โรคซึมเศร้าในผู้หญิงต้งครรก์ เป็นโรคซึมเศร้ามีบุตรได้หรือไม่


901 ผู้ชม


โรคซึมเศร้าในผู้หญิงต้งครรก์ เป็นโรคซึมเศร้ามีบุตรได้หรือไม่

สธ.ระบุหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงซึมเศร้า

กระทรวงสาธารณสุขเตือนหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เนื่องจากระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง ระบุหลังคลอดหากมีอาการซึมเศร้าจะมีความรุนแรง แนะสามีและครอบครัวดูแลใกล้ชิด พูดคุยและแบ่งเบาภาระ

นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีหญิงเพิ่งคลอดบุตร เกิดอาการซึมเศร้า สังหารสามีก่อนยิงตัวตายตาม เหตุเกิดที่ จ.นนทบุรี ว่า สถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยปี 2552 อยู่ในอัตรา 6 คนต่อแสนประชากร ทั้งนี้ กลุ่มหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายอันเกิดจากภาวะเครียดและโรคซึมเศร้าด้วย เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนไป ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดกับหญิงที่คลอดบุตรทุกคน แต่จะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ความกดดันของครอบครัว และพันธุกรรม

นางพรรณสิริ กล่าวต่อว่า ปกติหญิงหลังคลอดจะมีอาการซึมเศร้า แฝงอยู่ในตัวทุกคนมากน้อยแตกต่างกัน โดยทั่วไปหญิงหลังคลอดประมาณร้อยละ 85 อาจมีภาวะอารมณ์เศร้าภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด มีอาการร้องไห้ง่าย อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดหรือวิตกกังวล ซึ่งจะดีขึ้นเองภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่หากป่วยเป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอด อาการจะรุนแรงกว่า มีอารมณ์เศร้ามาก วิตกกังวลเกินเหตุ หรือมีอาการย้ำคิดย้ำทำ บางรายอาจคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ มักเกิดหลังคลอดประมาณ 2-4 สัปดาห์ ดังนั้น หลังการคลอดบุตรขอให้บุคคลที่อยู่ใกล้ชิด โดยเฉพาะสามีดูแล ประคับประคอง เป็นกำลังใจคุณแม่มือใหม่ด้วย

พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ฮอร์โมนเอสโทรเจน จะต่ำลงกว่าปกติอย่างรวดเร็ว มีผลต่ออารมณ์ ประกอบกับปัจจัยทางสังคม จิตใจ เพราะการเป็นแม่ถือเป็นภาระหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ และเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากทุกด้าน จากการวิจัยจึงพบว่า กลุ่มแม่มือใหม่ แม่ตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อย หรือขาดความพร้อมในการตั้งครรภ์ด้านต่างๆ หรือ มีปัญหาด้านครอบครัว เศรษฐกิจ ระหว่างการตั้งครรภ์หรือคลอด จะมีโอกาสพบโรคซึมเศร้าในกลุ่มดังกล่าวมากกว่า

"การดูแลหญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดลูก จำเป็นต้องสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้า เช่น ฉุนเฉียว หวาดระแวง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ แยกตัว ร้องไห้หรือระเบิดอารมณ์จากสาเหตุเพียงเล็กน้อย อาการเหล่านี้จะบ่งบอกถึงสัญญาณการเกิดโรคได้ ควรขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือแจ้งกับสูตินรีแพทย์ที่ดูแลอยู่ก็ได้ โดยคนในครอบครัวสามารถช่วยได้ด้วยการเอาใจใส่ รับฟังด้วยความเข้าใจ โดยเฉพาะสามี ควรช่วยแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูบุตร ให้หญิงหลังคลอดได้รับอาหารที่ดีเหมาะสม และมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็จะสามารถช่วยผ่อนคลายอารมณ์ลงได้" พ.ญ.อัมพร กล่าว

ที่มา : https://www.thaihealth.or.th

อัพเดทล่าสุด