โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น แบบทดสอบโรคซึมเศร้า ความหมายของโรคซึมเศร้า


1,391 ผู้ชม


โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น แบบทดสอบโรคซึมเศร้า ความหมายของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น

ป้องกันด้วยการสร้างรัก-เข้าใจ ใช้เหตุผล

          โรคซึมเศร้าสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กเล็ก ซึ่งโรคนี้เป็นความผิดปกติทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าทุกคนจะมีอารมณ์เศร้า เหงา เสียใจ ที่เปลี่ยนแปลงได้นั้น แต่อารมณ์ที่เศร้าผิดปกติ รุนแรงจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าโดยปริยาย

          โรคซึมเศร้าในเด็ก และวัยรุ่นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายใน และภายนอก ซึ่งภายในคือตัวของเด็กเอง ในขณะที่ภายนอกนั้นขึ้นอยู่กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่น้อง คนในครอบครัวและเพื่อนๆ ซึ่งทุกคนมี่ส่วนช่วยเหลือเด็กได้เป็นอย่างดีโดยการดูแลเอาใจใส่ ให้กำลังใจ และสังเกตอารมณ์ของเขาอยู่เสมอ แต่ถ้าเขาเริ่มมีอาการขั้นรุนแรง หรือเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว ผู้ใหญ่ไม่ควรดูดาย หรืออับอายที่จะพาลูกพบจิตแพทย์ เพราะจิตแพทย์จะเป็นผู้รักษาอาการ และเยียวยาจนเขาสามารถหายได้

          โรคซึมเศร้า (depression) เป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอารมณ์ซึมเศร้าอย่างรุนแรง โดยไม่มีสาเหตุอารมณ์ซึมเศร้า อาจเริ่มต้นจากน้อยๆ ไปหามาก ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ไม่แจ่มใส หดหู่ เศร้าหมอง มีทุกข์ จนถึงเบื่อหน่าย ท้อแท้ เบื่อชีวิต คิดว่าตนเองไร้ค่า คิดอยากตายและอาจจะฆ่าตัวตายได้ โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ผลดีมาก การใช้ยาร่วมกับจิตบำบัด จะช่วยให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเป็นปกติเหมือนเดิม เมื่อหายแล้ว แพทย์จะให้รับประทานยาป้องกันต่ออีกประมาณ 6 - 12 เดือน ไม่ควรหยุดยาเองเด็ดขาด เพราะอาจทำให้มีอาการอีกได้ง่าย

สาเหตุ

1. เกิดจากภาวะกดดันหรือความเครียดนำมาก่อน และไม่สามารถปรับตัวได้ แม้ว่าปัญหาจะหมดไปแล้ว หรือเป็นปัญหาต่อเนื่อง และไม่สามารถปรับตัวได้
2. พบมีภาวะการสูญเสีย ซึ่งคนปกติจะมีอาการซึมเศร้าได้ แต่ไม่ควรมีเกินกว่า 2 เดือน หลังจากเหตุการณ์ภาวะซึมเศร้าจากการเกิดโรคทางกาย หรือความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด
3. ลักษณะบุคลิกภาพเดิมที่มักมีแนวคิดทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย เห็นแต่ข้อบกพร่องของตนเอง

วิธีสังเกตอาการ

1. สังเกตว่าอารมณ์นั้นสอดคล้องกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวหรือไม่ เด็กๆ อาจะผิดหวังเรื่องความรัก หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงเองแม้ไม่มีเหตุการณ์มากระทบก็ตาม
2. ระดับความรุนแรง บางคนอาจทานข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือหากนอนหลับก็มักฝันร้ายอยู่บ่อยครั้ง และไม่สามารถออกจากอารมณ์นั้นได้เลย
3. ตัวร่วม เด็กบางคนตกอยู่ในภาวะอารมณ์นี้นานจนชีวิตถูกรบกวน คือ ไม่สามารถเรียนได้ ซึ่งถ้ารุนแรงมากอาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย เขาจะรู้สึกท้อแท้ และไร้ค่า
4. พฤติกรรมโดยรวมของโรคซึมเศร้า นอกจากการเก็บตัวไม่สุงสิงกับใครแล้ว เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นการใช้ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืน หมกมุ่นในเรื่องเพศสัมพันธ์ การขับรถเร็ว อาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ผอมลง เซื่องซึม นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ ความจำเสื่อม เหนื่อยง่าย เพลีย ไม่มีแรง เบื่องาน หรือเบื่อกิจกรรมที่เคยทำแล้วสนุก การเบื่อสังคมอาจแสดงออกด้วยการเก็บตัว แยกตัว เซื่องซึม ขาดความมั่นใจในตนเอง เครียดง่าย กังวลง่าย มองโลกในแง่ร้าย ไม่เห็นทางแก้ไขปัญหา
5. โรคซึมเศร้าที่มีอาการรุนแรงมาก อาจเกิดอาการโรคจิตร่วมด้วย เช่น มีอาการหลงผิด หรือหูแว่ว
6. โรคซึมเศร้าที่เกิดในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น เกิดได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีความเครียดเป็นสาเหตุ เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีอันตรายเนื่องจากผู้ป่วยอาจฆ่าตัวตายได้

การฆ่าตัวตาย  

สาเหตุของการฆ่าตัวตายมีหลายประการ ได้แก่

          1. มีอาการซึมเศร้า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามากๆ จะคิดว่าตนเองไร้ค่าอยู่ไปไม่มีประโยชน์ ความรู้สึกซึมเศร้าทำให้ไม่สามารถทนอยู่กับอาการต่างๆ ซึ่งทรมานได้อีกต่อไป ส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จะมีอาการรุนแรงถึงขนาดฆ่าตัวตายได้

          2. มีอาการโรคจิต ผู้ที่เป็นโรคจิต มักมีอาการหูแว่ว, หลงผิด และปรับตัวเข้ากับสังคมได้ลำบาก บางครั้งเกิดอาการซึมเศร้าจากการป่วยโรคจิตอย่างเรื้อรัง ไม่มีความหวังในชีวิต ก็คิดอยากตายได้ ผู้ป่วยโรคจิตบางคนมีหูแว่วเป็นเสียงสั่งให้ฆ่าตัวตายก็ทำตามเสียงนั้น ผู้ป่วยโรคจิตบางชนิดจะสับสน มีภาพหลอน เกิดตกใจวิ่งหนี ทำให้เกิดอุบัติเหตุเหมือนฆ่าตัวตายได้

          3. ผู้ที่ติดเหล้าหรื่อสารเสพติด เกิดอาการซึมเศร้า และขาดการยับยั้งใจตัวเอง ฆ่าตัวตายด้วยความโกรธ และก้าวร้าวต่อตนเองได้

          4. ผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ จะเกิดปัญหาทางอารมณ์ได้ง่าย และอยากฆ่าตัวตายได้

ปัญหาฆ่าตัวตายในวัยรุ่น

          วัยรุ่น เป็นวัยที่เชื่อมต่อระหว่างวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ ถือเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่สำคัญ เด็กวัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางร่างกาย และจิตใจโดยได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนเพศ ซึ่งโดยทั่วไปพบว่า น้ำหนักและส่วนสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ววัยรุ่นหญิง จะมีหน้าอกขยายใหญ่ขึ้น เริ่มมีขนบริเวณรักแร้และหัวเหน่า และเริ่มประจำเดือน ส่วนวัยรุ่นชาย จะมีลูกอัณฑะใหญ่ขึ้น เริ่มมีขนเช่นกัน มีเสียงแตกและมีการหลั่งของอสุจิ

          การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ พบว่ามีความสำคัญมาก เด็กวัยนี้จะมีความคิดค่อนข้างอิสระ ต้องการเป็นตัวของตัวเอง พยายามสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง อยากให้เพื่อนยอมรับตน และต้องการเป็นหนึ่งในกลุ่มเพื่อน เริ่มมองบทบาทของตนเองที่แยกออกจากครอบครัวมากขึ้น เริ่มไม่ยอมรับความเห็นของพ่อแม่ ต้องการความเป็นส่วนตัว ขณะเดียวกันอารมณ์จะยิงสับสน วู่วาม ขึ้นๆ ลง ทำให้โอกาสที่จะขัดแย้งกับพ่อแม่มีมากขึ้น บางครั้งรุนแรงจนถึงขึ้นหนีออกจากบ้าน หันไปหายาเสพติด หรือเกิดอาการซึมเศร้าจนคิดอยากฆ่าตัวตายได้

          ปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบันซึ่งมีแต่ความเร่งรีบ ขาดความอบอุ่นในครอบครัว เพราะภาวะเศรษฐกิจที่บีบบังคับทำให้ครอบครัวที่ดีมีความสุข อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา เหมือนสมัยก่อนน้อยลงทุกที การแข่งขันกันในทุกรูปแบบตั้งแต่ วัยเด็กจนกระทั่งถึงวัยรุ่น และผู้ใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม อารมณ์และเกิดปัญหาทางจิตใจมากขึ้นทุกที ผู้ที่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็เอาตัวรอดไป แต่มีวัยรุ่นอีกเป็นจำนวนมากที่ยังอยู่ในวงจรแห่งปัญหา ซึ่งท่านพ่อแม่ผู้ปกครองควรจะทราบ

ข้อสังเกตว่า สิ่งบอกเหตุของการที่จะเกิดการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น ได้แก่สิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. แยกตัวจากสังคม ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม พร้อมกับผลการเรียนด้อยลงเรื่อยๆ
2. เกิดภาวะซึมเศร้าแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
3. อารมณ์ที่แปรเปลี่ยนง่ายเป็นปกติของวัยรุ่นอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดการนิ่งเงียบขรึม ภายหลังจากมีภาวะความวิตกอย่างรุนแรง หรือหลังจากภาวะซึมเศร้าก็อาจเป็นสิ่งบอกเหตุอย่างหนึ่ง
4. การเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพทันทีทันใด
5. บอกให้สิ่งของแก่เพื่อนหรือญาติไว้ล่วงหน้า ถ้าหากตนเองต้องตายไป
6. มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เช่น เพื่อนฆ่าตัวตาย การหย่าร้างของบิดามารดา และการเสียใจอย่างรุนแรงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
7. ติดยาเสพติด โดยเฉพาะยาที่ทำให้เกิดประสาทหลอน
8. มีพฤติกรรมเสี่ยงชีวิตบ่อยๆ เช่น ทานเหล้ามากแล้วขับรถ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่รักชีวิต
9. กล่าวถึงการตายหรือการฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง

การป้องกัน

          ครอบครัวสามารถป้องกันได้โดยการให้ความรักความเข้าใจ สอนให้เด็กเข้มแข็ง รู้จักใช้เหตุผล และแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้นทุกคนควรลดความขัดแย้งต่างๆ ในครอบครัว

          ในขณะที่สื่อต่างๆ เองก็ควรตระหนักว่า แม้ว่าเรายังต้องพึ่งพาสื่อเรื่องข้อมูลข่าวสาร แต่สื่อควรเสนอแนะในเรื่องของทางออก และการแก้ปัญหาที่ถูกต้องด้วย ไม่ใช่รายงานแต่การฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะดาราหรือคนมีชื่อเสียงที่มักหาทางออกด้วยวิธีที่ผิด หากเด็กๆ ไม่สามารถแยกแยะก็สามารถนำไปสู่เหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เช่นกัน

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ  https://www.drrungrueng.org

อัพเดทล่าสุด