(แบบอย่าง) การจัดชั้นเรียนอย่างไรเพื่อให้ส่งเสริมบรรยากาศในห้องเรียน


17,210 ผู้ชม


(แบบอย่าง) การจัดชั้นเรียนอย่างไรเพื่อให้ส่งเสริมบรรยากาศในห้องเรียน

   
การจัดบรรยากาศชั้นเรียน1
   
     
บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสนใจใคร่รู้ใคร่เรียนให้แก่ผู้เรียน   ชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน ย่อมเป็นแรงจูงใจภายนอกที่กระตุ้นให้ผู้เรียนรักการเรียน รักการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียน และช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติอันดีงามให้แก่นักเรียน นอกจากนี้การมีห้องเรียนที่มีบรรยากาศแจ่มใส สะอาด สว่าง กว้างขวางพอเหมาะ มีโต๊ะเก้าอี้ที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีมุมวิชาการส่งเสริมความรู้ มีการตกแต่งห้องให้สดใส ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลทำให้ผู้เรียนพอใจมาโรงเรียน เข้าห้องเรียนและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้น ผู้เป็นครูจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ ประเภทของบรรยากาศ หลักการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนและการจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีลักษณะตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้
 
       ความหมายของการจัดบรรยากาศในชั้นเรียน
 
                การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน   หมายถึง   การจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน เพื่อช่วยส่งเสริมให้กระบวนการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างความสนใจใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ตลอดจนช่วยสร้างเสริมความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน
 
      ความสำคัญของการจัดบรรยากาศในชั้นเรียน
 
                จากการสำรวจเอกสารงานวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2531: ค) ได้ค้นพบว่าบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความสนใจในบทเรียนและเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ที่ครูให้ความเอื้ออาทรต่อนักเรียน ที่นักเรียนกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรต่อกันที่มีระเบียบ มีความสะอาด เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่นักเรียนต้องการ ทำให้นักเรียนมีความสุขที่ได้มาโรงเรียนและในการเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ถ้าครูผู้สอนสามารถสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้นต่อนักเรียนได้ ก็นับว่าครูได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาเยาวชนของประเทศชาติให้เติบโตขึ้นอย่างสมบรูณ์ทั้งทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคม โดยแท้จริง ดังนั้น การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งประมวลได้ดังนี้
1.       ช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น ห้องเรียนที่ไม่คับแคบจรเกินไป ทำให้นักเรียนเกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรม
2.       ช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามและความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน เช่น ห้องเรียนที่สะอาด ที่จัดโต๊ะเก้าอี้ไว้อย่างเป็นระเบียบ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน นักเรียนจะซึมซับสิ่งเหล่านี้ไว้โดยไม่รู้ตัว
3.        ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้เรียน เช่น มีแสงสว่างที่เหมาะสม มีที่นั่งไม่ใกล้กระดานดำมากเกินไป มีขนาดโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสมกับวัย รูปร่างของนักเรียนนักศึกษา ฯลฯ
4.       ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความสนใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดมุมวิชาการต่าง ๆ การจัดป้ายนิเทศ การตกแต่งห้องเรียนด้วยผลงานของนักเรียน
5.       ช่วยส่งเสริมการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เช่น การฝึกให้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การฝึกให้มีอัธยาศัยไมตรีในการอยู่ร่วมกัน ฯลฯ
6.       ช่วยสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนและการมาโรงเรียน เพราะในชั้นเรียนมีครูที่เข้าใจนักเรียน ให้ความเมตตาเอื้ออารีต่อนักเรียน และนักเรียนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
กล่าวโดยสรุปได้ว่า การจัดบรรยากาศในชั้นเรียนจะช่วยส่งเสริมและสร้างเสริมผู้เรียนใน
ด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคมได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนเรียนด้วยความสุข รักการเรียน และเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ในที่สุด
 
บรรยากาศที่พึงปรารถนาในชั้นเรียน
 
                ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนต่างปรารถนาให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น และผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ความปรารถนานี้เป็นจริง พรรณี ชูทัย (2522 : 261 – 263)
กล่าวถึงบรรยากาศในชั้นเรียนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสอน จัดแบ่งได้ 6 ลักษณะ สรุปได้ดังนี้
1.       บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge)   เป็นบรรยากาศที่ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน นักเรียนจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและพยายามทำงานให้สำเร็จ
2.       บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) เป็นบรรยากาศที่นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล บรรยากาศเช่นนี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด
3.       บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ อันส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง
4.       บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูมีความเข้าใจนักเรียน เป็นมิตร ยอมรับให้ความช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนเกิดความอบอุ่น สบายใจ รักครู รักโรงเรียน และรักการมาเรียน  
5.       บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต
6.       บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้สอนจึงควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่าการพูดถึงความล้มเหลว  เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่สิ่งที่ล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่ความล้มเหลวจะมีผลทำให้ความคาดหวังต่ำ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น
               บรรยากาศทั้ง 6 ลักษณะนี้ มีผลต่อความสำเร็จของผู้สอนและความสำเร็จของผู้เรียนผู้สอนควรสร้างให้เกิดในชั้นเรียน
 
ประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียน
 
                     บรรยากาศทางกายภาพ (Physical Atmosphere)
            บรรยากาศทางกายภาพหรือบรรยากาศทางด้านวัตถุ หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ
ภายในห้องเรียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าดู มีความสะอาด มีเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้การเรียนของนักเรียนสะดวกขึ้น เช่น ห้องเรียนมีขนาดเหมาะสม แสงเข้าถูกทาง และมีแสงสว่างเพียงพอ กระดานดำมีขนาดเหมาะสม โต๊ะเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับวัยนักเรียน เป็นต้น
              
                บรรยากาศทางจิตวิทยา (Psychological Atmosphere)
                บรรยากาศทางจิตวิทยา หมายถึง บรรยากาศทางด้านจิตใจที่นักเรียนรู้สึกสบายใจ มีความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และมีความรักความศรัทธาต่อผู้สอน ตลอดจนมีอิสระในความกล้าแสดงออกอย่างมีระเบียบวินัยในชั้นเรียน การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาหรือทางด้านจิตใจ จะช่วยสร้างความรู้สึกให้นักเรียนเกิดความสบายใจในการเรียน ปราศจากความกลัวและวิตกกังวล มีบรรยากาศของการสร้างสรรค์เร้าความสนใจ ให้นักเรียนร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยความสุข นักเรียนจะเกิดความรู้เช่นนี้ ขึ้นอยู่กับ “ ครู” เป็นสำคัญ ได้แก่  บุคลิกภาพ  พฤติกรรมการสอน  เทคนิคการปกครองชั้นเรียน ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน
 
ที่มา :  https://socialscience.igetweb.com/

-----------

ทฤษฎีการเรียนรู้ (learning theory) การเรียนรู้คือกระบวนการที่ทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด คนสามารถเรียนได้จากการได้ยินการสัมผัส การอ่าน การใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้ของเด็กและผู้ใหญ่จะต่างกัน เด็กจะเรียนรู้ด้วยการเรียนในห้อง การซักถาม ผู้ใหญ่มักเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ที่มีอยู่ แต่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผู้สอนนำเสนอ โดยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ผู้สอนจะเป็นผู้ที่สร้างบรรยากาศทางจิตวิทยาที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ที่จะให้เกิดขึ้นเป็นรูปแบบใดก็ได้เช่น ความเป็นกันเอง ความเข้มงวดกวดขัน หรือความไม่มีระเบียบวินัย สิ่งเหล่านี้ผู้สอนจะเป็นผู้สร้างเงื่อนไข และสถานการณ์เรียนรู้ให้กับผู้เรียน ดังนั้น ผู้สอนจะต้องพิจารณาเลือกรูปแบบการสอน รวมทั้งการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน

-------------

การจัดชั้นเรียนอย่างไรเพื่อให้ส่งเสริมบรรยากาศในห้องเรียน

การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน
พรรัก อินทามระ (2548) ได้กล่าวว่า การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนให้กับเด็กปฐมวัย ควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้


1. การจัดวางวัสดุควร จัดวัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัยและพัฒนาการ เพื่อให้เด็กสามารถใช้หรือทำกิจกรรมได้สะดวกด้วยตนเอง โดย วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น และครุภัณฑ์ ที่จัดให้สำหรับเด็กปฐมวัยมีหลากหลาย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง กระดานขายของ บอร์ดติดผลงาน ตู้เก็บของ ที่แขวนถ้วย ที่แขวนผ้าเช็ดหน้า ที่เก็บเครื่องนอน ห้องน้ำ ห้องส้วม ที่ล้างมือ ประตู หน้าต่าง สื่อ เครื่องเล่น เป็นต้น


2. วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์ ควรให้มีขนาดเหมาะสมกับเด็กปฐมวัย


3. การจัดพื้นที่ในห้องเรียนควรจัดให้เหมาะสม เลือกที่ตั้งครุภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ และมุมประสบการณ์ โดยคำนึงถึง
- ทิศทางลมเหมาะสม และแสงสว่างเพียงพอต่อการทำกิจกรรม
- มีแสงแดดส่องเหมาะสม ไม่รบกวนสายตาเด็กขณะปฏิบัติกิจกรรม
- สร้างบรรยากาศให้ร่มรื่น
- ทุกจุดของห้องควรให้มองเห็นได้โดยรอบ
- จัดวาง/ตั้ง ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ ที่สะดวกต่อการปฏิบัติกิจกรรม


4. สภาพแวดล้อม
ในห้องควรมีความปลอดภัย โดย
- พื้นห้องควรโล่ง กว้าง มีบริเวณนุ่ม มีบริเวณที่ตั้งอุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น
- ตรวจความเรียบร้อยของวัสดุ อุปกรณ์ สื่อและเครื่องเล่นหากชำรุดต้องรีบซ่อมแซมโดยเร็ว
- กำหนดขอบเขตของมุมประสบการณ์ให้เด็กรู้
- หน้าต่าง ครุภัณฑ์ต่างๆ ไม่ควรทำด้วยกระจก
- ดูแลบริเวณทั่วไปให้ปลอดภัยจากสัตว์ แมลง พืช และสารเคมีที่มีพิษ
- ครุภัณฑ์ โต๊ะ เก้าอี้ ไม่ควรเป็นมุมแหลมที่เป็นอันตราย
การจัดแสดงผลงานและการเก็บของ ควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
- จัดให้มีที่แสดงผลงานเสนอภาพเขียน หรืองานหัตถกรรมเด็กๆ
- จัดที่แสดงให้น่าสนใจและสดชื่น
- ให้เด็กเห็นของแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เด็กไม่เคยเห็น
- ส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักเลือกสรรว่าจะทำอะไร จัดแสดงอะไร ฯลฯ
- กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น
- สอนให้รู้จักจัดของเป็นกลุ่ม และเลือกของออกมาใช้ตามความต้องการ
- สร้างนิสัยในการเก็บของให้เป็นที่เป็นทาง
การจัดมุมเสริมทักษะ และการพัฒนาเด็ก (มุมประสบการณ์)


มุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็กหรือมุมประสบการณ์ เป็นสถานที่จัดไว้ในห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้เล่นสื่อและเครื่องเล่นประเภทต่างๆ โดยมุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็ก (มุมประสบการณ์) จะมีสื่อและเครื่องเล่นจัดไว้ให้เด็กได้เล่น ซึ่งแต่ละมุมประสบการณ์จะมีลักษณะแตกต่างกัน ภายในห้องเรียนควรจัดมุมประสบการณ์ให้เด็กเล่นอย่างน้อย 5 มุมประสบการณ์ ทั้งนี้ ควรจัดมุมสงบกับมุมที่ส่งเสียงดัง ไว้ห่างกัน มุมที่เด็กต้องใช้สมาธิในการเล่นหรือทำกิจกรรมควรอยู่ใกล้กัน มุมที่เล่นแล้วทำให้เกิดเสียงดังก็ควรอยู่ใกล้กัน เช่น มุมหนังสือกับ มุมเกมการศึกษาอยู่ใกล้กันได้ มุมศิลปะกับมุมบล็อกอยู่ใกล้กัน เป็นต้น
มุมที่จัดให้เด็กได้เล่นมีดังต่อไปนี้


1. มุมบ้าน มุมร้านค้า มุมวัด มุมหมอ มุมเกษตรกร ฯลฯ
จัดเพื่อให้เด็กได้เล่นในสิ่งที่ตนชอบ เรียนรู้บทบาทหน้าที่ของบุคคลต่างๆ ในครอบครัว สังคม สิ่งที่จะได้ควบคู่กันมา คือ การใช้ภาษา การปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน การพัฒนาทางอารมณ์ สังคม และสติปัญญา
สื่ออุปกรณ์ที่จัดในมุมนี้ ได้แก่ เครื่องครัว เครื่องใช้ในบ้าน เช่น เสื่อ หมอน กระจก ตุ๊กตา เสื้อผ้าตุ๊กตา เครื่องแบบของคนอาชีพต่างๆ เช่น หมอ ตำรวจ ทหาร เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น กระบุง ตะกร้า ไม้คาน เครื่องมือจับปลา รองเท้า และเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว สำหรับเด็กแสดงบทบาทสมมติ อุปกรณ์เหล่านี้ควรทำชั้นวางหรือจัดวางไว้ในลังไม้ ลังกระดาษ แยกเป็นหมวดหมู่ ไม่ควรใช้ของที่ทำด้วยแก้ว กระเบื้องหรือพลาสติกที่ใช้เป็นอันตรายกับเด็ก


2. มุมหนังสือ
แม้จะไม่มีการสอนอ่านเขียน สำหรับเด็กระดับปฐมวัยแต่การหาภาพสวยๆ นิทานภาพมาจัดวางไว้ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้แก่เด็กได้มาจับต้องเปิดดู เป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งประกอบสำหรับมุมนี้คือ เสื่อ หมอน รูปทรงต่างๆ จะช่วยจูงใจให้เด็กอยากนั่งนอนอ่านในท่วงท่าสบายๆ ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน ทั้งที่อ่านไม่ได้แต่ก็จะสนุกสนานเพลิดเพลินกับรูปสวยๆ เหล่านั้น


3. มุมธรรมชาติศึกษาหรือมุมวิทยาศาสตร์
เป็นมุมที่เด็กจะศึกษาหาความรู้ด้วยการสังเกตทดลองด้วยตนเอง จึงต้องจัดหาอุปกรณ์ เช่น เครื่องชั่ง ตัวอย่างพืช เปลือกหอย สำลี กระดาษ หินชนิดต่างๆ ฯลฯ นำมาจัดวางไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้เด็กค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง


4. มุมบล็อก บล็อก หมายถึง แท่งไม้หรือวัสดุทดแทนอย่างอื่น เช่น กล่องชนิดต่างๆ บล็อกแต่ละชุดอาจมีแบบและจำนวนแตกต่างกัน บางชุดมีขนาดเล็ก มีจำนวนเพียง 20 ชิ้นบางชุดก็มีขนาดใหญ่ จำนวนอาจมากถึงกว่า ร้อยชิ้น บล็อกเหล่านี้อาจทำขึ้นเองได้จากเศษไม้นำมาตกแต่งให้เป็นรูปทรง ข้อควรระวังคือต้องขัดให้เรียบร้อย ไม่มีเสี้ยนแยกเก็บใส่กล่องหรือลังไว้ ถ้าไม่ต้องการเกิดเสียงรบกวนเวลาเล่นก็หาเสื่อปูรองรับมุมนี้ไว้ พอที่เด็กจะนั่งเล่นได้คราวละ 3-4 คน และควรให้ห่างจากมุมหนังสือที่ต้องการความสงบเงียบ


5. มุมเกมการศึกษา พลาสติกสร้างสรรค์ เครื่องเล่นสัมผัส ในมุมนี้เป็นมุมที่ฝึกเด็กในเรื่องการรับรู้ทางสายตา การคิดหาเหตุผล และการทำงานสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ ประกอบไปด้วยเกมการศึกษา พลาสติกสร้างสรรค์ กล่องหยอดบล็อก ลูกปัด สำหรับร้อยอาจมีแบบร้อยไว้ให้เด็กด้วย


6. มุมเครื่องเล่นสัมผัส มุมนี้เป็นมุมที่ฝึกเด็กในเรื่องการรับรู้ทางสายตา การสังเกต การเปรียบเทียบ การจัดหมวดหมู่ ภาษา การคิดหาเหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ ประกอบไปด้วยสื่อ เครื่องเล่นต่างๆ เช่น พลาสติกสร้างสรรค์ กล่องหยอดบล็อก ลูกปัดสำหรับร้อย ฯลฯ


7. กระบะทราย กระบะทรายในมุมห้องเรียน จัดไว้เพื่อให้เด็กมีโอกาสตกแต่งกระบะทรายเกี่ยวกับเรื่องที่ใกล้ตัวเด็ก เช่น เรื่องบ้านจัดแบ่งเป็นส่วน ส่วนที่เป็นบ้าน ต้นไม้ รั้ว คน สัตว์เลี้ยง จึงต้องจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไว้ ควรวางกระบะให้อยู่ในระดับที่เด็กจะยืนเล่นได้ และเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้ เช่น ถ้วยตวง ขวด ช้อน ตัวสัตว์พลาสติก ต้นไม้จำลอง ฯลฯ เพื่อให้เด็กนำมาจัดตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง


เยาวภา เดชะคุปต์ (2542: 129) กล่าวถึง การจัดอาคารสถานที่และห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยไว้ว่าจะต้องประกอบไปด้วย


1.อุปกรณ์สำหรับพักผ่อน อุปกรณ์ในการพักผ่อนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กที่มาโรงเรียนตลอดวัน อุปกรณ์ในการพักผ่อนได้แก่ ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ในการจัดอาคารหรือสถานที่ควรมีเนื้อที่เหมาะสมสำหรับเด็กได้นอนพักผ่อน ไม่ควรสว่างมากจนเกินไป นอกจากนี้ครูควรเปิดเพลงเบาๆ ให้เด็กฟังขณะที่นอนพัก เนื้อที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กนอนพักผ่อนควรมีขนาดดังนี้
27 × 48 นิ้ว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 4 – 5 ปี , 27 × 52 นิ้ว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 4-6 ปีและ 27 × 54 นิ้ว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 4 – 7 ปี บางโรงเรียนที่เด็กมาโรงเรียนแค่ครึ่งวันครูอาจจะใช้พรมปูให้เด็กนอนพักผ่อนในช่วงกลางวันได้


2.ตู้เก็บของและตู้ช่อง ตู้ช่องควรเป็นสิ่งที่เตรียมเอาไว้ให้เด็กทุกคนเพื่อช่วยให้เด็กรู้จักเก็บของเข้าที่ แต่เด็กแต่ละคนควรมีที่เก็บของใช้ส่วนตัว ตู้ช่องอาจจะทำให้ได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการใช้ ตู้ช่องที่ให้เด็กเก็บของใช้ควรมีขนาดความสูง 35 นิ้ว ยาว 10-12 นิ้ว และลึกประมาณ 10-15 นิ้ว ควรมีตะขอเกี่ยวสำหรับแขวนเสื้อ มีชั้นยาวประมาณ 7 นิ้ว และมีที่วางรองเท้า ตู้ช่องควรอยู่ในด้านประตูทางเข้าออกเพราะถ้าอยู่ไกลจากประตูเด็กมักจะลืมสิ่งของของตนเอง นอกจากนี้เด็กแต่ละคนควรมีกล่องหรือกระเป๋าสำหรับใส่ของส่วนตัว ทั้งที่ตู้ช่องและกระเป๋าควรมีชื่อเด็กและสัญลักษณ์เฉพาะตัวของเด็กแต่ละคนไว้ข้างๆ เพื่อให้เด็กจำชื่อของตนเอง


3.ห้องน้ำ อ่างล้างมือ และอุปกรณ์ทำความสะอาด อ่างล้างมือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำความสะอาดของเด็กภายหลังจากการทำกิจกรรมต่างๆ ห้องน้ำและอุปกรณ์ในการล้างมือควรจัดไว้ในห้องและนอกห้อง ห้องน้ำจะมีทั้งห้องน้ำเด็กหญิงและเด็กชายหรือสำหรับใช้ด้วยกันภายในห้องเรียนควรมีหน้าต่างและพัดลมสำหรับระบายอากาศ ประตูห้องน้ำควรทำจากเซรามิคหรืออุปกรณ์ที่ทำความสะอาดง่ายๆ สัดส่วนของห้องน้ำควรมีขนาดที่เหมาะสม โถส้วมและอ้างล้างมือควรมีขนาดที่เหมาะสมสำหรับเด็ก อ้างล้างมือควรอยู่ใกล้ประตูทางออกเพราะเมื่อเด็กเข้าห้องน้ำเสร็จแล้วจะได้ล้างมือ ที่ดื่มน้ำสำหรับเด็กควรจัดตู้น้ำเย็นหรือใส่น้ำดื่มเอาไว้ให้ในและนอกห้องเรียน โดยควรมีขนาดสูงพอที่เด็กจะกดดื่มได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเตรียมแก้วน้ำเฉพาะตัวเด็กแต่ละคนเอาไว้ได้


4.ระบบเสียง เป็นสิ่งที่มีผลต่อเราทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นโรงเรียนสำหรับเด็กควรจัดระบบเสียงให้เหมะสม การเรียนการสอนภายในห้องเรียนจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพถ้ามีเสียงรบกวนจากภายนอกที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาในห้องเรียน เพื่อที่จะช่วยลดเสียงต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ควรใช้พรมหรือวัสดุต่างๆ กรุตามผนัง พื้นห้องหรือเพดาน อาจจะช่วยให้ระบบเสียงดีขึ้น การใช้พรมนอกจากจะช่วยให้ระบบเสียงดีขึ้นแล้วยังสามารถช่วยทำให้ห้องน้ำน่าดูขึ้นหรือจะใช้เป็นที่จัดกิจกรรมต่างๆได้


5.ผนังห้อง ฝาผนังเป็นเนื้อที่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆได้ ฝาผนังห้องควรทำจากวัสดุที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และควรทำจากวัสดุที่อ่อนที่เสียงผ่านได้น้อยและสามารถใช้เป็นที่ติดผลงานเด็ก ผนังห้องเรียนควรมีขนาดสูงไม่มากนักและควรมีการทาสีให้แสงสว่างแก่ห้อง ห้องที่ทาสีต่างๆ จะทำให้เกิดความสวยงามและให้ความรู้สึกที่ท้าทายแก่เด็กและทำให้ดูมีเนื้อที่กว้าง นอกจากนี้ยังให้ความรู้สึกสบายๆเท่ากับท้าทายให้เด็กอยากมาโรงเรียน แต่ไม่ควรเป็นสีที่กระตุ้นเด็กมากจนเกินไปและยังควรเลือกใช้อุปกรณ์ของเล่นเป็นสีหลักๆ ที่เด็กชอบจะช่วยให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวาอีกด้วย


6.พื้นห้อง พื้นห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยควรสะอาดใช้วัสดุที่เรียนและทำความสะอาดได้ง่ายและไม่ทำให้เกิดริ้วรอยขีดข่วนเมื่อโดนของหนัก ทั้งนี้เพราะกิจกรรมของเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่จะทำอยู่บนพ้นห้อง ดังนั้นพื้นจึงไม่ควรมีสิ่งกีดขวางและจะทำให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ พื้นห้องที่ดีควรทำจากไม้ อลูมิเนียมหรือพื้นยาง ส่วนบริเวณสำหรับที่รับประทานอาหารและห้องเรียนซึ่งอาจจะใช้บริเวณเดียวกันเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดได้ง่าย โต๊ะและเก้าอี้ควรเคลื่อนย้ายได้สะดวก การเตรียมอาหารและบริเวณที่ตักอาหารควรมีขนาดมาตรฐานและสะอาดถูกต้องตามหลักอนามัย


7.หน้าต่างและประตู ประตูทางเข้า-ออกและหน้าต่างเป็นสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ดังนั้นบริเวณที่จะเป็นประตูและหน้าต่างควรได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หน้าต่างควรมีระดับต่ำพอที่เด็กจะมองออกไปข้างนอกห้องได้ นอกจากนี้ยังมีผ้าม่าน ม่านบังตาหรือบานเกร็ด ทั้งนี้เพื่อป้องกันแสงสว่างที่อาจจะจ้าเกินไป ส่วนหลังคาควรมีช่วงยาวพอเหมาะที่จะให้เด็กเกิดร่มเงาที่เหมาะสม หน้าต่างควรมีขนาดเหมาะสมกับผ้าม่านหรือม่านบังตา บริเวณที่รับประทานอาหารควรใช้หน้าต่างที่เป็นบานเกร็ด หน้าต่างที่เปิดออกไปแล้วพบแต่กำแพงอิฐหรือบริเวณที่ไม่มีอะไรให้ดู ควรจัดให้บริเวณที่วางของไว้โชว์จะดีกว่า ประตูควรมีที่ล็อคได้ในตัวและประตูไม่ควรมีบานบังตาที่จะตีกลับมาโดนตัวเด็ก


8.ระบบการระบายอากาศ แสงสว่างและความร้อน ระบบการระบายอากาศที่ดีที่สุดคือการเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท แต่บางครั้งสภาพอากาศก็ไม่อำนวยให้ทำให้หน้าต่างจึงควรสามารถปรับให้ปิด-เปิดได้ด้วยตัวเด็ก ถ้าอากาศร้อนเกินไปควรมีพัดลมเพดานเพื่อที่จะช่วยระบายอากาศ ไฟฟ้าควรมีขนาดสูงจากพื้นและควรมีโป๊ะไฟเพื่อไม่ให้เคืองตา สวิตซ์ไฟฟ้าควรอยู่ระดับที่เด็กเอื้อมไม่ถึง แสงสว่างในห้องไม่ควรจ้าจนเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการเคืองตา บริเวณที่มืดควรทาสีสว่างเพื่อช่วยให้บริเวณนั้นดูสว่างขึ้น


9. เครื่องเรือนหรือโต๊ะเก้าอี้
9.1 โต๊ะเก้าอี้ควรสามารถโยกย้ายได้และควรมีขนาดพอเหมาะกับตัวเด็ก มีความสะดวกในการทำความสะอาดและใช้งานได้ง่าย
9.2 โต๊ะควรมีความสูงแตกต่างไปตามอายุของเด็กตั้งแต่ 12 -22 นิ้ว โต๊ะที่มีรูปร่างต่างๆจะใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างและสามารถเคลื่อนย้ายได้
9.3 เก้าอี้ควรมีขนาดพอเหมาะกับเด็กและเบาพอที่เด็กจะยกและเคลื่อนย้ายได้โดยไม่เกิดเสียง เก้าอี้ควรมีขนาดสูงตั้งแต่ 14 -20 นิ้ว
9.4 เวทีเล็กๆสำหรับให้เด็กแสดงละครหรือบทบาทสมมติ ควรมีขนาดกว้าง 3 ฟุต 6 นิ้ว ยาว 5 ฟุต และสูง 1 ฟุตจากพื้น เพื่อให้สะดวกต่อการทำความสะอาด
9.5 นาฬิกาควรมีติดเอาไว้ข้างฝาผนังโดยมีเข็มสีดำบนหน้าปัดเบญจา แสงมะลิ (2539: 236) ได้เสนอแนะการจัดสภาพห้องเรียนไว้ 2 แบบ ดังนี้

คือ ห้องเรียนปกติ ห้องเรียนเอนกประสงค์ ห้องเรียนปกติ สถานศึกษาเด็กปฐมวัยที่มีห้องต่าง ๆ เพียงพอ สามารถจัดห้องนอนเด็กและห้องรับประทานอาหารแยกออกจากห้องเรียนปกติได้ ห้องเรียนเด็กปฐมวัยใช้เป็นที่สำหรับเล่นเรียนและทำงานของเด็ก และเป็นห้องที่กว้างขวางพอสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โต๊ะ เก้าอี้ ของเด็กตั้งเป็นหมู่อยู่ส่วนหนึ่งของห้อง

เนื้อที่ส่วนที่เหลือใช้สำหรับเล่น เรียนและกิจกรรมอย่างอื่นฝาด้านหนึ่งมีกระดานดำยาวตลอดฝา ควรจัดให้มีมุมตุ๊กตาและเครื่องเล่น มุมธรรมชาติศึกษา มุมศิลปะ เพื่อเด็กจะได้เล่นเอง หรือเล่นด้วยการแนะนำของครู ข้างฝามีภาพที่เหมาะสมกับเด็กแจกันดอกไม้ตั้งในที่ซึ่งเห็นสมควร

ตู้และชั้นที่เก็บเครื่องใช้ของเด็กต้องไม่สูงและลึก เด็กจะได้หยิบของใช้ได้เองและดูแลจัดเก็บให้เรียบร้อยด้วยตนเอง ตู้ทึบสูงสำหรับครูเก็บเครื่องใช้ แบ่งส่วนสำหรับเก็บ ไม้กวาด ถังเล็ก และผ้าเช็ดถู ชั้นหรือโต๊ะเล็กสำหรับวางกาหรือเหยือกน้ำและถ้วย ถังผงใบเล็ก กระบะทราย สิ่งเหล่านี้ควรจะมีอยู่ในห้องด้วย


จากการสังเกตสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนพบว่า หน้าต่างอยู่ในระดับสายตาของเด็ก พื้นห้องจะปูด้วยกระเบื้องที่มีสีขาว ภายในห้องมีมุมอยู่ 7 มุมอยู่ด้านข้างของห้อง ซึ่งประกอบไปด้วยมุมบทบาทสมมติ มุมดนตรี มุมบล็อก มุมอ่าน มุมวิทยาศาสตร์ มุมศิลปะและมุมเกมการศึกษา

ส่วนพื้นที่ตรงกลางห้องเรียนจัดไว้เพื่อสำหรับให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ มีกระดานซึ่งกระดานนั้นจัดตั้งอยู่หน้าห้องเรียนและมีการตั้งไว้ให้อยู่ในระดับสายตาของเด็ก มีโต๊ะและเก้าอี้ขนาดเล็กสำหรับครูส่วนโต๊ะของเด็กไม่มี เวลาที่ทำการเรียนการสอนครูจะให้เด็กนั่งพื้นเป็นส่วนมาก

ภายในห้องเรียนจะมีที่แขวนผลงานของเด็กและมีกล่องเก็บผลงานของเด็กแต่ละคน เพื่อที่ครูและผู้ปกครองจะได้ดูพัฒนาการของเด็ก มีที่แขวนชุดนอนของเด็กซึ่งเอาไว้ให้เด็กเปลี่ยนชุดเวลาที่จะนอนในแต่ละวัน ส่วนแก้วน้ำและแปรงสีฟันจะนำไปไว้หน้าห้องเรียนเพื่อความสะดวกสบายขณะที่เด็กทำภารกิจเรียบร้อยแล้ว เช่น การแปรงฟัน ดื่มน้ำและดื่มนม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีชั้นวางของขนาดใหญ่ซึ่งอยู่หลังห้อง

ซึ่งชั้นวางนั้นจะเป็นที่ที่ไว้สำหรับเก็บที่นอน วางแฟ้มสะสมผลงานของเด็ก วางสื่อเช่น โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องเล่น CD และวางกล่องสื่อซึ่งแยกตามหน่วยการสอนต่างๆ ภายในห้องเรียนก็จะมีไม้กวาด ไม้ถู ถังขยะและที่ตักเศษผงไว้มุมหลังห้อง ส่วนประตูทางเข้าและทางออกจะเป็นประตูซึ่งทำด้วยกระจก

อัพเดทล่าสุด