การ์ตูนผู้หญิงมุสลิม ภาพการ์ตูนมุสลิม รูปการ์ตูนมุสลิม การ์ตูนสาวมุสลิม
การ์ตูนผู้หญิงมุสลิม
โดย โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด
ระหว่างเดินร้านคิโนคูนิยะหาหนังสือฝากพี่น้องที่ยะหริ่ง ตาก็ไปสะดุดกับภาพการ์ตูนเด็กหญิงตัวจิ๋วที่คลุมศีรษะบนปกหนังสือ Persepolis ข้างในเป็นภาพลายเส้นขาวดำแบบเรียบง่ายไม่มีรายละเอียดมากนัก มันไม่ใช่การ์ตูนธรรมดาทั่วไป แต่เป็นนิยายภาพ (Graphic novel) บอกเล่าเหตุการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นจริงในอิหร่าน โดยทำให้เรื่องราวดูผ่อนคลายลง เพราะเล่าเรื่องผ่านการเติบโตของตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงมุสลิม
มาร์จานี ซาตาร์ปี (Marjane Satrapi) สาวชาวอิหร่านวัย 38 ปี ผู้เขียนนิยายภาพเล่มนี้ที่นิตยสารไทม์ยกย่องว่าเป็นการ์ตูนที่ดีที่สุดของปี 2546 และติดอันดับหนังสือขายดีของหลายสำนัก หนังสือการ์ตูนมุสลิมเล่มนี้การบอกเล่าเรื่องส่วนตัวของเธอตั้งแต่สมัยอยู่ที่อิหร่านและในต่างแดน ได้กลายเป็นกระจกส่องให้มองเห็นชีวิตคนอิหร่านทั้งประเทศที่ต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างยากลำบากท่ามกลางความไร้สาระของกฏข้อบังคับมากมายหลังการปฏิวัติ มีการกำหนดพื้นที่และจำกัดสิทธิสตรี นอกจากนี้มีการกวาดล้างวัฒนธรรมตะวันตก แม้แต่เรื่องการใส่เสื้อผ้าที่มีโลโก้ต่างแดน
อารมณ์ขันของเธอช่วยให้คนต่างศาสนาเข้าใจกรอบวัฒนธรรมอิสลามได้มากขึ้น ครั้นหนึ่งตอนที่เธอเป็นเด็กนั้นมองไม่เห็นความจำเป็นของผ้าคลุมศีรษะ เด็กบางคนคลุมผ้าไม่ถูกต้องและนำผ้ามาเล่นกระโดดแทนเชือก แต่ขณะที่เธอเดินไปกับพ่อแม่ร่วมการประท้วงเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ คณะปกครองหัวอนุรักษ์กลับหาเรื่องกับผู้หญิงที่ไม่คลุมผ้าจนถึงขั้นจราจล จริงอยู่ว่าการคลุมผ้าเป็นสิ่งที่สำรวมงดงาม แต่สำหรับเหตุผลในแบบที่เธอพบจากเจ้าหน้าที่สนามบินซึ่งคอยจุกจิกเรื่องผ้าคลุมผม เรียกร้องให้แบบฉบับของผู้หญิงที่ดีต้องคลุมผ้ายาวถึงตาตุ่มเพื่อจะได้ไม่เห็นการเคลื่อนไหวของบั้นท้ายนั้น มันชวนคิดว่าทำไมพวกเขาจึงมัวมานั่งจ้องก้นของผู้หญิงตั้งแต่แรก
ที่แย่กว่านั้นดันเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างอิรัก-อิหร่าน มีผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ทุกคนต่างจิตเสีย เสียงปืน เสียงระเบิดดังกึกก้องในหัว กลายเป็นคนตกใจง่ายและเกิดความหวาดระแวงตลอดเวลา แม้กระทั่งเพื่อนสนิทของเธอก็ต้องลาโลกเพราะระเบิดลงกลางบ้านพอดีทำให้ทุกคนที่อยู่ในบ้านตายหมด
ท่ามกลางความวุ่นวายของบ้านเมือง แม้ว่าครอบครัวของเธอจะมีฐานะดี แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นที่ต้องประสบกับปัญหาข้าวยากหมากแพง บางครั้งแม่ของเธอซึ่งอับอายเพื่อนบ้าน ต้องทำท่าง่วนกับอาหารในครัว ทั้งๆ ที่จริงนั้นในหม้อมีแค่น้ำเปล่าเท่านั้น
สำหรับมาร์จานี แม้ว่าอิหร่านจะมีเรื่องเลวร้ายมากมาย แต่เธอก็รักถิ่นฐานบ้านเกิด เธอจึงรู้สึกอึดอัดทุกครั้งเมื่อเห็นสื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคนอิหร่านในทางลบ เพราะภาพเหล่านั้นถูกตัดต่อปรุงแต่งเกินจริง เธอจึงตัดสินใจทำหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่ออยากให้โลกรับรู้ในสัจธรรมที่ว่าไม่ว่าจะเป็นที่ไหนล้วนมีคนดีชั่วเหมือนกัน ใช่ว่าคนอิหร่านจะสมบูรณ์เลิศเลอ เพราะอำนาจและความเชื่อทางศาสนานั้นสามารถถูกคนบางกลุ่มชักนำไปในทางที่ผิดได้เสมอ และขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศอิหร่านนั้นไม่อยากให้มองว่าเป็นเพียงปัญหาของคนอิหร่านเท่านั้น แต่อยากให้มองว่าเป็นปัญหาที่อยากให้ชาวโลกร่วมกันช่วยเหลือ
แต่ดูเหมือนว่าปัญหาทั้งหลายยังยากเกินกว่าจะแก้ไขได้ นิยายภาพของเธอก็หวังเป็นเพียงแค่กระจกสะท้อนปัญหา ส่วนการแก้ปัญหาไม่ใช่หน้าที่ของศิลปิน แต่ในระดับหนึ่งเธอมองว่าการพยายามเปิดหูเปิดตาเรียนรู้วัฒนธรรมและสังคมที่ต่างออกไป จะช่วยให้มีมุมมองที่เปิดกว้างและรู้สึกเกลียดกันน้อยลง
ปัจจุบัน หนังสือภาพการ์ตูนมุสลิม Persepolis ได้ทำเป็นหนังแอนิเมชั่นขาวดำสัญชาติฝรั่งเศส-อเมริกัน ซึ่งเธอลงมือกำกับเองร่วมกับเพื่อนสนิท และหนังก็ได้รับรางวัล Jury Prize ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งล่าสุดอีกด้วย
หมายเหตุ :
1. ขณะนี้หนัง Persepolis ได้ถูกยกเลิกไปแล้วจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ ครั้งที่ 5 จากเดิมที่จะมีการเปิดฉายเป็นที่แรกในเอเซีย
2. บทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร คนมีสี คอลัมน์ ฟิล์มไวรัส ฉบับเดือนมิถุนายน 2550
Source : ninamori.blogspot.com
นอกจากนี้ยังมี การ์ตูนมุสลิม ออกมาอีกมากมาย ทั้งที่สร้างสรรค์ และดูถูกศาสนาอิสลาม อาธิ การ์ตูนมุสลิมโกอินเตอร์ อย่าง 'The 99' เป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ดำเนินเรื่องโดยมุสลิมซูเปอร์ฮีโร่ โดยผู้สร้างเล่าว่าการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ใช่การ์ตูนศาสนา แต่ 'The 99'เกี่ยวข้องกับผู้ใช้อำนาจทางศาสนา หรือจะเป็น หนังสือการ์ตูนมุสลิมของไทย "โรตีมังก้า" หนังสือการ์ตูนมุสลิมเล่มแรกของประเทศไทย สอดไส้ความสนุกไปกับสาระความรู้