รู้จักผ่อนปรน รู้จักให้อภัย เป็นต้น
 
ประเภทของการเรียนรู้อย่างมีความสุข
          ท่านพระธรรมปิฎก ได้จัดแบบของการเรียนรู้อย่างมีความสุขไว้ 2 แบบคือ
          1. ความสุขที่อาศัยปัจจัยภายนอก    เป็นความสุขที่เกิดจากสภาพแวดล้อม คือมีกัลยาณมิตร เช่นครู อาจารย์ เป็นผู้สร้างบรรยากาศแห่งความรัก ความเมตตา และช่วยให้สนุก ซึ่งต้องระวังเพราะถ้าควบคุมไม่ดี ความสุขแบบนี้จะทำให้นักเรียนอ่อนแอลง ยิ่งถ้ากลายเป็นการเอาใจ หรือตามใจ จะยิ่งอ่อนแอลงไปทำให้เกิดลักษณะพึ่งพา
          2. ความสุขที่เกิดจากปัจจัยภายใน    เป็นความสุขที่เกิดจากภายในตัวผู้เรียนเอง ซึ่งเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น กล่าวคือ ผู้เรียนเกิดนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่สร้างสรรค์ และมีความสุขจากการสนองความใฝ่รู้ ความสุขแบบนี้ทำให้คนเข้มแข็ง เขาจะมีความสุขเมื่อได้เรียนรู้ เมื่อยิ่งทำก็ยิ่งมีความสุข และยิ่งมีความเข้มแข็ง
         ดังนั้น การสร้างบรรยากาศให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขจึงควรมุ่งสร้างความสุข จากปัจจัยภายใน โดยมีปัจจัยภายนอกเป็นองค์ประกอบนำทาง ก็จะช่วยพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้รักการเรียนรู้อย่างแท้จริง
 
แนวคิดของการสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้ที่มีความสุข
          ด้วยการสร้างความสุขที่อาศัยปัจจัยภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวอาจทำให้เกิดโทษ ได้เช่น ทำให้นักเรียนเรียกร้องเอาแต่ใจตัวเอง เกิดนิสัยชอบพึ่งพาผู้อื่น และมีความสุขแบบพึ่งพาดังนั้น ครูผู้นำทางแห่งการเรียนรู้ จึงต้องเข้าใจหลักการและมีแนวปฏิบัติได้ถูกต้อง
          1. การสร้างบรรยากาศแห่งความรักให้เด็กมีความสุขนั้นไม่ใช่จุดหมาย แต่เป็นการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการก้าวสู่เป้าหมาย คือ หนุนการเรียนรู้และการทำอะไรที่เป็นการสร้างสรรค์
          2. ให้เด็กอยู่ในบรรยากาศแห่งความรัก หรือได้รับความรักในลักษณะที่ไม่รวมศูนย์เข้าหาตัว แต่ให้ขยายความรักออกไปรักครู รักเพื่อน และอยากช่วยเหลือผู้อื่น
          3. ครูควรสร้างนิสัยช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น และการร่วมกันคิดร่วมกันทำให้มากกว่าการพึ่งพาผู้อื่น เป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อันเป็นลักษณะของสังคมที่พึงปรารถนา
          4. ครูควรใช้ปัจจัยภายนอกช่วยทำให้สถานการณ์นั้นเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาปัจจัยภายใน คือ ความใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ในตัวเด็ก
          5. สถานการณ์การเรียนที่สนุก ต้องไม่ทำให้เด็กติดในความสนุก หรือเห็นแก่ความสนุก ต้องดำเนินไปในลักษณะที่ความสนุกนั้นเป็นปัจจัยนำไปสู่การใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ในเชิงสร้างสรรค์ ตลอดชีวิต
          จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่าการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุขนั้นครูผู้นำทางการ เรียนรู้ จำเป็นต้องมีเป้าหมายของการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ถูกต้องกล่าวคือ เพื่อมุ่งสร้างนิสัยของการใฝ่รู้ รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต  มิใช่เพื่อมุ่งให้นักเรียนเกิดความสุขสนุกในการเรียนเพียงอย่างเดียว ควรมุ่งสร้างคุณลักษณะ ของการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การพึ่งตนเองให้มากกว่าพึ่งผู้อื่น และการเป็นคนมีความคิดใฝ่สร้างสรรค์ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไปในอนาคต
 
องค์ประกอบของการเรียนรู้ที่มีความสุข
          เพื่อให้นักเรียนเกิดการพัฒนารอบด้าน และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ การสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ที่มีความสุขจึงเป็นสิ่งจำเป็น ครูจึงควรได้ทราบถึงองค์ประกอบที่ช่วยให้การเรียนดำเนินไปอย่างมีความสุข ซึ่งมี 6 ประการ
          1. เด็กแต่ละคนได้รับการยอมรับว่าเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจและสมอง เด็กควรได้มีโอกาสเลือกเรียนตามถนัดและความสนใจ มีโอกาสเลือกอนาคตของตนเอง และมีสิทธิ์ได้รับปฏิบัติจากผู้ใหญ่อย่างมนุษย์คนหนึ่ง
          2. ครูมีความเมตตา จริงใจ และอ่อนโยนต่อเด็กทุกคนโดยทั่วถึง มีความเข้าใจในทฤษฎีแห่งพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กทุกคนครูควรให้ความเอาใจ ใส่ ต่อเด็กทุกคนเท่าเทียมกันมีการเตรียมตัวเพื่อการสอนให้มีคุณภาพ มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็กให้รู้จักตนเอง รู้จักแก้ปัญหาและเรียนรู้วิธีการนำตังเองไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างมี สติ และเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม
          3. เด็กเกิดความรักและภูมิใจในตัวเอง รู้จักปรับตัวได้ทุกที่ทุกเวลา รู้จักตัวเอง เห็นคุณค่าของชีวิต และความเป็นมนุษย์ของตน ยอมรับทั้งจุดดีและจุดด้อยของตน รู้จักเกรงใจและให้เกียรติผู้อื่น มีเหตุผลละใจกว้าง พร้อมที่จะดำเนินชีวิตในบทบาทของผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ
          4. เด็กแต่ละคนได้มีโอกาสเลือกเรียนตามความถนัดและความสนใจ ได้ค้นพบความสามารถของตน ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ่งและกว้างไกล เรียนให้เข้าใจและทำได้ รู้เคล็ดลับของการทำสิ่งต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ และเรียนจนรู้จักวิธีคิด วิธีปฏิบัติของตนในอาชีพนั้น เสมือนเป็นคนที่อยู่ในอาชีพนั้นจริงๆ ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างสร้างสรรค์เพื่อความสุขของตนเองและ ผู้อื่น
          5. เด็กได้รู้จักคิดและพัฒนาความคิดจากความรู้ที่ได้รับขยายวงไปสู่ความรู้ใหม่ เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง อยากศึกษาให้ลึกซึ้งเพิ่มเติม รักการเรียนมีระบบในการเรียนและเห็นประโยชน์ของการเรียนซึ่งไม่ได้ขีดวง จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียน แต่อาจสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่น
          6. การเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในบทเรียน แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในสภาพความเป็นจริง เกิดประโยชน์และมีความหมายต่อตัวเขา รู้จักสืบเสาะหาคำตอบ ข้อสงสัยต่างๆได้อย่างมีเหตุผล มีความคิดเป็นของตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร รู้วิธีดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า และสามารถให้ความช่วยเหลือและแนะนำผู้อื่นได้เมื่อเขาเติบโตขึ้น ครูจึงต้องเป็นผู้ที่มีความเป็นครูอย่างแท้จริง ทั้งด้านคุณลักษณะนิสัย จิตใจ และด้านความรู้ความสามารถที่จะจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเกิดพัฒนา มีความสมบูรณ์ทั้งด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์ และด้านจิตใจ เพื่อเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป
ข้อควรคำนึงในการจัดการเรียนรู้
          เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสุขในการเรียน ผู้สอนได้จัดการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงข้อต่อไปนี้
          1. บทเรียนเริ่มจากง่ายไปยาก โดยคำนึงถึงวุฒิภาวะและความสามารถในการรับรู้ของเด็กแต่ละวัย มีความต่อเนื่องในเนื้อหาวิชาและขยายวงไปสู่ความรู้แขนงอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อชีวิตและโลกรอบตัว
          2. วิธีการเรียนสนุกไม่น่าเบื่อ และตอบสนองความสนใจใคร่รู้ของนักเรียน การนำเสนอเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ยัดเยียดหรือกดดัน เนื้อหาที่เรียนไม่มากเกินไปจนเด็กหมดความสนใจ
          3. ทุกขั้นตอนของการเรียนรู้มุ่งพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการคิดในแนวต่างๆของ เด็ก รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ จากการประมวลผลข้อมูลและเหตุผลต่างๆ และคิดแก้ปัญหาอย่างมีระบบ
          4. แนวการเรียนรู้ควรสัมพันธ์ และสอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสความงามและความเป็นไปของสรรพสิ่งรอบตัว บทเรียนไม่จำกัดสถานที่ หรือเวลา และทุกคนมีสิทธิ์เรียนรู้เท่าเทียมกัน
          5. มีกิจกรรมหลากหลาย สนุก ชวนให้นักเรียนเกิดความสนใจต่อบทเรียนนั้นๆ เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ใช้ภาษาที่นุ่มนวลให้กำลังใจและเป็นไปในทางสร้างสรรค์
          6. สื่อที่ใช้ประกอบการเรียน เร้าใจให้เกิดการเรียนรู้ บรรลุผลตามเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจน คือ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จนรู้ชัด เรียนจนทำได้ และเรียนเพื่อจะเป็น
          7. การประเมินผล มุ่งเน้นพัฒนาการของนักเรียนในภาพรวมมากกว่าจะพิจารณาจากผลการทดสอบทาง วิชาการ และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ประเมินผลตนเองด้วย
 
          จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ครูเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ครูจึงควรต้องมีบุคลิกภาพที่เหมาะสม และมีความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
          1. ด้านบุคลิกภาพ
             1.1 มีกิริยาวาจาเหมาะสม
             1.2 อารมณ์ดี มีเมตตา
             1.3 ใช้ภาษาแจ่มชัด
             1.4 ขจัดความลำเอียง
             1.5 หลีกเลี่ยงการตำหนิ
             1.6 หมั่นคิดริเริ่มสร้างสรรค์
             1.7 อารมณ์ขันแทรกสร้าง
             1.8 สร้างสัมพันธ์ฉันท์มิตร
             1.9 ติดตามทันโลกเสมอ
             1.10 ค้นให้เจอความสามารถเด็ก
          2. ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
             2.1 เกม เพลง นำมาใช้
             2.2 ให้เล่านิทานสนุก
             2.3 ปลุกใจให้หมั่นคิด
             2.4 ไม่เกาะติดในห้องเรียน
             2.5 ผลัดเปลี่ยนเวียนรายงาน
             2.6 บูรณาการทุกวิชา
             2.7 สรรหาสื่อหลากหลาย
             2.8 เลิกบรรยายให้ปฏิบัติ
             2.9 จัดตามหลัก Child-Centered
 
สรุป
          การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนและส่งเสริมให้ผู้ เรียนสามารถรับผิดชอบควบคุมดุแลตนเอง ได้ในอนาคต การจัดบรรยากาศมีทั้งด้านกายภาพ เป็นการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนทั้งการจัดตกแต่งในห้องเรียน จัดที่นั่ง จัดมุมเสริมความรู้ต่างๆ ให้สะดวกต่อการเรียนการสอน ทางด้านจิตวิทยา เป็นการสร้างความอบอุ่น ความสุขสบายใจให้กับผู้เรียน ผู้สอนควรจัดบรรยากาศทั้ง 2 ด้านนี้ให้เหมาะสม นอกจากนี้การสร้างบรรยากาศการเรียนรุ้ให้เกิดความสุขแก่ผู้เรียนเป็นองค์ ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะสร้างคุณลักษณะนิสัยของการใฝ่เรียนรู้ การมีนิสัยรักการเรียนรู้ การเป็นคนดี และการมีสุขภาพจิตที่ดี สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขทั่งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป ซึ่งบุคคลสำคัญที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุขให้เกิดขึ้นได้ คือ ครูผู้นำทางแห่งการเรียนรู้นั่นเอง
ที่มา  socialscience.igetweb.com

-----------------

1. บทนำ
                    การเรียนการสอนเป็นกระบวนการหนึ่งของระบบการศึกษา อันเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างครู นักเรียน และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในห้องเรียน นอกห้องเรียน (ในความหมายของห้องสี่เหลี่ยมที่เป็นส่วนหนึ่งของอาคารเรียน) หรือไม่ใช้ห้องเรียนก็ได้ กระบวนการเรียนการสอนมีองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ ครู นักเรียน หลักสูตร สื่อ - นวัตกรรม วิธีการสอน แบบทดสอบ สภาพบรรยากาศในห้องเรียน กลุ่มเพื่อน ฯลฯ 
                    เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า เป้าหมายเบื้องบนสุดอันเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ "คุณภาพการเรียนของนักเรียน" ครูจึงเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อการทำให้การดำเนินงานการศึกษาเป็นไปตาม เป้าหมาย แต่ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ครูไม่รู้จักนักเรียน ไม่รู้ว่านักเรียนของตนเป็นใคร มีจุดเด่นจุดด้อยในเรื่องใดบ้าง มีศักยภาพมากน้อยเพียงใด ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ ครูไม่มีการศึกษาปัญหาของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ชัดเจน และเพียงพอในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ครูเหล่านั้นอยู่กับปัญหาการเรียนการสอนตลอดเวลา แต่มีงานวิจัยที่เกิดจากครู หรือเป็นผลงานของครูด้านการวิจัยทางการศึกษามีน้อยมากที่มีการพิมพ์เผย แพร่ออกมา ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องจากความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยทางการศึกษาของครูมีน้อย ดังนั้น บทความนี้จึงมีเป้าหมายที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ครูในด้านรูปแบบ และวิธีการวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research) เพื่อที่ครูจะได้ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน และหาวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น หรือค้นหา พัฒนาวิธีการเพื่อนำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

2. ความหมายของการวิจัย

                    การวิจัย (Research) เป็นคำที่มีความหมายได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการวิจัย นักวิจัยส่วนใหญ่มักให้ความหมายของการวิจัยไม่ตรงกันแต่มีความสอดคล้องกันใน วิธีการหรือกระบวนการขั้นตอนของการวิจัย ดังตัวอย่างเช่น
                    ตามพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ ฉบับปัจจุบันได้นิยามความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัยหมายถึง การศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบและแผนการเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ทางด้านสังคม ศาสตร์และมนุษยศาสตร์
                    พจน์ สะเพียรชัย ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัย คือ การแก้ปัญหาที่มีระบบแบบแผนเชื่อถือได้
                    เครือวัลย์ ลิ้มปิยะศรีสกุล ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัย หมายถึง กระบวนการแสวงหาความจริงหรือพิสูจน์ความจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ที่ถูก ต้องและเชื่อถือได้ โดยกระบวนการที่ใช้เพื่อการแสวงหาความจริงมีลักษณะสำคัญดังนี้
                    1. ต้องเป็นการแสวงหาหรือพิสูจน์ความจริงที่เป็นข้อเท็จจริง
                    2. ต้องเป็นการกระทำที่มีความมุ่งหมายอย่างแน่นอน ดังนั้น การค้นพบความจริงโดยบังเอิญจึงไม่เป็นการวิจัย
                    3. ต้องดำเนินไปอย่างมีระเบียบแบบแผนที่แน่นอนตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์
                    นงลักษณ์ วิรัชชัย ได้ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัยคือกระบวนการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ธรรมชาติตาม สมมุติฐานที่นิรนัยจากทฤษฎีโดยใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่มีระบบ มีการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ มีการควบคุม และมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันเพื่อนำไปสู่คำตอบของปัญหา วิจัย และผลการวิจัยที่ได้เป็นความรู้ใหม่หรือเป็นผลของการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และสังคมต่อไป
                    Karl F. Schuessler ได้ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัย คือ กระบวนการในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ความจริง (Reliable Knowledge) เพื่อที่จะนำความรู้ความจริงที่ได้มาช่วยในการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจอย่างมี ประสิทธิภาพ

3. ขั้นตอนของการวิจัย
                    การวิจัยเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรม และการกระทำของมนุษย์ที่เรียกว่า การวิจัยทางด้านพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งวิธีการที่นำมาใช้ในการศึกษาจะมีรูปแบบไม่แตกต่างจากระเบียบวิธีการทาง วิทยาศาสตร์ แต่อาจมีเทคนิคที่แตกต่างกันบ้างในรายละเอียดของขั้นตอน วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้เพื่อการแสวงหาความรู้ความจริงของมนุษย์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ขั้นตอน คือ
                    1. ขั้นการกำหนดปัญหา (Problem) เป็นข้อสงสัย ความสนใจใคร่รู้ของผู้วิจัยในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหรือพบเห็น ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น การกำหนดปัญหา หรือหัวข้อปัญหาวิจัยเป็นคนละอย่างกับสภาพของปัญหา กล่าวคือ หัวข้อปัญหาเป็นข้อสรุป หรือความคิดรวบยอดของสภาพปัญหาซึ่งมีลักษณะเป็นข้อความสั้น ๆ ในขณะที่สภาพปัญหามีลักษณะเป็นข้อความบรรยาย หรือพรรณาที่มีความยาวเพื่อแสดงให้เห็นถึงสภาพของปัญหาที่ต้องการศึกษา ดังนั้น สภาพปัญหาจึงต้องมาก่อน มีก่อน หรือเกิดขึ้นก่อนปัญหาวิจัย การกำหนดปัญหา หรือการตั้งชื่อปัญหาวิจัยเป็นขั้นตอนนี้มีความสำคัญต่อการศึกษา หรือการวิจัยเป็นอย่างมาก และเป็นขั้นตอนที่มีความยุ่งยากเป็นอย่างมากเนื่องจากผู้วิจัยมักมีความ สงสัยว่าจะเขียนหัวข้อปัญหา หรือกำหนดปัญหาอย่างไรจึงมีความเหมาะสมที่นำไปศึกษา
                    2. ขั้นการตั้งสมมติฐาน (Hypothesis) เป็นขั้นตอนที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาถึงสภาพการเกิดของปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงทำการคาดคะเนคำตอบของปัญหาวิจัยที่ต้องการศึกษาล่วงหน้า โดยการใช้ความรู้ที่ได้ศึกษาค้นคว้า และสติปัญญาอย่างรอบคอบมาเป็นแนวทางในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นแนวทางในการทดลอง หรือศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยตรง อาจเป็นข้อสรุปที่ไม่คงที่แต่อาจมีความจริง และสถานการณ์บางอย่างที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์นั้นอยู่ สมมติฐานที่ตั้งต้องมีความสอดคล้องกับชื่อปัญหาวิจัยและสภาพปัญหาที่ต้องการ ศึกษา
                    3. ขั้นทดลองและเก็บข้อมูล (Experimentation and Data Collection) เป็นขั้นตอนที่ผู้วิจัยทำการศึกษาสิ่งที่เกี่ยวกับหัวข้อปัญหาที่กำหนดไว้ โดยวิธีการทดลอง และทำการจัดเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการทดลองแต่ละครั้งไว้ ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ต้องมีความสัมพันธ์กับหัวข้อปัญหาและสภาพปัญหาที่ผู้ วิจัยกำลังศึกษา ข้อมูลมีความสำคัญต่อผลการวิจัยเป็นอย่างมาก ถ้าข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ไม่ถูกต้อง มีความคาดเคลื่อน ย่อมส่งผลต่อการสรุปผลเพื่อตอบปัญหาวิจัยที่กำหนดไว้
                    4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) เป็นการนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากขั้นตอนที่ 3 มาทำการจัดกลุ่ม หมวดหมู่ ด้วยวิธีการทางสถิติถ้าเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่ประกอบด้วยตัวเลขต่าง ๆ หรืออาจใช้วิธีการอื่น ๆ ในการจัดกระทำข้อมูลเหล่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลไปตอบคำถามวิจัยที่ ผู้วิจัยตั้งขึ้น ข้อพึงระวังในขั้นตอนนี้ คือ ถ้ามีการใช้สถิติในการวิเคราะห์ หรือจัดกระทำข้อมูล ผู้วิจัยจะต้องตระหนักถึงข้อตกลงเบื้องต้นของสถิติต่าง ๆ ที่นำมาวิเคราะห์ข้อมูล ความถูกต้อง ความชัดเจน และความสอดคล้องกับข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้กับตัวแปรที่นำมาศึกษา ซึ่งนักวิจัยมักละเลยหรือไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์เหล่านี้
                    5. ขั้นการสรุปผล (Conclusion) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวิจัย ขั้นตอนนี้ผู้วิจัยต้องนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นที่ 4 มาลงสรุปผล ดังนั้น ผลสรุปจะมีความถูกต้องชัดเจนเพียงใดขึ้นอยู่กับผลการวิเคราะห์ข้อมูลเป็น สำคัญ ขั้นตอนนี้จึงเหมือนกับเป็นการตอบคำถามวิจัยที่ถูกตั้งไว้จากขั้นตอนที่ 1 
                    จะเห็นว่าขั้นตอนทั้ง 5 ขั้นตอนนี้มีความสัมพันธ์กันเกี่ยวข้องกันทั้งหมด แต่ละขั้นตอนมีความสำคัญไม่มากน้อยกว่ากัน ดังนั้น ผู้วิจัยจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ของทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน เพราะความถูกต้อง ชัดเจน และความน่าเชื่อถือของงานวิจัยขึ้นอยู่กับขั้นตอนต่าง ๆ ของการวิจัยตามที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น
4. การวิจัยในชั้นเรียน คืออะไร ?

                    การวิจัยในชั้นเรียน เป็นรูปแบบหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ซึ่งเป็นการวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเป็นครั้ง ๆ ไป หรือเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผลการวิจัยที่ค้นพบนี้ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงกับกลุ่มอื่น ๆ ได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวงจำกัด หรือเป็นปัญหาเฉพาะที่ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนบางอย่างที่ครูต้องการคำตอบมาอธิบายเฉพาะที่ เกิดขึ้นในห้องที่ตนรับผิดชอบอยู่ เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับปัญหาของห้องเรียนอื่น ๆ การศึกษาปัญหาลักษณะนี้ เราเรียกว่า การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research) ซึ่งเป็นรูปแบบของการวิจัยที่ครูกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษา และการวิจัยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของห้องเรียน จึงอาจกล่าวได้ว่า การวิจัยในชั้นเรียนเป็นวิธีการวิจัยที่ออกแบบ และพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ครูสามารถค้นพบว่ามีอะไรเกิดขึ้นในห้องเรียนบ้าง และยังช่วยให้ครูทราบข้อมูลที่จะนำไปใช้เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่จะมี ขึ้นต่อไปในอนาคต โดยเลือกใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงบรรยาย หรือการวิจัยเชิงทดลอง อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นวิธีการศึกษา

อ่านทั้งหมด คลิก

https://www.moe.go.th/webtcs/Table4/ratana/ratana02/ratana02.htm

อัพเดทล่าสุด